แม้ Dara Khosrowshahi จะกล่าวไว้ตอนนำ Uber ถอยทัพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าการทำธุรกิจที่นี่ “ไม่ทำกำไร” แต่ในความเป็นจริง อาเซียน คือภูมิภาคที่กำลังเติบโตต่อเนื่องด้วยจำนวนประชากรราว 637 ล้านคน ขณะที่วงการสตาร์ทอัพในแถบนี้ ก็กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ Garena (หรือ SEA ในปัจจุบัน) หรือ Grab เติบโตจนถึงระดับ ยูนิคอร์น ได้สำเร็จ
เราจะย้อนกลับไปตามรอยดูกันว่า นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สตาร์ทอัพระดับ ยูนิคอร์น ในภูมิภาคนี้ มีใครกันบ้าง
(หมายเหตุ – ในการรวบรวมครั้งนี้ ไม่ได้นับ Lazada ที่ก่อตั้งโดย Rocket Internet ซึ่งเป็น incubator จากเยอรมัน และ Razer ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐ)
#1
VNG
ธุรกิจ: เกม, โซเชียลมีเดีย
มูลค่า: 1,000 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: เวียดนาม
VNG คือสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นยุคบุกเบิกของอาเซียน (ร่วมกับ Garena) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2004 โดย Le Hong Minh ในชื่อ VinaGame โดยเริ่มจากการให้บริการเกมประเภท MMORPG (Massively Multiplayer Online Game)
ก่อนจะขยายมาสู่โซเชียลมีเดีย และแอพแชท Zalo ที่มียอดดาวน์โหลดกว่า 15 ล้านครั้ง
ความน่าทึ่งของ VNG คือความสามารถในการระดมทุน และสเกลอัพจากสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่า 2 พันคนในเวลาอันสั้น ทั้งที่เน้นทำธุรกิจในประเทศเป็นหลัก
#2
SEA (ชื่อเดิม Garena)
ธุรกิจ: เกมออนไลน์, e-wallet และ อีคอมเมิร์ซ
มูลค่า: 4,500 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: สิงคโปร์
ก่อตั้งในปี 2009 จากจุดเริ่มต้นคือความหลงใหลในเกมของ Forrest Li ผู้ประกอบการชาวจีน และค่อยๆเติบโตไปสู่ประเทศอื่น ด้วยหัวหอกคือเกมฮิต อย่าง Heroes of Newearth (HON) และ League of Legends (LOL)
และค่อยๆขยายสู่ธุรกิจอื่น (e-wallet) อย่าง AirPay (2014) เพื่อตอบโจทย์การเติมเงินในเกมที่เคยเป็นปัญหา และต่อยอดไปสู่การชำระเงินสินค้า/ผลิตภัณฑ์อื่น จนเมื่อเติบโตมาถึงระดับหนึ่ง จึงขยับมาสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ภายใต้ชื่อ Shopee (2015)
จนเมื่อสามารถระดมทุนได้ 550 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2017 จึงทำการรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ SEA โดยมีผู้ถือหุ้นหลักที่สำคัญอย่าง Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนหนุนหลัง พร้อมทำ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้นนิวยอร์กไป เมื่อเดือนตุลาคม 2017
#3
GRAB
ธุรกิจ: บริการเรียกรถ (ride-hailing service)
มูลค่า: 6,000 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: มาเลเซีย/สิงคโปร์
ก่อตั้งขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี 2012 โดยอดีตนักศึกษา MBA จาก Havard Business School สองราย คือ Anthony Tan และ Tan Hooi Ling เพื่อแก้ปัญหาการเรียกแท็กซี่ยากในบ้านเกิด
Grab เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงสองปี ขยายจากมาเลเซีย ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ตามลำดับ
และเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้วบริษัทยังได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มอีกราว 2 พันล้านดอลลาร์ จาก Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกรถชั้นนำของจีน และ Softbank Group จากญี่ปุ่น ในการแข่งขันกับ Uber
จนเมื่อสตาร์ทอัพจากซานฟรานซิสโก ถอยทัพไป ก็ส่งผลให้ Grab กลายเป็นผู้ให้บริการ ride-hailing ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้สำเร็จ
#4
GO-JEK
ธุรกิจ: บริการเรียกรถ (ride-hailing service)
มูลค่า: 3,000 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: อินโดนีเซีย
อีกหนึ่ง ride-hailing service ที่ก่อตั้งโดย อดีตนักศึกษา MBA จาก Havard Business School ร่วมรุ่นกับสองผู้ก่อตั้ง Grab
ที่มาของ Go-Jek เกิดจาก pain point ของ Nadiem Makarim อดีต CEO ของ Zalora ในอินโดนีเซีย ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานมอเตอร์ไซค์รับจ้างในประเทศ ก่อนจะขยายไปสู่บริการรูปแบบอื่นๆที่ผูกโยงกับมอเตอร์ไซค์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ล้างรถ รวมถีง โมบายล์ เพย์เมนท์ ฯลฯ
ที่ผ่านมา Go-Jek ยังให้บริการเฉพาะใน 25 เมืองทั่วอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ล่าสุด หลังได้เงินทุนสนับสนุนจาก Google, Temasek, Sequoia รวมถึง Tencent และ JD.com บริษัทก็เตรียมขยายการให้บริการ ไปสู่เพื่อนบ้านในแถบอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงคโปร์ และไทย
เพื่ออุดช่องว่างที่ Uber ทิ้งไว้ และเปิดฉากแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งเบอร์หนึ่งด้านนี้ กับ Grab อีกครั้ง หลังเคยขับเคี่ยวกันมาแล้วในบ้านเกิดของ Makarim
#5
TRAVELOKA
ธุรกิจ: บริการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม
มูลค่า: 2,000 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: อินโดนีเซีย
เมื่อ Ferry Unardi หนุ่มชาวอินโดนีเซีย ซึ่งทำงานในสหรัฐ พบว่าการจะจองตั๋วเครื่องบินเพื่อกลับบ้านเป็นเรื่องยากเย็น แต่กลับไม่มีใครรวบรวมข้อมูลต่างๆที่จำเป็นเข้าไว้ด้วยกัน
Unardi และเพื่อนๆ จึงตัดสินใจลงมือทำ Traveloka เอง เมื่อปี 2012 โดยเริ่มจากการเป็นเสิร์ชเอ็นจิน ก่อนจะพัฒนามาสู่แพลตฟอร์มให้บริการจองตั๋วเครื่องบิน และโรงแรม รวมถึงบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการเดินทาง
และเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว Traveloka ก็สามารถระดมทุนก้อนใหญ่ได้อีกราว 350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่ามาจาก Expedia เครือข่ายยักษ์ใหญ่ด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวจากสหรัฐ จนได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอีกตัวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด
#6
TOKOPEDIA
ธุรกิจ: อีคอมเมิร์ซ
มูลค่า: 1,200 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: อินโดนีเซีย
Tokopedia คือหนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ในฐานะผู้ให้บริการออนไลน์มาร์เก็ตเพลส ในลักษณะของ C2C (แบบเดียวกับ Taobao ของ Alibaba) ก่อตั้งขึ้นที่จาการ์ตา ในปี 2009 โดย William Tanuwijaya และ Leontinus Alpha Edison
ในเดือนตุลาคม 2014 Tokopedia สร้างประวัติศาสตร์ เป็นสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียรายแรก (ในขณะนั้น) ที่ระดมทุนได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ จากสองกองทุนระดับโลก Sequoia Capital และ SoftBank Group
และล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว บริษัทก็ได้รับเงินทุนก้อนใหญ่ถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ จาก Alibaba ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงถึงปีละ 88,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 หรือในอีกเจ็ดปีข้างหน้า
#7
BUKALAPAK
ธุรกิจ: อีคอมเมิร์ซ
มูลค่า: 1,000 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: อินโดนีเซีย
ในฐานะชาติที่มีจำนวนประชากรมากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก (266 ล้านคน ในปี 2018) อินโดนีเซีย จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
นอกจาก Tokopedia แล้ว Bukalapak ซึ่งก่อตั้งโดย Achmad Zaky ก็เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่เติบโตในสายนี้ และสามารถดึงดูด SME ให้มาเปิดร้านค้าในแพลตฟอร์มของตนได้มากถึง 510,000 ราย มีสินค้าวางขายมากถึง 1.4 ล้านชิ้น และมีเม็ดเงินหมุนเวียน ราว 4 ล้านดอลลาร์ต่อวัน
และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนี่เอง Bukalapak ก็เป็นรายล่าสุดที่ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าถึงหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายใหม่ของอินโดนีเซีย
#8
REVOLUTION PRECRAFTED
ธุรกิจ: อสังหาริมทรัพย์
มูลค่า: 1,000 ล้านดอลลาร์
ที่ตั้ง: ฟิลิปปินส์
สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นไม่จำเป็นต้องทำอีคอมเมิร์ซ หรือให้บริการเรียกรถเสมอไป
Revolution ยูนิคอร์น ตัวแรกจากฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อตั้งโดย Robbie Antonio คือตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดจากไอเดียแปลกใหม่จนได้รับความสนใจจากผู้คนในวงกว้าง และได้รับการประเมินให้เป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
จุดเด่นของ Revolution คือการอาศัยเทคโนโลยีการสร้างบ้านแบบ PREFAB (Prefabricated Building) ซึ่งจะผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จ ก่อนจะนำมาประกอบกันที่หน้างาน
มาผสมผสานกับการออกแบบจากดีไซเนอร์ระดับโลก อาทิ Zaha Hadid, David Salle, Tom Dixon, Marcel Wanders และ Kravitz Design ในแบบ limited edition
เสริมด้วยพลังของอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ ที่เปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปเลือกแบบและสั่งซื้อได้จากทั่วโลก
เรียบเรียงจาก
The Tale of Seven Southeast Asian Unicorns
The Unicorns Of Southeast Asia
อ่านเพิ่มเติม
5 Startup ที่มูลค่าสูงสุดในโลกมนุษย์
AHEAD TAKEAWAY
จะใช้ประโยคที่ว่า “ใครคิดได้ก่อน ลงมือทำก่อน ย่อมได้เปรียบ” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะแม้ผลิตภัณฑ์/บริการของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นส่วนใหญ่ในอาเซียน จะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน
แต่หากย้อนกลับไปในสมัยที่บริษัทเหล่านี้เพิ่งเริ่มต้น แนวคิดหลายๆอย่างถือเป็นเรื่องที่ “ล้ำ” มากในยุคนั้น
และแน่นอนว่า เมื่อ pain point หลักๆ ถูก “ตอบโจทย์” ไปแล้ว โอกาสของสตาร์ทอัพใหม่ๆที่จะ “ทำซ้ำ” แล้วประสบความสำเร็จแบบเดียวกันจึงเป็นเรื่องยาก
สตาร์ทอัพยุคใหม่ๆ จึงต้องพยายามหาคำตอบใหม่ๆให้การทำธุรกิจของตัวเอง และ Revolution Precrafted จากฟิลิปปินส์ ก็น่าจะถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยี PREFAB มาต่อยอดในแบบที่หลายคนไม่คาดคิด
จนนำมาสู่คุณสมบัติที่ “แตกต่าง” และ “เลียนแบบได้ยาก”
ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่เราจะได้เห็นสตาร์ทอัพใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการคนหมู่มาก จนไปถึงระดับยูนิคอร์น ก็ยังเป็นไปได้อยู่
ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เราจะมาร่วมตามหาสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายต่อไปของอาเซียนกัน ผ่านทรรศนะของนักลงทุน Venture Captial ชั้นนำ ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค
ไม่ว่าจะเป็น Michael Lints จาก Golden Gate Ventures, คุณเพลิน สุรพงษ์ชัย จาก Venturra Captial, Kuan Hsu จาก KK Fund และคุณปารดา ทรัพย์ประเสริฐ จาก 500 TukTuks ดำเนินรายการโดย คุณณัฏฐานุช อนันตพันธุ์พงศ์ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมงานกับ Expara Thailandแอคเซเลอเรเตอร์ยุคบุกเบิกของประเทศไทย
ในหัวข้อ Who will be the Next Unicorns in South East Asia
ผู้ที่สนใจ สามารถจองบัตรเข้าร่วม ในราคาเพียง 15 ดอลลาร์ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ที่ evenbrite.com
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน