บริษัทล้านล้านดอลลาร์

Amazon หรือใคร จะเป็น บริษัทล้านล้านดอลลาร์ รายต่อไป?

หลังจากปล่อยให้ Apple เร่งเครื่องเข้าป้ายไปแล้ว สำหรับสถานะ บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (33 ล้านล้านดอลลาร์)

แต่ในยุคที่ธุรกิจนี้กำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด Apple จะไม่ใช่บริษัทเดียวที่ไปถึงจุดนั้นได้แน่นอน

มาดูกันว่าในบรรดาผู้ตามทั้งสี่ราย ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Alphabet, Microsoft และ Facebook

ใครกันที่จะเป็น บริษัทล้านล้านดอลลาร์ รายต่อไป?

 

Amazon : ลอยตัวด้วยธุรกิจคลาวด์

มูลค่าปัจจุบัน (นับจนถึง 26 ส.ค.) : 9.25 แสนล้านดอลลาร์

วิสัยทัศน์ของ Jeff Bezos ที่มองเห็นพลังของอินเตอร์เน็ตเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ส่งผลให้เจ้าตัวเป็นชายที่รวยที่สุดในโลกคนปัจจุบัน ขณะที่ Amazon ก็ใกล้เคียงกับการเป็น บริษัทล้านล้านดอลลาร์ รายต่อไปมากที่สุด

ที่น่าสนใจกว่าอีคอมเมิร์ซ คือธุรกิจคลาวด์ของ Amazon Web Services (AWS) ที่มีมาร์จินสูงกว่าธุรกิจหลักของบริษัทด้วยซ้ำ

เห็นได้จากตัวเลขส่วนต่างกำไรถึง 24.8% ของแผนก AWS ในปีล่าสุด เทียบกับธุรกิจค้าปลีกในอเมริกาเหนือที่ 2.7% และทั่วโลกที่ -5.6%

ความสำเร็จของ AWS ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Amazon ในรอบสองปีที่ผ่านมา ดีดตัวสูงขึ้นถึง 122% เลยทีเดียว และจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก หากธุรกิจบริการคลาวด์ยังเติบโตต่อเนื่องภายในสองปีนับจากนี้ ตามที่ Gartner คาดการณ์

ขณะที่ Rob Sanderson จาก MKM Partners เชื่อว่าภายใน 6 ปีนับจากนี้ เฉพาะ AWS เพียงแผนกเดียวอาจมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ ซึ่งมากกว่ามูลค่าทั้งหมดในปัจจุบันของตัวบริษัทแม่ด้วยซ้ำ

 

Alphabet : เจ้าพ่อโฆษณาออนไลน์

มูลค่าปัจจุบัน (นับจนถึง 26 ส.ค.) : 8.44 แสนล้านดอลลาร์

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนก.ค. Alphabet บริษัทแม่ของ Google มีลุ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรกที่มีมูลค่าแตะหลักล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน

หลังราคาหุ้นของบริษัทขยับขึ้น จนมีมูลค่ารวมอยู่ราว 8 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 26.7 ล้านล้านบาท)

จุดแข็งของ Alphabet คือความสามารถในการทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจโฆษณาออนไลน์ แม้ระยะหลัง จำนวนรายได้ต่อการคลิก 1 ครั้งจะมีอัตราลดลงก็ตาม

เหตุผลหนึ่งคือกว่า 90% ของมูลค่าการโฆษณาทางออนไลน์ 88,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2017 นั้น ถูกผูกขาดโดย Google และ Facebook นั่นเอง

นอกจากธุรกิจโฆษณาออนไลน์แล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่เสริมให้ Alphabet มีโอกาสไปถึงหลักล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน คือการเน้นย้ำตลอดว่าตนไม่ใช่แค่บริษัทโฆษณา

แต่ยังให้บริการอื่นๆด้วยชุดฮาร์ดแวร์และแพลตฟอร์มอื่นๆ ภายใน ecosystem ด้วย และหนึ่งในนั้น ก็คือการให้บริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์

รายงานในไตรมาสที่สองของปี 2018 ระบุว่า รายได้เฉพาะในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4,430 ล้านดอลลาร์ (148,316 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 37 % เลยทีเดียว

โดยกลุ่มเป้าหมายของ Alphabet นั้น ยังเติบโตได้อีก เพราะเน้นเจาะกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ต่างจาก Amazon Web Services ที่เน้นตลาดองค์กร

นั่นเอง

 

Microsoft : คืนชีพด้วยคลาวด์เซอร์วิส

มูลค่าปัจจุบัน (นับจนถึง 26 ส.ค.) : 8.2 แสนล้านดอลลาร์

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 1999 Microsoft คือมหาอำนาจของวงการ ด้วยการสร้างสถิติใหม่ของมูลค่าตลาด (market cap) ในเวลานั้น ที่ 6.18 แสนล้านดอลลาร์

ก่อนจะหยุดนิ่งอยู่นานนับทศวรรษ ในยุคของซีอีโอ Steve Ballmer

จนเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของ Satya Nadella สถานการณ์ของอดีตยักษ์ใหญ่ก็ค่อยๆฟื้นขึ้นตามลำดับ

และเพิ่งขยับทะลุหลัก 8 แสนล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรก เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยการหันมาเน้นธุรกิจคลาวด์เซอร์วิสมากขึ้น และกลายเป็นคู่แข่งขันโดยตรงของ AWS

ความน่าสนใจของ Microsoft Azure คือในบรรดาท็อปไฟฟ์ของบริษัทที่ทำธุรกิจคลาวด์ (อีก 4 แห่งคือ AWS, Alibaba, Google และ IBM) อดีตยักษ์ด้านซอฟต์แวร์ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในช่วงปี 2016-2017 คือ 98.2% จนขึ้นมาอยู่ในอันดับสอง ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 13.3% หรือราว 3,130 ล้านดอลลาร์

ถึงจะแม้จะตามหลังเจ้าตลาด อย่าง AWS ที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 51.8% คิดเป็นมูลค่า 12,221 ล้านดอลลาร์ แต่ Microsoft Azure ก็ยังเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มท็อปไฟฟ์พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Alibaba (4.6%) Google (3.3%) และ IBM (1.9%)

มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน คือเหตุผลที่ทำให้ Azure เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากค้าปลีกยักษ์ใหญ่อื่นๆในสหรัฐ อาทิ Walmart, Target, Costco และ Walgreens

ไม่ใช่เพราะเรื่องคุณภาพอย่างเดียว แต่เพราะค้าปลีกเหล่านี้ที่ต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคคลาวด์เซอร์วิส ไม่ต้องการใช้บริการของ AWS เพื่อส่งเสริม Amazon ที่เป็นคู่แข่งโดยตรง

และที่ผ่านมา Amazon ก็ใช้ข้อได้เปรียบเรื่อง high margin ของ AWS มาชดเชยกำไรที่หดหายไปของตัวอีคอมเมิร์ซ โดยที่บริษัทยังรักษาระดับบริการที่ดีไว้ได้นั่นเอง

 

Facebook : พลิกผันในวันเดียว

มูลค่าปัจจุบัน (นับจนถึง 26 ส.ค.) : 5 แสนล้านดอลลาร์

ย้อนกลับไปไม่ถึงสองเดือนเศษ Facebook ยังได้รับการคาดหมายว่าเป็นหนึ่งในแคนดิเดทที่มีโอกาสเป็นบริษัทล้านล้านดอลลาร์ได้ในอนาคต แม้จะไม่ใช่บริษัทแรกก็ตาม

แต่ความพลิกผันเมื่อเร็วๆนี้ ก็น่าจะทำให้โซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่ง คงต้องรอไปอีกพักใหญ่เลยทีเดียว กว่าจะเรียกสถานะนั้นกลับมาได้

เพราะหลังประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พร้อมข้อมูลว่าจำนวนผู้ใช้งานลดลง รวมถึงแนวโน้มที่รายได้ของบริษัทจะลดลงในอีกสองไตรมาสถัดไป

ราคาหุ้นของบริษัทก็ดิ่งเหวอย่างหนักเกือบ 20% “ภายในวันเดียว”

ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัท จากเกือบ 6.3 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงถึง 1.19 แสนล้านดอลลาร์ เหลือ 5.1 แสนล้านดอลลาร์

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ เสียหายถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ภายในวันเดียว (ก่อนนี้ Intel เคยเป็นเจ้าของสถิติ 9 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อ 22 ก.ย. 2000 และ Microsoft มูลค่าลด 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 1999)

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ Facebook จะฟื้นกลับมาเป็นแคนดิเดทได้ ก็ยังมีอยู่ เพราะที่ผ่านมา บริษัทก็เริ่มขยายรูปแบบธุรกิจไปสู่ด้านอื่นมาโดยตลอด นอกเหนือไปจากการพึ่งพารายได้หลักจากการโฆษณาออนไลน์ที่ครองตลาดร่วมกับ Google อยู่ในเวลานี้

 

AHEAD TAKEAWAY

นอกจาก การแข่งขันเพื่อเป็น บริษัทล้านล้านดอลลาร์ รายต่อไปแล้ว เรายังได้เห็นว่าแนวโน้มของธุรกิจในอนาคต ว่า คลาวด์เซอร์วิส จะยังเติบโตต่อเนื่องต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า (3 ใน 4 ของกลุ่มบริษัท ว่าที่ล้านล้านดอลลาร์ รายต่อไป ก็อยู่ในธุรกิจนี้)

เหตุผลหลักที่นับจากนี้ คลาวด์จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆก็คือ

  • ธุรกิจในอนาคต โน้มเอียงสู่การเป็นแพลตฟอร์มให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนที่ Travis Kalanick อดีตซีอีโอของ Uber กล่าวไว้ว่าผู้คนจะใช้เงินเพื่อซื้อสินค้ามาครอบครอง (รถยนต์) น้อยลง แต่จะหันไปใช้บริการมากขึ้น (ride-sharing)

ขณะที่เทรนด์ในอุตสาหกรรมอื่นๆก็ไม่แตกต่างกัน เหมือนที่ทุกวันนี้เราไม่ซื้อ DVD หรือแม้แต่โหลดเพลงลงเครื่อง เพราะเราสามารถดูหนังและฟังเพลงได้แบบเรียลไทม์ผ่าน access อย่าง Netflix และ Spotify ซึ่งต้องพึ่งพาประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม และโครงสร้างต่างๆที่มีความพร้อม

แม้แต่ในวงการวิดีโอเกม ก็มีการคาดหมายว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถเล่นเกมที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ได้ผ่าน access ซึ่งเป็นโมเดลแบบ Netflix โดยไม่ต้องดาวน์โหลดลงเครื่อง

  • ความจุที่เพิ่มขึ้น ราคาที่ลดลง

การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบคลาวด์เซอร์วิส ไม่เพียงแต่จะทำให้องค์กรต่างๆเริ่มย้ายไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองไปสู่คลาวด์ เพื่อลดภาระการจัดเก็บ

ความเสถียรและราคาที่ถูกลงยังทำให้คนจำนวนมาก เริ่มหันมาจ่ายค่าบริการเพื่อซื้อพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวต่อเนื่อง

  • วิวัฒนาการของ IoT

คลาวด์คือองค์ประกอบสำคัญของ IoT ในแง่ของการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งในและนอกบ้าน

และเราจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นของการเชื่อมโยงเหล่านี้ในอุปกรณ์ใหม่ๆที่จะถูกป้อนสู่ท้องตลาดในอนาคตอันใกล้ อาทิ หูฟังแปลภาษา Pixel Buds ของ Google, สมาร์ทกลาส หรือ รถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ

นั่นหมายถึงยิ่งอุตสาหกรรมนี้เติบโตเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีบริษัทล้านล้านดอลลาร์รายต่อไป รวมถึงบริษัทอื่นๆที่จะเติบโตขึ้นมา ก็มีมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง

เรียบเรียงจาก

Apple Is Old News: Here’s the Next $1 Trillion Company

THE FUTURE OF CLOUD COMPUTING: 4 PREDICTIONS FOR 2018

Amazon could be worth $2.5 trillion by 2024, analyst says

Google-Facebook Dominance Hurts Ad Tech Firms, Speeding Consolidation

Microsoft Is Taking On Amazon’s Profit Center

Facebook’s $100 billion-plus rout is the biggest loss in stock market history

 

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Airbnb

Airbnb ฟ้องเทศบาลนิวยอร์ก หวังแก้กฏเผยชื่อเจ้าบ้าน

Next Article
Toyota

Toyota ทุ่ม 500 ล้านดอลลาร์ลงทุน Uber หวังเปิดบริการรถไร้คนขับปี 2021

Related Posts