ฟินเทค คือหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มาแรงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่การเงินการธนาคารในโลกเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในรูปของ digital transformation
แต่ด้วยความที่เป็นกระแส ก็ใช่ว่าสตาร์ทอัพสายนี้ทุกรายจะประสบความสำเร็จเสมอไป
เราลองไปดูกันว่าสตาร์ทอัพสายฟินเทคดังๆที่ประสบความสำเร็จนั้น มีแนวทางอย่างไรในการสร้างแอพพลิเคชั่นให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
UX คือหัวใจ
Walter Cruttenden ผู้ร่วมก่อตั้ง Acorns
ในทัศนะของ Cruttenden นั้น ฟินเทคมักถูกมองข้ามหรือปฏิเสธจากผู้บริโภคซึ่งเป็นคนทั่วไป เพราะความยุ่งยากของมันนั่นเอง
“สำหรับผม เรื่องสำคัญสุดคือการพัฒนา UX ให้เป็นมิตรกับคนทั่วไปมากที่สุด แต่ฟินเทคหลายๆตัวมักมาพร้อมกับ UX ที่ห่วยสุดๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นแอพสำหรับลงทุน เทรด หรือแบงกิ้ง มันมีโอกาสหมดแหละ ถ้าคุณออกแบบตัวแอพให้มันเข้าใจง่ายสำหรับผู้ใช้จริงๆ”
“ตัวเลือกแรกๆที่ผมชอบ คือ Say.com เพราะไม่ใช่แค่ง่ายเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ แต่มันช่วยให้คนที่เป็นผู้ถือหุ้นได้แสดงความเห็นจริงๆด้วย โอกาสสำหรับนวัตกรรมมันมีเต็มไปหมดแหละ แต่คุณอย่าไปคาดหวังว่า มันจะสวยหรูเหมือนตอน Goldman ซื้อ Marcus ทุกครั้งไป องค์กรใหญ่ๆมีงบสำหรับพัฒนามากมาย พวกนั้นพร้อมจะกวาดทุกอย่างที่เห็น เพื่อจะได้ตามคู่แข่งได้ทัน
“แต่ผมก็ยังเชื่อว่าสตาร์ทอัพอย่างเรายังได้เปรียบอยู่นิดๆนะ เพราะโชคลาภมักเข้าข้างคนกล้าคิดกล้าทำเสมอ”
เข้าใจง่าย เป็นมิตรกับยูสเซอร์
Matt Cohen ซีอีโอ GRAND
ถึงจะมีแอพมากมายให้เลือกดาวน์โหลดใน App Store และ Play Store แต่เมื่อถึงเวลาใช้งานจริงแล้ว เรามักเลือกใช้งานแอพหลักๆอยู่เพียงไม่กี่แอพ
การใช้งานได้ง่ายคือเหตุผลหลักๆที่แอพบางตัวจะได้ไปต่อ ในความเห็นของ Cohen นั้น หากแอพตัวไหนใช้เวลาทำความเข้าใจเกิน 10 วินาที โอกาสที่จะถูกลบออกจากเครื่องก็มีสูง
“การจัดการเรื่องการเงินมันก็ยุ่งยากพอดูแล้ว การตัดเรื่องน่ากวนใจออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้ใช้งานง่ายที่สุด จะทำให้แอพของคุณได้ไปต่อ
“ถ้าคุณทำให้มันใช้งานง่ายแล้ว ผู้ใช้ก็จะรู้สึกวางใจคุณเอง ซึ่งสำคัญมาก เพราะแอพจะต้องขอข้อมูลต่างๆ อย่างรายละเอียดส่วนตัว หรือเลขบัญชีจากยูสเซอร์”
ความเป็นมนุษย์
Michael Finkelstein ซีอีโอ The Credit Junction
ฟังก์ชั่นต่างๆที่เป็นอัตโนมัติ อาจจะช่วยให้ยูสเซอร์สะดวกสบายมากขึ้น แต่ในแอพเกี่ยวกับการเงินที่ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การแทนทุกอย่างด้วยหุ่นยนต์หรือโปรแกรม
อาจทำให้เกิดความรู้สึก “ห่างเหิน” จนเกินไป
“ไม่ใช่ทุกอย่างในแอพจะต้องเป็นอัตโนมัติ เมื่อคุณหา pain point เจอแล้ว คำถามถัดมาที่คุณต้องตอบให้ได้คือมันจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีรึเปล่า ถ้ายังไม่ “ใช่” แบบ 100% แปลว่ามันยังมีเหตุผลบางอย่างอยู่
“ในการทำฟินเทคทุกเรื่อง คุณจำเป็นต้องใส่ ‘ความเป็นมนุษย์’ ลงไปในนั้นบ้าง
“ในกรณีของเรา คนที่ทำเรื่องกู้บางคนมีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อมูลในสเปรดชีท หรือวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม สมาชิกของทีมอาจต้องเดินทางไปเจอ การใช้เทคโนโลยีทดแทนทุกอย่าง จะทำให้แอพของคุณขาดความเป็นมนุษย์ไป และลดทอนความน่าเชื่อถือ และความสัมพันธ์ของคุณกับลูกค้า เพราะเราให้เงินกู้กับคน ไม่ใช่ธุรกิจ”
มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
Steve Barha ซีอีโอของ Instant Financial
“ผมเคยร่วมงานกับฟินเทคมาหลายบริษัท แต่ละที่ก็มีแต่พนักงานไฟแรงอยู่ในทีม ผมว่าการที่พวกเขามีแพสชั่นมากขนาดนี้ เพราะแต่ละบริษัทก็มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
“ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการคิดแค่ว่าจะขายแอพซักตัว มันยากที่จะหาหรือรักษาคนเก่งๆไว้ คนเก่งที่สุดก็อยากทำงานสำคัญๆที่เหนือเกณฑ์ทั่วไป ยิ่งในแวดวงฟินเทคด้วย ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเรามีภารกิจสำคัญในการเปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมของคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
“ความอยากที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ มันสะท้อนให้เห็นในวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานของเรา”
เวลาของยูสเซอร์มีค่า
Steve Zheng ผู้ร่วมก่อตั้ง Alpha Vantage
“การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าแก่ลูกค้า ไม่ได้มีแค่เรื่องความพึงพอใจของลูกค้า และการเติบโตเสมอไป อีกแง่มุมที่จำเป็นไม่แพ้กัน คือทำยังไง ผู้ใช้ถึงจะค้นพบคุณค่าของแอพได้เร็วที่สุด
“ในเว็บไซต์ของเรา แค่สองคลิกแรก ลูกค้าก็สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ API ได้แล้ว การดีไซน์เว็บถ้าซับซ้อนเกินไป ก็มีโอกาสที่ยูสเซอร์จะหลงทางได้
“ในฐานะคนทำฟินเทค การสร้างเว็บและแอพให้ยุ่งยากน้อยที่สุด เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาที่มีจำกัดให้เกิดคุณค่ามากที่สุด เป็นเรื่องจำเป็นมากๆ
“เมนเทอร์ของผม Chip Hazard จาก FlyBridge Capital ใช้คำว่า ‘rapid time to value’ (การใช้เวลาสั้นๆเพื่อระบุคุณค่า) เพื่อนิยามแนวคิดนี้ และผมก็เห็นด้วยว่ามันสำคัญมากๆสำหรับคนที่ทำฟินเทค”
AHEAD TAKEAWAY
แม้ปัจจุบัน จะมีแอพพลิเคชั่นให้เลือกมากมายจากเดเวลอปเปอร์นับล้านๆ ทั้งใน App Store และ Play Store
แต่จากสถิติที่มีการบันทึกไว้ จะพบว่าท้ายที่สุด จะมีเพียงไม่กี่แอพพลิเคชั่นเท่านั้นที่ถูกใช้งานจริง และหลายๆแอพที่ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน สุดท้ายก็จะถูกลบทิ้งไปจากเครื่องอยู่ดี
จะเห็นได้ว่าคำแนะนำจากผู้บริหารสตาร์ทอัพทั้งห้าราย เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่น (ไม่จำเป็นต้องเป็น แอพฟินเทค) จะไม่ต่างกันมากนัก
สิ่งสำคัญที่สุด ที่ทำให้ยูสเซอร์เลือกที่จะเก็บแอพไว้ใช้ต่อ คือ UX ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนและเข้าใจง่าย
แต่ความง่ายของผู้ใช้ ก็ต้องแลกมาด้วยความยากในการทำงานของนักพัฒนาด้วย ในการหาว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น อะไรที่ควรตัดและอะไรที่ควรเก็บไว้
เพื่อให้คนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีน้อยที่สุด จัดการทุกอย่างที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องหงุดหงิดกับการตามหาปุ่มหรือหลงทางอยู่ในแอพนั้นเป็นเวลานานๆ
เรียบเรียงจาก
These Founders Share What Makes For A Good Fintech Company
นวัตกรรม คือสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ไปลองดูว่ามีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆน่าสนใจบ้าง ในงาน Innovfest Unbound 2018 ที่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆนี้กัน
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน