Facebook

Facebook ได้ไฟเขียว เปิดออฟฟิศใหม่ในจีน

Facebook ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานในจีนแล้ว โดยจะเน้นให้บริการในธุรกิจอื่นๆแทน เนื่องจากธุรกิจหลักอย่างโซเชียลมีเดีย ยังติดขัดเรื่องข้อบังคับทางเทคโนโลยีของทางการจีน

ทางการจีนได้ไล่บล็อกเว็บไซต์และบริการต่างๆจากชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง โดยโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกบล็อกตั้งแต่ปี 2009 และพยายามทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ไปยังพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาโดยตลอด ขณะที่ Mark Zuckerberg CEO และผู้ก่อตั้ง ก็ใช้วิธีในเชิงการทูตต่างๆ ทั้งการเรียนภาษาจีนกลาง และเดินทางไปร่วมถ่ายรูปที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2016 เพื่อให้ทางการจีนยอมประนีประนอมในเรื่องนี้

ล่าสุด Washington Post รายงานว่า Facebook ได้รับไลเซนส์สำหรับการสร้างสำนักงานย่อยในจีน มูลค่ากว่า 30 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,005 ล้านบาท) แล้ว ทางตอนใต้ของเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง โดยจะเป็นบริษัทที่สร้างการลงทุนและให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพขนาดกลางและเล็กแทน

“เรามีความสนใจมานานในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในเจ้อเจียง เพื่อสนับสนุนนักพัฒนานักประดิษฐ์และผู้เริ่มต้นธุรกิจจีน” แถลงการณ์ระบุ

“เราได้ทำสิ่งนี้แล้วในหลายส่วนของโลก เช่นฝรั่งเศส, บราซิล, อินเดีย, เกาหลีใต้และความพยายามของเราจะมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมและเวิร์คช็อป เพื่อช่วยนักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ประกอบการเหล่านี้ในการคิดค้นและเติบโต”

ประกาศที่ตีพิมพ์ในระบบการให้ข้อมูลเครดิตขององค์กรแห่งชาติจีน ระบุว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ จะใช้ชื่อว่า Lianshu Science & Technology (Lian-shu แปลตรงตัวได้ว่า face และ book) โดยมี Facebook Hong Kong Limited เป็นเจ้าของทั้งหมด และมีทุนจดทะเบียนจำนวน 30 ล้านดอลลาร์

เอกสารซึ่งตอนนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วนั้น เผยรายละเอียดไม่มากเกี่ยวกับการทำธุรกิจของสำนักงานใหม่ดังกล่าว โดยได้ระบุขอบเขตธุรกิจ ไว้ว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี, การให้บริการทางเทคนิค และการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน

นอกจาก Lianshu แล้ว Oculus ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเสมือน VR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ก็เพิ่งเปิดตัวแอพพลิเคชันแชร์รูปภาพ Colorful Baloons ที่เป็นความร่วมมือกับ Youge Internet Technology ไปเมื่อปีที่ผ่านมา

 

AHEAD TAKEAWAY

นับแต่ทางการจีน เปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในปี 1994 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2018

มีการบันทึกไว้ว่าโดเมนเนม กว่า 8,000 ชื่อนั้นถูกบล็อกห้ามใช้งานในจีน ภายใต้กฏหมายเซนเซอร์ของจีน (ไม่นับรวม ฮ่องกง, มาเก๊า และ ไต้หวัน ที่ใช้กฏหมายคนละฉบับ)

ในบรรดารายชื่อดังกล่าว ล้วนแต่เป็นเว็บไซต์ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น Google (รวม YouTube และบริการอื่นๆด้วย), Twitter, Instagram, Wikipedia, Dropbox และแน่นอน รวมถึง Facebook ด้วย

ด้วยเหตุผลหลักๆสามข้อ คือนโยบายควบคุมทางสังคมของรัฐบาล ป้องกันเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน และสุดท้าย คือในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อเอื้อให้บริษัทในประเทศสามารถเติบโตได้ เช่นในกรณีของ Baidu ที่มีฟังก์ชั่นเดียวกับ Google หรือ Youku ที่เหมือน YouTube ฯลฯ

แต่ด้วยจำนวนประชากรนับพันล้านคน ทำให้ Mark Zuckerberg ยังหวังลึกๆว่าจะสามารถทลายกำแพงที่กั้นอยู่เข้าไปได้

ในกรณีของ FB นั้น แม้จะมีโซเชียลมีเดีย อย่าง Weibo หรือ Renren (ซึ่งถอดแบบมาจาก FB เกือบทั้งหมด) อยู่ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลหลักในการแบน

เพราะทางการจีนให้เหตุผลว่า ทำไปเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลผู้บริโภคจีนซึ่งมีปริมาณมหาศาลไปสู่โลกภายนอก เช่นเดียวกับการป้องกันการเผยแพร่ข่าวเท็จ ซึ่งยากแก่การควบคุมมากกว่า

เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีหลังนั้นอาจจะสำคัญยิ่งกว่า เพราะแม้ FB จะยอมโอนอ่อนลบข้อความบางอย่างที่ถูกตีความว่าไม่เหมาะสมโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐ ฝรั่งเศส รัสเซีย และปากีสถาน

แต่กับการทำงานกับรัฐบาลจีนนั้นซับซ้อนกว่ากันมาก จนนักวิเคราะห์มองว่าหากยูสเซอร์ในจีนรู้สึกว่าการใช้งาน FB มีข้อจำกัดมากมาย จนตนเป็นพลเมืองชั้นสองในโลกโซเชียลแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปฝืนใช้

หรือต่อให้ FB สามารถเคลียร์ด่านนี้ไปได้ ก็ยังมีประเด็นว่ามีฟีเจอร์อะไรที่เหนือกว่าหรือชวนให้ยูสเซอร์เปลี่ยนใจจาก Wechat หรือ Weibo ได้อีก

เพราะทุกสิ่งที่ FB มีนั้น Wechat ก็มีเช่นกัน แถมยังหยั่งรากลึกลงไปในชีวิตประจำวันของชาวจีนแทบทั้งประเทศแล้ว

หรือแม้แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหาก FB ยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลจีนทุกอย่าง แล้วขอบเขตของการยอมนั้น จะมากแค่ไหน จะเกิดอะไรขึ้น ในมุมกลับกันว่าถ้ารัฐบาลจีนเป็นฝ่าย “ร้องขอ” ข้อมูลของผู้ใช้งานในส่วนอื่นๆของโลกบ้าง Zuckerberg จะยอมทำหรือไม่ หรือจะจงใจพลาดเหมือนหลายครั้งที่เกิดขึ้นกันแน่

 

เรียบเรียงจาก
FB plans to open subsidiary in China after being locked out of the country for years

FB tiptoes into China by opening a startup incubator

List of Blocked Websites in China

Why Facebook’s China adventure will need more than censorship to succeed

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
สมาคมฟินเทคประเทศไทย

4 Pillars - Starting your great Startup หลักสูตรสู่การเป็นสตาร์ทอัพชั้นยอด โดย สมาคมฟินเทคประเทศไทย

Next Article
Mark Zuckerberg

Zuck สองเด้ง หุ้นดิ่ง 5.6 แสนล้าน - จีนเปลี่ยนใจไม่ให้ตั้งออฟฟิศ

Related Posts