Grab และ Uber

สิงคโปร์สั่งปรับ Grab และ Uber ละเมิดกฎหมายผูกขาด 309 ล้านบาท

คณะกรรมการการค้าและผู้บริโภคแห่งชาติสิงคโปร์ (CCCS) สั่งปรับทั้ง Grab และ Uber จากกรณีควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเมื่อเดือน มี.ค. เป็นเงิน 9.5 ล้านดอลลาร์ (13 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 309 ล้านบาท) ข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดธุรกิจ

ย้อนไปเมื่อ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา Uber ได้แถลงอย่างเป็นทางการถึงข้อตกลง ขายกิจการทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Grab ทั้งบริการ Ride-Hailing และบริการส่งอาหาร UberEats โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่า ซึ่งทาง Uber ได้สิทธิ์เข้าถือหุ้นจำนวน 27.5% ของ Grab ส่วนซีอีโอ Dara Khosrowshahi จะเข้ารับตำแหน่งบอร์ดบริหารด้วย

การควบรวมดังกล่าว ส่งผลให้ Grab ครองสัดส่วนตลาด Ride-Hailing ในสิงคโปร์มากกว่า 80% เหนือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ อาทิ Kardi, TADA, Ryde

แต่ล่าสุด CCCS มีคำสั่งตัดสินว่าดีลนี้ เข้าข่ายผิดกฎหมายด้านการแข่งขันธุรกิจการค้าของประเทศ ตามมาตรา 54 โดยเฉพาะการสร้างผลกระทบให้อัตราค่าโดยสาร Ride-Hailing ในเมือง เพิ่มขึ้น 10-15 เปอร์เซ็นต์หลังการซื้อขาย

CCCS สั่งปรับเงินทั้งสองฝ่ายรวมกัน 9.5 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งส่วนความรับผิดชอบให้ Grab ที่ 4.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 156 ล้านบาท) และ Uber ที่ 4.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 153 ล้านบาท)

Toh Han Li ประธานบริหาร CCCS กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การรวมกิจการของทั้งคู่ถือเป็นการลดระดับการแข่งขันของผู้ให้บริการ และถือเป็นเรื่องที่ห้ามกระทำ CCCS จึงต้องดำเนินการต่อการควบกิจการครั้งนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ Grab ไม่มีคู่แข่งสำคัญ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับทั้งคนขับและผู้โดยสารในสิงคโปร์”

“บริษัทต่างๆ สามารถสร้างนวัตกรรมในตลาดนี้ได้ผ่านวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากการควบรวมกิจการ”

นอกจากการปรับเงินก้อนโตแล้ว คำสั่งจาก CCCS ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกหลายจุด เช่น เปิดอิสระให้พนักงานผู้ขับสามารถรับงานกับผู้ให้บริการเจ้าอื่นได้, ให้ Uber ขายรถของตัวเองที่อยู่ในชื่อของบริษัท Lion City Rentals ให้กับบริษัทอื่นซึ่งยื่นข้อเสนอสมเหตุสมผลเข้ามา (หากว่า Grab จะเป็นผู้ซื้อ ต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการเสียก่อน) ไปจนถึงการรักษาระดับค่าโดยสารและค่าตอบแทนของผู้ขับให้คงเดิมเหมือนตอนก่อนควบรวมกิจการ

ด้าน Uber ไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษนี้ โดยระบุว่าการตัดสินใจของ CCCS นั้น ยึดติดกับ “นิยามของตลาดที่คับแคบ” และอธิบายถึงลักษณะอุตสาหกรรมอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งบริษัทก็อาจยื่นอุทธรณ์โทษครั้งนี้ต่อไป

ด้าน Grab ระบุว่า การควบรวมกิจการเกิดขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และย้ำชัดว่าไม่มีเจตนาหรือความประมาทที่จะละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะที่อัตราค่าโดยสารไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดหลังการถ่ายโอนกิจการ และพนักงานผู้ขับก็ได้สิทธิ์เต็มที่อยู่แล้วในการเลือกนายจ้าง

 

AHEAD TAKEAWAY

หลังการควบรวมกิจการแบบสายฟ้าแลบเมื่อเดือน มี.ค. ทางการสิงคโปร์ได้สั่งเบรกดีลนี้ไม่ให้ลุล่วงโดยสมบูรณ์ เพราะเล็งเห็นว่าเข้าข่ายผูกขาดธุรกิจ

แต่สุดท้าย CCCS ไม่สามารถสั่งยกเลิกการควบรวมของ 2 บริษัทยักษ์ได้ เนื่องจากการซื้อขายถ่ายโอนกิจการและทรัพย์สินได้เกิดขึ้นแล้ว จึงทำได้เพียงกำหนดโทษปรับเงินและรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

แม้โทษดังกล่าวจะถือเป็นตัวเลขเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้มหาศาลที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมของสองบริษัท แต่อย่างน้อย ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับกฎหมายการผูกขาด ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้บริโภคโดยตรง

ขณะที่ทางการมาเลเซีย โดย Malaysia Competition Commission แม้จะยังไม่มีบทลงโทษตามมา แต่ก็มีรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่ากำลังศึกษารายละเอียดในดีลนี้อยู่ ว่าเข้าข่ายหรือไม่

ด้านคณะกรรมการการค้าแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The Philippine Competition Commission – PCC) เห็นต่างออกไป โดยได้เปิดไฟเขียวอนุมัติการควบรวมกิจการครั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค.

แม้จะไม่มีบทลงโทษ PCC ก็ยังมีกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาดธุรกิจเข้ามารองรับเพิ่มเติม โดยสั่งให้บริษัทต้องคุมราคาค่าโดยสารเอาไว้ให้เหมือนในช่วงก่อนควบรวมกิจการ และชี้แจงรายละเอียดค่าโดยสารให้ชัดเจนต่อผู้ใช้บริการ

หากพบว่ามีการละเมิดข้อหนึ่งข้อใดจึงจะค่อยปรับเงินเป็นกรณีไป ในค่าปรับสูงสุดเคสละ 2 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ราว 37,600 ดอลลาร์) ส่วนถ้าละเมิดร้ายแรง PCC ก็มีสิทธิ์สั่งยกเลิกดีลในภายหลังได้

ขณะที่ในบ้านเรา ผู้บริโภคก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากดูแลตัวเอง

 

เรียบเรียงจาก
Singapore competition watchdog fines Grab, Uber $9.5 million over merger
Singapore competition watchdog fines Grab, Uber S$13 million in total over merger deal

ธุรกิจลักษณะ sharing economy เป็นรูปแบบที่กำลังเติบโตไปทั่วโลก แม้จะยังขัดต่อกฏหมายเดิมๆของหลายประเทศก็ตาม นอกจาก Grab และ Uber แล้ว อีกหนึ่งสตาร์ทอัพสายนี้ที่น่าสนใจก็คือ Airbnb

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Robert Iger

6 กลยุทธ์ เจรจาขั้นเทพแบบ โรเบิร์ต ไอเกอร์ ซีอีโอ Disney

Next Article
วอร์เรน บัฟเฟตต์

7 เรื่องที่นักลงทุนมือใหม่ ต้องปรับทัศนคติ โดย 'จารย์ปู่' วอร์เรน บัฟเฟตต์

Related Posts