ทิม คุก

5 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้ ของ ทิม คุก ซีอีโอล้านล้านดอลลาร์ แห่ง Apple

แม้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอคนก่อนเสมอ แต่ ทิม คุก ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถ “ในแบบของตัวเอง” ให้เห็นจนได้ ด้วยการนำ Apple เป็นบริษัทเทคโนโลยีแรกในโลก ที่มีมูลค่าถึงหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ (33 ล้านล้านบาท)

เพื่อให้คุณรู้จักเขาดีมากขึ้น ในฐานะหนึ่งในผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งในโลก

เราจะไปทำความรู้จักซีอีโอล้านล้านดอลลาร์ คนนี้เพิ่มเติม ในแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

 

รวยแบบพอเพียง

คุก ลูกชายของคนงานต่อเรือและพนักงานร้านขายยา ได้รับการประเมินในปี 2017 ว่ามีทรัพย์สิน “อย่างน้อย” 625 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 2 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเป็นการคำนวณจากมูลค่าหุ้นในมือ และ Stock Options (สิทธิ์การเลือกซื้อหุ้นในราคาตามสิทธิ) ของ Apple ราว 622 ล้านดอลลาร์

และอีก 3.4 ล้านดอลลาร์ ในฐานะบอร์ดบริหารของ Nike ผู้ผลิตเครื่องกีฬาระดับโลกอีกหนึ่งตำแหน่ง

แต่มูลค่าทรัพย์สินจริงๆของเจ้าตัว น่าจะสูงกว่านั้น แต่ Cook ไม่เคยเปิดเผยถึงเงินในบัญชี อสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองไว้ หรือแม้แต่พอร์ทลงทุน

มีเพียงการระบุว่าในปี 2017 เจ้าตัวได้รับค่าจ้างจาก Apple ปีละ 3 ล้านดอลลาร์

แม้จะรวยระดับนี้ แต่ว่ากันว่า คุก นั้นประหยัดสุดๆ เพราะเคยมีผู้สื่อข่าวพบเขาไปยืนเลือกซื้อชั้นในลดราคาที่ห้าง Nordstrom ไม่ต่างกับพนักงานเงินเดือนทั่วๆไป

คุก ให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงยังใช้จ่ายอย่างประหยัดว่า “ผมคอยเตือนตัวเองตลอดว่ามีพื้นเพแบบไหน การใช้ชีวิตให้ง่ายๆมันก็ช่วยได้ เพราะเงินไม่ใช่แรงกระตุ้นสำหรับผม”

สิ่งที่ คุก พูดไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะตั้งแต่รับตำแหน่งซีอีโอของ Apple เขาก็ย้ายมาอาศัยในบ้านขนาด 2,400 ตารางฟุต ราคา 1.9 ล้านดอลลาร์ ที่พาโลอัลโต

ซึ่งถ้าเทียบกับราคาบ้านมาตรฐานในย่านเบย์แอเรีย ที่ 3.3 ล้านดอลลาร์แล้ว ถือว่าถูกมากสำหรับคนมีฐานะระดับนี้

 

ประสบการณ์โชกโชนในสายเทคโนโลยี

คุก จบปริญญาด้านวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) ที่ผสมผสานทักษะ ทั้งด้าน technical, economic และ human sciences เข้าด้วยกัน เมื่อปี 1982

ก่อนจะเข้าทำงานกับ IBM ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการคอมพิวเตอร์ในเวลานั้น และอยู่กับบริษัทนานถึง 12 ปี โดยตำแหน่งสุดท้ายของเจ้าตัวที่นั่น ก็คือ ผู้อำนวยการด้านคลังสินค้าในแถบอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ คุก ยังเคยเป็นรองประธานฝ่าย corporate material ของ Compaq ด้วย

ส่วนงานสุดท้ายก่อนย้ายมาทำงานที่ Apple ก็คือ COO ของ Intellignet Electronics Inc ซึ่งอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในปี 1998 เขาเริ่มงานแรกที่ Apple ในฐานะรองประธานฝ่าย Worldwide Operations บทบาทหลักคือการควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายของบริษัท โดยเน้นหนักไปที่การปิดโรงงานและคลังสินค้าที่ไม่จำเป็น และทดแทนด้วยการว่าจ้างเอาท์ซอร์สแทน

คุก เคยกล่าวถึงสไตล์การทำงานของตัวเองว่าเน้นหนักไปที่ผู้คน กลยุทธ์ และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งหากทั้งสามเรื่องสัมฤทธิ์ผล งานก็จะประสบความสำเร็จ

 

เสียสละ มีน้ำใจ

ย้อนกลับไปในปี 1996 คุก เคยป่วยเป็นโรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis (โรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง)

อาการป่วยนี้ทำให้เขามีมุมมองต่อโลกที่ต่างไปจากเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาช่วยเหลือผู้อื่น และการบริจาคเพื่อการกุศล และการเมือง

เมื่อเร็วๆนี้ คุก เพิ่งบริจาคหุ้น Apple จำนวน 23,215 หุ้นให้แก่องค์กรการกุศล คิดเป็นมูลค่าเกือบๆ 5 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ เขายังเคยประกาศในปี 2015 ว่ามีแผนบริจาคหุ้นของ Apple ที่ถือไว้ทั้งหมดให้แก่องค์กรการกุศลด้วย

ไม่ใช่เพียงแค่เงินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีรายงานว่านับแต่ คุก รับตำแหน่ง CEO ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการบริจาคเงินแก่องค์กรการกุศลต่างๆของ Apple ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

คุก ยังเคยเสนอบริจาคตับบางส่วนให้แก่ สตีฟ จ๊อบส์ ในช่วงที่อดีตซีอีโอป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนด้วย เพราะทั้งคู่มีกรุ๊ปเลือดหายากแบบเดียวกัน

แต่ข้อเสนอของเขาถูก จ๊อบส์ ปฏิเสธเสียงแข็ง ว่าจะไม่มีทางรับไว้ เพราะรู้ว่าการบริจาคนั้นจะทำให้ร่างกายของ คุก อ่อนแอลงไปด้วย

 

แลนซ์ อาร์มสตรอง

แม้จะโดนริบแชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เพราะถูกจับได้ว่าใช้สารกระตุ้น แต่ แลนซ์ อาร์มสตรอง อดีตนักปั่นผู้อื้อฉาว ที่กลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง หลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง ก็ยังเป็นฮีโร่ในสายตาของ คุก อยู่ดี

เขามักดึงวาทะเด็ดๆที่ อาร์มสตรอง ให้สัมภาษณ์ และเขียนไว้ในหนังสือ มาใช้อยู่เสมอทั้งในระหว่างประชุมและปาฐกถา

รวมถึงการหันมาปั่นจักรยานแบบจริงจัง และยังมีเรื่องเล่ากันว่าทรงผมของ คุก ก็มีที่มาจาก อาร์มสตรอง เช่นกัน

 

การตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต

ว่ากันว่า ระหว่างทำงานที่ Compaq นั้น คุก ได้รับการทาบทามจากตัวแทนของ Apple ให้ย้ายมาทำงานที่บริษัท แต่เจ้าตัวก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับโทรศัพท์มาตลอด

แต่หลังได้คุยกับ สตีฟ จ๊อบส์ เพียงห้านาที เขาก็เปลี่ยนใจ ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับในระหว่างงานปาฐกถาครั้งหนึ่ง ว่าการตัดสินใจรับงานที่ Apple นั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นิสัยส่วนตัวของทั้งคู่ รวมถึงรสนิยมอื่นๆก็แตกต่างกันมาก สิ่งเดียวที่พอจะจูนทั้งคู่เข้าหากันได้ ก็คือเพลงร็อคจากยุค 60 เท่านั้น

ในช่วงที่ จ๊อบส์ เริ่มล้มป่วย ตั้งแต่ปี 2009 นั้น คุก ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ซีอีโอรักษาการ คอยดูแลบริษัทโดยตลอด ยกเว้นในการตัดสินใจสำคัญๆที่ยังเป็นหน้าที่ของ จ๊อบส์

กระทั่งเมื่อ จ๊อบส์ ตัดสินใจวางมือในปี 2011 คุก ก็เป็นตัวเลือกเดียวของบอร์ดสำหรับตำแหน่งนี้ โดยคำแนะนำจากอดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้งก็คือ “ไม่ต้องถามเขาว่าจะทำอย่างไร ให้ทำในสิ่งที่คิดว่าใช่เลย”

 

AHEAD TAKEAWAY

Apple เสียแชมป์บริษัทนวัตกรรมดีเด่น ร่วงจากอันดับ 1 ไป 17 ในปีเดียว

ทิม คุก นั้นมักจะถูกสาวก Apple โจมตีเสมอว่าขาดบุคลิกแบบที่ สตีฟ จ๊อบส์ มี

เพราะแม้แต่ในหนังสือ Inside Apple ที่เขียนโดย อดัม แลชชินสกี แห่ง Fortune ยังเคยระบุไว้ว่าในสายตาคนนอกนั้น คุก ไม่ใช่คนที่น่าจะถูกวางให้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก จ๊อบส์ ด้วยซ้ำ

แต่ในความเป็นจริง จ๊อบส์ นั้นต้องการได้ตัว คุก มาร่วมงานด้วยโดยตลอด เห็นได้จากการที่เจ้าตัวติดต่อไปคุยกับอีกฝ่ายด้วยตนเอง และโน้มน้าวให้ คุก เปลี่ยนใจย้ายมาอยู่ Apple จนได้ คุก

และหลังจากพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถบริหารบริษัทแทน จ๊อบส์ ได้ในช่วงที่รักษาการแทนนานถึงสองปี คุก ก็เป็นตัวเลือกเดียวของบริษัท เมื่อ จ๊อบส์ ตัดสินใจวางมือ

แม้หลายปีที่ผ่านมา Apple จะถูกวิจารณ์หนักเรื่องการขาดนวัตกรรม เพราะไม่ว่าจะ iPhone หรือ Macintosh ก็เริ่มถูกบริษัทคู่แข่งไล่ทันหรือแซงหน้าไป

แต่หากมองจากอีกมุม จะเห็นว่า Apple ในยุคของ คุก เลือกที่จะมองข้ามเรื่องฮาร์ดแวร์ไปมากกว่า

และหันมาเน้นในเรื่องบริการมากขึ้น กระทั่งพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทสามารถทำรายได้จากคอนเทนต์และบริการได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนกลายเป็นบริษัทแรกที่มีมูลค่าล้านล้านดอลลาร์สำเร็จ

 

Apple เปิดตัว 5 บริการใหม่ ชู Apple Card ปฏิวัติวงการบัตรเครดิต

 

และในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ดูเหมือนบริษัทจะซุ่มทำในสิ่งที่ต่างออกไป แทนที่จะแข่งขันในเรื่องยอดขายโทรศัพท์กับผู้ผลิตรายอื่นๆ

โดยเฉพาะ Project Titan รถ EV ไร้คนขับที่ระดมทีมงานระดับท็อป ทั้งจากบริษัทอื่นๆอย่าง Waymo, Tesla ร่วมด้วยเทคโนโลยีกระจก AR ที่พัฒนาโดย Apple และจดสิทธิบัตรแล้ว

จนนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจมีส่วนพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ เหมือนที่ iPhone เคยทำกับวงการสมาร์ทโฟนเมื่อสิบปีก่อนก็ได้

นั่นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา คุก ไม่ได้ใส่ใจกับเสียงวิจารณ์จากรอบข้างมากนัก

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะมาแทนที่ จ๊อบส์ ซึ่งทำงานของตัวเองได้ดีมากๆแล้วที่ Apple

สิ่งที่เขาพยายามทำ คือทำงานในแบบของตัวเองให้ดีที่สุด ด้วยวิธีของตัวเอง และพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าเขาก็ทำได้ดีเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับ จ๊อบส์ หรือใครทั้งสิ้น

เรียบเรียงจาก
Cook is worth $625 million and leads a $1 trillion company — but he reportedly buys discounted underwear and wants to give his money away after paying for his nephew’s tuition

30 Interesting Facts About Chief Executive Officer of Apple

COOK: 20 FUN FACTS

12 Things You Never Knew About Apple CEO

 

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Toyota

Toyota ทุ่ม 500 ล้านดอลลาร์ลงทุน Uber หวังเปิดบริการรถไร้คนขับปี 2021

Next Article
Jeff Bezos

ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกลัว สไตล์ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon

Related Posts
Read More

DAB killed the Radio Star: เกิดมาเพื่อฆ่าคลื่นวิทยุ

แม้ในความเป็นจริง มิวสิควิดีโอกับคลื่นวิทยุ จะอยู่ร่วมกันมาได้นานอีกเกือบสี่ทศวรรษ แต่ในศตวรรษที่ 21 อวสานของคลื่นวิทยุ FM ที่ The Buggles เคยทำนายไว้ กำลังใกล้จะเป็นความจริงแล้ว