อดีตยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเช่าวิดีโอ Blockbuster ส่อแววเหลือแต่ชื่อ ล่าสุดปิดกิจการในแถบอแลสกาลงอีก 2 สาขา จนในสหรัฐ เหลือสาขาสุดท้ายที่เมืองเบนด์ รัฐโอเรกอนเพียงแห่งเดียวแล้ว
Kevin Daymude ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท เปิดเผยในเพจอย่างเป็นทางการ ว่าสาขาในเมืองอันชอเรจ และแฟร์แบงค์ส รัฐอแลสกา ซึ่งเพิ่งประกาศเลิกกิจการไป เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเปิดอีกครั้งเป็นช่วงสั้นๆ ในวันที่ 17 ก.ค. นี้ เพื่อล้างสต็อคสินค้า ก่อนปิดตัวอย่างเป็นทางการตอนสิ้นเดือน ส.ค.
Daymude รับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องประกาศปิดร้าน แต่เชื่อว่าการประกาศลดราคาล้างสต็อค จะยังทำยอดขายจำนวนมากได้เป็นครั้งสุดท้าย
“เรามีความเสียใจที่ต้องแจ้งให้ลูกค้าทุกท่านทราบว่า เราจะปิดสาขาอีก 2 แห่ง แต่จะกลับมาเปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม เพื่อทำการขายครั้งสุดท้าย ไปจนถึงเดือนสิงหาคม นี่คือสองสาขาสุดท้ายในอะแลสกาที่ยังเหลือ และมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องบอกลาลูกค้าทุกคน ผู้ซึ่งเป็นเหมือนครอบครัวของเรามาตลอด 28 ปี” Daymude ระบุ
Blockbuster เคยมีสาขาถึง 9,904 แห่งทั่วโลก ในช่วงที่ธุรกิจเช่าวิดีโอ (และดีวีดี) บูมถึงขีดสุด ตอนต้นทศวรรษที่ 90 แต่การปรับตัวไม่ทันตามพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งหันมาชมภาพยนตร์ผ่านการสตรีมมิ่งออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก จนต้องยื่นเรื่องขอล้มละลายตามมาตรา 11 ในปี 2010
และค่อยๆปรับลดสาขาลง เหลือเพียงไม่ถึงสิบสาขาในรัฐอแลสกา ซึ่งเป็นเป็นแถบที่ค่าบริการอินเตอร์เน็ตสูงที่สุด จนการดูวิดีโอแบบสตรีมมิ่งไม่คุ้มค่า เท่ากับการขับรถไปเช่าจากที่ร้าน
อย่างไรก็ตาม แผนในการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท ก็ยังไม่กระเตื้องมากนัก หลังประสบปัญหาในหลายๆด้าน รวมถึงค่าเช่าสถานที่ตั้งร้านที่เพิ่มสูงขึ้น จนต้องทยอยปิดสาขาลงเรื่อย จนปัจจุบัน เหลือสาขาสุดท้ายในเมืองเบนด์ รัฐโอเรกอน
Sandi Harding ผู้จัดการทั่วไปของสาขาดังกล่าวนี้ ยืนยันกับ Associated Press ว่า “เราไม่มีแผนที่จะปิดกิจการในเร็วๆ นี้”
AHEAD TAKEAWAY
Blockbuster จัดเป็นอีกธุรกิจที่ถูก disrupt เพราะขยับตัวตามความเปลี่ยนเแปลงของเทคโนโลยีไม่ทัน เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม
ไม่ต้องมองไปไหนไกล ทุกครั้งที่เรามองไปรอบตัว จะเห็นคนถือสมาร์ทโฟน เพื่อเสพคอนเทนต์จากหน้าจอที่คนเคยบอกว่า “เล็กเกินไป” แต่กลายเป็นจอหลัก แทนที่จะเป็น “second screen” เหมือนที่ผ่านมา
เพราะเมื่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว การดูหนัง (หรือเสพคอนเทนต์อื่นๆ) แบบออนไลน์ ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
กอปรกับไลฟ์สไตล์ประจำวันของคนเมืองนั้น อยู่ “นอกบ้าน” มากกว่า “ในบ้าน”
ความสะดวกในการรับชมหรือเสพคอนเทนต์จึงเปลี่ยนจากการนั่งบนโซฟาหน้าจอโทรทัศน์ มาเป็นการยกสมาร์ทโฟนนั่งดูในร้านกาแฟ หรือแม้แต่บนรถไฟฟ้า
คนเหล่านี้จึงไม่เห็นความจำเป็นในการครอบครองตัวคอนเทนต์อีกต่อไป ขอเพียงช่องทางการเข้าถึง (access) ก็พอ
ยอดขายของซีดีเพลง หรือดีวีดีและแผ่นบลูเรย์ตกต่ำลงเรื่อยๆ กระทั่งยอดดาวน์โหลดไฟล์เพลงก็ยังลดลง
แต่ยอดการสมัครสมาชิก (subscribe) บริการสตรีมมิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะ Spotify หรือ Netflix กลับพุ่งสูงขึ้น
แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง Disney ยังเตรียมที่จะเปิดให้บริการสตรีมมิ่งของตัวเองในเร็วๆนี้ หลังหมดสัญญาปัจจุบันกับทาง Netflix
หรือแม้แต่ในบ้านเรา การที่ผู้ผลิตดีวีดี อย่าง EVS ตัดสินใจปิดตัวลง อาจไม่ได้ขึ้นกับปัญหาลิขสิทธิ์ที่ยากเกินจะควบคุมอย่างเดียว เพราะจริงๆนั่นคือเรื่องเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งสำคัญกว่าคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมต่างหาก
ทางออกขององค์กรต่างๆ คือการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
ไม่ว่าจะเข้าสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งหรือกระทั่งปรับตัวไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เอง
อย่างที่ โรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ทำ และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปั้น BNK48 และสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล
เรียบเรียงจาก
Two of the last Blockbusters just closed in Alaska, leaving but one survivor
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน