Elon Musk

NASA โต้แผนเปลี่ยนดาวอังคารเป็นโลกของ Elon Musk ไม่เวิร์ค

นักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (NASA) ลงความเห็น แผนของ Elon Musk CEO ของ SpaceX ในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของดาวอังคาร ให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอนาคต จะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของดาวอังคาร (Terraforming)

Musk เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ The Late Show with Stephen Colbert ทางช่อง CBS เมื่อปี 2015 ว่ามีไอเดียปรับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร ให้ใกล้เคียงกับโลก ด้วยการการจุดระเบิดนิวเคลียร์ความร้อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์บนดาวอังคาร

“หนึ่งในวิธีการที่เร็วที่สุดคือการใช้ระเบิดนิวเคลียร์” Musk กล่าว พร้อมชี้ว่ายังมีวิธีอื่นๆ เช่นการอัดก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

อย่างไรก็ตาม Bruce Jakosky นักวิทยาศาสตร์แห่ง NASA จากมหาวิทยาลัย University of Colorado กลับไม่เห็นด้วยว่าแผนการของ Musk จะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการจุดระเบิดนิวเคลียร์ ที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารได้

“คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และไอน้ำ (H2O) เป็นเพียงก๊าซเรือนกระจก 2 ชนิดที่มีแนวโน้มว่าจะปรากฏอยู่บนดาวอังคารในปริมาณที่เพียงพอต่อการเกิดภาวะเรือนกระจก”

Jakosky เป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาใน Nature Astronomy ซึ่งสรุปได้ว่าก๊าซที่จะสร้างขึ้นใหม่เหล่านี้ ไม่เพียงพอที่จะเชื่อมโยงกับปริมาณก๊าซในดาวอังคาร อีกทั้งความกดอากาศในดาวอังคารยังมีค่าต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งถือเป็นจุดที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มอุณหภูมิให้เพียงพอสำหรับน้ำที่มีเสถียรภาพ

แม้ว่า Musk จะสามารถละลายน้ำแข็งบนพื้นผิวได้ด้วยระเบิดนิวเคลียร์ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่าการใช้นิวเคลียร์ จะสามารถปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วยค่าความดันบรรยากาศ ในราว 1.2% ของโลกเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ายังห่างไกลจากสภาพแวดล้อมที่มนุษย์จะสามารถใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้ตามทฤษฎีของ Musk

Jakosky เสริมว่า “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างง่ายดาย ผลที่ตามมาคือความพยายามเปลี่ยนแปลงสภาวะของดาวอังคาร ยังไม่อาจเป็นไปได้ภายใต้เทคโนโลยีของโลกยุคปัจจุบัน”

บทวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าแม้แต่การใช้กระบวนการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้พลังงานสูงจากฝุ่นดินและแร่ธาตุของดาวเคราะห์ ก็ยังสามารถสร้างได้เพียง 5% ของบรรยากาศที่ต้องการเท่านั้น

 

AHEAD TAKEAWAY

การขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคอดีตราวช่วง 1950 ซึ่ง Wernher von Braun นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่ลงมือศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ก่อนที่หลังจากนั้นจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ NASA ขับเคลื่อน

มีการส่งยานอวกาศไร้คนบังคับหลายสิบลำ เพื่อไปโคจรรอบดาวอังคารและลงจอด โดยกลุ่มนักวิจัยอวกาศทั้งของรัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และอินเดีย เพื่อศึกษาสภาพพื้นผิว, ภูมิอากาศ และธรณีวิทยา

จากผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว พื้นผิวที่ปรากฏบนดาวอังคารแสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีอากาศร้อนและเปียกชื้น แต่ก็ยังมีงานวิจัยครั้งก่อนๆ ที่ชี้ว่าบรรยากาศและความชุ่มชื้นของดาวเคราะห์ได้ลดน้อยถอยลงไปมากเมื่อเทียบกับสมัยโบราณ

พบว่าดาวอังคารเมื่อราว 4,500 ล้านปีก่อน มีชั้นบรรยากาศที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปกคลุมอยู่ หนาเท่ากับชั้นบรรยากาศของโลก ทว่าในเวลาต่อมาถูกลมสุริยะพัดออกสู่ห้วงอวกาศไปเกือบหมด

ยังมีการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ โดยนักวิทยาศาสตร์องค์การอวกาศยุโรป (Esa) ว่ามีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่ใต้ผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคาร ขนาดกว้าง 20 ก.ม. ใต้ชั้นน้ำแข็งที่ความลึก 1.5 ก.ม.

กระนั้น Esa ก็ยังไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ เพราะการที่น้ำยังเป็นของเหลวอยู่ได้ในสภาพอากาศเย็นจัด -10 ถึง -30 องศาเซลเซียส เพราะน่าจะมีเกลือละลายเป็นส่วนประกอบอยู่อย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการยากสำหรับสิ่งมีชีวิตจะดำรงชีพอยู่ได้

แนวคิดของ SpaceX ที่ต้องการสร้างให้ดาวอังคารเป็นเหมือนโลกแห่งที่ 2 คือการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวให้ออกไปเป็นจำนวนมากพอที่จะทำให้บรรยากาศมีปริมาตรหนาขึ้น ทำให้ดาวเคราะห์ร้อนขึ้นมากพอที่จะทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลว ซึ่งนับเป็นผลกระทบจากภาวะเรือนกระจก เหมือนกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในโลก

การติดเบรคล่าสุดของ NASA ต่อไอเดียการจุดระเบิดนิวเคลียร์ของ Elon Musk แม้จะไม่ได้หมายความว่า SpaceX ต้องพับแผนการทั้งหมดลงไปในตอนนี้ แต่ก็น่าจะกระทบกับแผนการต่อๆไปในอนาคตของ Musk ที่ปักหมุดไว้แล้วในการบุกเบิกดาวอังคารให้เป็นอาณานิคมแห่งต่อไปของมนุษย์โลก

 

เรียบเรียงจาก
Sorry, Elon: NASA says plans to terraform Mars won’t work
Liquid water ‘lake’ revealed on Mars

 

อ่านเพิ่มเติม

Nikola Tesla v Elon Musk : แตกต่างหรือเหมือนกัน

B.F.R. แผนบุกดาวอังคารของ Elon Musk

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
ตูร์ เดอ ฟรองซ์

นวัตกรรมใน “ตูร์ เดอ ฟรองซ์” : บทพิสูจน์การเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล

Next Article
Huawei

Huawei แซงหน้า Apple ขึ้นแท่นมือถือขายดีสุดเบอร์ 2 โลก

Related Posts