AI

AI : ยุทธศาสตร์ชาติยุคใหม่ของจีน

Mike Vernal แห่ง Sequoia Capital กองทุนระดับโลก ซึ่งอยู่เบื้องหลังสตาร์ทอัพชั้นนำมากมายใน ซิลิคอน วัลลีย์ เคยกล่าวไว้หลังเดินทางกลับจากการเยือนจีน เมื่อเร็วๆนี้

ว่าในอนาคตอันใกล้ ชาติที่เคยถูกปรามาสเรื่องลอกเลียนแบบมากที่สุด

มีโอกาสสูงที่จะแซงหน้า สหรัฐ ขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งด้านเทคโนโลยี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญติดลำดับต้นๆในเวลานี้ อย่าง ปัญญาประดิษฐ์

“รัฐบาล และผู้นำด้านเทคโนโลยีในจีน กำลังจับมือกันมุ่งไปข้างหน้า” Vernal ให้ทรรศนะ ระหว่างการดีเบท ในอีเวนท์หนึ่งที่ย่านเบย์ แอเรีย ในซาน ฟรานซิสโก “มันมีความเป็นไปได้อยู่ที่ในอีกสามหรือห้าปีข้างหน้า เราอาจตื่นขึ้นมา แล้วพบกว่าจีนแซงหน้าสหรัฐ หรือพวกเราใน ซิลิคอน วัลลีย์ ไปแล้ว”

“ถ้าคุณลองเทียบ Whatsapp หรือ Messenger คุณจะเห็นว่าสองแอพนี้จืดไปเลย ถ้าเทียบกับ WeChat แอพแชทที่มีบทบาทในสังคมจีน”

 

ใครคือผู้นำตัวจริง?

 

 

ในความเห็นของ Paul Triolo นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group ในวอชิงตัน ดีซี นั้น ณ ปัจจุบัน สหรัฐยังอยู่เหนือจีนอยู่พอสมควร ในหลายๆด้าน

หลักฐานที่สนับสนุนความเห็นของ Triolo คือตัวเลขข้อมูลต่างๆในอุตสาหกรรม AI จาก McKinsey Global Institute เปรียบเทียบระหว่างสองชาติในหลายๆด้าน อาทิ

  • เกินกว่าครึ่งของ data scientist ชาวอเมริกันนั้น มีประสบการณ์ด้านนี้กว่า 10 ปี ส่วนฝ่ายจีนนั้น ราว 40% หรือเกือบๆครึ่งหนึ่ง ทำงานด้านนี้ไม่ถึง 5 ปีด้วยซ้ำ
  • ตัวเลขจำนวนการจดสิทธิบัตร ระหว่างปี 2010-2014 สหรัฐ คือเบอร์หนึ่งที่จำนวน 15,317 เรื่อง ส่วน จีน อยู่ในอันดับสอง คือ 8,410
  • จำนวนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ในปัจจุบัน สหรัฐ มีมากถึง 850,000 คน เป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนจีนมีราว 50,000 คน อยู่ในอันดับ 7
  • ค่าเฉลี่ยการลงทุนของภาคเอกชนในด้านนี้ สหรัฐ มีถึง 66% เป็นอันดับ 1 ส่วนจีน แม้จะอยู่อันดับสอง แต่มีเพียง 17% เท่านั้น
  • และสุดท้าย อันดับโลกในด้านการเปิดเผยชุดข้อมูล สหรัฐ อยู่ในอันดับ 8 และจีน อยู่ในอันดับ 93

แต่ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลในอดีต ซึ่งไม่ได้การันตีว่าจะยังคงเดิมในอนาคต

“จีนยังล้าหลังสหรัฐ ในเรื่องการดีไซน์ฮาร์ดแวร์สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆก็จริง แต่พวกเขาตั้งเป้าที่จะเป็นมหาอำนาจในด้านชิปปัญญาประดิษฐ์” Triolo สรุป

 

โรดแมพสู่มหาอำนาจ

 

 

ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดี Xi Jinping กล่าวว่าต้องการเห็น จีนเป็นมหาอำนาจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ด้านสภาประชาชนแห่งชาติของจีน ก็ตอบรับแนวคิดของผู้นำคนปัจจุบัน ด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างให้ประเทศก้าวขึ้นมาเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์” ภายในปี 2030

หนึ่งในแผนการเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายนั้น คือการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ เพื่อชดเชยช่องว่างเรื่องคลังสมองของประเทศ ที่ยังตามหลังสหรัฐอยู่ค่อนข้างมาก

กระทรวงศึกษาธิการของจีน เริ่มวางหลักสูตรใหม่ ทั้งเรื่องทฤษฎีพื้นฐาน และการวิจัยเทคโนโลยีไปเรียบร้อย เพื่อให้พร้อมใช้งานทั่วประเทศภายในปี 2020

โดยจะเริ่มจากระดับมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มแรก

ซึ่งสถาบันศึกษาชั้นนำหลายแห่งของประเทศ ก็ตั้งคณะที่เน้นการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะเป็นที่เรียบร้อย ทั้ง University of Chinese Academy of Sciences, Tianjin University, Nankai University, Nanjing University และ Jilin University

Zhou Zhihua อธิการบดีของภาควิชา AI ของ Nanjing University อธิบายว่าความจำเป็นในการวางหลักสูตรใหม่นั้น

เป็นเพราะปัจจุบัน วิชาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่มีการลงลึกรายละเอียด นักศึกษาจึงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญๆ เมื่อถึงเวลาทำงานจริงได้

โดยหลักสูตรใหม่นั้น มีสองภาควิชาเอก ประกอบด้วย Machine Learning/Data Mining และ Intelligent Systems/Applications

ซึ่งทางมหาวิทยาลัย มีแผนรับนักศึกษาเข้าเรียน ราว 60-100 คนภายในปีนี้ แม้จะยังถือว่าห่างไกลจากความต้องการในท้องตลาดอยู่มากก็ตาม

“จำนวนนักศึกษาที่เรามียังห่างไกลจากความต้องการในตลาดอยู่มาก ใครก็ตามที่จบการศึกษาด้านนี้จึงมักได้งานก่อนเรียนจบด้วยซ้ำ” Zhou อธิบาย

 

AI + X

ในแง่มุมของการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา รัฐบาลจีนต้องการให้มุ่งเน้นไปทาง สหวิทยาการ (Interdisciplinary)

คือสามารถนำไปเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติ ฟิสิกส์ ชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ได้

หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “AI + X” เพื่อแตกแขนงไปสู่สาขาวิชาเอกใหม่ๆ นับร้อยวิชา ภายในปี 2020

“เราอยากให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่นักเรียนทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัย และนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ”

หนึ่งในตัวอย่างของ การผสมผสานวิทยาการนี้ คืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงอีกเช่นกัน เมื่อมันถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยกระจกตาอักเสบ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของโรคได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น

 

คลังข้อมูลมหาศาล

 

 

อีกหนึ่งปัจจัยเรื่องความได้เปรียบที่จะช่วยให้จีนพัฒนา AI ได้อย่างรวดเร็ว คือคลังข้อมูลมหาศาลในมือ ชนิดที่นิตยสาร The Economist ยกให้เป็น “ซาอุดีอาระเบียแห่งข้อมูล”

เพราะในขณะที่ฝั่งตะวันตกนั้นให้ความสำคัญกับ “การเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว” จนกลายเป็นข้อจำกัดในการนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนา

ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในจีน พร้อมแลกสิ่งเหล่านี้กับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน

ทุกครั้งที่มีคนเสิร์ชหาข้อมูลใน Baidu จ่ายเงินผ่าน e-wallet ใน WeChat ซื้อของออนไลน์กับ Taobao หรือเรียกรถด้วย Didi ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปยังบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อใช้ในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตในจีน ยังระบุว่าประชากรของประเทศ 2 ใน 3 หรือราว 751 ล้านคน ทำธุรกรรมต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ตกันแล้ว โดยในกลุ่มนี้ มีถึง 95% ทำผ่านโมบายล์ดีไวซ์ต่างๆ

เฉพาะในปี 2016 นั้น พบว่าจีนมีการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าที่สหรัฐทำในปีเดียวกัน ถึง 50 เท่าเลยทีเดียว

หรือหากจะให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ส่งผลอย่างไร ให้ลองพิจารณาจากตัวเลขงานวิจัยในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลังปี 2012 เป็นต้นมา

จนปัจจุบัน จีน คือชาติอันดับ 3 ในด้านงานวิจัยเกี่ยวกับ deep learning ตามหลังเพียงแค่สหราชอาณาจักร และสหรัฐเท่านั้น

ด้านหน่วยงานรัฐอื่นๆ อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ก็มาพร้อมกับแผนแม่บท 3 ปี ที่เน้นหนักการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ

พร้อมมอบหมายให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศเป็นหัวหอก ผ่านการทำงานร่วมกับภาครัฐแบบบูรณาการ อาทิ Baidu ดูแลด้านรถไร้คนขับ หรือ Tencent รับผิดชอบการวินิจฉัยโรคด้วย AI ฯลฯ

 

อนาคตที่รออยู่

 

 

จากแนวโน้มในปัจจุบัน คงปฏิเสธความจริงที่ว่า AI จะเข้ามาเป็นหัวใจของทุกๆอุตสาหกรรมในไม่ช้า

เห็นได้จากแผนการก่อตั้ง AI Technology Park มูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์ ทางตะวันตกของกรุงปักกิ่งโดยภาครัฐ

แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่า ก็คือการประกาศทุ่มทุน 15,000 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างแล็บวิจัยควอนตัมคอมพิวเตอร์และ AI รวม 7 แห่งใน 4 ประเทศ ของ Alibaba ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี

การทุ่มสุดตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนแบบนี้ ทำให้โอกาสสมองไหลของ data scientist จากจีนไปสู่โลกตะวันตก เหมือนในอดีต คงเป็นไปได้ยาก และนั่นหมายถึง จีนกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นมหาอำนาจด้านนี้ อย่างที่ Vernal ว่าไว้จริงๆ

“ถ้าเป็นวิทยาการสายอื่นๆ จีนคงยากที่จะไล่ตามสหรัฐหรือยุโรปได้ทัน แต่สำหรับวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ต่อให้มีประสบการณ์น้อยกว่า จีน ก็มีโอกาสแข่งขันกับชาติเหล่านั้นได้” Chen Yunji ศาสตราจารย์หนุ่มของสถาบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ แห่งวิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีน ให้ความเห็น

 

AHEAD FACTS

  • ข้อมูลจาก Adobe ระบุว่า ปัจจุบัน มีองค์กรเพียง 15% เท่านั้นที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ แต่ตัวเลขดังกล่าว น่าจะขยับขึ้นไปถึง 46% ภายในสิ้นปี 2018
  • อัตราการจ้างงานในช่วง 5 ปีหลังสุด พบว่าองค์กรต้องการคนมีทักษะเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
    อาทิ machine learning, deep learning และ natural language processing เพิ่มขึ้นถึง 450% นับจากปี 2013
  • Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเมินว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของ AI จะพุ่งไปแตะหลัก 4,000,000,000,000 ดอลลาร์ ภายในปี 2022

 

เรียบเรียงจาก

Silicon Valley investors explain why they’re scared of China

China’s massive investment in artificial intelligence has an insidious downside

Feature: AI education booming as China cultivates talent

Chinese schools are teaching kids Artificial Intelligence

China’s children are its secret weapon in the global AI arms race

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
100
Shares
Previous Article

ผลสำรวจเผย 4 ใน 10 คนลบบัญชีโซเชียลมีเดียทิ้ง หลังกรณี Cambridge Analytica

Next Article
โฆษณา

Alibaba สุดล้ำ ใช้ AI เขียนโฆษณา

Related Posts