Tesla

เมื่อ Tesla เตรียมอำลา NASDAQ : ปลายทางที่ตะวันออกกลาง?

การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มักถูกมองว่าเป็นเส้นชัยที่หลายบริษัทตั้งเป้าว่าต้องไปให้ถึง แต่หลายครั้ง นั่นก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป

อย่างน้อยก็ในความคิดของ Elon Musk กับกรณีของ Tesla ที่เตรียม “ย้อนศร” เพราะพบว่ายังไม่ใช่เส้นชัยที่แท้จริงของผู้ผลิต EV รายนี้

 

8 ปีใน NASDAQ

 

 

ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2010 Tesla ได้รับการบันทึกในฐานะบริษัทรถยนต์ของอเมริกันรายแรก ในรอบกว่าห้าสิบปี ที่ทำ IPO ถัดจาก Ford ในปี 1956

ครั้งนั้น ผู้ผลิต EV รายนี้ เปิดขายหุ้นจำนวน 13.3 ล้านหุ้นให้แก่นักลงทุนที่สนใจ ในราคาหน่วยละ 19 ดอลลาร์ และระดมทุนให้กับบริษัทไปได้ทั้งสิ้น 226 ล้านดอลลาร์

8 ปีถัดมา ราคาหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2018 อยู่ที่ 349.93 ดอลลาร์ (และเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 385 ดอลลาร์) และยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนตลอด สวนทางกับภาพรวมด้านการเงินของบริษัท

จนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม Musk ก็สร้างความแตกตื่นครั้งใหญ่ด้วยการทวีตข้อความว่า

“กำลังคิดเรื่องนำบริษัทออกจากตลาด พร้อมซื้อคืนในราคาหุ้นละ 420 ดอลลาร์ เตรียมเงินทุนไว้แล้ว”

 


 

Wall Street Journal ระบุว่าการซื้อหุ้นคืนที่ราคา 420 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดราว 20 เปอร์เซ็นต์นั้น

เท่ากับ Musk ตีราคาของบริษัทไว้ที่ 72,000 ล้านดอลลาร์ (2.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะเป็นการนำกิจการออกจากการจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่มูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์

ทำลายสถิติเดิมของ Energy Future Holdings Corp โดยกลุ่มทุน KKR และ TPG Capital รวมถึง Goldman Sachs Capital Partners ในปี 2007 ที่มูลค่า 48,405 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท)

 

เหตุผลที่อยากลา

แม้หลายคนจะมองว่านี่เป็น public stunt ตามสไตล์ Musk แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน กลับมีอีเมลจาก CEO ชาวแอฟริกาใต้ถึงพนักงานในบริษัท เพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้

สรุปสั้นๆคือ Musk มองว่าการเป็นบริษัทมหาชนนั้น มีเงื่อนไขต่างๆมากมาย ทั้งการต้องเปิดเผยรายได้ในรายงานทุกไตรมาส รวมถึงข่าวลือต่างๆซึ่งเกิดขึ้นจากราคาหุ้นที่ผันผวนบ่อยครั้ง

และเงื่อนไขเหล่านี้เองที่ทำให้การดำเนินงานของบริษัทไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับ SpaceX อีกหนึ่งบริษัทที่ Musk เป็น CEO อยู่เช่นกัน

Musk ยังอธิบายต่อว่าแผนการออกจากตลาดหุ้นครั้งนี้ ไม่ใช่การลาแล้วลาลับ เพราะเมื่อไหร่ที่ทุกอย่างดำเนินงานไปได้อย่างคล่องตัวแล้ว ก็มีโอกาสที่จะกลับมาอีกครั้งในอนาคต

 

อาฟเตอร์ช็อค

คำประกาศของ Musk แม้จะยังไม่เป็นทางการ แต่ก็ส่งผลต่อสถานะของบริษัทในตลาดไม่น้อย

โดยเฉพาะราคาที่ดีดตัวไปอยู่ที่ 367 ดอลลาร์ต่อหนึ่งหน่วยภายในวันนั้น (7 ส.ค.) คิดเป็น 16% เลยทีเดียว นับแต่ต่เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เมื่อ 1 ส.ค.

แต่จากนั้น ก็มีรายงานว่า นักลงทุนสองราย ได้ยื่นเรื่องฟ้องเอาผิดทางกฏหมายกับ Musk ในข้อหาฉ้อโกงหลักทรัพย์ (security fraud)

เพราะในฐานะ CEO ของบริษัท การให้ข่าวในลักษณะนี้ ย่อมส่งผลต่อราคาในตลาดของหุ้นบริษัทในทางใดทางหนึ่ง

ซึ่งการยื่นฟ้องครั้งนี้ เป็นเพราะนักลงทุนทั้งสองรายนั้นไม่เชื่อว่า Musk ได้มีการสำรองเงินทุนสำหรับการนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ไว้แล้ว ตามที่ทวีต

ด้าน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ (The Securities and Exchange Commission) ก็ได้เริ่มต้นรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว

โดยหากพบว่า Musk มีความผิดจริง ก็อาจนำไปสู่โทษปรับเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ไปจนถึงการดำเนินคดีทางอาญาด้วย

 

เปิดโผผู้พร้อมอุ้ม Tesla

ปัจจุบัน Musk ถือหุ้น Tesla ในมือราวๆ 20%

ถ้าจะซื้อคืนที่เหลือทั้งหมด เพื่อดึงบริษัทออกจากตลาดหุ้น ก็ต้องหาเงินทุนอีก 58,000 ล้านดอลลาร์ (คิดตามราคาหุ้นละ 420 ดอลลาร์ ที่ระบุไว้) ซึ่งน่าจะเกินกำลังจากทรัพย์สิน 21,300 ล้านดอลลาร์ของเจ้าตัวอยู่ดี

ตัวเลือกในคำตอบจึงน่าจะมาจากเงินของนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ โดยที่มีการคาดการณ์ไว้ก็คือ

  • Alphabet บริษัทแม่ของ Google
  • Apple Inc.
  • Softbank Group
  • Public Investment Fund

 

Alphabet

 

 

ในรายของ Alphabet นั้น หลายคนน่าจะพอรู้มาบ้างแล้วว่า Larry Page หนึ่งในสองผู้ก่อตั้ง Google เป็นเพื่อนสนิทของ Musk

ทั้งคู่รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน คือ Sergey Brin อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง Google และ George Zachary นักลงทุน Venture Capitalist มักนัดพบหารือกัน ที่อพาร์เมนต์แห่งหนึ่งใน พาโล อัลโต เพื่อหารือกันถึงแนวคิดใหม่ๆในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เป็นประจำ

เฉพาะอย่างยิ่งในรายของ Page นั้น ดูจะสนิทสนมกับ Musk เป็นพิเศษถึงขนาดเคยประกาศว่า ถ้าเขาตายไปจริงๆ จะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับเพื่อนคนนี้เลยทีเดียว

“You know, if I were to get hit by a bus today, I should leave all of it to Elon Musk.”

และยังเคยกล่าวด้วยว่าโมเดลธุรกิจของ Tesla และ SpaceX นั้น น่าจะ “ทำเงินได้”

คำถามที่ตามมาก็คือ ในเมื่อปัจจุบัน Alphabet นั้น มี Waymo อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะมีเทคโนโลยีหลายๆด้านคาบเกี่ยวกัน โดยเฉพาะระบบขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ จะยังจำเป็นอีกหรือไม่ที่จะต้องดึงบริษัทอื่นมาให้ซ้ำซ้อนกัน

 

Apple

 

รายถัดมา อย่าง Apple Inc. นั้น คือบริษัทที่หลายคนอยากเห็นการควบรวมกับ Tesla มากที่สุด

เพราะแม้จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีแรกในโลกที่มีมูลค่าล้านล้านดอลลาร์ แต่ Apple ในยุค Tim Cook ก็ยังโดนปรามาสเรื่องนวัตกรรมเสมอ

การได้ Musk ที่มักมีไอเดียสดใหม่เสมอ จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจไม่น้อย

และหลายคนก็เชื่อว่าสถานะการเงินที่มั่นคงจนทำท่าจะไม่มีวันล้มของ Apple น่าจะเป็นหลักประกันที่ดีสำหรับบริษัทของ Musk ด้วย

Musk ก็เคยเผยกับ Bloomberg ว่าเขาเคยเข้าพบเพื่อคุยกับผู้บริหาร Apple จริง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 แต่ไม่ได้ระบุว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

แต่อุปสรรคของตัวเลือกนี้ก็คือ Apple เริ่มเดินหน้าโครงการรถไร้คนขับของตัวเอง Project Titan มาตั้งแต่ปี 2014 โดยได้ยื่นเอกสารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายานพาหนะให้กับทาง FBI ตรวจสอบแล้ว

และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทก็เพิ่งดึง Doug Field รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Tesla ที่ลาออกในช่วงการปรับโครงสร้างบริษัท ไปช่วยงาน Bob Mansfield ใน Project Titan หมาดๆ ซึ่งก็อาจตีความได้ว่า Project Titan น่าจะเดินหน้าไปด้วยตัวเองในฐานะขาหนึ่งใน ecosystem ของ Apple มากกว่า

 

Softbank Group

 

 

ไม่นานหลังจากที่ Musk ทวีตเรื่องนำบริษัทออกจากตลาดหุ้น ก็มีรายงานจาก Bloomberg ว่า ย้อนไปในเดือนเมษายนปี 2017 เคยมีการพูดคุยกันระหว่าง CEO หนุ่มกับ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง Softbank Group ถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน และนำบริษัทออกจากตลาด

ในช่วงนั้น ราคาหุ้นของ Tesla เพิ่งไต่ขึ้นไปเกิน 300 ดอลลาร์ ขณะที่ Softbank นั้น ก็มักเลือกลงทุนในธุรกิจที่เน้นหนักด้านนวัตกรรมเป็นหลัก อาทิ Boston Dynamics ผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนแล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันหลังการเจรจาครั้งนั้น ในเรื่องสิทธิ์การบริหารบริษัทหลังออกจากตลาดหุ้น

เนื่องจาก Musk ยังต้องการสิทธิ์ขาดในการบริหารบริษัทให้เป็นไปตามแนวทางที่ตนต้องการ ซี่งไม่ใช่แนวทางที่ Son เห็นด้วย โดยเฉพาะหากต้องให้ตนเป็นฝ่ายลงทุน

และนับแต่นั้น ก็ยังไม่มีการหารือใดๆเพิ่มเติมอีกระหว่างสองฝ่าย

 

Public Investment Fund

 

 

เช่นกัน หลังการทวีตครั้งนั้น ก็มีการเปิดประเด็นว่า PIF กองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย คือแคนดิเดทสำคัญในแผนนี้

ปัจจุบัน หากไม่นับ Musk แล้ว PIF คือนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของบริษัท คือถือหุ้นอยู่เกิน 5% (มูลค่าราวๆ 2 พันล้านดอลลาร์)

ที่สำคัญ PIF มีเงินทุนเหลือเฟือเกินกว่าที่ต้องการ พิจารณาได้จากมูลค่าทรัพย์สินในความดูแลราวๆ 230,000 ล้านดอลลาร์ และคุ้นเคยกับการลงทุนในสตาร์ทอัพอเมริกัน เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้น Uber อยู่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ หรือหุ้น Magic Leap สตาร์ทอัพด้าน wearable อีก 460 ล้านดอลลาร์

ยังไม่นับรายอื่นๆที่ ไม่ได้ถือโดยตรง แต่ผ่านกองทุน Vision Fund ซึ่งบริหารจัดการโดย Masayoshi Son นั่นเอง

ที่ว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดนั้น เป็นเพราะเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา Musk เพิ่งโพสต์เรื่องทั้งหมดในบล็อกของ Tesla อธิบายถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยสรุปใจความคร่าวๆได้ดังนี้ คือ

การพูดคุยกับ PIF นั้น มีขึ้นมานานเกือบสองปีแล้ว นับตั้งแต่การเจรจาหนแรกในช่วงต้นปี 2017 เพราะ PIF มองว่าไฟฟ้าคือพลังงานแห่งอนาคต และหนล่าสุด ก็เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง

และน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไม เขาถึงทวีต เมื่อ 7 ส.ค. ว่า มีเงินทุนพร้อมสำหรับการนำบริษัทออกจากตลาดแล้ว

ขณะเดียวกัน Musk ก็ยอมรับว่ายังมีแผนหารือเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพราะมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องหาข้อสรุปกัน

โดยเฉพาะประเด็นหลักที่ซ้ำรอยกรณี Softbank นั่นเอง คือ สิ่งที่ Musk ต้องการ น่าจะเป็นแค่การนำบริษัทออกจากตลาดหุ้น เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นบริษัทมหาชน

แต่เขายังไม่ต้องการเสียกลุ่มผ้ถือหุ้นหลักกลุ่มเดิมๆ รวมถึงอำนาจในการบริหารไป ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของ PIF ซะทีเดียว เมื่อเทียบกับ Uber อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่มีหุ้นอยู่ 5% โดย Yasir Al Rumayyan กรรมการผู้จัดการของ PIF ก็ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารด้วย

 

AHEAD TAKEAWAY

ทั้งการทวีตเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และการโพสต์ลงในบล็อก เมื่อวันจันทร์ เป็นการตอกย้ำเจตนาของ Musk ว่าการนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นนั้น เป็นสิ่งที่เจ้าตัวคิดไว้แบบจริงจัง และพยายามดำเนินการมาตลอดในช่วงสองปีหลังสุด ไม่ว่านักลงทุนหรือบางส่วนในบอร์ดของบริษัทจะคล้อยตามหรือไม่ก็ตาม

ขณะที่ทาง PIF และซาอุดีอาระเบีย ก็คงเล็งเห็นเช่นกัน ว่าเทคโนโลยี EV น่าจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญสำหรับแผน Vision 2030 ของประเทศ ในการเปลี่ยนตัวเองจากอุตสาหกรรมน้ำมันไปสู่ด้านอื่นๆแทน ทั้งโดยตรง และทางอ้อมผ่าน Vision Fund ของ Masayoshi Son

ที่เหลือคงขึ้นกับ Musk แล้ว ว่าจะหาข้อสรุปในการเจรจากับนักลงทุนได้หรือไม่ ในการรักษาอำนาจในการบริหารบริษัทไว้ต่อไป

ไม่ใช่เพียงแค่ให้ Tesla เดินหน้าต่อในเชิงธุรกิจได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้าง ecosystem พลังงานสะอาดที่เจ้าตัววาดภาพไว้ตั้งแต่แรกให้กลายเป็นจริงด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Elon Musk confirms his bid to take company private, backed by Saudi Arabia’s sovereign wealth fund

Saudi Arabia Buying Out : How Much Can We Trust Elon Musk?

Elon Musk Talked With SoftBank in 2017 

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Trump

Trump เตรียมลงนามกฎหมายแบนห้ามหน่วยงานรัฐใช้ Huawei และ ZTE

Next Article

4 เคล็ดลับโตในองค์กร ตามสไตล์ Steve Ballmer อดีตซีอีโอ Microsoft

Related Posts