Drones Journalism : มิติใหม่แห่งสื่อมวลชน

แม้ไม่อาจใช้คำว่า ‘ตกยุค’ ได้เต็มปาก สำหรับอุปกรณ์ทำข่าวในรูปแบบเดิมๆ อย่าง ปากกา, กระดาษ, เครื่องบันทึกเสียง และกล้องถ่ายรูป แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยในการทำข่าว ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น และหนึ่งในนั้น ก็คืออากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน

กระนั้น การมีอุปกรณ์ใหม่ๆเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หากไม่สามารถใช้งานมันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

แต่ Josh Haner บรรณาธิการช่างภาพแห่ง New York Times แสดงให้เราเห็นแล้วว่าหากรู้จักใช้มันอย่างถูกวิธี เทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่อำนวยความสะดวกให้กับการทำงานเท่านั้น มันยังสามารถขยายขอบเขตการทำงานออกไปได้แบบไม่สิ้นสุดด้วย

 

ช่างภาพเทคโนโลยี

 

 

หลังสำเร็จการศึกษาด้าน Studio Art จากมหาวิทยาลัย Stanford Josh Haner เคยทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการภาพให้กับ Fortune Magazine ก่อนจะปักหลัก รับบทเป็นช่างภาพให้กับ New York Times มานานกว่าสิบปี

ผลงานภาพถ่ายของเขา เคยไปปรากฎในสื่อชั้นนำมากมาย อาทิ Newsweek, Time, Fortune ไปจนถึง Rolling Stone

การันตีคุณภาพฝีมือ ด้วยรางวัล Pulitzer Prize ปี 2014 จากสารคดีภาพถ่าย การฟื้นร่างกายของ Jeff Bauman ผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดใน Boston Marathon

นอกจากเรื่องฝีมือแล้ว Haner ยังอัพเดทตัวเองไม่ให้ตกยุคอยู่เสมอ และมักมาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ

อย่างเช่นโปรเจ็กต์ ‘remote streaming backpack’ ซึ่งช่วยให้ช่างภาพ สามารถส่งภาพข่าวในที่เกิดเหตุแบบ real time ผ่านโมเด็มเคลื่อนที่โดยไม่ต้องเสียเวลา “บันทึกภาพ, เปิดแล็ปท็อป, ตัดต่อ, ส่ง วิธีนี้ทำให้เราสามารถเผยแพร่รูปภาพได้ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากลงมือถ่าย” Haner ซึ่งได้ไอเดียนี้จากการเห็นอุปกรณ์ของช่างภาพทีวี ระหว่างการทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2012

“รุ่นแรกที่ผมสร้างดูเหมือนจะเป็นสิ่งประดิษฐ์แบบบ้านๆ ที่เต็มไปด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยึดติดกับแผ่นไม้อัด ที่ผมทำมาให้พอดีกับกระเป๋าเป้สะพายหลังขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้มันสามารถใส่ใฝนกระเป๋าเล็กๆ ได้แล้ว และรูปทรงก็ดูเข้าท่ามากขึ้น”

การพัฒนาขั้นต่อไปจะเป็นการปรับจูนอุปกรณ์ให้เข้ากับเครือข่ายสัญญาณ 5G ในสหรัฐอเมริกา อันจะช่วยให้กองบรรณาธิการสามารถรับเนื้อหาที่สมบูรณ์จากผู้สื่อข่าวได้รวดเร็วขึ้น

“หวังว่ามันจะช่วยให้เราสามารถปรับใช้เทคโนโลยีนี้ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น สำหรับการรายงานข่าวด่วน”

 

ลั่นชัตเตอร์กลางอากาศ

 

 

ภาพถ่ายจากพื้นที่ลานน้ำแข็งแห่งเกาะกรีนแลนด์ (เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกในมหาสมุทรอาร์กติก อยู่ในอาณัติของประเทศเดนมาร์ก) คือตัวอย่างผลงานของ Haner ที่พยายามใช้ประโยชน์จาก โดรน จนได้ภาพชุดของธารน้ำตกที่ไหลจากชั้นบนสุดของภูเขาน้ำแข็ง

และเป็นอีกครั้งที่เจ้าตัวพยายามไล่ตาม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำงาน ไม่ใช่เพียงใช้กล้อง SLR หรือกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภาพอีกต่อไป

Haner เข้าสอบใบอนุญาตการใช้ โดรน จาก FAA สำเร็จเสร็จสิ้น จนกลายเป็นเครื่องมือทำกินชิ้นสำคัญของเขามาตลอดหลายปีหลัง – ที่ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งบรรณาธิการอาวุโสด้านเทคโนโลยีภาพถ่ายของ New York Times

“ผมกำลังทดลองกับโดรนตัวใหม่ล่าสุด และระบบกล้องเสมือนจริง 360 virtual realityHaner เผย “ทุกปีๆ โดรนจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และคุณภาพกล้องก็สูงขึ้น ซึ่งด้วยการที่ภาพมีคุณภาพสูง ผมจึงสนใจที่จะใช้มันเพื่อทำการรายงานข่าวแบบจริงจัง ตั้งแต่การสำรวจความเสียหายของชุมชนที่เกิดไฟไหม้, การติดตามสภาพผืนป่าเพื่อดูผลกระทบของภัยแล้ง ไปจนถึงการค้นหาจุดเพลิงไหม้ที่ซับซ้อน”

“โดรนทำให้การถ่ายภาพกลางอากาศสามารถทำได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายพันดอลลาร์เพื่อเช่าเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบิน ผมสามารถใช้งานมันได้ในหลากหลายหมายงาน และหลากหลายสถานที่”

“ส่วนที่ลาปัลลาปานี โบลิเวีย ผมใช้โดรนเพื่อแสดงให้เห็นว่าทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศโบลิเวีย กำลังแห้งแล้งอย่างหนัก เรือถูกจอดทิ้งบนผืนทราย และชุมชนชาวประมงต้องปรับตัวอย่างรุนแรง”

“เมื่อเร็วๆ นี้ผมยังบันทึกภาพรูปปั้นโมอายยักษ์บนเกาะอีสเตอร์ ที่แสดงถึงความกัดเซาะของพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล ซึ่งผมจะไม่ได้งานเหล่านี้แน่หากใช้วิธีการอื่น”

 

จรรยาบรรณของช่างภาพ

 

 

อรรถประโยชน์ของการใช้งานโดรนเป็นเครื่องมือของสื่อ มีมากมายตามตัวอย่างข้างต้น กระนั้นก็เป็นเสมือนอุปกรณ์เทคโนโลยีทั่วไป ที่เมื่อมีด้านดีก็ต้องมีด้านเสีย หากใช้งานโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมก็ย่อมส่งผลเสียผู้ใช้ได้โดยตรง

“สิ่งที่เป็นเรื่องต้องคำนึงถึงอย่างแรกเลยคือเรื่องความปลอดภัย” Haner ว่า “มันจำเป็นที่ผู้คนจะต้องเข้าใจกฎหมายในประเทศของตน และในประเทศที่พวกเขาลงมือใช้โดรน นี่คือหนึ่งในพาร์ทที่สำคัญที่สุดในงานของผม – การขออนุญาตจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อใช้โดรนของผมในน่านฟ้าของพวกเขาได้อย่างปลอดภัย”

นอกเหนือจากการได้รับการอนุมัติตามกฎหมาย ซึ่งมีข้อบังคับแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับถัดมาคือการใช้ในชุมชน “มีหลายครั้งที่ผมใช้มันในชุมชนเล็กๆ ซึ่งผมต้องเน้นจรรยาบรรณในการใช้งานเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นที่โบลิเวีย นักข่าวของเราได้เดินทางไปยังหมู่บ้านห่างไกลเพื่อทำความคุ้นเคยกับชุมชน และชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจว่าโดรนคืออะไร เราต้องได้รับอนุญาตจากผู้นำชุมชนก่อนที่จะนำเทคโนโลยีใหม่นี้เข้าไปใช้ในพื้นที่ของพวกเขา”

“มันจะมีผู้ที่ต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ผมเชื่อว่านักข่าวอย่างเราต่างก็ใช้มันด้วยแนวคิดที่เป็นบวก ตอนนี้มีกลุ่มคนในโซเชียลมีเดียที่พูดคุยกันถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง และก็ยังมีองค์กรสื่อที่ระบุชัดถึงจรรยาบรรณการใช้งานโดรนเอาไว้ด้วย”

ที่เขาเอ่ยถึง ก็คือ National Press Photographers Association และ Poynter Institute ซึ่งมีการร่างจรรยาบรรณการใช้งานโดรน หรือ Drone Journalism Code of Ethics ไว้ดังนี้

• ความปลอดภัยคือสิ่งแรก ต้องไม่เป็นอันตรายกับผู้คน, สัตว์ และสิ่งของ
• เคารพในสิทธิส่วนบุคคล
• เคารพกฎหมาย
• มีกาลเทศะในการใช้
• ยึดถือความเหมาะสมทั้งในตัวผู้ใช้ และกองบรรณาธิการ
• จดจ่อสมาธิระหว่างการบังคับโดรนขึ้นบิน
• ตรวจสอบอุปกรณ์ให้อยู่ในความสมบูรณ์พร้อม
• ตักเตือนเพื่อนนักข่าวเมื่อพบเห็นการใช้โดรนที่ไม่ถูกต้อง

 

“ในบางคราว โดรนก็ดูเหมือนของเล่น” Haner เสริม “แต่ถ้าใช้มันโดยไม่มีการฝึกอบรมและการป้องกันที่เหมาะสม มันก็สามารถเปลี่ยนเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยทางอากาศได้อย่างง่ายดาย”

“นอกเหนือจากความปลอดภัยแล้ว ความเป็นส่วนตัวของผู้คนก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา ที่ดีที่สุดคือเข้าพูดคุยกับทุกคนที่คุณอาจจะเผลอรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของพวกเขาในการขึ้นบินแต่ละครั้ง และคิดคำนวณว่าคุณควรใช้โดรนหรือเพียงแค่ใช้กล้องถ่ายภาพบนพื้นราบธรรมดา”

“แม้คุณจะสามารถมองเข้าไปในสนามหลังบ้านของใครบางคนได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะทำมันจริงๆ”

 

มนุษย์คือผู้กำหนด

 

 

นอกจากกล้องและโดรนแล้ว อีกหนึ่งอุปกรณ์คู่ใจของ Haner ก็คือเครื่องส่งข้อความ DeLorme inReach Explorer Satellite Messenger ซึ่งส่งต่อสัญญาณผ่านดาวเทียมโดยตรงไปสู่ปลายทาง

“ผมรักการออกเดินทาง บางครั้งผมไปตัวคนเดียวและหลายๆ สถานที่ ซึ่งอาจทำให้ครอบครัวผมเป็นกังวลได้” เขาบอก “แต่ตอนนี้ เมื่อผมออกเดินทาง ผมจะใช้ Satellite Messenger เพื่อบอกกับภรรยาและครอบครัวของผมว่าผมปลอดภัยดี”

“ผมยังสามารถเรียกดูข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่นั้นๆ เช่นเมื่อวันหนึ่งผมเดินเข้าป่า ไปไกลสัก 20 ไมล์แล้วเกิดหิมะตกลงมา มันสำคัญมากที่จะล่วงรู้ว่าสภาพอากาศจะดีขึ้นหรือแย่ลง และผมควรออกจากที่นั่นโดยเร็วก่อนที่ถนนจะถูกปิดหรือเปล่า”

แม้จะเป็นช่างภาพที่ไล่ตามเทคโนโลยีแบบก้าวต่อก้าว แต่ Haner ยังเชื่อว่าสุดท้าย งานที่ออกมาจะดีหรือไม่ ยังขึ้นกับมนุษย์เราคือผู้กำหนด

“สังคมทุกวันนี้ขยายไปไกลกว่าเดิมด้วยการที่กล้องโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดียมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกคนเป็นช่างภาพและกำลังจดบันทึกชีวิตตัวเองด้วยวิธีการใหม่ๆ นอกจากนี้ Instagram กับ Snapchat ก็ทำให้เราคาดหวังถึงความรวดเร็วในการเผยแพร่ข่าวสารมากขึ้น และลดความสำคัญของถ้อยคำลงไป”

“แต่แม้เราจะก้าวไปข้างหน้า ก็ไม่ได้หมายความภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวจะสามารถสื่อสารความหมายได้ทั้งหมด วิธีที่จะประสบความสำเร็จในการสื่อสารมวลชนไม่ใช่การเน้นให้ความสำคัญกับงานภาพเหนืออย่างอื่น มันคือเรื่องของคุณภาพในการเผยแพร่ด้วยสื่อทั้งหมดที่มีความสำคัญ”

“นับตั้งแต่ที่ผู้คนถูกรุกรานด้วยภาพผ่านสื่อโฆษณา, โซเชียลมีเดีย, ข้อความ, อีโมจิ, VR และ AR มันก็นำมาซึ่งสื่อมวลชนที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งสักแต่ว่าใช้เทคโนโลยีถ่ายทอดข้อมูลไปสู่ผู้รับ นักข่าวที่อยู่เบื้องหลังกล้องยังคงเป็นส่วนสำคัญที่สุดของประเด็นนี้ ตาของเขาหรือเธอคือสิ่งที่เป็นตัวกำหนด”

“เรายังคงต้องหาวิธีที่ชาญฉลาดในการผลักดันการสื่อข่าวอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้อ่านของเราได้รับทราบถึงความสัตย์ซื่อและจรรยาบรรณที่อยู่เบื้องหลังการสร้างงานของเรา เนื้อหาภาพที่แข็งแกร่งไม่จำเป็นต้องมาจากอะไรที่เลิศหรู และผมคิดว่าบางเรื่องที่ดีที่สุดของเราใน The Times เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างนักเขียนและช่างภาพ”

“พูดง่ายๆคือ ผมคิดว่าเทคโนโลยีต่างหาก ที่ช่วยให้ช่างภาพและนักข่าววิดีโอ มีศักยภาพในการเล่าเรื่อง ได้มากกว่าที่เคยเป็นมา” 

 

AHEAD TAKEAWAY

Josh Haner ไม่ใช่ช่างภาพหรือผู้สื่อข่าวคนแรก ที่นำโดรนมาใช้เป็นเครื่องมือ

การใช้โดรนเพื่อรายงานข่าวถูกวิจัยโดย Poynter Institute ตั้งแต่ปี 2002 ก่อน Drone Journalism Lab จะถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดยกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยสื่อจากหลายสถาบันของสหรัฐอเมริกา

ยังมีการเปิดสอน Drone Journalism Program ขึ้นที่มหาวิทยาลัย University of Missouri รัฐมิสซูรี เพื่อให้นักศึกษาแขนงสื่อมวลชนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสายนี้ ไปจนถึงหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณ โดยใช้ทั้ง DJI Phantom 4 Pro และ DJI Inspire 2 เป็นสื่อการเรียนการสอน

ส่วนการใช้โดรนในสื่อใหญ่ก็มีมาพักใหญ่แล้วเช่นกัน อาทิ BBC ที่เริ่มใช้โดรนในการออกทำข่าวภาคสนามในปี 2013, Daily Dot ใช้โดรน Phantom เข้าเก็บภาพตึกถล่มในย่ามฮาร์เลม (นิวยอร์ค) ปี 2014 หรือ Manchester Evening News ใช้โดรนถ่ายทอดงานคอนเสิร์ต Parklife music festival ในปี 2015 รวมถึงเมื่อปีที่แล้ว สื่อหลายเจ้าในสหรัฐฯ ก็ใช้มันไปกับการแพร่ภาพพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม, ไฟไหม้ หรือโดนพายุเฮอริเคนถล่ม

การใช้โดรนค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้นในสายงานสื่อ และก็ยังมีการมองกันว่า โดรนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในอนาคตของสื่อมวลชน

“โดรนเป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในหลายสถานการณ์” Matt Waite แห่ง Drone Journalism Lab กล่าว “ในงานสื่อ เราสามารถใช้เวลาน้อยลงและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น พร้อมกับทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายถึงขนาดและขอบเขตของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีการอื่นไม่สามารถทำได้”

“เพียงแค่การขึ้นบินตรงๆ สักร้อยฟุต ก็มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนความเข้าใจของเราได้แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ามันกว้างใหญ่ขนาดไหน”

“ผมคิดว่าในอนาคต โดรนจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดีมากสำหรับการสื่อสารมวลชน เราสามารถใช้มันเพื่อตรวจสอบประเด็นทางสิ่งแวดล้อม, ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก, เหตุการณ์ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย”

 

เรียบเรียงจาก
Taking Visual Journalism Into the Sky With Drones

An interview with Matt Waite about the future of Drone Journalism
Drone Journalism Code of Ethics

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Google

ผู้ถือหุ้นแตะเบรค Alphabet ปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานหญิงและคนผิวสี

Next Article
Amazon Prime Video

Amazon ชิมลางคว้าลิขสิทธิ์สตรีมมิ่งเกมพรีเมียร์ลีกในยูเค

Related Posts