ฟุตบอลโลก

โลกหยุดหมุน เมื่อฟุตบอลโลกมา

คืนนี้ เสียงนกหวีดแรกที่คอลูกหนังรอคอยกันมาเป็นเวลา 4 ปี ก็จะดังขึ้นแล้ว กับ ฟุตบอลโลก 2018 ที่แดนหลังม่านเหล็ก นี่คือมหกรรมกีฬาที่ว่ากันว่าจะทำให้ ‘โลกหยุดหมุน’ ได้มากกว่า โอลิมปิก เกมส์ เสียอีก

ฟุตบอลโลก อย่างไร แบบไหน อะไร ทำไม ไปทำความรู้จักเพิ่มขึ้่นอีกนิด…เผื่อว่าโอกาสหน้าฟ้าใหม่ ประเทศแถวนี้จะได้เป็นเจ้าภาพกับเขาบ้าง…?!?

 

บอลโลก…อย่างไร?

 

เป็นที่รู้กันดีว่า FIFA World Cup หรือที่คนไทยรู้จักกันมาช้านานว่า ‘ฟุตบอลโลก’ คือ ‘มหกรรมฟุตบอลแห่งมวลมนุษยชาติ’ เวทีที่ซึ่งทีมชาติทั่วทั้งโลกประชันขันแข่งกันเพื่อเป้าหมายสูงสุดอย่างการได้แปะป้าย ‘แชมป์โลก’

ด้วยระยะห่างกำลังพอเหมาะ 4 ปีมีครั้ง ผู้คนจึงต้อง ‘รอคอย’ การมาถึงของทัวร์นาเมนต์ นั่นจึงเป็นความรู้สึกว่ารายการนี้ Valuable ไม่ใช่จัดทุกปีหรือสองปี ที่จะเป็นความรู้สึกในเชิง ครั้งนี้พลาดไปไม่เป็นไร เดี๋ยวแป้บๆ ครั้งใหม่ก็มา

อีกแม้กระทั่งการได้เข้าร่วมรอบสุดท้าย ก็ควรค่าแก่การฉลองใหญ่แล้วสำหรับบางประเทศ

ในทางตรงกันข้าม การไม่ได้ไป ก็เสียหายหนักมากสำหรับบางชาติเช่นกัน

การที่ชาติยักษ์ใหญ่อย่าง อิตาลี ไม่ได้ไปรัสเซีย ตกรอบคัดเลือก (เพลย์ออฟแพ้สวีเดน) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1958 สร้างความเสียหายโดยตรงทั้งกับองคาพยพของฟุตบอลอิตาเลียน และกระทบชิ่งไปยังร้านรวงต่างๆ และเศรษฐกิจของชาติ (ซึ่งตลอดที่ผ่านมา พวกเขามี ‘งานเทศกาล’ ดื่มกินจับจ่ายรับฟุตบอลรายการใหญ่ทุกๆ สองปี คือฟุตบอลโลกและ UEFA Euro ศึกชิงแชมป์ทวีปยุโรป)

Franco Carraro ส.ว. แดนมะกะโรนี ประเมินไว้ว่าความเสียหายของการไม่ได้ไปบอลโลกครั้งนี้ อยู่ที่ 1 พันล้านยูโร “มันไม่ใช่แค่เรื่องของการขายโฆษณา, ลิขสิทธิ์ทีวี หรือสินค้าที่เกี่ยวกับอีเวนท์ แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมมาก เช่นการขายทัวร์ฮอลิเดย์ไปรัสเซีย, ยอดผู้แทงพนันในบริษัทรับพนัน, บาร์และร้านอาหารทั่วประเทศ”

ยังมีคำกล่าวบางประโยคว่า ‘โลกจะหยุดหมุนเมื่อฟุตบอลโลกมา’ แม้อาจเป็นเพียงวลีเปรียบเปรย แต่ก็ไม่ได้ห่างจากความเป็นจริงนัก

หยุดได้ทั้งโลก หยุดได้ทั้งสงคราม – ในประเทศไอวอรี่ โคสต์ ซึ่งทีมชาติของพวกเขา (นำโดย Didier Drogba) สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2006 ได้สำเร็จ มีการเปิดเผยว่า สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในไอวอรี่ โคสต์ อันคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,000 ราย และสร้างประชาชนพลัดถิ่นกว่า 1 ล้านคน จะ ‘หยุดลงเป็นการชั่วคราว’ ในทุกวันที่ทีมชาติของพวกเขาลงสนาม

ไม่นานต่อมาหลังจบบอลโลก รัฐบาลและฝ่ายก่อกบฏ ตกลงทำสัญญาสงบศึกลงอย่างเป็นทางการ

เวิลด์ คัพ ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของ Jules Rimet อดีตประธาน FIFA (ผู้ซึ่งถูกนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อโทรฟี่แชมป์ยุคแรก) ที่ต้องการจัดแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ทีมชาติขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แยกออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของ โอลิมปิก เกมส์

เริ่มต้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1930 (88 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ. 2473 ประเทศไทยยังอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7) ที่ซึ่งเอาเข้าจริง ทัวร์นาเมนต์ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ไม่ได้ทำให้ทุกประเทศเข้าใจได้ว่านี่คือมหกรรมฟุตบอลที่จะกลายเป็นรายการเบอร์ 1 ของโลกในอนาคต ไหนเลยจะยังมีเรื่องของการเดินทางที่ไม่สะดวกสบายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย นั่นจึงทำให้หลายๆ ชาติไม่ได้ตอบรับการเข้าร่วม

บอลโลก 1930 จัดขึ้นที่ประเทศอุรุกวัย พงศาวดารบอกไว้ว่า ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้นแค่ 2 เดือน ยังไม่มีประเทศในยุโรปแม้แต่รายเดียวที่ตอบตกลงรับคำเชิญเพื่อเข้าร่วม ก่อนที่สุดท้ายความพยายามของ Jules Rimet จะได้มาซึ่ง 4 ชาติยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส, ยูโกสลาเวีย, โรมาเนีย และเบลเยียม ตอบรับเข้าแข่งขันร่วมกับอีก 9 ชาติในแถบละตินอเมริกาและอเมริกากลาง

ด้วยการมีเพียง 13 ชาติเข้าโรมรัน ทัวร์นาเมนต์จึงสั้นกุดเพียง 18 วัน และสุดท้าย ก็ชาติเจ้าภาพอย่าง อุรุกวัย นั่นเองที่ประเดิมการเป็นแชมป์โลกทีมแรก

บอลโลกถูกพัฒนาปรับแต่งต่อเติม (เว้นวรรคไปพักหนึ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ในเวลาต่อๆ มา ด้วยการวางโครงหลักคือ ‘จัดทุกสี่ปี’ และมีการกระจายชาติเจ้าภาพออกไปในทุกทวีป จนกระทั่งได้รับการยอมรับและยกย่องจากทั้งโลกว่านี่คือรายการฟุตบอลที่สำคัญสุดของโลกอย่างแท้จริง

ปี…………เจ้าภาพ…………แชมป์
1930…………อุรุกวัย…………อุรุกวัย
1934…………อิตาลี…………อิตาลี
1938…………ฝรั่งเศส…………อิตาลี
1950…………บราซิล…………อุรุกวัย
1954…………สวิตเซอร์แลนด์…………เยอรมนีตะวันตก
1958…………สวีเดน…………บราซิล
1962…………ชิลี…………บราซิล
1966…………อังกฤษ…………อังกฤษ
1970…………เม็กซิโก…………บราซิล
1974…………เยอรมนีตะวันตก…………เยอรมนีตะวันตก
1978…………อาร์เจนติน่า…………อาร์เจนติน่า
1982…………สเปน…………อิตาลี
1986…………เม็กซิโก…………อาร์เจนติน่า
1990…………อิตาลี…………เยอรมนีตะวันตก
1994…………สหรัฐอเมริกา…………บราซิล
1998…………ฝรั่งเศส…………ฝรั่งเศส
2002…………ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้…………บราซิล
2006…………เยอรมนี…………อิตาลี
2010…………แอฟริกาใต้…………สเปน
2014…………บราซิล…………เยอรมนี

 

กว่าจะเป็น รัสเซีย 2018

 

 

การแลกหมัดกันในรอบคัดเลือก ช่วงชิงสิทธิ์เข้ารอบสุดท้าย คือประเด็นหนึ่ง การแย่งชิงสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ

นโยบายหลักประการหนึ่งของ FIFA คือการกระจายการเป็นเจ้าภาพไปในทั่วทุกทวีป และพยายามจะไม่ให้ชาติในทวีปนั้นๆ ได้สิทธิ์ 2 ทัวร์นาเมนต์ติดต่อกัน เรียกว่าต้องมีเว้นวรรคทิ้งระยะห่างบ้าง แปดปีเป็นอย่างต่ำ

โมเดลนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ยุค 50 และโดยเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษหลังที่เริ่ม ‘เปิดตลาดใหม่’ ให้ชาติที่ไม่เคยได้สิทธิ์มาก่อน ได้เค้กก้อนโตชิ้นนี้ไปรับประทานบ้าง (ไม่ว่าทีมฟุตบอลของคุณจะแย่แค่ไหนก็เถอะ) ผลจึงเป็น สหรัฐอเมริกา รับสิทธิ์เจ้าภาพปี 1994, ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 2002, แอฟริกาใต้ 2010, รัสเซีย 2018 และยาวไปจนถึงสองครั้งหน้า กาตาร์ (ผู้ซึ่งทีมชาติไม่เคยมีเอี่ยวกับรอบสุดท้ายบอลโลกมาเลยสักครั้ง) 2022 และเคาะเมื่อคืนนี้ แคนาดา-สหรัฐฯ-เม็กซิโก เจ้าภาพร่วมสามชาติ 2026

เมื่อบอลโลกคือมหกรรมกีฬาระดับโลก การที่ประเทศหนึ่งประเทศใดได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพ ก็หมายถึงการได้จัด ‘อีเวนท์ระดับโลก’ จริงๆ จังๆ เศรษฐกิจของชาติจะเติบโตคึกคักอย่างมากในช่วงการแข่งขัน ประมาณการจ้างงานในหลากหลายตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประเทศจะได้ต้อนรับผู้คนจากมากมายหลายประเทศนับล้านๆ ชีวิต ทั้งคนจากชาติที่เข้ารอบสุดท้ายครั้งนั้นๆ และคนจากชาติซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่ไปเยี่ยมเยือนในฐานะเจ้าหน้าที่, สื่อมวลชน, คนทำทัวร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฟนบอล

การลงคะแนนโหวตเจ้าภาพบอลโลกปี 2018 (พ่วงด้วย 2022) ในกลุ่มคณะกรรมการบอร์ดบริหาร (executive committee) ของ FIFA เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2009 โดย รัสเซีย บิดแข่งขันกับ อังกฤษ, เจ้าภาพร่วม โปรตุเกส-สเปน และเจ้าภาพร่วม เบลเยียม-ฮอลแลนด์

การเสนอตัวของรัสเซีย คือโปรเจ็กต์ที่มาจากความต้องการของ Vladimir Putin โดยตรง เมื่อเขาต้องการ ‘เปิดประเทศ’ โชว์ให้โลกรู้ว่าในปี 2018 รัสเซีย ก้าวหน้าไปอย่างไร มีลักษณะแบบไหน มีศักยภาพขนาดไหนในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

“การบิดบอลโลกไม่ใช่เป็นการตัดสินใจที่ง่ายสำหรับกระทรวงกีฬาหรือรัฐบาล เมื่อเรามีปัญหาบางอย่างทางการเงิน แต่เราต้องมองไปข้างหน้า วิกฤตการณ์มาแล้วก็ไป แต่ฟุตบอลจะยังคงอยู่” Vitaly Mutko รมต. กีฬาและประธานสมาคมฟุตบอลรัสเซีย ว่าไว้

ความฝันเกือบหลุดลอยไปจากรัสเซียอยู่เหมือนกัน เมื่อการโหวตในรอบแรก พวกเขาเฉือนชนะ โปรตุเกส-สเปน ไปได้อย่างหวุดหวิดเฉียดฉิวเพียงสองเสียง 9:7 ซึ่งหมายถึงคู่นี้สูสีอย่างยิ่งในความเห็นของคณะกรรมการ

แต่รัสเซียก็ได้ฉลอง (และปาดเหงื่อรับการเตรียมงานใหญ่) เมื่อผลโหวตในรอบสองออกมาขาดลอย รัสเซีย ชนะคู่แข่งเจ้าภาพร่วมขาดลอย 13:7

 

ใครแชมป์?

 

เว็บไซต์ fivethirtyeight.com มีการทำชาร์ตประเมินเปอร์เซ็นต์ที่แต่ละชาติจะมีโอกาสครองบัลลังก์แชมป์โลก 2018 ขึ้น โดยใช้ปัจจัยร่วมอย่างเรตติ้งของ Soccer Power Index (SPI)

ผลออกมาตรงกับการคาดการณ์ของหลายสำนัก เมื่อ บราซิล แชมป์โลก 5 สมัย ถูกประเมินว่ามีโอกาสครองแชมป์ได้มากที่สุด

บราซิล 19.3%
สเปน 17.5%
เยอรมนี 13.3%
ฝรั่งเศส 7.9%
อาร์เจนติน่า 7%
เบลเยียม 6.6%
อังกฤษ 6.5%
โปรตุเกส 5.5%

แต่ fivethirtyeight ก็ไม่ใช่เจ้าเดียวที่ทำการประเมิน มันยังลามมาถึงแวดวงธุรกิจการเงินอย่าง UBS ธนาคารชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ ที่นำเอาปัจจัยนู่นนี่นั่นมาผสมรวมกัน เพื่อทำการวิเคราะห์ด้วยระบบ Monte Carlo simulation

ได้ผลออกมาว่า…

เยอรมนี โอกาสแชมป์ 24%
บราซิล 19.8%
สเปน 16.1%
อังกฤษ 8.5%
ฝรั่งเศส 7.3%
เบลเยียม 5.3%
อาร์เจนติน่า 4.9%
โปรตุเกส 3.1%
อุรุกวัย, สวิตเซอร์แลนด์, เม็กซิโก เท่ากันที่ 1.8%

ใครจะถูกต้องแม่นยำกว่ากัน รอลุ้นกันได้ตลอด 1 เดือนนับจากนี้

สำหรับเรื่องเงินรางวัล FIFA จัดเงินรางวัลสำหรับทีมแชมป์งวดนี้ไว้ที่ 38 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 3 ล้านดอลลาร์) ส่วนทีมอื่นๆ จะคิดตามอันดับที่เมื่อจบทัวร์นาเมนต์ลดหลั่นกันลงไป

รองแชมป์รับ 28 ล้านดอลลาร์, อันดับสาม 24 ล้าน, อันดับสี่ 22 ล้าน, อันดับห้า-แปด (ผู้ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย) 16 ล้าน, อันดับเก้า-สิบหก (พวกที่ตกรอบสอง) 12 ล้าน และสิบเจ็ด-สามสิบสอง (พวกที่ตกรอบแรกทั้งหลาย) 8 ล้านดอลลาร์

เรื่องเงินไม่มีใครเถียงได้ว่าสำคัญ แต่ก็เป็นที่รู้กันดี ทุกชาติที่เข้าร่วมบอลโลก ไม่ได้มาแข่งขันเพื่อเงิน

แต่เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อชัยชนะ และเพื่อความสุขของประชาชนทั้งประเทศ

 

VAR พาเฮ

 

 

แม้จะไม่พรึ่บพรั่บจนเป็น ‘ทัวร์นาเมนต์แห่งเทคโนโลยี’ ดังเช่นโอลิมปิก ฤดูหนาว พย็องชัง 2018 ที่เกาหลีใต้ เมื่อต้นปี แต่ก็ใช่ว่าบอลโลกจะไม่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อย่างใด

หนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญมากของบอลโลกเที่ยวนี้ คือระบบช่วยตัดสินด้วยวิดีโอเรียลไทม์ Video Assistant Referees หรือ VAR

นี่คือเทคโนโลยีที่ว่ากันว่าทำให้ฟุตบอลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เพราะเป็นข้อถกเถียงมานานปี ว่าตกลงแล้ว ฟุตบอลจำเป็นต้องยอมรับ ‘ความผิดพลาดของมนุษย์’ อย่างคำตัดสินผิดๆ ของผู้ตัดสินและทีมผู้ช่วย (ในบอลโลก Hand of God ของมาราโดน่า และประตูที่ข้ามเส้นแล้วแต่ไม่ได้ของ Frank Lampard คือกรณีศึกษาสำคัญ) อยู่ต่อไปอย่างนั้นหรือ และที่ผ่านมา การริเริ่มใช้ระบบต่างๆ เข้าช่วย ทั้ง Goal-Line หรือผู้ตัดสินที่เส้นหลัง ก็ยังไม่อาจตอบโจทย์ได้ 100%

จนมาวันหนึ่ง ฟุตบอลก็เริ่มเปิดรับระบบ VAR เข้ามา เริ่มต้นครั้งแรกกลางปี 2016 ที่สหรัฐอเมริกา กับเกม United Soccer League แล้วค่อยๆ ตามด้วยทัวร์นาเมนต์ใหญ่ขึ้นๆ เช่นสโมสรโลก 2016 ที่ญี่ปุ่น, เอ-ลีก ออสเตรเลีย แล้วก็บรรดาชาติยักษ์ใหญ่ของยุโรป บุนเดสลีกา เยอรมนี กับ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี เริ่มใช้แล้วในฤดูกาลที่ผ่านมา ขณะที่ในอังกฤษเริ่มต้นใช้กับ เอฟเอ คัพ เป็นการลองเชิง (แต่ไทยลีกก็เริ่มใช้แล้วนะ แม้จะยังเป็น ‘แบบไทยๆ’ คือไม่ได้ใช้ทุกเกมทุกสนาม ก็ตาม)

หน้าที่ของ VAR คือการตรวจจับ
1) ประตูที่เกิดขึ้น – เป็นหรือไม่เป็น และมีจังหวะฟาวล์เกิดขึ้นก่อนบอลข้ามเส้นหรือไม่
2) จุดโทษ – ควรเป็นหรือไม่เป็น
3) ใบแดง – ควรแจกหรือไม่แจก โดยไม่นับรวมเอาใบเหลืองที่ 2 เข้าไปแต่อย่างใด
4) ความผิดพลาดของผู้ตัดสินเอง – ในการแจกใบแดง, เหลือง หรือจังหวะอื่นๆ

แน่นอนว่าด้วยการเพิ่งเปิดรับได้ไม่นาน ความขลุกขลักไม่ค่อยลงตัวจึงเป็นส่วนหนึ่ง VAR โดนตำหนิตั้งแต่รายการประเดิมอย่างสโมสรโลก 2016 ว่าสร้างความสับสนและใช้เวลานานเกินไปในการหยุดเกม กระนั้น ข้อดีและคำชมก็มีเหมือนกันว่าทำให้การตัดสินในจังหวะต่างๆ ชัดเจนขึ้น สิ่งที่ตาคนไม่เห็น วิดีโอเห็น ความยุติธรรมจึงมีมากขึ้นในสนาม

VAR จะถูกใช้ในบอลโลกครั้งแรก ที่รัสเซียแห่งนี้ และมั่นใจได้เลยว่าจะ ‘มีเรื่อง’ ให้พูดถึงในสังคมฟุตบอลอย่างแน่นอน ไม่ว่ามันจะสร้างความโปร่งใสให้มากขึ้น หรือทำให้คนร้องยี้มากขึ้น ก็ตาม

 

ใครอยากเป็นเจ้าภาพ?

 

แทบทุกชาติที่มีกำลัง มีฟุตบอลที่เข้มแข็ง มีสภาพบ้านเมืองที่ดีเพียงพอ ย่อมอยากเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ‘ค่าใช้จ่าย’ ที่บางครั้งบางคราวก็ ‘เลยเถิด’ กลายเป็นการใช้งบประมาณของชาติอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างสนามให้เข้ากับสเป็กสูงๆ ของ FIFA

ในฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ Green Point Stadium แห่งเมืองเคป ทาวน์ ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยงบประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับบอลโลกครั้งนั้น สนามสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นจำนวน 8 นัด โดยที่ไม่มีนัดไหนผู้ชมต่ำกว่า 62,000 คน

แต่หลังจากจบบอลโลก… สนามถูกใช้เป็นรังเหย้าของสโมสร Ajax Cape Town และ Cape Town City ซึ่งมียอดผู้ชมเฉลี่ยเกมละ 1 หมื่นคนถ้าเป็นแมตช์ใหญ่ และเกมละ… สี่พันคน เมื่อเป็นแมตช์เล็กๆ บ้านๆ

600 ล้านดอลลาร์ที่ถลุงไป ผ่านเกมบอลโลกคราวนั้นแล้วก็ผ่านเลย ยังไม่ทันแปะป้ายว่า ‘คุ้มค่า’ ก็มีกระแสเรียกร้องให้ ‘ทุบทิ้ง’ มาแล้วด้วยเมื่อปี 2016

หรือแม้แต่ ‘ประเทศฟุตบอล’ อย่าง บราซิล ก็เกิดปัญหาลักษณะเดียวกัน เช่นสนาม Arena Fonte Nova เจ้าของความจุ 48,000 คน ที่ถูกสร้างด้วยงบ 267 ล้านดอลลาร์ เมื่อผ่านบอลโลกแล้วก็กลายเป็นรังเหย้าของทีมเล็กๆ อย่าง EC Bahia หรือ EC Vitoria ที่คนดูแต่ละนัดแค่หมื่นต้นๆ หรือ Arena Amazonia ก็ถูกทิ้งร้างแทบจะหยากไย่ขึ้นกว่าที่จะมี Nacional FC เข้ามาใช้เป็นสนามเหย้า

กับรัสเซีย 2018 รัฐบาลแดนหมีขาวฟาดเปรี้ยงมาเลยแต่แรกว่างบประมาณจัดแข่งอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ แต่ไปๆ มาๆ ลดเหลือครึ่งเดียว – ซึ่งก็นับว่ามากโขอยู่ดี

1 หมื่นล้านดอลลาร์ ตีเป็นเงินบาทไทยได้เท่ากับ 321,399,000,000 บาท

สามแสนล้านบาท!

เพราะหนึ่งคือการลงทุนด้านสนาม สองคือการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภค สามคือการ ‘สร้างเมือง’ สร้างการเชื่อมต่อการจราจรให้สะดวกยิ่งขึ้น และสี่ การใช้สำหรับตระเตรียมจัดการแข่งขัน จัดจ้างพนักงานทีมสตาฟฟ์นู่นนี่นั่น

ไหนเลยจะยังต้อนย้อนไปถึงขั้นตอนยื่นบิดเสนอตัว ที่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเงินก้อนแล้ว

ไม่พบรายงานว่าชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านๆ มา สามารถทำกำไรหรือขาดทุนเป็นตัวเลขเฉพาะเจาะจง แต่มีหลายรายงานที่ระบุว่าทั้งแอฟริกาใต้ ทั้งบราซิล ต่างก็ช้ำหนักไม่น้อยจากการจัดเวิลด์ คัพ ครั้งก่อนๆ

และยังมีคำกล่าวจาก Minenhle Mngadi นักวิเคราะห์แห่ง quora.com ที่ว่า “การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกไม่ใช่กิจกรรมของการสร้างกำไร หลายประเทศขาดทุนย่อยยับเมื่อได้สิทธิ์จัดการแข่งขัน”

เพราะบอลโลก ใครๆ ก็อยากจัด

แต่ไม่ใช่ทุกชาติจะสามารถจัดได้

 

บอลโลกที่ต้องรู้

 

ทิ้งท้ายด้วยข้อเท็จจริงหลายสิ่งสำหรับ ‘รัสเซีย 2018’ ซึ่งกำลังคอยท่าอยู่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงหน้า

• เริ่มเปิดสนามคืนนี้ และไปสิ้นสุด (นัดชิงชนะเลิศ) ในวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ค.

• กลุ่มทั้ง 8 ประกอบด้วย
A รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, อุรุกวัย
B โปรตุเกส, สเปน, โมร็อกโก, อิหร่าน
C ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เปรู, เดนมาร์ก
D อาร์เจนติน่า, ไอซ์แลนด์, โครเอเชีย, ไนจีเรีย
E บราซิล, สวิตเซอร์แลนด์, คอสตาริกา, เซอร์เบีย
F เยอรมนี, เม็กซิโก, สวีเดน, เกาหลีใต้
G เบลเยียม, ปานามา, ตูนิเซีย, อังกฤษ
H โปแลนด์, เซเนกัล, โคลอมเบีย, ญี่ปุ่น

• ผังสำหรับรอบน็อคเอาต์ มีวางไว้แล้วตามธรรมเนียมบอลโลก เช่นแชมป์กลุ่ม A ตัดกับรองแชมป์กลุ่ม B, แชมป์กลุ่ม C ตัดกับรองแชมป์กลุ่ม D, แชมป์กลุ่ม E ตัดกับรองแชมป์กลุ่ม F ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย พร้อมกับร่างสาย Bracket ประกบคู่ผู้ชนะไปจนถึงรอบตัดเชือก

• แพทเทิร์นหลักสำหรับเวลาเตะรอบแรก คือคู่แรก 1 ทุ่ม / คู่สอง 4 ทุ่ม / คู่สาม ตี 1 ตามเวลาบ้านเรา

• นัดสุดท้ายของรอบแรกที่ FIFA บังคับให้ทีมในกลุ่มต้องเตะพร้อมกัน จะมี ๒ เวลาต่อวัน (วันละ 4 แมตช์) คือสามทุ่ม และตีหนึ่ง

• นัดชิงชนะเลิศที่มอสโก 15 ก.ค. เตะกันตอน 4 ทุ่มตรง

• แต่ละชาติมีสิทธิ์เลือกนักเตะไปใช้งานในรอบสุดท้ายได้ทีมละ 23 ราย บังคับเป็นผู้รักษาประตู 3 คน ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ไปจัดสรรกันเอาเอง

• เมื่อโค้ชมีตัวเลือก ‘คนโปรด’ ของตัวเอง มีแนวทางการเลือกของตัวเอง ก็ทำให้บรรดานักเตะดาวดังหลายรายอดไปบอลโลกครั้งนี้ เช่น Mauro Icardi, Leroy Sane, Chris Smalling, Radja Nainggolan, Alex Sandro, Hector Bellerin, Cesc Fabregas, Alvaro Morata, Anthony Martial ไปจนถึงนักเตะที่บาดเจ็บในระหว่างเตรียมทีมจนต้องถอนตัว (และถูกตัดชื่อ) อาทิ Dani Alves, Sergio Romero, Manuel Lanzini, Dimitri Payet และ Nicklas Bendtner

• ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง คือ ไอซ์แลนด์ กับ ปานามา โดยไอซ์แลนด์ยังนับเป็นชาติที่มีประชากรน้อยที่สุดที่ได้เล่นบอลโลก คือราว 330,000 คน

• มัสคอตคือหมาป่าลากเลื่อน Zabivaka ที่ได้เสียง 53% จากการโหวต 1 ล้านคน ส่วนลูกฟุตบอลประจำรายการมีชื่อว่า Telstar 18 ที่เป็นการรีดีไซน์จากลูกบอลในปี 1970

• ปีนี้ แฟนบอลชาวไทยได้ดูบอลโลกฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข ผ่านทางช่องดิจิทัลทีวีอย่าง ททบ.5, อมรินทร์ทีวี และ True4U

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
รัฐบาลจีน

รัฐบาลจีนจ่อบังคับใช้เครื่องติดตามรถยนต์ RFID กับประชาชน

Next Article
แชมป์ฟุตบอลโลก 2018

Machine Learning: หมอดูคอมพิวเตอร์ฉบับฟุตบอลโลก 2018

Related Posts