Amazon เดินหน้าขยายอาณาจักรต่อเนื่อง โดยมีเป้าต่อไปคือธุรกิจ Healthcare หลังมีรายงานว่าบรรลุข้อตกลงในการเทกโอเวอร์ PillPack ร้านขายยาออนไลน์มาแรงในสหรัฐ ด้วยมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 33,000 ล้านบาท)
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Amazon เพิ่งจัดตั้งศูนย์สุขภาพ ในลักษณะ Joint Venture ร่วมกับ Berkshire Hathaway และ JPMorgan Chase สำหรับพนักงานของทั้งสามองค์กร ที่มีจำนวนรวมกันกว่า 1 ล้านคน เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและราคาถูกลง โดยมีแผนขยายการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในอนาคต และเพิ่งแต่งตั้ง Dr. Atul Gawande ให้เข้ารับหน้าที่ CEO ของกิจการค้าร่วมดังกล่าว เมื่อต้นสัปดาห์นี้
ล่าสุด ก็มีรายงานว่ายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ สามารถหาข้อสรุปในการเจรจากับกิจการยาออนไลน์ส่งตรงถึงบ้านเป็นรายต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในครึ่งหลังของปี แต่คาดว่า TJ Parker ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ PillPack จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป
“PillPack พยายามทำให้ลูกค้าทุกคนได้รับยาที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม และรู้สึกดีขึ้นกับเรื่องสุขภาพ ด้วยการทำสัญญาครั้งนี้ เรามีความกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อกระจายขอบเขตของอุตสาหกรรมสุขภาพ เพื่อให้คนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา สามารถได้รับประโยชน์ที่ดีขึ้นจากร้านขายยา” Parker กล่าว
สำหรับ PillPack ที่มีฐานอยู่ในแมนเชสเตอร์, นิวแฮมพ์เชียร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ก่อนจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการในทั้ง 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา พร้อมกับได้มาตรฐาน URAC / VIPPS โดยเปิดบริการให้ลูกค้าสมัครสมาชิกออนไลน์ และจะจัดยาให้ตามใบสั่งยาของผู้ป่วย ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องใช้ยาตัวเดียวกันเป็นระยะเวลานาน
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า Walmart ก็สนใจกิจการของ PillPack เช่นกัน แต่สุดท้ายเป็น Amazon ที่ปิดดีลได้ในที่สุด
AHEAD TAKEAWAY
ปัจจุบัน หนึ่งในประเภทธุรกิจ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ คือ Healthcare
เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech)
ข้อมูลของ Statista ระบุว่าจำนวนสตาร์ทอัพด้านสุขภาพมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2010-2016 มีเงินสนับสนุนลงทุนเติบโตราว 42%
หรือเฉพาะปี 2016 มีมูลค่าการเติบโตสูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะกลายเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากครอบคลุมขอบเขตสุขภาพของมนุษย์ในทุกๆด้าน
ประเด็นที่ Amazon น่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีอัตราส่วนการใช้จ่ายทางการแพทย์สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา และยังไม่มีสวัสดิการหรือความช่วยเหลือใดๆจากรัฐอีกด้วย
เช่น สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเริ่มถึงจุดอิ่มตัว มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ถึง 17% ต่อ GDP เปรียบเทียบกับไทยหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งอยู่ในอัตรา 2-5% เท่านั้น
และการที่ราคาค่าตรวจรักษา ผ่าตัดต่างๆ และยา ในสหรัฐ ไม่มีเพดานกำหนดตามหลักตลาดเสรี
เนื่องจากบริษัทประกันส่วนใหญ่คือเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นหลักในโรงพยาบาลนั่นเอง
ทำให้ทั้งสามบริษัทใหญ่ มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างด้านเฮลธ์แคร์ใหม่ โดยสร้างศูนย์สุขภาพของตนเองขึ้น เพื่อให้ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆได้ง่ายกว่าเดิม จนเป็นที่มาของ joint venture ดังกล่าว
ซึ่งทั้งสามบริษัท ต่างก็มี Know How เฉพาะตัว เพื่อเติมเต็มในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น Amazon ซึ่งถนัดเรื่องรีเทล เทคโนโลยี และบริการลูกค้า Berkeshire มีความรู้เรื่องบริษัทประกัน และ JP Morgan เก่งด้านเรื่องทรัพยากรบุคคล
ขณะเดียวกัน การเทกโอเวอร์กิจการของร้านยาออนไลน์มาแรง ก็ถือเป็นการเติมเต็มใน ecosystem ของโครงสร้างใหม่ที่กำลังก่อตัว
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจยา และเครื่องมือทางการแพทย์นั้น ก็มีขนาดที่ใหญ่ไม่แพ้กับโรงพยาบาลเลยทีเดียว
นั่นหมายถึงหากแผนของทั้งสามบริษัทดำเนินไปด้วยดี ก็มีแนวโน้มสูงที่จะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างระบบสุขภาพในสหรัฐให้ถูกลงได้ในที่สุด
เรียบเรียงจาก
Amazon buys an online pharmacy, for just under $1B
Amazon to Acquire an online pharmacy
Atul Gawande, the doctor and writer, named CEO of Amazon’s employee healthcare JV
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน