12 เทคโนโลยีเล็กดีรสโต

หลายครั้งที่ เทคโนโลยี ยิ่งรุดหน้า ขนาดของเครื่องไม้เครื่องมือ ก็ยิ่งเล็กลงตามไปด้วย เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งาน

ตั้งแต่ซีพียู, เกมกด, โดรน, โทรศัพท์ ไปจนกระทั่งดาวเทียม ทุกอย่างสามารถรวบรวมมาไว้ด้วยกันได้บนฝ่ามือเดียว และนี่คือ 12 เทคโนโลยี เล็กดีรสโตแห่งยุคสมัย

 

#12

ซีพียู IBM

 

 

ในขณะที่ทุกค่ายเทคโนโลยีกำลังแข่งขันเพื่อสร้างคอมพิวเตอร์ที่เล็กที่สุดในโลก ถือได้ว่า IBM ไปไกลกว่าทุกคู่แข่ง ด้วยการผลิตซีพียูที่มีขนาดเท่าปลายก้อย เล็กกว่าเม็ดเกลือ ออกมาเป็นผลสำเร็จ

IBM เปิดตัวสิ่งนี้ไปในงาน Think 2018 เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และมีรายงานว่าซีพียูแต่ละตัวมีต้นทุนการผลิตเพียง 10 เซนต์เท่านั้น

นี่ยังไม่ใช่แค่การสร้างแบบจำลองออกมาโชว์ อุปกรณ์ของ IBM ยังสามารถเข้ากันได้กับเทคโนโลยีบล็อคเชน อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของโครงการ ซึ่งมันยังหมายความว่าเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ปกป้อง Cryptocurrency สามารถช่วยปกป้องข้อมูลในซีพียูขนาดเมล็ดถั่วนี้ได้ด้วย

ซีพียูตัวนี้ยังมีพลังการประมวลผลที่มากพอๆ กับซีพียูที่ทันสมัยจากยุค 90 และเมื่อดูจากราคาที่ถูกสตางค์ขนาดนี้ ก็เป็นไปได้มากว่าชิปเหล่านี้จะถูกนำไปแทนที่ RFID ซึ่งใช้สำหรับการติดตามผลิตภัณฑ์และแพ็คเกจ ในสักวัน

 

#11

เซนเซอร์กันแดด L’Oreal

 

 

เปิดตัวในงาน CES 2018 พร้อมๆ กันกับแก็ดเจ็ตที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายตัว แต่คงไม่มีชิ้นไหนแล้วที่จะเล็กกะทัดรัดเท่ากับเซนเซอร์ L’Oreal UV Sense

มันคือเซนเซอร์ขนาดจิ๋วที่ถูกออกแบบมาไว้สำหรับแปะบนเล็บมือ เป็นตัวตรวจจับและรายงานข้อมูลของค่าแสงแดด ไปจนถึงรังสียูวีที่คุณต้องเผชิญเมื่อก้าวออกนอกชายคาบ้าน

เป้าหมายของเทคโนโลยีนี้คือการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้คนในการดูแลผิวพรรณ ให้ผู้คนสามารถเข้าใจได้ว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในอันตรายจากการถูกแดดเผา และอาจนำมาซึ่งปัญหามะเร็งผิวหนังในภายหลัง

UV Sense วัดปริมาณรังสียูวีที่สะสมในอากาศตลอดเวลา และทำการรายงานผ่านทางแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน และถ้าคุณกังวลว่าคุณควรใช้มันที่ชายหาดหรือริมสระน้ำหรือไม่นั้น ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เมื่อมันถูกสร้างมาให้มีคุณสมบัติกันน้ำได้ด้วย

 

#10

นาโนคาร์

 

 

การสร้างนาโนคาร์ (Nanocar) ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป เมื่อศาสตราจารย์ด้านเคมี Ben L. Feringa ลงมือสร้างโครงการพัฒนานาโนคาร์ในขนาดของโมเลกุลขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ

แม้ในปัจจุบัน นาโนคาร์จะพอมีอยู่บ้างแล้วในโลกวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นเพียงโมเดลที่นักวิจัยทำขึ้นพร้อมกับการต้องใช้การสแกนกล้องจุลทรรศน์ STM ประกอบ ทว่าสำหรับเวอร์ชั่นนี้ นาโนคาร์ที่มีล้อ 4 ล้อ สร้างขึ้นด้วยพันธะโมเลกุลเฉพาะที่มีปฏิกิริยากับอิเล็กตรอน

นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้กล้อง STM เพื่อยิงอิเล็กตรอนไปที่นาโนคาร์ตัวนี้ และล้อจะตอบสนองการเคลื่อนย้ายอะตอมไปรอบๆ เพื่อสร้างการเคลื่อนที่

กล่าวคือมันเป็นรถโมเลกุลที่ใช้งานได้จริง Dr.Feringa ผู้เป็นหนึ่งในสามนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล Nobel เมื่อเร็วๆ นี้ หวังว่าหลักการของนาโนคาร์จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นาโน ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประโยชน์หลากหลาย

 

#9

เกมกด PocketSprite

 

 

หลังจากการล่มสลายของตระกูล Game Boy เครื่องวิดีโอเกมพกพายอดฮิตของเด็กยุค 90 ก็คงพูดได้ว่า PocketSprite คือการกลับมาเกิดใหม่ของ Game Boy …ที่มาในขนาดหดเล็กกว่าเดิมนับสิบเท่า เล็กพอๆ กับกุญแจรถเท่านั้น

PocketSprite มีทุกอย่างที่คุณต้องการจากวิดีโอเกม ทั้งตัวจัดเก็บข้อมูล, RAM, ระบบเสียง, การเชื่อมต่อ Wi-Fi, แบตเตอรี่ และปุ่มกดแบบคลาสสิกซึ่งประกอบด้วยปุ่ม D, A, B และ Select / Start

ที่ว่ามาทั้งหมด เกิดขึ้นในเครื่องเกมขนาด 2 นิ้ว

แน่นอนว่ามันทำให้ความท้าทายในการใช้ของผู้เล่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตื่นเต้น PocketSprite สามารถทำงานร่วมกับตัวก็อปปี้จาก Game Boy, Game Boy Color, Sega Game Gear และ Sega Master System ได้ เพื่อให้คุณสามารถย้อนวัยเด็กกลับมาได้บนหน้าจอขนาดจิ๋ว (แม้อาจต้องเพ่งสายตาอยู่สักหน่อยก็เถอะ)

ผู้ก่อตั้งอย่าง Jeroen Domburg ยังหวังว่าผู้คนจะเข้ามาร่วมสร้างเกมเฉพาะของตนเองขึ้นในแพลตฟอร์มของพวกเขา และสร้างการซื้อขายในกลุ่มย่อย …ชัดเจนว่านี่คือเครื่องฆ่าเวลาที่ดีกว่า fidget spinner มาก

 

#8

โดรน Aerius

 

 

มนุษย์จะสามารถสร้างอุปกรณ์การบินได้เล็กที่สุดขนาดไหน? มันอาจมีความพยายามสร้างจากหลายผู้ผลิต (ล้มเหลวก็มาก) แต่คงไม่มีใครแล้วที่จะทำได้เล็กจิ๋วเท่ากับบริษัท Aerix เจ้าของโดรน Aerius

คุณสามารถวางโดรนตัวนี้ลงบนปลายนิ้วของคุณได้เลย และมันก็พร้อมโบยบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ทันทีที่คุณออกคำสั่ง จากคอนโทรลเลอร์ลักษณะจอยสติ๊กเกมกด ซึ่งส่งสัญญาณ 2.4 GHz เพื่อเชื่อมต่อ

การชาร์จแบตเตอรี่จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยการชาร์จหนึ่งครั้งจะสามารถขึ้นบินได้ราว 5 นาทีด้วยกัน ซึ่งถือว่ามากเพียงพอแล้วสำหรับโดรนจิ๋วขนาดนี้ การทำให้เครื่องเป็นลักษณะ 6 แกน ยังช่วยสร้างสมดุลเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีลูกเล่นที่ไฟ LED ส่องสว่างยามค่ำคืน แม้ผู้ผลิตจะไม่แนะนำให้เล่นกลางแจ้ง… ด้วยเกรงว่าคุณจะหามันไม่เจอหรือเผลบอเหยียบเข้าเมื่อแลนดิ้งลงพื้น ก็ตาม

 

#7

วิทยุจากทีมวิจัย Berkeley

 

 

ถัดจากซีพียูขนาดเมล็ดถั่ว และโดรนขนาดปลายก้อย นี่คือวิทยุที่เล็กที่สุดในโลกเท่าที่จะพบในยุคปัจจุบัน มันคือการสร้างสรรค์จากทีมนักวิทยาศาสตร์แห่ง Berkeley ที่ทำให้วิทยุของพวกเขามีขนาดเท่ากับ… ท่อนาโนคาร์บอน! (single carbon nanotube)

ท่อนาโนวางตัวอยู่ระหว่างสองขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งตัวรับสัญญาณ, จูนเนอร์, ตัวแปลงเสียง และทุกอย่างเท่าที่วิทยุเครื่องหนึ่งจะมี แต่ว่าก็ต้องเชื่อมต่อลำโพงเพื่อฟังเสียง

การใช้งานวิทยุมีมานานกว่าร้อยปีแล้ว และเส้นทางการพัฒนาของมันแม้จะหยุดนิ่งมานาน แต่การเกิดขึ้นของวิทยุจากทีมวิจัย Berkeley ก็ยืนยันว่าขีดจำกัดของพัฒนาการไม่ได้มีอยู่ และวิทยุลักษณะนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ได้อย่างหลากหลายด้วย

 

#6

ไวโอลิน Project Soli

 

 

การเล่น ‘ไวโอลินที่เล็กที่สุดในโลก’ เกิดขึ้นจริงแล้วเช่นกัน ด้วยการสรรค์สร้างจาก Project Soli

Project Soli อันเป็นหนึ่งในทีมเทคโนโลยีของ Google ที่โฟกัสไปยังการสร้างชิปคอมพิวเตอร์ที่ใช้เรดาร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว พวกเขามีการทดลองทำในหลายอุปกรณ์ ซึ่งไวโอลินจิ๋วที่มีหน้าตาคนละเรื่องกับไวโอลินดั้งเดิม ก็เป็นหนึ่งในนั้น

มันเป็นเพียงกล่องเซนเซอร์ขนาดเล็ก ที่ไม่บอกไม่รู้ว่าคือไวโอลิน แต่จะทำงานทันทีถ้าคุณขยับนิ้วไปมาที่เหนือกล่อง คุณสามารถเล่นเพลงได้เลยถ้าคุ้นเคยกับมันมากพอ (แต่ก็ต้องฝึกฝนนานทีเดียว)

อย่างที่ว่า แม้หน้าตาจะไม่ใช่ไวโอลินสักนิด แต่ก็ถือได้ว่านี่คือไวโอลินที่เล็กที่สุดในโลกอย่างแท้จริง

 

#5

โทรศัพท์ Zanco Tiny T1

 

 

ตรงกันข้ามกับการพัฒนาของบริษัทสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ที่ดูเหมือนจะแข่งกันทำให้ขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ Zanco Tiny T1 ตั้งใจทำโทรศัพท์ให้ออกมา ‘เล็กที่สุด’ เท่าที่มนุษย์จะสามารถใช้งานได้ – ในความหมายว่าสามารถอ่านข้อความบนหน้าจอ และพิมพ์ข้อความบนปุ่มกดได้

สมาร์ทโฟนสามารถทำอะไรได้บ้าง Zanco Tiny T1 ก็สามารถ…ทำได้หลายอย่างอยู่เหมือนกัน โทรศัพท์จิ๋วเครื่องนี้รองรับนาโนซิม, สามารถเก็บเบอร์โทรศัพท์ได้ 300 เบอร์, ข้อความ 50 ข้อความ, แบตเตอรี่ใช้งานในการสนทนาต่อเนื่อง 180 นาที แต่ว่ารับเครือข่ายได้แค่ 2G หมายถึงหมดสิทธิ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

หนึ่งคือพกพาสะดวก และสอง–ที่สำคัญ ก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถซื้อหามามอบให้กับบุตรหลานของท่านได้ เพื่อเป็นเครื่องสำหรับติดต่อยามจำเป็น แทนที่จะมอบสมาร์ทโฟนให้เด็กๆ ในวัยที่ยังไม่สมควรมีไว้ในครอบครอง

 

#4

พิพิธภัณฑ์ Craftsmanship

 

 

ตั้งแต่ที่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นบนโลก มนุษย์ก็ได้สร้างแบบจำลองขนาดเล็กของหลายสิ่งขึ้นมา และมันกลายเป็นหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ Miniature Engineering Craftsmanship Museum of Carlsbad หรือ Craftsmanship Museum แห่งแคลิฟอร์เนีย ในการเก็บรวบรวมสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ในที่เดียวกัน

คุณสามารถเข้าชมโมเดลจิ๋วของทั้งเครื่องยนต์, อาวุธ, รถยนต์, เครื่องบิน, โรงงาน และอื่นๆ ซึ่งทุกชิ้นสามารถ ‘ทำงานได้จริง’ ทั้งหมด

ความหลงใหลในการสร้างแบบจำลองจิ๋วของเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ให้ความสนุกเท่านั้น มันยังสามารถเป็นการแข่งขันจริงจังได้ด้วย เช่นบางบริษัทที่มีการเปิดประกวดการออกแบบรถยนต์หรือเครื่องจักรกลของพวกเขา และผู้ชนะนอกจากจะได้รางวัลแล้ว ก็ยังอาจได้งานกับบริษัทนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

พิพิธภัณฑ์ Craftsmanship ที่ก่อตั้งโดย Joe Martin (เสียชีวิตปี 2014) เปิดมานานกว่า 22 ปี และถูกยกย่องว่าเป็นศูนย์รวมแบบจำลองทางวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือถ้าคุณต้องการสัมผัส ‘งานศิลปะ’ การย่อส่วนเทคโนโลยีของโลกอย่างใกล้ชิด ก็ต้องไปที่นี่เท่านั้น

 

#3

เซนเซอร์ Fujitsu

 

 

ยาวเพียง 82 มิลลิเมตร และกว้างแค่ 24 มิลลิเมตร นี่คือเซนเซอร์ขนาดซูเปอร์จิ๋วของ Fujitsu บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่น

ถือว่านี่คืออุปกรณ์เซนเซอร์ขนาดเล็กที่สุดในโลก แม้จะส่วนที่ยืดขยายออกก็ตาม มันใช้เทคโนโลยีการรับส่งสัญญาณแบบไร้สาย เพื่อตรวจจับสิ่งต่างๆ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น จากนั้นจึงส่งข้อมูลกลับไปยังอุปกรณ์จัดเก็บแยกเฉพาะ

ที่น่าประทับใจที่สุดคือ เซนเซอร์ตัวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่เป็นขุมพลังแต่อย่างใด และไม่มีหมดพลังด้วยหากจัดวางให้ถูกตำแหน่ง เนื่องด้วยเพราะมันแปลงพลังงานมาจากแสงอาทิตย์ – เซลล์แสงอาทิตย์แบบพื้นฐานๆ เพียงพอแล้วที่จะทำให้เซนเซอร์ทำงานอย่างไม่มีกำหนด

มันยังมีความสามารถในการถ่ายโอนข้อมูลได้ไกลถึง 7 กิโลเมตรผ่านสัญญาณไร้สาย หนึ่งในการใช้งานที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการบำรุงรักษาโครงการ ซึ่งจะมีการกระจายเซนเซอร์เหล่านี้ไปทั่วพื้นที่กว้างๆ ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้า และแม้กระทั่งพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้

 

#2

เว็บเซิร์ฟเวอร์ UMass

 

 

มีสองสิ่งที่น่าประทับใจเกี่ยวกับเซิร์ฟเวอร์นี้ อันดับแรกคือมันมีขนาดเทียบเท่ากับหัวไม้ขีด ส่วนอันดับที่สองคือถ้าเราย้อนกลับไปในสักปี 1999 เซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิมสามารถทำได้ทุกอย่าง… ยกเว้นการมีขนาดเล็กและพกพาได้สะดวก

ด้วยการเป็นเพียงงานอดิเรกนอกเวลาของนักศึกษามหาวิทยาลัย University of Massachusetts (UMass) ที่ชื่อว่า Hariharasubrahmanian Shrikumar (เรียกสั้นๆ ว่า Shri) เขาได้ออกแบบและสร้างเซิร์ฟเวอร์พร้อมชิพไมโครคอนโทรลเลอร์ที่เล็กที่สุดในเวลานั้น ด้วยความสนใจของตัวเขาเอง ไม่เกี่ยวข้องกับโครงงานใดใดในวิชาเรียน

เพียงไม่กี่เดือนในการลงมือ เซิร์ฟเวอร์ขนาดจิ๋ว 1/4 นิ้วตัวนี้ก็สามารถเชื่อมโยงเว็บเพจได้มากถึง 45,000 ไซต์สำหรับผู้ใช้ 6,000 ราย แม้สมรรถนะของมันจะรองรับความซับซ้อนได้น้อยและไม่อาจส่งเนื้อหาที่ซับซ้อนได้มากนักก็ตาม

เซิร์ฟเวอร์มีหน่วยความจำ 256 ไบต์ และมีการเชื่อมต่อพอร์ตซีเรียลพื้นฐานเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งถือได้ว่ามันคือเป็นรากฐานสำหรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และความก้าวหน้าอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้

 

#1

ดาวเทียม Kalamsat

 

 

คุณคิดว่าดาวเทียม จะเล็กจิ๋วได้แค่ไหน? และคุณคิดว่า เด็กอายุ 18 จะทำอะไรได้บ้าง?

ดาวเทียม Kalamsat ตอบคำถามข้างต้นได้ว่า 1) เล็กเท่ากับลูกเต๋าขนาดย่อม กับ 2) เด็กอายุ 18 ก็คือหนึ่งในผู้พัฒนาดาวเทียมตัวนี้แหละ

Rifath Sharook หนุ่มน้อยชาวอินเดียวัย 18 ขวบ ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์ลงมือสร้าง Kalamsat ขึ้นมา… แถมยังส่งมันขึ้นอวกาศมาแล้วด้วย!

Kalamsat ขึ้นฟ้าไปพร้อมกับจรวดของ NASA โดยที่เจ้าดาวเทียมจิ๋วตัวนี้ใช้เวลาท่องอวกาศอยู่ประมาณ 125 นาที ก่อนทิ้งตัวตกลงสู่มหาสมุทรตามแผนการ (หลังจากนั้นจะมีการเก็บกู้ เพื่อถอดรหัสข้อมูล)

อุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่บนดาวเทียมได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการอ่านขั้นพื้นฐาน แผงวงจรได้รับการคุ้มครองโดยโพลิเมอร์คาร์บอนไฟเบอร์ 3D และเทคโนโลยีภายในยังมีตัวนับนาโน Geiger Muller เพื่อวัดรังสีในอวกาศด้วย

 

AHEAD TAKEAWAY

“คนที่ทำงานด้วยมือ คือแรงงาน, คนที่ทำงานด้วยมือและสมอง คือช่างศิลป์, คนที่ทำงานด้วยมือ ด้วยสมอง และด้วยหัวใจ คือศิลปิน”

ประโยคข้างต้นเป็นคำนิยามจาก Louis Nizer ที่ให้ไว้กับพิพิธภัณฑ์ Craftsmanship

เพราะแน่นอนว่าการสร้างเทคโนโลยีจิ๋วเหล่านี้ นอกจากต้องใช้ภูมิความรู้ระดับสูงแล้ว ผู้สร้างก็ยังต้องมีศิลปะมากพอที่จะสร้างให้มันออกมาได้ขนาดเล็กกว่าปกติแบบนั้นด้วย

หลายชิ้นคืองานสร้างที่น่าตกตะลึง และบางชิ้นอย่างโทรศัพท์ Zanco Tiny T1 ก็เรียกรอยยิ้มได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าทุกวันนี้ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนดูจะแข่งกันที่ ‘ใครใหญ่กว่า ชนะ’ แต่ Zanco ทำให้เห็นว่า ของจิ๋วก็มีที่ยืนได้เหมือนกัน

ยิ่งกับ ดาวเทียม Kalamsat ยิ่งน่ายกย่องไปใหญ่ ว่านอกจากจะสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความสลับซับซ้อน ออกมาด้วยขนาดเพียงกำปั้นเด็ก ก็ยังเป็นการสร้างสรรค์ของเด็กอายุ 18 เท่านั้น

ในบรรดานวัตกรรมแก็ดเจ็ตจิ๋วเหล่านี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้งาน คงมีเพียงอย่างเดียว

ระวังหล่นหาย!

 

เรียบเรียงจาก
Big things do come in small packages. Here’s the tiniest tech in the world

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
RISE Innovation Week 2018

RISE Innovation Week 2018: สัมผัสนวัตกรรมระดับซิลิคอนวัลลีย์ใจกลางกรุงเทพ

Next Article
ศุภชัย ปาจริยานนท์

องค์กรใหญ่ เร่งสปีดกับสตาร์ทอัพอย่างไรให้สำเร็จ ในมุมมอง นพ. ศุภชัย ปาจริยานนท์

Related Posts