จาก Apple ถึง Google 5 เรื่องพลาดมหันต์ เมื่อนักลงทุน ตกรถ

จาก Apple ถึง Google : 5 เรื่องพลาดมหันต์ เมื่อนักลงทุน “ตกรถ”

ทุกการลงทุน นั้นมีความเสี่ยง แต่หลายครั้งที่การเลือกที่จะไม่ ลงทุน ด้วยการรีบตัดสินใจมองข้ามโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ก็นับเป็นความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน

เหมือนที่ เจฟฟ์ เบโซส เคยกล่าวถึงหลักการ “Regret Minimization” หรือ “การตัดสินใจลงมือทำ ดีกว่ามาเสียดายทีหลัง”

เพราะช่วงที่มองหาผู้ร่วมลงทุน 20 ราย เพื่อขยายกิจการของ Amazon เขาต้องคุยกับนักลงทุนถึง 60 รายกว่าจะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

ใน 40 คนที่ปฏิเสธเขา อาจมีบ้างที่บ่นเสียดายโอกาสนั้น แต่มีอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ยังคาใจไม่หาย

Bezos ย้ำว่าอาการติดค้างในใจแบบนี้ จะไม่เกิดขึ้นกับคนที่ลงทุนแล้วล้มเหลว เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป เรามัก “ไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ลองทำ” เท่ากับ “เสียใจที่ไม่ได้ทำ”

และนี่คือตัวอย่างของบรรดาผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน ที่เลือก “ไม่ทำ” แล้วต้องเสียใจในภายหลัง

#1

รอน เวย์น ขายหุ้น Apple ทิ้งใน 12 วัน

จ๊อบส์, เวย์น และ วอซเนียค

ในประวัติศาสตร์ของ Apple เรารู้จักผู้ก่อตั้งสองคน คือ “สองสตีฟ” สตีฟ จ๊อบส์ และ สตีฟ วอซเนียค

แต่ที่จริง ในช่วงที่บริษัทเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ยังมีหุ้นส่วนอีกคน คือ รอน เวย์น ซึ่งรู้จักกับ จ๊อบส์ ตั้งแต่สมัยทำงานให้ Atari ก่อนที่ทั้งหมดจะก่อตั้ง Apple Computer ขึ้น ในวันที่ 1 เมษายน 1976

เวย์น ที่อาวุโสสุดในทีม เป็นคนรับผิดชอบเรื่องเอกสารต่างๆ เช่นเรื่องสัญญา คู่มือการใช้งาน Apple I คอมพิวเตอร์รุ่นแรก รวมถึงเป็นคนร่างแบบโลโก้แรกของบริษัทด้วย

แต่หลังร่วมงานกับ “สองสตีฟ” ได้แค่ 12 วัน เวย์น ก็ทนไม่ไหว จนตัดสินใจถอนตัว และขายหุ้น 10% คืน แลกกับเงิน 800 ดอลลาร์ ซึ่งหากเจ้าตัวยังคงเก็บไว้จนถึงวันนี้ ที่ Apple กลายเป็นบริษัทล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว

มันจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

รอน เวย์น และ สตีฟ วอซเนียค สองผู้ก่อตั้ง Apple ในปี 2014

ที่จริง โอกาสของ เวย์น ยังไม่หมดไปซะทีเดียว เมื่อ จ๊อบส์ ยังวนเวียนกลับมาชวนให้กลับไปหลายครั้ง แต่เจ้าตัวก็ยืนกรานขอทำงานที่ Atari ต่อ

และใช้ชีวิตหลังเกษียณในฐานะพ่อค้าเหรียญและสแตมป์หายากแทน โดยไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ Apple เป็นของตัวเองเลย

กระทั่งทางบริษัทจัดงานมอบ iPad 2 ให้ในงานคอนเฟอเรนซ์ครั้งหนึ่ง ที่เมืองไบรท์ตันในอังกฤษ เมื่อปี 2011

ส่วนเจ้าตัวก็ยืนกรานว่าไม่เสียใจที่ตัดสินใจแบบนั้น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว เขากำลังประสบปัญหาการเงิน จากธุรกิจสลอตแมชีนที่เขาเป็นเจ้าของกิจการ และก็ไม่อยู่ในวัยที่พร้อมจะเสี่ยงอะไรอีก เหมือน จ๊อบส์ และ วอซเนียค ที่ตอนนั้น เพิ่งอายุ 21 และ 25 ปีตามลำดับ

 

#2

Battery Ventures เมิน Facebook

สกอตต์ โทบิน ยอมรับว่า Facebook เหมือน “ปลาใหญ่ที่หลุดมือไป”

ถึงจะเคยปฏิเสธเงินพันล้านดอลลาร์จาก Yahoo! แต่ก่อนหน้าที่ Facebook จะเป็นรูปร่างนั้น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ต้องการเงินจากนักลงทุน เหมือนสตาร์ทอัพอื่นๆเช่นกัน

ซัคเคอร์เบิร์ก สร้างแพลตฟอร์มที่จะพัฒนาต่อมาเป็น Facebook เรียบร้อยในหอพักนักศึกษา ม.ฮาร์วาร์ด และเริ่มมองหา VC ในบอสตัน ที่จะช่วยสนับสนุนเงินทุนในการสเกลอัพ โดยมี Battery Ventures เป็นตัวเลือกแรกๆ

เมื่อถูกปฏิเสธ ซัคเคอร์เบิร์ก จึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังฝั่งเวสต์โคสต์แทน จนสามารถปล่อย Facebook สู่วงกว้างได้ และกลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คอันดับหนึ่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สกอตต์ โทบิน หุ้นส่วนใน Battery Ventures ยอมรับว่าการมองข้าม Facebook ไป เพราะตอนนั้น คนในวัยอย่างเขา (56 ปี) ไม่เข้าใจคอนเซปต์ของโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ ซัคเคอร์เบิร์ก นำเสนอเลย จึงไม่พร้อมที่จะลงทุนด้วย

 

#3

จักรยานราคา 50 ล้านของ คริส ฮิลล์-สกอตต์

Chris Hill-Scott เลือกจักรยานแทนหุ้น Swiftkey เพราะไม่มั่นใจสิ่งที่เขาร่วมสร้างขึ้นมาเอง

Swiftkey คือแอพพลิเคชั่นคีย์บอร์ดบนสมาร์ทโฟน จากสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย จอน เรย์โนลด์ส, ดร. เบน เมดล็อค และ คริส ฮิลล์-สกอตต์ ในปี 2008

แต่ไม่นานหลังจากก่อตั้งบริษัท ฮิลล์-สกอตต์ ก็รู้สึกว่าโอกาสประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก และเริ่มไม่แน่ใจกับอนาคตของบริษัท จึงตัดสินใจขายหุ้นที่ถือไว้ให้กับผู้ก่อตั้งอีกสองคน แลกกับจักรยานหนึ่งคัน

จอน เรย์โนลด์ส และ เบน เมดล็อค หัวเราะทีหลังดังกว่า

ขณะที่ เรย์โนลด์ส และ เมดล็อค ตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาแอพต่อ จนเริ่มได้รับความนิยม กระทั่งในปี 2016 Microsoft ก็เข้าเทกโอเวอร์กิจการ ในราคา 250 ล้านดอลลาร์ โดยที่ทั้งสองคนได้ส่วนแบ่งไปคนละ 50 ล้านดอลลาร์

ปล่อยให้ ฮิลล์-สกอตต์ ที่ตัดช่องน้อยหนีไปก่อน ได้จักรยานเก่าๆเก็บไว้ดูต่างหน้าเพื่อนหนึ่งคัน

 

#4

ค่ายเพลง Decca Records ปฏิเสธ The Beatles

ดิค โรว์ ชายผู้ปฏิเสธ The Beatles

Decca Records คือค่ายเพลงเก่าแก่ในสหราชอาณาจักร ที่มีศิลปินดัง อย่าง บิง ครอสบี, หลุยส์ อาร์มสตรอง, บิลลี ฮอลิเดย์, จูดี การ์แลนด์ ฯลฯ อีกมากมาย

ขณะที่ในปี 1962 นั้น The Beatles เป็นวงร็อคแอนด์โรลล์หน้าใหม่ไฟแรงจากเมืองลิเวอร์พูล ที่ยังรู้จักกันในวงแคบๆ แต่ก็ฉายแววจนได้โอกาสไปออดิชั่น เพื่อเซ็นสัญญากับทางค่าย

การออดิชั่นทำท่าจะไปได้สวย เมื่อได้รับคำชมจาก ไมค์ สมิธ โปรดิวเซอร์ของค่ายที่นั่งดูอยู่ด้วย แต่แล้วอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ทางวงก็ได้รับจดหมายปฏิเสธจากทางค่าย ด้วยเหตุผลที่ว่า “วงที่มีกีตาร์เป็นตัวนำกำลังจะตกยุคแล้ว” และ “The Beatles ดูไม่มีอนาคตในธุรกิจบันเทิงเลย”

แม้ในกลุ่มผู้บริหารของ Decca ที่นั่งดูการออดิชั่นในวันนั้น มีอยู่หลายคน แต่ ไบรอัน เอปสตีน ผู้จัดการของ The Beatles ในสมัยนั้น เชื่อว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดที่ทำให้ทางวงไม่ได้เซ็นสัญญาก็คือ ดิค โรว์ ฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน (A&R) ระดับซีเนียร์ของค่ายนั่นเอง

ให้หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ทางวงก็เซ็นสัญญากับ EMI พร้อมมีเพลงฮิตเพลงแรก Love Me Do แและก่อให้เกิดกระแส Beatlemania ไปทั่วประเทศในปีถัดมา กระทั่งกลายเป็นวงดนตรีระดับตำนานในที่สุด

แต่ โรว์ ก็แก้ตัวสำเร็จ ด้วยการเซ็นสัญญากับอีกหนึ่งวงที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ The Beatles ในเวลาต่อมา อย่าง The Rolling Stones นั่นเอง

 

#5

Bessemer Venture Partners ปัดไม่ลงทุนใน Google, Apple, Facebook ฯลฯ

แม้จะเป็นคนค้นพบ Twitch แต่ David Cowan ก็เคยปฏิเสธทั้ง Ebay, PayPal และ Google มาแล้ว

Bessemer Venture Partners จัดเป็น VC ที่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่ง ผ่านการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายๆราย ทั้ง Pinterest, Linkedin, Skype, Yelp, Shopify, goal.com และอีกสารพัด

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบริษัทไม่เคยตัดสินใจผิดพลาดเลย

อันที่จริง หลายบริษัทที่พวกเขามองข้ามไม่ ลงทุน ด้วย ถือว่ายิ่งใหญ่กว่ากลุ่มที่เอ่ยชื่อมาแล้วด้วยซ้ำ

หนึ่งในนั้นคือ Google ที่พวกเขามีโอกาสได้พบกับ เซอร์เก บริน และ แลร์รี เพจ ตั้งแต่สมัยเช่าโรงรถบ้านเพื่อนเป็นออฟฟิศ

แต่ บริน และ เพจ ก็ไม่มีโอกาสแม้แต่จะพิตช์ขายงานด้วยซ้ำ เพราะ เดวิด โคแวน หนึ่งในหุ้นส่วนของ BVP กล่าวกับหญิงสาวเจ้าของโรงรถว่า “ผมขอออกจากบ้านนี้ไปโดยไม่ต้องเข้าใกล้โรงรถคุณได้ไหม?”

ตลกร้ายคือนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกนับสิบบริษัทชั้นนำที่พวกเขาพลาดไปเท่านั้น เพราะมันมีมากถึงขนาดที่สามารถรวบรวมรายชื่อเป็น anti-portfolio ในเว็บไซต์ของตัวเองได้เลยทีเดียว

  • Airbnb – เจเรมี เลวีน ของ BVP ประทับใจการพิทช์ของ ไบรอัน เชสกี ในการพบกันเมื่อเดือนมกราคม 2010 แต่รู้สึกว่าการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ นั้นสูงเกินไป เพราะบริษัทเพิ่งมีรายรับถึง 1 แสนดอลลาร์เพียงเดือนเดียว และเตรียมเปิดเจรจาใหม่ในอีกสี่เดือนให้หลัง แต่นั่นก็สายไปแล้ว เพราะกราฟของ Airbnb หลังจากนั้นพุ่งพรวดจนมูลค่าสูงเกินกว่าที่ทาง BVP จะลงทุนได้ไหว
  • Apple – BVP เคยมีโอกาสลงทุนใน Apple ก่อนทำ IPO ด้วยซ้ำ แต่ นีล บราวน์สตีน หนึ่งในหุ้นส่วนมองว่ามูลค่าหุ้น 60 ล้านดอลลาร์ที่ทางบริษัทตั้งไว้ “แพงบ้าเลือด”
  • ebay – เดวิด โคแวน (คนเดิม) พูดแค่ว่า “สแตมป์? เหรียญ? หนังสือการ์ตูน? แกจะบ้าเหรอ แทบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย”
  • Facebook – เจเรมี เลวีน ไม่ได้เจอกับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่เขาก็ถูก เอดูอาร์โด เซเวอริน อีกหนึ่งผู้ก่อตั้งตามตื๊อ จนมีโอกาสได้คุยกันตอนมื้อเที่ยงหนึ่งครั้ง ซึ่ง เลวีน ก็ปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใยว่า “นี่ ไอ้หนู แกไม่เคยได้ยินชื่อ Friendster หรือไง? ไปทำอย่างอื่นได้แล้ว มันจบแล้ว”
  • PayPal – เดวิด โคแวน ปฏิเสธโอกาสลงทุน เมื่อ PayPal พยายามระดมทุนในรอบ Series A ในปี 1998 ก่อนทั้งหมดจะขายกิจการให้ eBay (บริษัทที่ Cowan เคยปฏิเสธเช่นกัน) ในราคา 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในสี่ปีต่อมา
  • Snapchat – ในปี 2011 ไฟลท์ดีเลย์ทำให้ เจเรมี เลวีน เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส ช้าไปสามชั่วโมง และเหลือเวลาพอเจรจาธุรกิจแค่หนึ่งหรือสองราย เขาตัดสินใจโยนหัวก้อยเลือกว่าจะคุยกับใคร สุดท้ายเขาโทรหา อีแวน สปีเกิล เพื่อยกเลิกนัด ก่อนที่อีกหกปีถัดมา Snapchat จะเป็นบริษัทที่ทำ IPO มูลค่าสูงสุดในปี 2017
  • Tesla – บายรอน ดีเทอร์ อีกหนึ่งหุ้นส่วนได้ทดลองขับ The Roadster รถรุ่นแรกของ Tesla เขาประทับใจและเลือกซื้อรถรุ่นดังล่าว แต่ปัดโอกาสลงทุนในบริษัท ปัจจุบัน Tesla คือผู้ผลิต EV เบอร์หนึ่งของโลก และ ดีเทอร์ ต้องย้อนกลับมาเป็นลูกค้าด้วยการซื้อ Model X ไปขับแทน

AHEAD TAKEAWAY

แม้จะพลาด “ตกรถ” ขบวนใหญ่อย่างน่าเสียดาย แต่เราคงไม่อาจฟันธงได้ว่าคนเหล่านี้ ทำผิดพลาดหรือไม่

เพราะหลายคนอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก ตามข้อมูลเท่าที่มีในมือ ไม่ใช่ข้อมูลจากอนาคต

เพราะกว่าจะเป็นบริษัทล้านล้านดอลลาร์อย่างทุกวันนี้ Apple ก็เคยมีสถานะทางการเงินย่ำแย่ ก่อนที่ สตีฟ จ๊อบส์ จะกลับมาบริหารอีกครั้ง

และตอนที่เจ้าตัวถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งไป ก็คงไม่มีใครคิดว่า จ๊อบส์ จะกลับมาเป็นซีอีโอของบริษัทที่ไล่เขาออกไปด้วย

หรือในกรณีของ Google พวกเขาอาจไม่มีวันนี้ก็ได้ ถ้าสุดท้าย Yahoo! ตัดสินใจซื้อกิจการของพวกเขาจริงๆ

เช่นเดียวกับ Facebook ที่อาจไม่มีวันนี้ ถ้า Myspace ไม่เดินเกมผิดพลาด พยายามยัดทุกอย่างลงมาในหน้า UI จนคนหนีหายหมด เพราะไม่เข้าใจ

ฯลฯ

แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถสรุปจากเรื่องนี้ได้ ก็คือ

ในฐานะสตาร์ทอัพ ต่อให้คุณเริ่มต้นด้วยการถูกปฏิเสธ นั่นไม่ได้แปลว่ามันคือจุดจบของทุกอย่าง คุณอาจเรียนรู้ว่าเพราะอะไรถึงถูกปฏิเสธ เพื่อพัฒนาตัวเองต่อ

ขณะที่ในมุมของการเป็นนักลงทุน บางทีคุณอาจต้องคิดให้ถี่ถ้วน หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ หากไม่ต้องการ “ตกรถ” เหมือนตัวอย่างที่เรายกมา

เรียบเรียงจาก

5 Investors/Groups Who Passed on Brilliant Ideas … and on Windfalls Worth Millions

The Anti-Portfolio

หลายครั้ง การตัดสินใจของคุณก็ต้องเด็ดขาด หากเชื่อมั่นว่าชอยส์นั้นถูกต้องแล้ว เหมือนที่ Mark Zuckerberg ใช้เวลาแค่สิบนาที ล้มกระดานเจรจากับ Yahoo! เพราะเขาเชื่อว่าจะสร้าง Facebook ให้ยิ่งใหญ่ได้

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

รัฐบาลจีนหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว รับมือสงครามการค้ากับสหรัฐ

Next Article
Streaming Day 2018

Settrade Streaming Day 2018 : "ชวนคุณฟิตการออม เพิ่มพลังการลงทุน"

Related Posts