ฺBlue Origin

Blue Origin ทดสอบจรวดฉลุย หอบทุเรียนไทยไปอวกาศ

Blue Origin บริษัททัวร์อวกาศของ Jeff Bezos ประสบความสำเร็จด้วยดี ในการทดสอบจรวด New Shepard รอบที่ 3 พร้อมนำงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆในไทย รวมถึงทุเรียนแปรรูปไปอวกาศด้วย

การทดสอบครั้งนี้ เป็นการยิงจรวดครั้งที่ 9 ของทางบริษัท และเป็นครั้งที่ 3 สำหรับจรวดรุ่น New Shepard โดยมีขึ้นในช่วงค่ำของวันพุธที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา

การเทสต์ครั้งนี้ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางออฟฟิเชียล แชนแนลใน YouTube มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ การดีดตัวออกของแคปซูลนักบิน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนทดลองส่งนักบินที่เป็นมนุษย์ขึ้นไปกับยาน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

 


ผลปรากฏว่าแคปซูลซึ่งบรรจุหุ่นจำลองมนุษย์อวกาศ ดีดตัวออกตามเวลาที่กำหนดไว้ และกางร่มชูชีพลงจอดโดยไม่มีเหตุขัดข้องใดๆ ใช้เวลาในการทดสอบทั้งสิ้น 11 นาที

ส่วนตัวแคปซูล ซึ่งเดินทางด้วยความเร็ว 2,236 ไมล์ต่อชั่วโมง ขึ้นไปที่ความสูง 389,846 ฟุตนั้น ได้มีการบรรทุกงานวิจัยของไทย จากหน่วยงานต่างๆ น้ำหนักรวม 6 กิโลกรัม  ในฐานะ payload ของ mu Space สตาร์ทอัพดาวเทียมสัญชาติไทย ซึ่งนับเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ได้รับเลือกให้บรรทุก payload บนจรวด New Shepard ด้วย

อาทิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ทุเรียนแปรรูป (baked durian) ตราช้างอวกาศ รวมถึงเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยด้วย

 

ทุเรียนแปรรูป ตราช้างอวกาศ (ขอบคุณภาพจาก Sanook)

 

“เราใกล้เอาชนะแรงโน้มถ่วงได้แล้ว นี่คือความทะเยอทะยานที่จะทำความฝันในการสู่อวกาศของคนไทยให้เป็นจริง” คุณวรายุทธ เย็นบำรุง CEO และผู้ก่อตั้ง mu Space กล่าว

ปัจจุบัน Blue Origin กำลังพัฒนาจรวด New Glenn ที่มีขนาดใหญ่กว่า New Shepard เพื่อส่ง payload ขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจรได้ ซึ่งทางบริษัทยังมีแผนเปิดให้บริการทัวร์อวกาศในระดับ sub-orbital ในอนาคตอีกด้วย

 

ชมคลิปย้อนหลัง mission 9 ของ Blue Origin ได้ที่นี่

 

AHEAD FACTS

  • ทุเรียนหมอนทองแปรรูป ที่ถูกส่งขึ้นไปในการทดสอบครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Thai Food to Space จากความร่วมมือของบริษัท Daily Food Ltd. และ Signature Marketing Co. Ltd. เพื่อทดสอบว่าเนื้อและกลิ่นของทุเรียน รวมถึงแพ็คเกจที่ใช้ห่อนั้น จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน หลังถูกยิงขึ้นไปพร้อมจรวด และกลับลงมาพร้อมกับแคปซูล เพื่อใช้พัฒนาการเก็บรักษาอาหารสำหรับเดินทางสู่อวกาศต่อไป
  • mu Space ก่อตั้งโดย วรายุทธ เย็นบำรุง หรือ เจมส์ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2017 เพื่อพัฒนาดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร และเป็นสตาร์ทอัพเจ้าแรกของไทยที่คว้าใบอนุญาตทำธุรกิจดาวเทียมจาก กสทช.

 

เรียบเรียงจาก

BO successfully lands both booster and crew capsule after test launch

Thailand’s baked durian to go into space today aboard US rocket

mu Space makes history for Asia

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
10
Shares
Previous Article
แอนดรอยด์

Google เปรยอนาคตแอนดรอยด์อาจไม่ฟรี หลังโดน EU ปรับหนักคดีผูกขาด

Next Article
Hyperloop

จีนทุ่มหมื่นล้านลุยสร้าง Hyperloop ในกุ้ยโจว

Related Posts