แม้ Antoine de Saint-Exupery จะเคยว่าไว้“ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการลงมือทำบางสิ่ง” แต่สำหรับเรื่องของหน้าที่การงานแล้ว การ มาสาย แม้เพียง 1 นาที ก็ถือว่าสาย และนั่นอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับเพื่อนร่วมงาน, เจ้านาย, ลูกน้อง ที่มารอตามเวลานัดแต่เนิ่นๆ
William Vanderbloemen ผู้ก่อตั้ง Vanderbloemen Search Group กล่าวว่า เมื่อใครสักคนมาสาย หรือแม้แต่ตัวเขาเอง สิ่งที่จะลอยฟุ้งอยู่ ณ ที่ประชุมก็คือ ‘ความนัย’ ที่สื่อถึงพฤติกรรมของคนๆ นั้น โดยไม่ต้องเอ่ยปากพูดออกมา
และนี่คือตัวอย่าง 6 ประเภทคนมาสาย พร้อมกับ ‘ความนัย’ ที่ปรากฏจากตัวผู้คนเหล่านั้น
#1
ดราม่ากลบเกลื่อน
ทุกบริษัทมีคนประเภทนี้ และทุกคนต่างรู้จักคนประเภทนี้
พวกเขาจะวิ่งหน้าตาตื่นหัวเหอฟูเข้ามาในออฟฟิศเป็นประจำ (เสื้อรีดบ้างไม่รีดบ้าง…ส่วนใหญ่จะไม่) และทำทีคึกคักกระตือรือร้นกลบเกลื่อน …หลังจากที่คุณรอเขาอยู่เนิ่นนาน
นัยจากท่าทีของคนประเภทนี้คือ “ขอโทษที ผมมีเรื่องดราม่า”
ความเกียจคร้านชนิดนี้ส่งผลกระทบให้ชีวิตขาดการควบคุม แทนที่จะควบคุมมันได้ ชีวิตของพวกเขาจะถูกควบคุมโดยข้ออ้างของความดราม่าไปแทน
“ในการวิเคราะห์วิจัยที่ผมทำมาเป็นพันๆ ครั้งในตลอดหลายปี ผมไม่เคยพบลูกค้าที่ร้องขอทีมงานจอมดราม่า ตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่ยินดีจะทำงานร่วมกับคนที่สงบนิ่งอยู่เสมอ” Vanderbloemen กล่าว
และตรงกันข้ามเช่นกันกับความดราม่าของพวกเขา – ที่จริงแล้วการมาทำงานให้ตรงเวลาต่างหากสามารถช่วยลดทอนความตึงเครียดลงไปได้
ตามการประมาณการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาความเครียด (สินค้า, หนังสื่อ, อื่นๆ) ในสหรัฐอเมริกา คืออุตสาหกรรมมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ แต่คุณจะไม่ต้องเสียสตางค์ไปกับสิ่งเหล่านั้นจนเกินจำเป็น ถ้าเพียงคุณ ‘รักษาเวลาให้เป็น’ เท่านั้นก็พอ
#2
ทองไม่รู้ร้อน
เคยเจอไหม ใครบางคนที่เปิดประตูเดินดุ่มเข้ามานั่งให้ห้องประชุม โดยไม่ได้สำเหนียกตัวเองเลยว่ามาสาย “อ้าว พวกคุณกำลังรอผมอยู่เหรอ?”
นัยจากท่าทีของคนประเภทนี้คือ “ฉันเป็นคนสำคัญ ใครจะทำไม”
สำนวนเก่าเป็นเรื่องจริงเสมอ – we measure what matters (คุณค่าของคนเกิดจากการกระทำ) ถ้าคุณมาเข้าประชุมตรงเวลาเสียอย่าง นั่นย่อมหมายถึงคุณให้ความเคารพต่อเวลาของทุกคน ในทางตรงกันข้าม พวกทำทีทองไม่รู้ร้อน ไม่ใส่ใจเวลาชาวบ้าน จะมีภาพพจน์ที่ไม่ดีติดตัวไปทันที และเป็นเรื่องยากที่จะกู้คืนด้วย
#3
แล้วไงใครแคร์
คนบางคนเดินเข้าที่ประชุมสาย และทำเนียนราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นัยจากท่าทีของคนประเภทนี้คือ “I don’t care.”
Vanderbloemen กล่าวว่า “การตรงต่อเวลาแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถปฏิบัติตามคำสัญญาได้ มันต้องย้อนไปที่ช่วงการสัมภาษณ์รับเข้าทำงาน ว่าบริษัทต้องการทราบว่าผู้สมัครที่เป็นตัวเลือกคนไหนจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพบ้าง การมาทำงานตรงเวลาหมายถึงคุณสามารถตอบสนองข้อตกลงแรกๆ ของเราได้”
“การมาสายแล้วไม่เอ่ยคำขอโทษใดใด? มันเป็นการแสดงออกว่าคุณไม่สามารถทำงานนี้ได้ และคุณก็ไม่สนใจเสียด้วย”
#4
ตัวปัญหา
“คุณต้องไม่เชื่อแน่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับผมบ้างระหว่างทางที่มาทำงาน…” ซึ่งก็ถูกแล้วล่ะ ไม่มีใครเชื่อคุณหรอก
นัยจากท่าทีของคนประเภทนี้คือ “ผมมีปัญหา…และผมคือตัวปัญหา”
ไม่มีบริษัทไหนหรอกที่อยากจะลงทุนจ้างพนักงานที่เดี๋ยววันนี้มีปัญหา เดี๋ยววันนั้นก็มีปัญหา บ่อยครั้งที่ผู้คนจะตอบสนองกับข้อผิดพลาดด้วยข้อแก้ตัว ด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นว่านั่นคือต้นเหตุของการมาสาย
“ใช่ สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ครั้งแล้วครั้งเล่า และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว การตอบสนองที่ดีที่สุดก็คือการพยายามควบคุมข้อผิดพลาดเหล่านั้นให้ได้ และเรียนรู้จากมัน”
#5
จอมชักแม่น้ำ
มีกี่ครั้งกันที่คุณได้รับอีเมลหรือข้อความจากใครบางคน ในเช้าของวันที่มีนัดประชุม ด้วยการร่ายเหตุผลต่างๆ นานาว่าพวกเขาจะมาสาย
บางครั้งเหตุผลของพวกเขาก็ฟังขึ้น แต่ส่วนใหญ่ล่ะ?
นัยจากท่าทีของคนประเภทนี้คือ “อย่าเชื่อฉัน”
“ที่จริงผมชอบนะกับความพยายามอธิบายเหตุผลของพนักงาน” Vanderbloemen ระบุ “แต่หากว่ามันคือการร่ายเหตุผล 3 หน้ากระดาษ แล้วคนๆ นั้นก้าวเข้าออฟฟิศมาพร้อมแก้วสตาร์บัคส์ มันก็น่าสงสัยแล้วล่ะ”
วิธีที่คุณตอบสนองต่อข้อผิดพลาด สร้างความแตกต่างสำหรับผู้พบเห็นได้เสมอ แต่การใช้เวลาชักแม่น้ำทั้งห้ามาแจกแจงเพียงเพราะอันที่จริงคุณต้องเข้าคิวซื้อกาแฟนาน มันจะลดทอนความน่าเชื่อถือของคุณลงไปโดยตรง
#6
คุณชาย/คุณนายสายเสมอ
ข้อนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด และไม่ว่าคุณจะทราบหรือไม่ แต่นัยจากท่าทีของคนประเภทนี้คือ…
“คุณพึ่งพาอะไรฉันไม่ได้ทั้งนั้น”
การมาตรงเวลาช่วยให้คุณสามารถควบคุมชีวิตได้ ใช่ที่บางครั้งผู้คนก็มาสายเพราะติดขัดบางประการจริงๆ คุณจะเข้าใจได้ทันทีถ้ามาลองขับรถบนถนนในฮูสตันดูสักครั้ง แต่ในท้ายที่สุด การมาตามนัดก็คือข้อตกลงพื้นฐาน
“หากคุณทำลายความไว้วางใจของผมอย่างต่อเนื่องด้วยการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของเรา อย่างน้อยผมก็จะคิดว่าคุณไม่สามารถพึ่งพาได้ และที่แย่ที่สุดคือผมจะไม่เชื่อคำสัญญาใดๆ ของคุณอีก”
Vanderbloemen Search Group ทำการสัมภาษณ์งานมานับหมื่นคน สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอะไรที่ง่ายๆ พื้นๆ แต่อาจมีค่ามากที่สุด และยังเป็นตัวคัดกรองผู้สมัครที่ดีออกจากส่วนที่เหลือ
ก็คือการตรงต่อเวลา
AHEAD TAKEAWAY
นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแล้ว William Vanderbloemen ยังเป็นเจ้าของหนังสือเกี่ยวกับการทำงานถึง 3 เล่ม ทั้ง ‘Culture Wins: The Roadmap to an Irresistible Workplace’, ‘Next: Pastoral Succession That Works’ และ ‘Search: The Pastoral Search Committee Handbook’ นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญสายนี้อย่างแท้จริง
ท่ามกลางประสบการณ์การทำงานหลายสิบปี Vanderbloemen ยังเคยรับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลของ Fortune 200 มาด้วย นั่นทำให้เขาได้ทำงานกับคนเป็นจำนวนมาก และมองเห็นว่าปัญหาเรื่องการ ‘มาสาย’ คือสิ่งแรกๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นงานแขนงไหนก็ตาม
สิ่งที่ Vanderbloemen เน้นย้ำ ก็คือการมาสายที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้เสมอไป เพียงแต่อย่าให้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเกินไป จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคนๆ นั้นโดยตรง
William Shakespeare กล่าวไว้ว่า “มาเร็วเกินไป 3 ชั่วโมง ดีกว่ามาช้าไปเพียง 1 นาที”
เพราะบางที 1 นาทีนั้นอาจเปลี่ยนชีวิตคุณไปเลย ก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก
The 6 Worst Kinds of Late People (And The Message They’re Sending)
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน