ถึงจะโดนวิจารณ์ไม่น้อยว่าเป็นจุดเริ่มต้น “ขาลง” ของ Microsoft ตั้งแต่ยุค 2000 เป็นต้นมา จนปัจจุบัน ถูกบริษัทรุ่นหลังอย่าง Google, Facebook หรือแม้แต่ Apple คู่ปรับจากยุค 80 แซงหน้าไปได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าสิ่งที่ Steve Ballmer ในฐานะ CEO คนที่สองของ Microsoft ก็มีผลงานในสไตล์ของตัวเองเช่นกัน
อาทิ การนำบริษัทมีรายได้เติบโตจากเดิมเกือบสี่เท่า (จาก 20,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 75,000 ล้านดอลลาร์)
ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าว Microsoft ต้องเจอปัญหารุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะการสู้คดีผูกขาดทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงของโลกเมื่อเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ตเต็มตัว
แม้ปัจจุบัน Ballmer จะลาออกจากตำแหน่ง มาเติมความฝันส่วนตัวด้วยการเป็นเจ้าของทีมบาสเกตบอล L.A. Clippers แล้ว
แต่ทุกครั้งเมื่อมีการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลก เจ้าตัวก็ยังมีชื่อติดในอันดับที่ 21 ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 38,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.29 ล้านล้านบาท (ข้อมูลนับจนถึงเดือนม.ค. 2018)
ไปดูกันว่าอะไรทำให้เขาตัดสินใจทิ้งงานผู้ช่วยผู้จัดการในบริษัทใหญ่อย่าง P&G มาเริ่มงานเป็นคนทำอาหารและล้างถ้วยแก้วจานชามให้ Bill Gates?
และไต่ขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กรได้อย่างไร ?
ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ
Ballmer นั้น เป็นเด็กเรียนดี และเด่นในด้านคณิตศาสตร์ ด้วยการทำคะแนนในส่วนนี้ ได้เต็ม 800 ในการสอบ SAT (ข้อสอบมาตรฐานสำหรับการรับบุคคลเข้าสถาบันอุดมศึกษาในระบบของสหรัฐอเมริกา)
หลังจบปริญญาตรีจากฮาวาร์ด ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง (magna cum laude) เขาเริ่มงานในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ Proctor and Gamble (P&G)
ก่อนมาต่อ MBA ที่สแตนฟอร์ด และลาออกกลางคัน เพื่อเริ่มงานที่ Microsoft ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ เมื่อ 11 มิถุนายน 1980 นับเป็นพนักงานลำดับที่ 30 ของบริษัทพอดี
แน่นอนว่าตอนนั้น Microsoft ยังเป็นแค่บริษัทที่เพิ่งเริ่มโตเท่านั้น และคนส่วนใหญ่ในโลกก็ยังไม่เห็นความจำเป็นของสิ่งที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ ขณะที่งานกับ P&G ในสมัยนั้น ก็ยังดูน่าจะไปได้สวยกว่า
“พ่อผมถามว่าซอฟต์แวร์คืออะไร? ส่วนแม่ก็ถามว่าทำไมคนเราต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วย? แต่พวกท่านก็ตอบตกลง แต่มีเงื่อนไขว่าถ้ามันไม่เวิร์ค ผมต้องกลับไปเรียน MBA ต่อให้จบ ผมตอบตกลง แล้วก็ไม่กลับไปเรียนอีกเลย”
อย่าหวั่นถ้าต้องเริ่มจากศูนย์
จากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการที่ P&G แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ แต่งานจริงๆของ Ballmer คือการเป็นผู้ช่วยของ Gates ในการทำงานสารพัดสิ่ง รวมถึงการทำอาหาร และล้างขวด ถ้วยแก้วต่างๆด้วย
“ผมเข้าไปวางระบบบัญชีให้บริษัทใหม่ ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น และก็พ่วงตำแหน่ง HR คอยพิจารณาจ้างพนักงานใหม่ๆด้วย”
แม้งานจะหนัก แต่ Ballmer ก็ได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อเช่นกัน “เขาจ้างผมปีละ 50,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) “ถือว่าเยอะแล้วนะในยุคนั้น สำหรับคนอายุ 24” นอกจากนี้เขายังได้ส่วนแบ่งหุ้นราวๆ 5-10% และเงินปันผลอีก 10% จากผลกำไรที่ทำได้
ทำตัวให้คนรอบข้างขาดไม่ได้
นับตั้งแต่ดร็อปเรียนจากฮาวาร์ด เพื่อมาก่อตั้ง Microsoft ในปี 1975 Gates แทบจะเหมาทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่เขียนโค้ดไปจนถึงสัมภาษณ์พนักงานใหม่ เพราะมีนิสัยส่วนตัวที่ไม่เหมาะนักกับการเป็นผู้บริหาร นั่นคือการไม่วางใจให้คนอื่นทำแทน
แต่การได้ Ballmer ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมาช่วยงาน มีส่วนช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดนี้
Ballmer ค่อยๆสอนให้ Gates รู้จักจ้างคนเก่งๆมาช่วยงาน และสร้างองค์กรและทีมที่สามารถเดินไปข้างหน้าได้
นอกจากเรื่องนี้ Ballmer ยังพิสูจน์ให้เห็นว่าเขามีทักษะสำคัญอีกอย่าง คือการเจรจากับคู่ค้า ระหว่างดีลสำคัญที่ Microsoft ตกลงขายไลเซนส์ระบบปฏิบัติการให้กับ IBM
“ตอนที่ IBM ติดต่อเข้ามาครั้งแรกเรื่องพีซี ผมเป็นคนเดียวที่อยู่แถวๆนั้น และรู้วิธีผูกไท Bill หันมาบอกว่า นายมีสูทกับไทอยู่นี่ ไปคุยกับลูกค้าด้วยกันหน่อย”
การเป็นคนที่ Gates วางใจ ทำให้ Ballmer มีบทบาทสำคัญในการเจรจาครั้งนั้น รวมถึงดีลอื่นๆจนค่อยๆเติบโตขึ้นเรื่อยในสายงาน
กระทั่งในปี 1998 หรือ 18 ปีหลังจากอยู่ในองค์กร Gates ก็มอบตำแหน่งประธานบริษัทให้เขา “ซึ่งมันก็คือเบอร์สองของบริษัทแล้ว ผมว่ามันไม่เลวเลยนะ”
และอีกสองปีถัดมา Gates ก็ส่งต่อตำแหน่งซีอีโอให้ Ballmer รับช่วง ซึ่งเป็นเวลาที่บริษัทต้องเจอความผันผวนอย่างฟองสบู่ดอทคอม การถูกหน่วยงานรัฐยื่นฟ้องกรณีผูกขาดทางการค้า ฯลฯ
แต่ Ballmer ก็ยังมีส่วนผลักดันโครงการสำคัญๆมากมาย อาทิ Xbox การซื้อ Skype และสร้างให้บริษัทเติบโตจนมีรายได้เพิ่มขึ้น
มองการณ์ไกล
Ballmer อยู่ในตำแหน่ง CEO ของบริษัท ระหว่างปี 2000-2014 ก่อนประกาศรีไทร์ตัวเอง เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่อย่าง Satya Nadella เข้ามาแทน
แต่ก็ยังเก็บหุ้น 4% ที่ได้รับจากการเข้าทำงานในช่วงแรกเอาไว้ และทำให้เจ้าตัวกลายเป็นผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของบริษัทคนปัจจุบัน (ข้อมูลในปี 2014 ระบุว่าเขามีหุ้นบริษัทอยู่ 333 ล้านหุ้น มากกว่า Bill Gates ซึ่งมักทยอยขายออก เพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมของ Bill & Melinda Gates อยู่ 3 ล้านหุ้น) รวมถึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลกด้วย
อันที่จริง Ballmer นั้น เคยถือหุ้นบริษัทไอทีชั้นนำไว้ในมือมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือหุ้น 4% ของโซเชียลมีเดียชั้นนำอย่าง Twitter (ซึ่งเขายอมรับในภายหลังว่าขายไปแล้ว เพราะไม่สนใจเรื่องการลงทุนมากนัก)
แต่การที่เขายังเก็บหุ้น Microsoft ไว้ เพราะเชื่อว่าบริษัทยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ในธุรกิจคลาวด์ที่ปัจจุบันเป็นรายได้หลักของบริษัทไปแล้ว
AHEAD TAKEAWAY
แม้หลายคนจะโบ้ยความผิดที่บริษัทสูญเสียความเป็นเบอร์หนึ่งให้เขา แต่ความสำเร็จของ Ballmer ในฐานะพนักงานองค์กรที่เติบโตขึ้นมาจนเป็นซีอีโอของหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ก็ยังเป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่ดี
ไล่ตั้งแต่ “ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ” ที่เขากล้าหันหลังให้งานมั่นคงที่ P&G หรือการเรียน MBA ศาสตร์ซึ่งกำลังบูมในยุค 80-90 นั่นหมายถึงหากคุณคิดว่าสิ่งที่คุณเลือกนั้น “ถูกต้อง” ก็ไม่จำเป็นต้องลังเล คว้าโอกาสนั้นไว้ และเดินหน้าต่อไปให้สุดทาง
ขณะที่ “อย่าหวั่นเมื่อต้องเริ่มจากศูนย์” ก็เป็นคุณสมบัติต่อเนื่องจากข้อแรก เพราะแม้ในช่วงแรกอาจจะต้องลำบากไปบ้าง แต่การต้องทำงานหลากหลาย หรือเริ่มต้นจากศูนย์ ก็เท่ากับเป็นการขัดเกลาตัวเองไปในตัว
จนเมื่อมีความสามารถที่หลากหลาย พร้อมทำงานหนัก และรักษาระดับมาตรฐานไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ Ballmer เป็นคนที่ Gates วางใจเสมอ และกลายเป็น “คนสำคัญที่บริษัทขาดไม่ได้” ในที่สุด โดยเฉพาะในช่วงยุคก่อตั้ง
ปิดท้ายด้วย “การมองการณ์ไกล” เพราะแม้จะไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่ตัดสินใจหันหลังให้การเรียน MBA เพื่อทำงานที่ Microsoft เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว กระทั่งยังเก็บหุ้นบริษัทไว้ในปัจจุบัน คือเครื่องยืนยันว่า Ballmer เชื่อในศักยภาพของบริษัทแห่งนี้ ถึงเลือกเก็บหุ้นที่ได้รับจาก Gates ไว้โดยไม่ขาย
และเป็นเหตุผลให้เจ้าตัวกลายเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลกนั่นเอง
เรียบเรียงจาก
How Steve Ballmer went from making $50,000 a year as an assistant at Microsoft to becoming a billionaire
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน