สองผู้ก่อตั้ง Instagram ลาออก สื่อคาดไม่พอใจ Mark Zuckerberg

Kevin Systrom กับ Mike Krieger สองผู้ก่อตั้ง Instagram พร้อมใจกันลาออกแล้ว แหล่งข่าววงในคาดมาจากปัญหาความสัมพันธ์ที่แตกร้าวภายในองค์กร โดยเฉพาะการพยายามแทรกแซงจากซีอีโอบริษัทแม่อย่าง Mark Zuckerberg

Systrom กับ Krieger ร่วมกันก่อตั้ง IG ขึ้น ในปี 2010 ก่อนขายกิจการให้กับ Facebook เป็นมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ในสองปีถัดมา โดยยังรับหน้าที่เป็นผู้บริหารหลักของ IG ต่อ ทั้งร่วมกันสร้างสรรค์ปรับแต่งฟีเจอร์ต่างๆ และกำหนดทิศทางความเป็นไปของแอพมาตลอดหลายปี

แต่ล่าสุด Systrom ซึ่งมีตำแหน่งทางการคือประธานบริหาร (ซีอีโอ) กับ Krieger ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค (ซีทีโอ) ได้ยื่นหนังสือลาออกให้กับบริษัทแล้ว และจะสละเก้าอี้ไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

Systrom วัย 34 แถลงการณ์ยืนยันการตัดสินใจลาออก พร้อม Krieger วัย 32 ผ่านทางบล็อก instagram-press.com ว่าพร้อมแล้วสำหรับฉากใหม่ของชีวิต

“Mike กับผม มีความสุขมากกับช่วงเวลาตลอด 8 ปีที่ผ่านมากับ IG และ 6 ปีกับทีม Facebook เราเติบโตขึ้นจากทีมงาน 13 คนกลายเป็นกลุ่มคนนับพันคนที่มีสำนักงานทั่วโลกทั้งหมด เราได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้และเป็นที่รักของผู้คนมากกว่าหนึ่งพันล้านคน และตอนนี้เราพร้อมแล้วสำหรับบทต่อไปของเรา”

“เราวางแผนที่จะใช้เวลาว่างหลังจากนี้ สำรวจความอยากรู้และความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอีกครั้ง การสร้างสิ่งใหม่ๆ ต้องการให้เราย้อนกลับไปสร้างความเข้าใจว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เรา และมันตรงกับสิ่งที่โลกต้องการหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่เราวางแผนจะทำ”

“เรายังคงตื่นเต้นกับอนาคตของ IG และ Facebook ในช่วงหลายปีที่จะถึงนี้เมื่อเราเปลี่ยนจากการมีผู้ใช้แค่สองคนไปเป็นพันๆ ล้านราย เราหวังว่าจะได้เห็นนวัตกรรมและสิ่งพิเศษที่บริษัทจะทำต่อไป”

ด้าน Zuckerberg แถลงขอบคุณผู้บริหารทั้งสอง พร้อมระบุว่าตนหวังให้ทั้งคู่ “พบกับสิ่งที่ดีที่สุด และผมจะตั้งตารอดูว่าพวกเขาจะสร้างสรรค์สิ่งใดเป็นลำดับถัดไป”

แม้ Systrom จะไม่ได้ระบุถึงเหตุผลการลาออกครั้งนี้ แต่ทาง Recode อ้างแหล่งข่าววงในที่ชี้ว่าเป็นเพราะคนคู่นี้ไม่พอใจกับการแทรกแซงของ Zuckerberg ที่ต้องการควบคุมอำนาจบริหารของ IG อย่างเบ็ดเสร็จ

2 ผู้บริหารหนุ่มไม่เห็นด้วยกับ Zuckerberg ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางจุดของแอพเมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการคอมเมนต์และการแชร์โพสต์ระหว่างสองเครือข่ายโซเชียลมีเดีย

ยังมีการโยงการลาออกของคนคู่นี้ เข้ากับการลาออกของ Jan Koum ซีอีโอ WhatsApp อีกหนึ่งเครือข่ายในกิจการของ Zuckerberg เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ว่าก็เป็นในลักษณะคล้ายคลึงกัน

คือ Koum ไม่เห็นด้วยกับทีมผู้บริหาร Facebook ที่ต้องการกำหนดแนวทางธุรกิจของ WhatsApp เช่นเดียวกับประเด็นความปลอดภัยข้อมูล จึงตัดสินใจอำลาไปก่อนนี้

AHEAD TAKEAWAY

ท่ามกลางความผันผวนของ Facebook ในปีนี้ ทั้งเรื่อง Cambridge Analytica และยอดผู้ใช้ในหลายพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะลดลง ควรต้องถือว่า Instagram เป็นเพชรน้ำงามของพวกเขา สร้างฐานผู้ใช้เหนียวแน่น มีความนิ่งในตัวแอพ และสามารถสร้างรายได้เข้าบริษัทได้เป็นกอบเป็นกำ

ในแคมเปญ #DeleteFacebook ที่มีหลังคดีอื้อฉาว กระทบต่อจำนวนผู้ใช้จำนวนมากที่หายไป ก็ยังมี IG ที่เป็นเสมือนป้อมปราการ หลายผู้ใช้ที่ลบ Facebook ทิ้งไปแต่ยังคงใช้งาน IG ต่อตามปกติ

นับตั้งแต่เข้าเทคโอเวอร์ด้วยเงิน 1 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2012 ยอดผู้ใช้ IG ขยับจาก 30 ล้านคนมาเป็นหลัก 1 พันล้านคนในตอนนี้ จนนับได้ว่านี่คือการลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดครั้งหนึ่งของ Facebook

The New York Times ระบุว่าการลาออกของ Kevin Systrom กับ Mike Krieger พร้อมๆ กันครั้งนี้ สร้างความสั่นสะเทือนภายในอย่างมาก

นักวิเคราะห์ของ NYT ระบุว่าจนถึงตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า Mark Zuckerberg จะเลือกดันใครขึ้นมาแทน รวมถึงว่าผู้บริหารคนใหม่จะสามารถอุดช่องโหว่ที่ 2 ผู้ก่อตั้งทิ้งไว้ได้ดีขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อคนคู่นี้อยู่กับ IG มาตั้งแต่แรกเริ่มนับหนึ่ง และทำงานในฐานะผู้บริหารระดับสูง กำหนดบทบาทวางโครงสร้างต่างๆ มาตลอด 8 ปี

การลาออกยังเกิดขึ้นในช่วงที่ Facebook ต้องเจอศึกรอบด้านทั้งภายในภายนอก และการต้องรับมือกับการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา ที่ใกล้จะมาถึงในเพียงข้ามเดือน

นอกจากที่ Recode อ้างแหล่งข่าววงในถึงสาเหตุุการลาออก ว่าเป็นเพราะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัทแล้ว ยังมี Dave Lee ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีของ BBC อเมริกาเหนือ ที่ระบุว่าประเด็นนี้มีมูลความจริง โดยเฉพาะการพยายามยัดฟีเจอร์ใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างผลกำไร ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์การก่อตั้งแอพของ Systrom และ Krieger

“พวกเขาได้รับการปฏิบัติในฐานะบริษัทอิสระซึ่งเป็นของ Facebook ซึ่งนั่นเป็นเพราะวัฒนธรรมของ Instagram เอง Kevin Systrom กับ Mike Krieger เป็นผู้รับผิดชอบต่อวัฒนธรรมดังกล่าว และทำให้ได้รับความเคารพท่ามกลางกระแส Anti-Facebook พวกเขาไม่มีความยุ่งเหยิงหรือน่ารำคาญ ซึ่งเป็นจุดที่ Facebook ถูกมอง”

“แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอพ Instagram เริ่มขยับไปสู่จุดนั้นอย่างช้าๆ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัลกอริธึม การขายพื้นที่โฆษณา โฆษณาจำนวนมาก”

“หากว่าการถูกเหน็บแนมว่าพวกเขาลอกเลียนไอเดียจาก Snapchat ยังไม่มากพอ ความกดดันที่จะทำให้ Instagram กลายเป็นเหมือน Facebook นั่นเองที่นำมาซึ่งจุดแตกหัก”

 

เรียบเรียงจาก
Instagram’s co-founders, Kevin Systrom and Mike Krieger, are leaving amid frustrations with parent company Facebook
Instagram’s Co-Founders to Step Down From Company

 

คงต้องจับตากันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว Mark Zuckerberg จะนำ Instagram เดินหน้าไปทางไหน เหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยนำ Facebook ที่ยังเป็นโซเชียลน้องใหม่ก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ได้ หลังปัดข้อเสนอจากยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo!

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
วอร์เรน บัฟเฟตต์

7 เรื่องที่นักลงทุนมือใหม่ ต้องปรับทัศนคติ โดย 'จารย์ปู่' วอร์เรน บัฟเฟตต์

Next Article
ฟินเทค

5 วิธีปั้นแอพฟินเทคให้ปัง (ที่สตาร์ทอัพสายอื่นก็ควรรู้)

Related Posts