Amazon เดินหน้าขยาย ร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์ AmazonGo เพิ่มอีก 3,000 สาขา ทั่วสหรัฐอเมริกา ภายใน 3 ปีข้างหน้า แม้ต้นทุนด้านอุปกรณ์ของแต่ละสาขา จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ก็ตาม
AmazonGo สร้างขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้ามากที่สุด โดยผู้ซื้อจะใช้การสแกนแอพจากสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าร้าน และสามารถหยิบสินค้าต้องการจากชั้นวาง และเดินออกจากร้านได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวชำระเงิน เมื่อเซนเซอร์และเทคโนโลยีการมองเห็นของคอมพิวเตอร์จะตรวจจับสิ่งที่ผู้ซื้อหยิบขึ้นพร้อมกับเรียกเก็บเงินผ่านบัญชีโดยอัตโนมัติ
สำนักข่าว Bloomberg อ้างแหล่งข่าววงในว่า Amazon กำลังพิจารณาขยายสาขาของ AmazonGo ให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อยอดนิยม เพื่อแข่งขันกับ 7-Eleven ไปจนถึงร้านอาหารสะดวกซื้ออย่าง Subway, Panera Bread และร้านพิซซ่าเจ้าอื่นๆ หลังจากเพิ่งเปิดสาขาที่ 4 ในเมืองชิคาโกไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
รายงานดังกล่าวระบุว่า Jeff Bezos ต้องการเน้นความสะดวกในมื้ออาหารให้มากขึ้น สำหรับเมืองที่มีความพลุกพล่านวุ่นวาย โดยเริ่มทดลองแนวคิดนี้แล้ว ใน 2 จาก 4 สาขา ด้วยขายเฉพาะอาหารเบาๆ เช่นสลัด, แซนด์วิช, ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม
โดยวางแผนที่จะเปิดเพิ่มประมาณ 10 แห่งก่อนสิ้นปี, สร้างอีก 50 สาขาในใจกลางเมืองใหญ่ๆ ภายในปี 2019 กระทั่งครบ 3,000 แห่งภายในปี 2021
จากข้อมูลเมื่อปี 2016 สหรัฐฯ มีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ต่างๆ ทั่วประเทศ 155,000 สาขา โดยมีอยู่ 122,500 ร้านที่ผนวกรวมกับสถานีบริการน้ำมัน มียอดใช้จ่ายถึง 233,000 ล้านดอลลาร์ โดยบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ Amazon คือเรื่องต้นทุนที่ต้องใช้เงินถึง 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 32.5 ล้านบาท) ในการติดตั้งฮาร์ดแวร์สำหรับ 1 สาขา กระนั้นการเปิดสาขาหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับที่ทำในซีแอตเติล (3 สาขา) ก็จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้ด้วยการสร้างห้องครัวศูนย์กลางที่จะเป็นจุดกระจายสินค้า
นอกจากนี้ แม้การขยายสาขาอาจทำให้บริษัทกลับเข้าสู่วัฏจักรการลงทุน แต่ Bezos ก็ยินดีที่จะจ่าย เมื่อเขามองเห็นถึงโอกาสทำเงินกลับคืนในระยะยาว เหมือนที่เคยลงทุนไปกับบริการอย่าง Amazon Web Services ที่ไม่สร้างผลกำไรนานหลายปี แต่ปัจจุบัน ธุรกิจคลาวด์คือธุรกิจที่ทำรายได้ให้บริษัทมากเป็นอันดับ 1
ขณะเดียวกัน Margrethe Vestager คณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ เผยว่า EU เตรียมสอบสวน Amazon ว่าเข้าข่ายผูกขาดธุรกิจหรือไม่
เมื่อเดือน ก.ค. EU กำหนดบทลงโทษต่อ Google เป็นเงินค่าปรับ 5,000 ล้านดอลลาร์ ข้อหาผูกขาดธุรกิจจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และวานนี้ก็เพิ่งมีการยืนยันว่า Apple ยินยอมที่จะจ่ายค่าภาษีย้อนหลังให้กับประเทศไอร์แลนด์เป็นจำนวน 14,000 ล้านยูโร เคลียร์คดีที่ถูกขุดคุ้ยว่าทางการไอร์แลนด์มอบสิทธิพิเศษให้ Apple จ่ายภาษีเพียง 0.05% มานับตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งผิดกฎหมายของ EU
ล่าสุด Vestager เผยว่า EU กำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการสืบสวนบริษัทของ Jeff Bezos ว่าได้มีการใช้ข้อมูลจากผู้ขายบุคคลที่ 3 ในแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยให้ตัวเองได้เปรียบเหนือคู่แข่งหรือไม่
Vestager กล่าวว่า “คำถามคือเรื่องเกี่ยวกับข้อมูล เพราะถ้าคุณคือ Amazon แล้วมีการเก็บข้อมูลจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่คุณเป็นเจ้าภาพ นั่นก็อาจเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย เพราะคุณจะสามารถปรับปรุงบริการของคุณให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อยเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าคุณใช้ข้อมูลทั้งหมดไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง มันก็จะเป็นคำถามสำหรับหลายสิ่ง”
“เรายังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และยังไม่ได้เปิดคดีอย่างเป็นทางการ แต่เราพยายามที่จะทำให้แน่ใจว่าเราจะได้ภาพที่สมบูรณ์”
ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเจ้าดังยังเคยถูกประณามจากประธานาธิบดี Donald Trump ด้วยว่าเข้าข่ายผูกขาดธุรกิจ เช่นเดียวกับ Google และ Facebook
AHEAD TAKEAWAY
เวลานี้ Amazon ได้กลายเป็น “ร้านค้าปลีกออนไลน์” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว โดยนำเสนอสินค้ามากมายและการจัดส่งที่สะดวกรวดเร็ว
และเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทก็เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมอย่างเต็มตัว ด้วยการเทกโอเวอร์ Whole Foods Market ที่มีอยู่เกือบ 500 แห่งทั่วสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน และพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์
ในอีเวนท์ที่วอชิงตัน ดีซี สัปดาห์ก่อน Jeff Bezos กล่าวว่าบริษัทกำลัง “สนใจมาก” ในการสร้างหน้าร้าน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเท่านั้น “ถ้าเรานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ซ้ำๆ เดิมๆ มันก็จะไม่เวิร์ค”
Bezos เล็งเห็นว่า การสร้างหน้าร้านในเขตเมืองที่มีประชากรหนุ่มสาววัยทำงานอาศัยอยู่อย่างพลุกพล่านนั้น เป็นโอกาสของบริษัทในการหยิบยื่นความสะดวกสบายขั้นกว่า เมื่อผู้คนยินดีที่จะจ่ายเงินซื้ออาหารจานด่วนมากกว่าอาหารที่มีคุณภาพดีกว่า
ตัวอย่างที่ชัดคือ Pret a Manger ร้านอาหารสะดวกซื้อของอังกฤษ ที่มีสาขาทั่วโลกถึง 450 แห่ง โดยมุ่งเน้นการขายอาหารสดใหม่ และสามารถหิ้วออกไปรับประทาน (grab-and-go) ที่ใดก็ได้
Jeff Lenard รองประธานสมาคมร้านสะดวกซื้อแห่งชาติ (NACS) ชี้ว่า การเติบโตของ AmazonGo จะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับบรรดาร้านอาหารสะดวกซื้อประเภทนี้ (เช่น Pret a Manger, Subway, Panera Bread) ชัดเจนกว่าร้านขายของชำ เมื่อผู้คนจะมองเห็นประโยชน์ของการไม่ต้องต่อคิวชำระเงิน ซึ่งจะช่วยย่นเวลาจับจ่ายได้มากโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งร้านด้วย
“AmazonGo ไม่มีการเข้าคิวอยู่แล้ว” Lenard กล่าว “กุญแจสู่ความสำเร็จคือเรื่องของความสะดวกสบาย แต่ก็ยังรวมถึงสถานที่ตั้งร้าน หากว่ามันอยู่ห่างออกไป 400 เมตรจากที่ที่ผู้คนสัญจรไปมา เทคโนโลยีล้ำยุคอะไรก็จะไม่สำคัญทั้งนั้น เพราะมันไกลเกินไป”
เรียบเรียงจาก
Amazon Will Consider Opening Up to 3,000 Cashier less Stores by 2021
The EU is now going after Amazon after slapping Google and Apple with giant fines
นอกจากร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์แล้ว โลกเรายังมีนวัตกรรมใหม่ๆอีกมากมาย อย่างต่อเนื่อง ลองไปติดตามบางส่วนที่ใกล้ตัวคุณกว่าที่คิดในงาน Innovfest Unbound 2018
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน