Stripe

แบงค์ ฟินเทค มีหนาว Stripe เปิดออฟฟิศในสิงคโปร์

แวดวงฟินเทคและธนาคารในแถบเอเชียแปซิฟิก เตรียมเจอคู่แข่งรายใหญ่ เมื่อ Stripe ผู้ให้บริการออนไลน์เพย์เมนต์ เตรียมรุกคืบย่านนี้แล้ว หลังประกาศเลือกสิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่ พร้อมเตรียมรับสมัครทีมวิศวกรจำนวนมาก

ฟินเทคจากไอร์แลนด์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสองพี่น้อง Patrick และ John Collison เป็นผู้ให้บริการออนไลน์เพย์เมนต์แบบครบวงจร ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสตาร์ทอัพชั้นนำในซิลิคอน วัลลีย์มากมาย อาทิ Lyft, Facebook, DoorDash และธุรกิจต่างๆในสหรัฐ กว่า 1 แสนราย

ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทางบริษัทก็เพิ่งประกาศว่าสามารถระดมทุนเพิ่มจาก Tiger Global Management, DST Global และ Sequoia Capital ได้อีก 245 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มูลค่าปัจจุบันของสตาร์ทอัพรายนี้ พุ่งไปแตะหลัก 20,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

ก่อนจะแถลงเพิ่มเติมถึงการเลือกสิงคโปร์เป็นที่ตั้งออฟฟิศ เพื่อตอบรับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์เพย์เมนต์ และอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้

โดยระบุว่า มีแผนว่าจ้าง หัวหน้าทีมวิศวกร ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม วิศวกรด้านระบบเว็บไซต์ และ API รวมถึงตำแหน่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งนับเป็นออฟฟิศแห่งที่สี่ของบริษัท ถัดจากใน ซาน ฟรานซิสโก ซีแอตเทิล และ ดับลิน

ด้าน Piruze Sabuncu ประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ของ Stripe ก็เสริมว่าสำนักงานแห่งใหม่ที่สิงคโปร์นั้น จะสามารถให้บริการหลักๆของทางบริษัทได้เหมือนกับที่อื่นๆในโลก

“ทั้งทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิศวกรที่นี่ จะทำหน้าที่ในการช่วยขยายธุรกิจของบริษัทออกไปจากเดิม รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเสริมโครงสร้างของ เราให้แข็งแรงขึ้นด้วย”

ด้าน Patrick Collison ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ก็แสดงความมั่นใจว่าการขยายการให้บริการมายังภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จะมีส่วนช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมในการทำธุรกิจเร็วขึ้น ในพื้นที่ต่างๆของโลก

AHEAD TAKEAWAY

ก่อนยุคสตาร์ทอัพสายฟินเทคจะเฟื่องฟูอย่างทุกวันนี้

ระบบ Payment Processor หรือผู้ให้บริการเกทเวย์ต่างๆ คือเรื่องน่าปวดหัวสำหรับผู้ประกอบการไม่น้อย

Patrick และ Jack สองพี่น้องตระกูล Collison มองเห็นช่องว่างตรงจุดนี้ จึงเข้ามาดูแล “เรื่องหลังบ้าน” และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ด้วยความง่ายที่เพียงเซตอัพ ผ่านการลงโค้ดจากบริษัทเพียง 7 บรรทัดในเว็บไซต์ของตนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นภาระของ Stripe ในการจัดการทุกอย่างทั้งหมดให้เอง

อันที่จริง ในแถบเอเชียแปซิฟิก และอาเซียนนั้น พวกเขาก็ได้เริ่มต้นให้บริการไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2016 ด้วยลูกค้าอย่าง Grab, Honestbee และ CaptiaLand

ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีชาวสิงคโปร์ที่เคยซื้อสินค้า/ใช้บริการ และชำระเงินผ่านโครงสร้างของบริษัท เกือบๆ 70% เลยทีเดียว

และนั่นหมายถึงหากพวกเขาตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัวในภูมิภาคนี้ สตาร์ทอัพสายฟินเทค รวมถึงผู้ให้บริการเกทเวย์หลายๆราย ก็อาจต้องเร่งปรับตัวด้านการบริการ เพื่อเตรียมรับมือด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าการเข้าไปให้บริการของ Stripe ในประเทศอื่นๆจะการันตีความสำเร็จเสมอไปเช่นกัน

เพราะในแต่ละประเทศ ก็มีตัวบทกฏหมาย ทั้งในเรื่องการเงิน และการทำธุรกิจที่ต่างกันออกไป

หลายสิ่งที่เคยทำได้ในสิงคโปร์หรือฮ่องกง อาจไม่เกิดขึ้นในบางประเทศก็ได้

ด้วยเหตุผลด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกรรมออนไลน์ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลายๆประเทศยังนิยมใช้เงินสดมากกว่า

ยังไม่นับเรื่องของ regulator ในบางประเทศ ที่อาจยังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก และมักมองสตาร์ทอัพที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ไม่เคยเจอมาก่อน ว่าเป็นเรื่องผิดกฏหมาย และเลือกที่จะสั่งห้าม แทนที่จะปรับตัวบทกฏหมายใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย เหมือนที่เคยเกิดกับ Uber หรือ Airbnb มาแล้ว

ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่พี่น้อง Collison และบริษัทจะต้องหาทางแก้ไขให้ได้ หากจะต้องการ “ไปต่อ” ในภูมิภาคนี้

 

เรียบเรียงจาก

Stripe’s SEA head on Asia expansion and Singapore’s startup space

Hot Payments infrastructure firm to build Asia-Pacific engineering hub in Singapore

How Collison Brothers can win the payments war in Asia

ไปทำความรู้จักสองหนุ่มตระกูล Collison “อายุน้อย พันล้าน(ดอลลาร์)” ตัวจริงเสียงจริงกันครับ

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
ผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp

ผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp เผยลาออก เพราะขัดแย้ง Zuckerberg

Next Article
Grab

วงในเผย Grab เจรจาขายหุ้นในไทยให้กลุ่มเซ็นทรัล หวังยกระดับบริการ

Related Posts