วันที่หลายคนเคยหวั่น กำลังจะกลายเป็นความจริง เมื่อโลกเรากำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution) และมนุษย์จำนวนมาก กำลังจะถูก แย่งงาน ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)
- IOT (Internet of Things)
- รถไร้คนขับ (Self-driving Vehicles)
- นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)
- พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
- คอมพิวเตอร์ระบบควอนตัม (Quantum Computer)
- และ เทคโนโลยีชีวภาพ (ฺBiotechnology)
คำถามถัดมาคือ ใครกันบ้างที่จะเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีเหล่านี้???
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่าอาชีพที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงลำดับต้นๆ คืองานเสนอขายสินค้า/บริการทางโทรศัพท์ และ ผู้พิจารณารับประกันภัย (99%) นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (97%) พนักงานบัญชี (94%) เภสัชกร (92%)
ขณะที่กลุ่มห่างไกลจากการถูกทดแทนนั้น ได้แก่ ครู (1%) พยาบาลอาชีพ (0.9%) นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (0.7%) ทันตแพทย์ และนักกายภาพ (0.4%)
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มไหน แต่การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ด้วยการตีบวกสกิลตัวเองให้พร้อมสำหรับยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง ยังเป็นเรื่องสำคัญเสมอ
และนี่คือทักษะ 10 อย่างที่ Guthrie Jensen บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ แนะนำว่าคุณจำเป็นต้องมี ก่อนถึงปี 2020
#1
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
หรือ Complex Problem Solving เพราะในอนาคตอันใกล้ การมีทักษะเฉพาะอย่างอาจไม่เพียงพออีกต่อไป
คุณจำเป็นต้องมองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อที่จะหาโซลูชั่นให้กับปัญหาที่ยังไม่เกิด ถึงจะพอมีสิทธิ์แข่งขันกับ AI ที่มีทักษะเฉพาะทางเหนือกว่าเราได้
#2
การคิดเชิงวิพากษ์
หรือ Critical Thinking เพราะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารหาได้ง่าย การด่วนเชื่อทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อหาข้อโต้แย้ง จะนำไปสู่คำตอบที่สมเหตุสมผล มากกว่าสิ่งที่เชื่อถือต่อๆกันมา
#3
ความคิดสร้างสรรค์
หรือ Creativity เป้นสกิลที่มีความเชื่อมโยงกับสองข้อแรกในทางใดทางหนึ่งอยู่ เพราะการตั้งคำถามกับสมมติฐานเดิมๆ และการเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ จะนำไปสู่การคิดสิ่งใหม่ๆขึ้น ซึ่งในอนาคต จะเป็นประโยชน์สำหรับตัวคุณเอง และองค์กร
#4
การบริหารจัดการคน
ในอนาคต หุ่นยนต์จะเหมาบทบาทด้านการวิเคราะห์ และคิดคำนวณไปจากเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เครื่องจักรยังทำไมไ่ด้ (อย่างน้อยก็อีกพักใหญ่ๆ) คือการเป็นผู้นำ และบริหารจัดการทรัพยกรบุคคล (People Management) ซึ่งยังต้องอาศัยทักษะความเป็นมนุษย์ของคุณอยู่
#5
ความร่วมมือกับผู้อื่น
การจะบรรลุข้อ 4 ได้นั้น คุณจำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี และความสามารถในการทำงานเป็นทีมควบคู่กันไป หากมีคุณสมบัติเหล่านี้ ที่เรียกรวมๆว่า Coordinating with Others ไม่เพียงแต่จะเอาตัวรอดจากการถูกทดแทนโดยเครื่องจักรแล้ว ยังมีโอกาสที่จะไต่ระดับในองค์กรขึ้นไปด้วย
#6
ความฉลาดทางอารมณ์
นอกจากทักษะในข้อ 5 แล้ว “ความเป็นมนุษย์” อย่างเช่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือความอยากรู้อยากเห็นนั้น ที่อยู่ในกลุ่ม Emotional Intelligence ก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณเข้ากับคนอื่นๆในที่ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
#7
การตัดสินใจ
ไม่ใช่การเลือกด้วยอารมณ์ แต่เป็นทักษะที่ต้องผสมผสานการคิดรูปแบบต่างๆเข้าด้วยกัน โดยอาศัยข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองจากเครื่องจักรมาแล้วในระดับหนึ่ง Judgement and Decision Making นั้น หากคุณมองเห็นภาพกว้างของสิ่งต่างๆได้ และรู้ว่าแต่ละสิ่งมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร การตัดสินใจก็จะแม่นยำและถูกต้องขึ้น
#8
ใส่ใจการบริการ
“ความเป็นมนุษย์” ไม่เพียงมีประโยชน์ในการใช้กับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานเท่านั้น การมี Service Orientation อยู่ด้วย ยังส่งมอบ “คุณค่า” ใดๆแก่ลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปการบริการ หรือความช่วยเหลือ ไปจนถึงการนำเสนอ “โซลูชั่นส์” ที่คนเหล่านั้นกำลังมองหาอยู่
#9
การเจรจา
จากคนในองค์กร ลูกค้า มาถึงคู่ค้ากันบ้าง การนำ “ความเป็นมนุษย์” และ “ทักษะในการสื่อสาร” มาใช้งานร่วมกัน ในการเจรจาธุรกิจ (Negotiation) ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณยังสามารถทำได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะให้หุ่นยนต์ตัวไหนมาทำแทน
#10
ความยืดหยุ่นทางอารมณ์
การมีบุคลิกเพียงแบบเดียวนั้นตรง หรืออาจจะเข้าขั้น “ทื่อ” เกินไปด้วยซ้ำ เพราะคนรอบข้างคุณนั้น ต้องการการตอบสนองในรูปแบบที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า หรือแม้แต่ผู้บริโภค การปรับตัวเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้เข้าถึงคนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น (cognitive flexibility) จึงเป็นสิ่งจำเป็น
AHEAD TAKEAWAY
Jeff Desjardins ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของ Visual Capitalist สื่อจากแคนาดา อธิบายถึงทักษะท้ัง 10 นี้ ว่าล้วนแต่มีความเป็น soft skills (ความสามารถด้านสังคม) อยู่ เพราะยังเป็นทักษะที่เครื่องจักร หรือปัญญาประดิษฐ์ ยังพัฒนาไปไม่ถึงระดับนั้น
ในทรรศนะของ Desjardins มีทักษะอยู่ 3 แบบที่ควรให้ความสำคัญก่อนทักษะอื่นๆ คือ
- การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน เพราะปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันนั้น ยังถนัดในเรื่องเฉพาะทางมากกว่าเรื่องทั่วไป ฉะนั้น หากคุณสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆรอบตัวเข้าด้วยกัน เพื่อมองเห็นภาพกว้างได้แล้ว ก็สามารถที่จะเป็นฝ่ายควบคุม AI เหล่านั้นได้อีกที
- การคิดเชิงวิพากษ์ แม้ปัญญาประดิษฐ์จะได้รับการเทรนให้สามารถคิดหาคำตอบที่ต่างไปจากเดิมแล้ว แต่ในกรณีที่ปัญหาเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะเจาะจง การตีความในแบบของมนุษย์ที่มี soft skill ผสมอยู่ด้วย ก็จะให้ผลทางความรู้สึกได้ดีกว่า
- ความคิดสร้างสรรค์ แม้จะมี AI ที่ได้รับการฝึกให้เขียนข่าว เขียนบทละคร วาดรูปเหมือน ฯลฯ แต่ก็ยังเป็นไปตามกติกาหรือรูปแบบที่มีข้อจำกัด ขณะที่งานศิลปะประเภทแสดงอารมณ์อย่าง อิมเพรสชันนิสม์ หรือนักดนตรีที่เจตนาเล่นโน้ตหรือคอร์ดที่หลุดจากคีย์ เพียงเพราะรู้สึกดีกับมัน ยังเป็นสิ่งที่เครื่องจักรไม่อาจทำความเข้าใจได้
เรียบเรียงจาก
10 skills you’ll need to survive the rise of automation
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน