สื่อคาด Blue Origin บริษัทสำรวจอวกาศของ Jeff Bezos เตรียมเคาะราคาตั๋วทริปทัวร์อวกาศ ซึ่งจะเริ่มให้บริการครั้งแรกในปีหน้า ไว้ที่ขั้นต่ำ คนละ 200,000 ดอลลาร์ (ราว 6.6 ล้านบาท)
Blue Origin ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2000 โดยมีเป้าหมายในการทำทัวร์อวกาศราคาประหยัดให้เป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการขึ้นบินทดสอบมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งในขั้นตอนต่อไป คือการทดสอบส่งนักบินที่เป็นมนุษย์ขึ้นไป พร้อมจรวด New Shepard เป็นครั้งแรกในเร็วๆ นี้
หากการทดสอบลุล่วงได้ด้วยดี ก็จะเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นให้บริการทัวร์อวกาศอย่างจริงจัง ซึ่ง Rob Meyerson รองประธานอาวุโสของบริษัท เปรยไว้ว่าจะสามารถเริ่ม เปิดจองตั๋วล็อตแรกในปีหน้า ส่วนราคาตั๋วนั้น แหล่งข่าววงใน เผยกับ Reuters ว่าอยู่ระหว่าง 200,000 – 300,000 ดอลลาร์ (ราว 6.6-9.9 ล้านบาท)
สำหรับแคปซูลที่จะถูกยิงขึ้นสู่อวกาศพร้อมกับจรวด New Shepard นั้น ถูกออกแบบมาให้บรรจุผู้โดยสารได้ 6 คน โดยจะขึ้นบินเป็นระยะทาง 62 ไมล์ หรือ 100 ก.ม. เหนือพื้นผิวโลก ซึ่งสูงเพียงพอจะมอบประสบการณ์ชมวิวนอกโลกได้เป็นเวลาราว 4 นาที ก่อนกลับสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพ
AHEAD TAKEAWAY
การทัวร์อวกาศ สำหรับผู้มีฐานะ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะย้อนไปในปี 2001 Dennis Tito วิศวกรชาวอเมริกัน ได้รับการบันทึกชื่อในฐานะนักท่องอวกาศ (space tourist) คนแรก หลังใช้เงินส่วนตัว 20 ล้านดอลลาร์ (665 ล้านบาท) เพื่อขึ้นยานอวกาศ Soyuz ของรัสเซีย ไปใช้ชีวิตในอวกาศถึงแปดวัน
ทว่า นับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ไปถึงระดับนั้น เพียง 7 คน เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คือตั้งแต่ 20-40 ล้านดอลลาร์ (665-1,331 ล้านบาท)
หมายความว่า การทัวร์อวกาศ (orbital space tourism) เป็นเรื่องยากที่จะสเกลอัพให้เป็นธุรกิจในวงกว้างได้
ขณะที่การทัวร์ขอบอวกาศ (ยังอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก) หรือ Sub-orbital space tourism นั้น แม้จะยังไม่เกิดขึ้นจริง
แต่หลายบริษัทมองว่ามีโอกาสดีกว่าที่จะทำให้เป็นธุรกิจที่คนจำนวนมากเข้าถึงได้ ในฐานะ “ทัวร์ราคาประหยัด”
และในบรรดาบริษัทเหล่านี้ ก็มีชื่อของ Virgin Galactic รวมถึง Blue Origin อยู่ด้วย (ขณะที่ SpaceX นั้น วางโพสิชั่นตัวเองไว้ที่การทัวร์ดวงจันทร์ หรือ Lunar space tourism แทน)
ด้าน Virgin Galactic นั้น แม้จะยังไม่ประกาศกำหนดการขึ้นบินที่แน่ชัด แต่กลับขายตั๋วได้ไปแล้วถึง 650 ใบ ในราคาใบละ 250,000 ดอลลาร์ (ราว 8 ล้านบาท)
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้มีดีมานด์อยู่พอสมควรทีเดียว
เสริมด้วยการที่ Blue Origin ตัดสินใจเปิดราคาตั๋วขั้นต่ำมาที่ 2 แสนดอลลาร์ (6.6 ล้านบาท) ก็แปลว่าโครงการนี้เข้าใกล้ความจริงไปทุกขณะ
อย่างไรก็ตาม การเปิดราคาขั้นต่ำในระดับนี้ ทำให้ Marco Caceres นักวิเคราะห์จาก Teal Group แสดงความเห็นว่า Blue Origin จะขาดทุนย่อยยับแน่นอนเมื่อเริ่มต้นให้บริการจริง
Caceres ให้เหตุผลว่าการขึ้นบินแต่ละครั้ง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายร่วมๆ 10 ล้านดอลลาร์ แต่แคปซูลที่จะยิงขึ้นไปพร้อมกับจรวด New Shepard บรรจุผู้โดยสารได้เพียง 6 ที่นั่ง
เท่ากับว่าต่อให้เปิดราคาตั๋วมา 300,000 ดอลลาร์ต่อคน บริษัท ก็น่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านดอลลาร์ต่อทริป
นับเป็นความท้าทายของ Bezos ว่าจะสามารถสร้างกำไรจากธุรกิจนี้ได้อย่างไร และจะเหมือนกับ Amazon ที่ยอมวางขาดทุนในช่วงแรก เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างจนลงตัว แล้วค่อยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำในภายหลังหรือไม่
ชมวีดีโอเพิ่มเติม
เรียบเรียงจาก
Exclusive: Jeff Bezos plans to charge at least $200,000 for space rides – sources
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน