ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีคือองค์ประกอบสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของคนทั้งโลก ทั้งในระยะสั้นและยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามทฤษฎีของ Ray Kurzweil นักอนาคตวิทยา (Futurist) ผู้ดูแลโครงการต่างๆมากมาย รวมถึงการพัฒนา AI ของ Google ในปัจจุบัน
การรู้จักและเข้าใจเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งผลกระทบแบบก้าวกระโดด (exponential) จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไล่ตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน และอยู่รอด
แนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ Singularity University ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 จากการรวมตัวของนักคิด และบุคลากรในซิลิคอน วัลลีย์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ รวมถึงบทบาทการเป็นอินคิวเบเตอร์ให้กับสตาร์ทอัพ รวมถึงองค์กรต่างๆ
และเมื่อ 19-20 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็นับเป็นครั้งแรกของบ้านเราที่มีโอกาสได้จัดงานสัมมนาระดับโลกจากสถาบันแห่งนี้ ในชื่อ Singularity University Thailand Summit 2018
และนี่คือประเด็นบางส่วนจากงาน ที่คุณควรต้องรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง
เข้าใจความต่างระหว่าง Innovation และ Disruption

เรามักได้ยินทั้งสองคำนี้บ่อยๆจากนักพูด หรืองานสัมมนาต่างๆ แต่น้อยครั้งที่จะมีการอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
Bohdanna Kesala ในฐานะผู้อำนวยการฝ่าย International Summits ของ SingulartiyU อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า
นวัตกรรม (Innovation) คือการทำในสิ่งเดิมได้ดีกว่า และพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ขณะที่ Disruption นั้นต่างออกไป เพราะมันคือการสร้างสิ่งใหม่ที่จะมาทดแทนสิ่งเดิม
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น สำหรับคนที่เคยอ่านหนังสือ Zero to One ของ Peter Thiel
Kesala อธิบายว่า นวัตกรรม ก็คือคือการหยุดอยู่ที่ 0 (คือพัฒนาเฉพาะสิ่งที่มีอยู่แล้ว) ขณะที่ Disruption คือการก้าวจาก 0 ไป 1 (สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา) นั่นเอง
ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกโยงทั้งสองคำนี้ไว้กับเทคโนโลยีเท่านั้น
เช่นในวงการศิลปะ Disruption คือภาพเขียนแนวอิมเพรสชันนิสม์ของ Vincent Van Gogh ซึ่งถือว่าเป็นการฉีกจากกฎเกณฑ์เดิมๆ ในยุคที่เจ้าตัวยังมีชีวิต ต่างจากงานของศิลปินคนอื่นๆที่ยังวาดภาพให้ดียิ่งขึ้น แต่ยังอยู่ใต้กฎเกณฑ์เรื่องแสงเงา อนาโตมี ฯลฯ นั่นเอง
โลกที่ถูกย่อลง และหมุนเร็วขึ้น

Ramez Naam นักอนาคตวิทยา และนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเคยทำงานกับ Microsoft นานถึง 13 ปี เสริมว่าปัจจุบัน ความรวดเร็วของเทคโนโลยีนั้นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในลักษณะเดียวกับ กฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่เน้นหนักเฉพาะเรื่องวงจรทรานซิสเตอร์
สิ่งที่ตามมา คือเราจึงได้เห็นเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เช่น ดาวเทียม ที่ในอดีตอาจมีน้ำหนักถึงหนึ่งตัน และมีราคาแพง
แต่ปัจจุบันกลับถูกย่อจนเหลือแค่เท่าฝ่ามือ เช่นเดียวกับต้นทุนการผลิตที่ถูกลงจนโรงเรียนทั่วไป ก็สามารถผลิตขึ้นเองได้
การที่นวัตกรรมเหล่านี้ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนี่เอง จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้คนจะประสบความสำเร็จได้แบบก้าวกระโดด
ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือบรรดาสตาร์ทอัพที่เติบโตจากบริษัทเล็กๆเพียงสองสามคน ไปสู่การเป็นยูนิคอร์น ซึ่งมีมูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์
Naam ยังชี้ว่าการถดถอยลงขององค์กรใหญ่ เป็นวงจรที่เกิดขึ้นเสมอไม่ว่าในยุคใดหรือสมัยไหน
โดยยกตัวอย่าง ประเทศจีนยุคหลายร้อยปีก่อน ภายใต้การปกครองของฮ่องเต้ (เทียบกับตำแหน่ง CEO ในปัจจุบัน) ที่มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรือง
แต่สุดท้าย ประเทศต่างๆในยุโรปที่กระจัดกระจายไม่เป็นเอกเทศ (เหมือนสตาร์ทอัพเล็กๆ ในซิลิคอน วัลลีย์ และทั่วโลก) ซึ่งต้องดิ้นรน ต่อสู้ ค้นคว้าและทดลองสิ่งใหม่ๆ ก็พัฒนาจนเอาชนะองค์กรใหญ่ที่บริหารแบบรวมศูนย์อย่างจีนได้
การโตแบบก้าวกระโดด และ Disruptive Changes

Peter Diamandis ในฐานะ Co-Founder และ Chairman ของ SingularityU ติดต่อผ่าน video call จากสหรัฐ เพื่อพูดถึงเรื่อง การเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) และ Disruptive Changes
Diamandis ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างการพัฒนาแบบ linear และ exponential ว่าองค์กรจำนวนมาก มักเลือกเดินเป็นเส้นตรงในแบบแรก และจะประสบปัญหาในภายหลัง
เมื่อถูกบริษัทหรือองค์กรที่จับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆได้แซงหน้า หรือถูกกลืนหายไปในกระแส Disruptive Changes
ตัวอย่างคลาสสิคที่สุด นอกจากหนังสือพิมพ์ และซีดี คือการล้มละลายของ Kodak บริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ พนักงานกว่าหนึ่งแสนคน ในปี 1996
แต่การเลือกปฏิเสธกล้องดิจิทัล เทคโนโลยีที่บริษัทค้นพบก่อนใคร ทำให้ Kodak ถดถอยลงเรื่อยๆ จนต้องยื่นเรื่องล้มละลายในปี 2012 และลดพนักงานเหลือแค่หนึ่งในสิบ
ผิดกับ Instagram ที่ก่อตั้งก่อนหน้านั้น เพียง 18 เดือน แต่อาศัยพลังของเทคโนโลยีจนโตอย่างรวดเร็ว และถูกซื้อกิจการไปโดย Facebook ในราคาหลักพันล้านดอลลาร์ ในเวลาไล่เลี่ยกับการล้มละลายของ Kodak
หรือธุรกิจค้าปลีกที่ปัจจุบัน กำลังจะถูกกลืนหายโดยอีคอมเมิร์ซ ด้วยฝีมือของ Amazon.com
Diamandis ย้ำว่าวงจรนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในทุกๆอุตสาหกรรม
แม้แต่ทรัพยากรที่เคยหายาก และขาดแคลน ในอนาคต ก็อาจถูกสร้างขึ้นได้ ด้วยพลังของเทคโนโลยี
เหมือนเมื่อเร็วๆนี้ที่สตาร์ทอัพชื่อ Diamond Foundry สร้างเพชรที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกับธรรมชาติ ในห้องแล็บได้
นั่นหมายถึงวันนึงข้างหน้า ขีดจำกัดของ น้ำ พลังงาน การเรียนรู้ หรือแม้แต่สุขภาพ ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
พลังของบล็อกเชน

และหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการคาดหมาย ว่าจะมีบทบาทต่อเรา ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ก็คือ บล็อกเชน
Mandy Simpson CEO ของ Cyber Toa บริษัทที่ปรึกษาด้าน cyber security ชี้ว่า บล็อกเชน จะเข้ามาพลิกโฉมการเงินของโลก ภายใน 8 – 10 ปีข้างหน้า
ทั้งในแง่ความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และลดบทบาทของสถาบันเหล่านั้น ในฐานะ “ตัวกลาง”
นอกจากเรื่องหลักการทำงานแล้ว ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ต่อยอดจากบล็อกเชน อาทิ สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ก็น่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากขึ้น เช่น Fedcoin ของสหรัฐอเมริกา China coin ของจีน หรือ Russian Ethereum Smart Contracts ของรัสเซีย
ขณะที่รูปแบบการระดมทุนซึ่งเพิ่งถูกนำมาใช้ อย่าง ICO หรือ Initial Coin Offering ซึ่งเป็นการปล่อย Token แลกกับเงินจริง เพื่อนำเงินเหล่านั้นมามาใช้ในการพัฒนาโปรเจคต์ต่างๆ ก็น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย
รับมือความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเปลี่ยนตัวเราเอง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือนวัตกรรมองค์กร หรือ Corporate Innovation โดย John Hagel รองประธานของ Global Future Council ใน World Economic Forum และรองประธาน Center for the Edge ของ Deloitte
Hagel กล่าวถึงทุกอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทักษะการทำงานของเราสูงขึ้น และเช่นกัน ความต้องการหรือความคาดหวังของผู้บริโภคก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
นั่นทำให้อายุของผลิตภัณฑ์สั้นลงเรื่อยๆ
ทางออกขององค์กรจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ก้าวออกจาก comfort zone เดิมๆ และกล้าเสี่ยง เหมือนที่ Netflix เปลี่ยนแปลงตัวเองจากธุรกิจให้เช่าวิดีโอผ่านไปรษณีย์ เป็นธุรกิจสตรีมมิ่ง จนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการในปัจจุบัน
นอกจากองค์กรแล้ว แม้แต่ในฐานะบุคคล เราก็ต้อง redefine ตัวเองเช่นกัน เนื่องจากหุ่นยนต์และ AI จะเข้ามามีบทบาทในแง่แบ่งเบาการทำงานของเรามากขึ้น งานประจำที่ใช้ทักษะซ้ำๆ จะถูกถ่ายโอนไปยังเครื่องจักรเหล่านี้แทน
แต่ปัญหาใหญ่ของการเปลี่ยนครั้งนี้ ในมุมมองของ Hagel คือระบบการเรียนการศึกษาแบบเดิม ที่สอนให้คนอยู่ในกรอบ การสร้างสรรค์หรือจินตนาการแบบเด็กๆจึงถูกครอบงำไว้
การจะออกจากกรอบเดิมๆได้ เราจึงต้องมีความหลงใหล (passion) ในสิ่งที่จะลงมือทำมากพอจริงๆนั่นเอง
ซึ่ง Hagel ก็ย้ำเช่นกันว่า การเปลี่ยนตัวเองไม่จำเป็นต้องเจาะจงแค่ในเรื่องเทคโนโลยีเสมอไป
แม้แต่การทำสวน คุณก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้เช่นกัน
เพื่อไม่ให้สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ถูกกลืนหายไปนั่นเอง
ขอขอบคุณ Singularity University, SCB, True, เมืองไทยประกันชีวิต, Ananda Development, Deloitte และสปอนเซอร์ทุกราย สำหรับงานดีๆครั้งนี้ด้วยครับ
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน