ผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp

ผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp เผยลาออก เพราะขัดแย้ง Zuckerberg

Brian Acton ผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp และหนึ่งในผู้ปลุกกระแส #DeleteFacebook เผยเหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงาน Facebook เพราะมีความเห็นขัดแย้งกับ Mark Zuckerberg เรื่องการนำข้อมูลผู้ใช้ไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์

Acton อดีตพนักงาน Yahoo! คือหนึ่งในสองผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp ร่วมกับ Jan Koum เมื่อปี 2009 ซึ่งถูกเทกโอเวอร์โดย Facebook ในราคา 19,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2014 ก่อน Acton จะขอแยกตัวออกมาในปี 2017 ขณะที่ Koum ก็เพิ่งลาออก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

บทสัมภาษณ์ Acton กับทาง Forbes ถูกเผยแพร่ออกมา ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับข่าวการลาออกของสองผู้ก่อตั้ง Instagram ทั้ง Kevin Systrom และ Mike Krieger ท่ามกลางข่าวลือว่าทั้งคู่ไม่พอใจแนวทางบริหารของ Zuckerberg และซีโอโอ Sheryl Sandberg ที่แทรกแซงการทำงานตลอดเวลา

ด้าน Acton ยอมรับว่าเขาและ Koum ไม่เห็นด้วยกับการนำโมเดลธุรกิจของ Facebook มาปรับใช้กับ Whatsapp คือการนำข้อมูลส่วนตัวของยูสเซอร์มาวิเคราะห์ เพื่อการยิงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

“ผมขายความเป็นส่วนตัวของยูสเซอร์ แลกกับรายได้ที่มากขึ้น” Acton กล่าวกับ Forbes “ผมตัดสินใจลงไป และยอมประนีประนอม ทุกวันนี้ผมต้องทนอยู่กับความรู้สึกนั้นทุกวัน”

Acton ยังเสริมว่าตลอดสามปี ที่บริหาร Whatsapp ในฐานะพนักงาน Facebook เขาแทบไม่มีโอกาสเข้าใกล้ Zuckerberg เลย เพราะผู้ก่อตั้งรายนี้จะปักหลักอยู่กับคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

หนึ่งในโอกาสไม่กี่ครั้งที่เขาได้คุยกับ Zuckerberg ก็คือตอนที่ถูกเรียกเข้าไปคุยพร้อมกับทีมกฏหมายของบริษัท ว่า Whatsapp จะทำเงินให้กับบริษัทได้อย่างไร ซึ่งก็คือการปูทางไปสู่การยิงโฆษณาบนแพลตฟอร์มนั่นเอง

บทสัมภาษณ์นี้ นับเป็นหนที่สองแล้วที่ Acton แสดงท่าทีต่อต้านอดีตต้นสังกัด หลังเป็นผู้เริ่มทวีตแฮชแท็ก #deletefacebook เมื่อเดือนมีนาคม ไม่นานหลังมีการเปิดเผยว่าข้อมูลยูสเซอร์ กว่า 87 ล้านคน ถูกดึงไปใช้ประโยชน์โดย Cambridge Analytica ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ด้าน Facebook ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงข้อความจากโพสต์ของ David Marcus หัวหน้าแผนกบล็อกเชนของบริษัทที่โจมตีท่าทีของ Acton กลับเท่านั้น

“คุณโจมตีคนและบริษัทที่ช่วยให้คุณเป็นมหาเศรษฐี รวมถึงช่วยปกป้องดูแลคุณมาตลอดหลายปี นี่เป็นมาตรฐานใหม่ของพฤติกรรมต่ำๆเลย”

 

AHEAD TAKEAWAY

แม้จะเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาสร้าง Facebook ขึ้น เพื่อ “เชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน” แต่จากข้อมูลหลายแหล่ง ดูจะตรงกันว่า Mark Zuckerberg ไม่ใช่คนเฟรนด์ลี่ซักเท่าไหร่

ทั้งความเห็นจากเหล่าผู้ถือหุ้นที่โจมตีว่าซีอีโอรายนี้ “เผด็จการ” และ “ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น”

หรือ Reid Hoffmann หนึ่งใน PayPal Mafia และผู้ก่อตั้ง LinkedIn ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า Zuckerberg รักษาระยะห่างกับทุกคน เพราะมองว่าวันหนึ่งอาจต้องแข่งขันกันในการทำธุรกิจโซเชียลมีเดีย

และล่าสุดกับสองหมัดซ้อนๆในกรณี สองผู้ก่อตั้ง IG ลาออก กับบทสัมภาษณ์ของ Acton ใน Forbes

ในแง่มุมหนึ่งนั้น คนทำสตาร์ทอัพก็มักมีแนวโน้มถอนตัวจากบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมา หลังการเทกโอเวอร์อยู่แล้ว ซึ่งในกรณีของทั้งสองบริษัท น่าจะถือว่าทั้งสี่คนได้อยู่สานต่องานของตัวเอง ในระดับที่นานพอสมควรด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับสตาร์ทอัพเล็กๆอื่นๆที่ Facebook กว้านซื้อมาเพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อ

เพียงแต่การจากลาของทั้งสี่คน และอาจนับรวม Palmer Luckey ผู้ก่อตั้ง Oculus ด้วย กลับมีดราม่าตามมา

Luckey สรุปว่าเขาได้บทเรียนสำคัญจากช่วงเวลาสามปีที่ Facebook คือ “ให้ระวังคนที่คุณไว้ใจ และต้องรู้ว่าใครกันแน่ที่มีอำนาจ”

แม้จะไม่ได้ระบุชื่อโดยตรง แต่การพูดในลักษณะนี้ ไม่ว่าใครก็น่าจะพอเดาออกว่าหมายถึงใคร

ขณะที่ในกรณีของ Acton นั้น ก็ค้านหัวชนฝามาตลอดว่า Whatsapp จะต้อง “ไม่มีโฆษณา ไม่มีเกม ไม่มีกิมมิคใดๆ” เพื่อให้การสื่อสารเรียบง่ายที่สุด ซึ่งขัดกับแนวทางของ Facebook ที่รายได้ 98% มาจากการโฆษณา

แต่เมื่อเขาและ Koum ตัดสินใจขาย Whatsapp ให้ Facebook ไปแล้ว และอยู่ในฐานะของพนักงาน จึงไม่มีทางเลือกหรือคัดค้าน หากเป็นความต้องการของ Zuckerberg

ทางออกของเขา คือการลาออก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นสมัยทำงานที่ Yahoo! แม้รู้ว่าจะทำให้พลาดโอกาสได้ส่วนแบ่งหุ้นของ Facebook มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์ เพราะเงื่อนไขในสัญญาการซื้อกิจการเมื่อปี 2014 ระบุว่า เขาและ Koum จะได้ส่วนแบ่งดังกล่าวภายใน 4 ปี

(ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม Koum ถึงเลือกอยู่ต่อ แทนที่จะลาออกพร้อมกัน แม้จะมีข่าวเล็ดรอดตลอดว่าเจ้าตัวเข้าออฟฟิศ “นานๆครั้ง” และเพิ่งลาออกไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ตาม หากมองแบบเป็นกลาง Zuckerberg ก็มีสิทธิ์ที่จะคิดแบบนั้นได้ ในเมื่อ Facebook คือสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา

ขณะที่ IG, Whatsapp หรือ Oculus แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เขาสร้าง แต่ในเมื่อย้ายมาอยู่ในร่มเงาของบริษัทแล้ว ก็มีสถานะเป็นเหมือนโปรดักท์ตัวหนึ่งที่ Acton, Koum หรือใครก็ตามไม่มีสิทธิ์ในตัวมันอีกต่อไป ใครที่ “ไม่พร้อมไปต่อ” กับแนวทางของเขา ก็ต้องเดินจากไปนั่นเอง

เหลือเพียงแค่จากนี้ Whatsapp และ Instagram ในยุคไร้ผู้ก่อตั้งจะเดินหน้าต่อไปทางไหน ภายใต้การกำกับของ Zuckerberg

 

เรียบเรียงจาก

Exclusive: WhatsApp Cofounder Brian Acton Gives The Inside Story On #DeleteFacebook And Why He Left $850 Million Behind

WhatsApp co-founder: ‘I sold my users’ privacy’ with Facebook acquisition

Facebook’s reputation as a good place for founders is suddenly under attack

 

ซีอีโอของ AHEAD ASIA คุณ Art Kraiwin ก็เคยวิเคราะห์ Facebook และ Mark Zuckerberg มาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงที่บริษัทเป๋เพราะ Cambridge Analytica ใหม่ๆ

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Streaming Day 2018

Settrade Streaming Day 2018 : "ชวนคุณฟิตการออม เพิ่มพลังการลงทุน"

Next Article
Stripe

แบงค์ ฟินเทค มีหนาว Stripe เปิดออฟฟิศในสิงคโปร์

Related Posts