Amazon.com สั่งสอบสวนเป็นการภายใน หลังพบว่ามีพนักงานกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมทุจริต ลักลอบขายข้อมูลการซื้อขายให้กับบริษัทผู้ค้า ลบรีวิวสินค้าที่มีข้อความเชิงลบ เข้าถึงอีเมลของผู้รีวิว และยกเลิกการแบนบัญชีที่ติดโทษ ระบุหากพบว่าผิดจริง จะมีโทษทั้งไล่ออก และดำเนินการทางกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน
วานนี้ The Wall Street Journal ตีข่าวว่า พนักงานบางรายของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ รับเงินสินบนจาก “นายหน้า” บุคคลภายนอกที่จะนำข้อมูลไปเสนอขายให้กับผู้ลงขายสินค้าในแพลตฟอร์มของ Amazon เพื่อเข้าถึงข้อมูลลับที่มีแต่คนในเท่านั้นที่รู้
รายงานระบุว่า การทุจริตเหล่านี้เกิดขึ้นในหลากหลายสาขาทั่วโลก โดยเฉพาะที่ประเทศจีน ซึ่งยอดขายของบริษัทเป็นไปด้วยดี แต่พนักงานกลับได้ค่าแรงระดับต่ำ จนบางคนยอมเสี่ยงที่จะทำผิดกฎบริษัท
นายหน้าจะใช้โซเชียลมีเดียยอดฮิตของจีนอย่าง WeChat ทำการติดต่อกับพนักงานในเมืองเซินเจิ้น โดยเสนอเงินในหลัก 80 ดอลลาร์ (ราว 2,600 บาท) จนถึง 2,000 ดอลลาร์ (ราว 65,000 บาท) เพื่อการทำการทุจริตประเภทต่างๆ เช่นค้นข้อมูลวงใน หรือลบทิ้งรีวิวสินค้าที่เป็นเชิงลบ ซึ่งในกรณีหลังมีราคาอยู่ที่ประมาณ 300 ดอลลาร์ (ราว 9,750 บาท)
การจ่ายสินบนยังประกอบด้วยกิจกรรมอื่น อาทิ เปิดเผยที่อยู่อีเมลของลูกค้าที่เขียนรีวิวเชิงลบ เพื่อให้บริษัทผู้ขายได้ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง, ยกเลิกบัญชีที่ติดแบนในแพลตฟอร์ม และขายข้อมูลการซื้อขายให้กับผู้ลงขายสินค้า เช่นคีย์เวิร์ดคำค้นหายอดนิยม, ยอดขาย, สถิติตัวเลขประเภทต่างๆ เพื่อความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน
ในกรณีเปิดเผยที่อยู่อีเมลของลูกค้าที่เขียนรีวิวเชิงลบนั้น ในบางครั้งพนักงานผู้ทุจริตก็ได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนเป็นการซื้อสินค้าลดราคากับทางบริษัทผู้ซื้อข้อมูล หรือกระทั่งทำให้ฟรีๆ ไม่คิดค่าใช้จ่าย
Wall Street Journal ระบุว่าการสอบสวนของบริษัทสำหรับเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อ Eric Broussard รองประธานซึ่งดูแลการทำตลาดทั่วโลก ได้รับทราบข้อมูลการทุจริตในเมืองจีน และทางบริษัทก็ได้ลงมือสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารในจีนไปบ้างแล้วเพื่อที่จะค้นหาต้นตอของปัญหา
แม้ว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นในประเทศจีนเด่นชัดกว่าที่อื่น แต่การสืบสวนสอบสวนคดีก็ถูกเดินเครื่องในหลายประเทศ รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
โฆษก Amazon เผยว่า “เรามีนโยบายที่เข้มงวด เช่นเดียวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจและจรรยาบรรณสำหรับพนักงานของเรา เราใช้ระบบที่มีความซับซ้อนเพื่อจำกัดและตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูล เราเชื่อว่าพนักงานของเรามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูง และทุกคนที่ละเมิดหลักปฏิบัติของเราต้องเผชิญกับการลงโทษทางวินัย รวมถึงการยุติสภาพพนักงาน และบทลงโทษทางกฎหมายและทางอาญา”
“นอกจากนี้ เรายังไม่มีความอดทนต่อการละเมิดระบบของเรา และหากเราพบกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เราจะดำเนินการอย่างรวดเร็วต่อพวกเขา ซึ่งรวมถึงการยกเลิกบัญชีการขาย, การลบบทวิจารณ์, การระงับการจ่ายเงิน และการดำเนินการทางกฎหมาย เรากำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้อย่างละเอียด”
AHEAD TAKEAWAY
แม้จะเป็นบริษัที่ประสบความสำเร็จระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ “หลังบ้าน” ของ Amazon ก็มีหลายกรณีที่ดูไม่ค่อยราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งสภาพแวดล้อมของโรงงานที่ถูกเพ่งเล็ง, อัตราค่าจ้างที่จ่ายให้กับพนักงาน จนกลายเป็นม็อบแรงงานในหลายประเทศเมื่อไม่กี่เดือนก่อน จนถึงกรณีล่าสุดนี้กับการทุจริตภายในของพนักงาน
ในช่วงไม่กี่ปีหลัง พวกเขาได้คัดเลือกผู้ค้าอิสระที่จะขายผลิตภัณฑ์ในแพลตฟอร์มของบริษัท จนกระทั่งปัจจุบันมีผู้ค้ามากกว่า 2 ล้านรายที่ร่วมกันจำหน่ายสินค้าประมาณ 550 ล้านรายการ
ยิ่งมีจำนวนผู้ขายมากขึ้นเท่าไร ผู้ขายก็ยิ่งต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้นขึ้นเท่านั้นเพื่อให้สินค้าของตนสามารถสังเกตเห็นได้ในหน้าแรกของผลการค้นหา ซึ่งมีแรงดึงดูดสูงกว่าสำหรับลูกค้าส่วนใหญ่
ระบบการจัดแรงกิ้งอัตโนมัติ มีการจัดอันดับสินค้าตามปัจจัยต่างๆ เช่นผลการรีวิวของลูกค้า, จำนวนครั้งที่ลูกค้าคลิกเข้าชมสินค้า และปริมาณการขาย ซึ่งผู้ขายบางรายพยายามใช้เทคนิคต่างๆ เช่นจ่ายเงินให้คนเข้าคลิกซ้ำๆ หรือสร้างความคิดเห็นปลอมๆ ในเชิงบวก
และหนึ่งในวิธีใหม่ที่ผู้ขายบางรายพยายามสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ก็คือการเข้าถึงพนักงานโดยตรงด้วยเงินสินบน
นี่คือสิ่งที่บริษัทของ Jeff Bezos ต้องจัดการให้รอบคอบ ทั้งการมองย้อนไปยังอัตราค่าจ้างที่จ่ายให้กับพนักงานว่าเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ และการตรวจสอบระบบการจัดแรงกิ้งในหน้าเว็บไซต์ว่ามีช่องโหว่อย่างไร ยุติธรรมต่อผู้ขายแล้วจริงๆ หรือเปล่า
Wall Street Journal อ้างคำพูดของผู้ขายรายหนึ่งที่ติดสินบนต่อพนักงาน ว่าตัวเขา “จำเป็น” ต้องทำแบบนี้ เพื่อที่จะให้สินค้าของตนสามารถขายออกได้ “ถ้าผมไม่ทำเรื่องเลวๆ แบบนี้ ผมตายแน่”
เรียบเรียงจาก
Amazon is investigating claims that employees deleted reviews and sold sales data to sellers
Amazon Investigates Employees Leaking Data for Bribes
ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคนั้นสำคัญขนาดไหน? เรื่องเบสิคที่สุดคือองค์กรและผู้ให้บริการต่างๆรู้ได้ทันทีว่าคุณมีพฤติกรรม และรสนิยมอย่างไร จนสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาเพื่อโน้มน้าวใจคุณได้แบบ personalized แบบในคลิปนี้นั่นเอง
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน