ผู้ถือหุ้น

แผนโค่น มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก : เมื่อผู้ถือหุ้น Facebook ขอปฏิวัติ

คงไม่มีใครคัดค้านว่า Facebook ก็คือ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก และตัวของผู้ก่อตั้งรายนี้ ก็คือสัญลักษณ์ของโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งโลก

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ผุดขึ้นไม่หยุดหย่อน รวมถึงตัวเลชความเสื่อมถอยของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมองหาทางเลือกอื่นในการใช้งาน ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยเล็กๆสำหรับ “พี่มาร์ค” ว่าควรต้องแก้ไขอะไรบางอย่าง

และในมุมมองของกลุ่ม ผู้ถือหุ้น รายใหญ่ ที่ถือครองหุ้นบริษัท กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์

สิ่งที่ “พี่มาร์ค” ควรเปลี่ยนเป็นอันดับแรก

คือตัวเขาเอง และโครงสร้างการบริหารขององค์กร

 

คลื่นใต้น้ำ

 

สกอตต์ สตริงเกอร์ หนึ่งในหกแกนนำ ขั้วตรงข้ามของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก

 

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูง นับแต่นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2012

หุ้นของ Facebook มีอัตราเติบโตกว่า 400% ส่วนรายรับก็พุ่งถึงเกือบ 1,000% ไปแตะที่หลัก 40,000 ล้านดอลลาร์ (1.2 ล้านล้านบาท)

ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ใช้งานก็สูงถึงเดือนละ 2,200 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรโลก จนแทบเป็นการผูกขาดในอุตสาหกรรมนี้ ถ้าเทียบกับยอดผู้ใช้งานโซเชียลอื่นๆ อย่าง Twitter หรือ Snap

แต่ความไม่พอใจของเหล่า ผู้ถือหุ้น ก็ก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรก นับแต่ทำ IPO ในปี 2012 ที่เกิดกระแสต่อต้านมากขนาดนี้

Business Insider ได้พูดคุยกับผู้ถือหุ้นใหญ่หกราย และได้รับข้อมูลว่ามีความไม่พอใจเกิดขึ้นจริง หลังเกิดข่าวฉาวหลายครั้งกับการให้บริการ

ตั้งแต่การแทรกแซงการเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อมูลรั่วในกรณี Cambridge Analytica “โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม”

หนึ่งในนั้น คือ สกอตต์ สตริงเกอร์ ซึ่งดูแลหุ้นมูลค่ารวม 895 ล้านดอลลาร์ ผ่านกองทุนบำนาญของนิวยอร์ค

สตริงเกอร์ กล่าวว่าโครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน เอื้อให้เกิด “ความเสี่ยง” ที่อาจกระทบต่อ ชื่อเสียงขององค์กร การดำเนินงานที่ขัดต่อกฏหมาย ฯลฯ และกรณีของ Cambridge Analytica ก็สร้างความกังวลให้ตนเป็นพิเศษ ทั้งในฐานะผู้ดูแลเงินจากกองทุน

และอนาคตทางการเมืองของตน ในฐานะว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองในปี 2021 ในนามตัวแทนพรรคเดโมแครท

 

แผนโค่น “พี่มาร์ค”

 

แม้จะมีหุ้นในมือมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ แต่ นาตาชา แลมบ์ แทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆในบริษัทเลย

 

แม้บริษัทจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เหตุผลหลักที่บรรดาผู้ถือหุ้นไม่พอใจ Zuckerberg เป็นเพราะเจ้าตัวไม่เคยรับฟังความเห็นของใครเลย

ไมเคิล เฟรริช ซึ่งลงทุนใน Facebook ไป 35 ล้านดอลลาร์ กล่าวถึงแนวทางการบริหารของผู้ก่อตั้งรายนี้ว่า “เขาไม่ฟังใครทั้งนั้น จะบอร์ด หรือผู้ถือหุ้น สำหรับผมนี่เป็นรูปแบบการบริหารองค์กรที่แย่มาก เขาคือเจ้านายตัวเอง และตอนนี้มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่เวิร์ค”

ที่ผ่านมา เฟรริช ซึ่งอยู่ในแวดวงการเมืองเช่นกัน เริ่มเดินหน้าจับมือกับผู้ถือหุ้นอีกสี่ราย นำโดย นาตาชา แลมบ์ จาก Arjuna Captial รวมมูลค่าที่ทั้งหมดถือแล้วราว 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อล็อบบี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุผลที่ว่าการบริหารงานของ ซัคเกอร์เบิร์ก ขาดความน่าเชื่อถือ

และเป้าหมายในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีเป้าหมายสองเรื่องคือ

  • ต้องการให้ผู้ก่อตั้งรายนี้ ก้าวลงจากตำแหน่งประธาน เพื่อเปิดทางให้ผู้บริหารคนนอกเข้าไปทำหน้าที่แทน
  • และอีกข้อก็คือทำลายโครงสร้างการแบ่งระดับชั้นผู้ถือหุ้นในองค์กรลง เนื่องจากปัจจุบัน นี่คือรากฐานสำคัญในการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของ ซัคเกอร์เบิร์ก และพรรคพวก

 

Facebook สะดวกแบบนี้ ที่อื่นชอบแบบไหน?

 

 

โยนาส ครอน รองประธานอาวุโสของ Trillium Asset Management ซึ่งดูแลหุ้น Facebook มูลค่า 10.5 ล้านดอลลาร์ ในนามองค์กรการกุศล Park Foundation เปรียบเทียบโครงสร้างการบริหารของ Facebook ว่าแตกต่างกับองค์กรระดับโลกอื่นๆที่มีมูลค่ามหาศาลใกล้เคียงกันโดยสิ้นเชิง

เพราะไม่ว่าจะ Apple, Google, Oracle, Twitter หรือ Microsoft ล้วนแต่แยกบทบาทของประธาน และ CEO ออกจากกันแบบชัดเจน

ครอน ชี้ว่า ซัคเกอร์เบิร์ก ควรลดทิฐิของตัวเองลง และหันไปพิจารณาแนวทางของ บิล เกตส์ เมนเทอร์และต้นแบบของตนว่าเป็นอย่างไร

เมื่อครั้งลาออกจากตำแหน่ง CEO ในปี 2000 เกตส์ จัดการแยกบทบาทของ CEO กับประธานบริหารออกจากกันโดยสิ้นเชิง

 

หุ้นสองระดับ อำนาจในมือคนเดียว

นอกจากการบริหารแบบรวมศูนย์ไว้ที่ตัวเองแล้ว อำนาจของ ซัคเกอร์เบิร์ก ยังอยู่ที่เสียงโหวตด้วย

เพราะ Facebook แบ่งประเภทหุ้นออกเป็นสองคลาส โดยคลาสบีนั้น มีสิทธิ์ในการโหวตเหนือกว่ากลุ่มที่ถือคลาสเอ ถึง 10 เท่า

และ ซัคเกอร์เบิร์ก ถือหุ้นในคลาสบีไว้กับตัว มากเกินกว่า 75%

หรือพูดง่ายๆคือเขาคนเดียว มีสิทธิ์ในการออกเสียงเกือบครึ่งหนึ่งของ ผู้ถือหุ้น ทั้งหมดใน Facebook นั่นเอง

“เมื่อคุณควบทั้งตำแหน่งประธาน และ CEO ไว้ด้วยกัน และถือหุ้นที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงส่วนใหญ่ไว้เกือบหมด นี่คือส่วนผสมของยาพิษชัดๆ” ไมเคิล คอนเนอร์ ผู้อำนวยการของ Open Mic องค์กรสำหรับการรณรงค์ต่างๆของผู้ถือหุ้นในบริษัทชั้นนำของสหรัฐ แสดงทรรศนะ

“แปลว่าแทบไม่มีที่ว่างสำหรับคนที่คิดต่างเลย”

 

ธานอส ซัคเกอร์เบิร์ก

 

 

อำนาจของ ซัคเกอร์เบิร์ก ในจักรวาลของ Facebook ไม่ต่างอะไรกับ ธานอส หลังรวมอินฟินิตี้สโตนทั้งหมดมาครอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุด คือในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมา เคยมีความพยายามเรียกร้องให้เขาสละตำแหน่งประธานบริหารมาแล้วครั้งหนึ่ง ถึงขนาดที่ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถูกเชิญออกจากงาน ในการประชุมผู้ถือหุ้นปีกลาย เพราะกล่าวแสดงความไม่พอใจการบริหารงานแบบ “เผด็จการ” ของ ซัคเกอร์เบิร์ก

สุดท้าย ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกโหวตตกไป แม้จะได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มผู้ถือหุ้นทั่วไป (ซึ่งก็คือกลุ่มที่ถือหุ้นคลาสเอ) ถึง 51% ก็ตาม

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ข้อเสนอในการปรับโครงสร้างระดับของหุ้นถูกยื่นเข้าสู่ที่ประชุม และแพ้ในการโหวตอีกครั้ง ทั้งที่ 83% ของกลุ่มผู้ถือหุ้นทั่วไป จะเห็นด้วยกับแผนนี้

 

พวกพ้องและบริวาร

 

เชอรีล แซนด์เบิร์ก หนึ่งในคีย์แมนคู่บุญ ซัคเกอร์เบิร์ก

 

บทวิเคราะห์ของ คอนเนอร์ พบว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นคลาสบีนั้น มีเพียง 8 คน โดยที่ ซัคเกอร์เบิร์ก เพียงคนเดียวก็ถือหุ้นกลุ่มนี้ไว้ถึง 3 ใน 4 แล้ว

ขณะที่คนอื่นๆนั้น ก็ล้วนอยู่ในขั้วเดียวกับ ซัคเกอร์เบิร์ก นำโดย เชอรีล แซนด์เบิร์ก ซีโอโอคู่บุญ และบอร์ดบริหารคนอื่นๆ อาทิ ปีเตอร์ ธีล และสองผู้ร่วมก่อตั้ง ดัสติน มอสโควิทซ์ และ เอดูอาร์โด ซาเวอริน

หรือพูดง่ายๆว่า หากฝ่าย ซัคเกอร์เบิร์ก มีความเห็นขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ พวกเขาก็จะยังเป็นฝ่ายชนะในการลงคะแนนเสียงอยู่ดี

 

บริษัทไฮเทค บริหารแบบโบราณ

 

เอลเลียตต์ ชเรเจ หนึ่งในขั้วเดียวกับพี่มาร์ค ยื่นใบลาออกเมื่อเร็วๆนี้ โดยไม่ทราบสาเหตุ

 

แพทริค โดเฮอร์ตี ผู้อำนวยการของ New York comptroller ซึ่งดูแลหุ้น Facebook มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ให้ทรรศนะถึงโครงสร้างการบริหารแบบนี้ ว่าเป็นแนวทางที่ถอยหลังกลับไปยังศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว

“แนวคิดที่ว่าต้องมีกลุ่มคนประเภทออโตแครท (ผู้มีอำนาจ) คอยควบคุมบริษัทใหญ่ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ มันเป็นเรื่องล้าหลังสุดๆ วิธีที่ให้พวกโจรผู้ดีคอยกุมอำนาจอยู่เบื้องบนแบบนี้ มันต้องย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 19 โน่น”

อีกตัวอย่างของการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยคนกลุ่มเดียว เกิดขึ้นเมื่อ แลมบ์ นำเสนอไอเดียบางอย่างไป และถูกปัดตกโดย เอลเลียตต์ ชเรจ รองประธานฝ่ายสื่อสารและนโยบายสาธารณะ หนึ่งในคนสนิทของ ซัคเกอร์เบิร์ก ด้วยท่าทีที่ แลมบ์ ระบุว่าสื่อถึงการเหยียดเพศ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าบอร์ดไม่ใส่ใจความเห็นของผู้ถือหุ้น แม้ ชเรจ ซึ่งปัจจุบันลาออกไปแล้ว จะกล่าวขอโทษในภายหลังก็ตาม

 

ยื้อ เพราะกลัวเสียอำนาจ?

ในมุมมองของ แลมบ์ การที่ ซัคเกอร์เบิร์ก ยืนกรานควบสองบทบาทในองค์กร เป็นเพราะเขารู้ดีว่าเมื่อไหร่ที่ตกลงยอมลงจากหน้าที่ประธานบริหาร

ก็ไม่ต่างอะไรกับการยอมจำนน ให้ตัวเองถูดถอดถอนจากตำแหน่งซีอีโอต่อไปนั่นเอง

แถลงการณ์จาก Facebook ถึงเรื่องการบอกปัดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารนั้น ระบุว่าการแบ่งแยกระดับของหุ้นเป็น คลาสเอ และบี นั้น มีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 หรือสามปีก่อนทำ IPO ด้วยซ้ำ

“โครงสร้างนี้เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของเราแล้ว และการบริหารงานขององค์กรก็สมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพดี”

พร้อมระบุว่า หาก ซัคเกอร์เบิร์ก ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งประธานบริหารจริง สิ่งที่ตามมา ก็คือจะเกิด “ความไม่มั่นคง ความสับสน และขาดประสิทธิภาพภายในบอร์ด และการบริหารจัดการภายใน”

ในมุมของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ คำแถลงข้างต้นของ Facebook “ขัดแย้ง” กับคำกล่าวขอโทษต่อสาธารณชนของ ซัคเกอร์เบิร์ก ถึงกรณีข้อมูลรั่วไหลผ่าน Cambridge Analytica เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เพราะในคำขอโทษถึงกรณีข่าวปลอม การแทรกแซงการเลือกตั้ง และการรั่วไหลของข้อมูล ซัคเกอร์เบิร์ก ยอมรับว่า “ไม่ได้ตรวจตราอย่างถ้วนถี่มากพอตามหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่”

แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นเชื่อว่าปัญหาข้างต้นจะได้รับการแก้ไข หาก ซัคเกอร์เบิร์ก เปิดกว้างทางความคิดกว่านี้

“ถ้าคุณเปิดกว้างรับฟังความเห็นของผู้อื่นบ้าง โดยเฉพาะจากผู้ถือหุ้นทั่วไป คุณจะตัดสินใจอะไรต่างๆได้ดีขึ้น”

 

คำเตือน : เปลี่ยนก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยน

แม้ที่ผ่านมา ความพยายามของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้จะถูกปฏิเสธ แต่ทั้งหมดก็ยังยืนกรานจะยื่นเรื่องนี้ต่อในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีครั้งต่อๆไป

เช่นเดียวกับแนวทางอื่นๆ อาทิ การส่งจดหมายถึงกลุ่มผู้อำนวยการองค์กร พยายามมีบทบาทในที่ประชุมบริหารให้มากขึ้น รวมถึงการแสดงความไม่พอใจผ่านสื่อต่างๆ

ไม่ว่าความพยายามเหล่านี้จะส่งผลหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

แต่ ดีแลน เซจ ผู้อำนวยการของ Baldwin Brothers เชื่อว่าผลลัพธ์จากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของรายได้ที่ลดลง หรือฟีดแบ็กจากผู้ใช้งาน จะค่อยๆบีบให้ Facebook (หรือ ซัคเกอร์เบิร์ก) อยู่เฉยไม่ได้ในที่สุด

“ถ้ายังมีกรณีแบบเดียวกับ Cambridge Analytic, การแทรกแซงการเลือกตั้ง, ปัญหา hatespeech ฯลฯ ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะได้เห็นปฏิกิริยาจากผู้ใช้งานเอง และเมื่อถึงเวลานั้น หน่วยงานรัฐอาจจะเข้ามาข้องเกี่ยว”

เซจ ยอมรับว่าเหตุการณ์ Cambridge Analytica ส่งผลให้เขาตัดสินใจปล่อยหุ้นในมือออกไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังลงทุนกับบริษัทอยู่ราว 2.8 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ โดเฮอร์ตี้ ก็ย้ำว่าความพยายามคัดง้างกับบอร์ดที่นำโดย ซัคเกอร์เบิร์ก นั้น สุดท้ายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ Facebook นั่นเอง

“เราก็ต้องการให้บริษัทได้ประโยชน์ เพราะเราคือกลุ่มนักลงทุนหลัก เราลงทุนไปกว่า 1 พันล้าน และก็หวังว่านี่จะเป็นการลงทุนที่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

และทั้งหมดก็เชื่อว่าทางที่เหมาะสมที่สุด ก็คือการปรับโครงสร้างบริหารจัดการใหม่หมดนั่นเอง

 

ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า

 

 

ส่วน คอนเนอร์ ที่ไม่มีส่วนได้เสียใดๆกับ Facebook ก็กล่าวว่าแม้วันนี้พวกเขาจะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าพวกเขาจะอยู่ ณ จุดนี้ไปตลอด เพราะประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่ายักษ์ใหญ่แค่ไหนก็สามารถล้มได้เสมอ

“บางคนอาจคิดว่า Facebook ไม่มีวันล้ม ผมไม่เห็นด้วย คุณลองย้อนไปดูบริษัทอย่าง AOL หรือ Yahoo ดูก็ได้ หรือแม้แต่ เทรวิส คาลานิค เขาเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ของ Uber แต่เมื่อเขาทำพลาด เขาก็ต้องไป”

“การคิดว่าตัวเองไร้เทียมทานนั่นแหละ คือหนทางสู่การทำลายตัวเอง”

 

AHEAD TAKEAWAY

บางที ปี 2018 อาจไม่ใช่ “ปีชง” สำหรับ Facebook อย่างที่เราเคยว่าไว้ แต่อาจเป็นปีชงสำหรับผู้ก่อตั้ง อย่าง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก แทน

จริงอยู่ สถานะของ Facebook ในวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่า “ไร้เทียมทาน” ในอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดีย แต่ก็อย่างที่ทีมงาน AHEAD ASIA เคยนำเสนอไปว่า

โซเชียลมีเดียสีน้ำเงินนั้น ไม่ใช่พื้นที่สำหรับวัยรุ่นเหมือนในอดีตอีก

หรือ Facebook จะเปลี่ยนผ่านสู่ โซเชียลวัยกลางคน !?!

ทั้งอายุขององค์กรที่ยืนยาวมานับสิบปี เหล่าผู้ใช้งานในยุคแรกต่างก็เติบโตจากวัยรุ่นในวันนั้น กลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้หมดแล้ว

ทั้งเรื่องที่เด็กๆเองก็ต้องการบางสิ่งที่ต่างออกไป และไม่ถูกจับตาดูโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง (ซึ่งเคยเป็นวัยรุ่นในยุคแรกของ Facebook มาก่อน)

หรือแม้แต่ตัวของ Zuckerberg เองก็เช่นกัน แม้ด้วยอายุอานามจะยังไม่มาก เมื่อเทียบกับผู้บริหารองค์กรระดับโลกรายอื่นๆ

แต่เขาก็ไม่ใช่วัยรุ่นหัวขบถเหมือนเดิม

ทุกวันนี้เราจึงแทบไม่ได้เห็นการเดิน ตามคติ ‘Move fast, break things’ จาก Facebook อีกเลย

และเป็นไปได้หรือไม่ การที่เจ้าตัวประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจนเกินเหตุ และนำไปสู่การไม่ฟังเสียงจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นทั่วไป จนเป็นที่มาของการพยายาม “เลื่อยขา” เจ้าตัวในครั้งนี้

จริงอยู่ว่า ซัคเกอร์เบิร์ก คือสัญลักษณ์ของ Facebook

แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ

สตีฟ จ๊อบส์ หรือ เทรวิส คาลานิค ต่างก็ถูกบีบให้ต้องอำลาองค์กรที่ตนสร้างมากับมือ เมื่อหมากเดินผิดพลาด

แม้จะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้อย่างในปัจจุบัน ก็คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ซัคเกอร์เบิร์ก จะปลอดภัยในตำแหน่งประธานบริหาร และซีอีโอของ Facebook ไปได้ตลอดอยู่ดี

เพราะเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมา

ทั้งความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่กระจายของข่าวปลอม การรั่วไหลของข้อมูลผ่าน Cambridge Analytica ฯลฯ

ก็คือการเดินหมากที่ผิดพลาดของอดีตวัยรุ่นผู้พยายามเชื่อมโยงโลกใบนี้เข้าด้วยกัน ใช่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม

หลังฉาก Instagram : เมื่อสองผู้ก่อตั้งหัก Zuckerberg

Unfriend : เมื่อมิตรภาพพังทลายในหน้าที่

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
82
Shares
Previous Article
Uber

Uber ได้ไลเซนส์เปิดบริการในลอนดอนอีกรอบ

Next Article
Apple

สื่อคาด Apple เตรียมให้บริการแพ็คเกจคอนเทนต์รายเดือนแบบเหมาจ่าย

Related Posts