ในวันที่ Facebook “ไม่ฮิปพอ” สำหรับคนรุ่นใหม่ อย่างน้อย Mark Zuckerberg ยังวางใจได้ระดับหนึ่งว่ามีห่านทองคำตัวต่อไป อย่าง Instagram อยู่ในมือ
แต่ในขณะที่สถานการณ์ของบริษัทกำลังอึมครึม ทั้งราคาหุ้นที่ตกลง ผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้า รวมถึงการถูกเพ่งเล็งเรื่องปัญหาข่าวเท็จ hatespeech และข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้รั่วไหล
Zuckerberg ยังเจอข่าวไม่ดีต่อเนื่องเป็นระลอก โดยเฉพาะการประกาศลาออกแบบ “กะทันหัน” ของสองผู้ก่อตั้ง IG ทั้ง Kevin Systrom และ Mike Krieger ที่มีการมองกันว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตัวแอพ และอาณาจักรของพี่มาร์คมากกว่าที่คิด
เกิดอะไรขึ้นกับห่านทองคำในมือพี่มาร์ค นี่คือข้อมูลที่เราพอรวบรวมได้จากแหล่งต่างๆ
Facbook : OUT / Instagram : IN

แม้จะยังได้ชื่อว่าเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่ง ในแง่จำนวนผู้ใช้งาน (2.2 พันล้านคน)
แต่สถิติข้อมูลต่างๆ เริ่มบ่งชี้ว่า Facebook ไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆสำหรับคนยุคมิลเลนเนียลส์อีกต่อไปแล้ว
eMarketer บริษัทวิจัยด้านข้อมูลเชิงดิจิทัล เผยข้อมูลว่าจนถึงสิ้นปี 2018 Facebook น่าจะมีกลุ่มวัยรุ่น อายุ 12-17 ปี (นับเฉพาะในสหรัฐ) ในมือ ประมาณ 11.5 ล้านคน
เหมือนจะมาก แต่ที่จริง เป็นจำนวนที่ลดลงจากปีก่อน ราว 6 แสนคน
หากเทรนด์นี้ยังดำเนินต่อไป ภายในปี 2022 พวกเขาจะเสียกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นวัยรุ่นไป ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้ จะย้ายไปใช้งานโซเชียลมีเดียอื่นๆแทน
ส่วนผลสำรวจผู้ใช้งานกลุ่มมิลเลนเนียลส์ จำนวน 1,731 คน โดย LendEDU ก็ระบุชัดเจนว่า Instagram นั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52.9%
เหนือกว่าทั้ง FB (32.6%) Twitter (10%) และ Snapchat (5%)
ทั้งตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานที่ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสถิติดังกล่าวคือเหตุผลว่าทำไม 90% ของแบรนด์ต่างๆ ถึงมีออฟฟิเชียล แอคเคาท์บนแพลตฟอร์มนี้
และกว่า 80% มีการโพสต์รูปต่างๆอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
โดยเฉพาะแบรนด์ระดับแม่เหล็ก อย่าง Nike, Adidas, Louis Vuitton, Prada, Dior, Gucci ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ก็มีการวิเคราะห์ว่าทำไม Instagram ถึงมีอิทธิพลต่อยูสเซอร์มากขนาดนี้ด้วย
เหตุผลหลักๆคือ ภาพ (visual) นั้นส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจของคนเราได้เร็วกว่าข้อความ (text) ซึ่งเป็นสองฟอร์แมตหลักบน Facebook ถึง 6 หมื่นเท่า
พูดง่ายๆคือเมื่อเราเห็นภาพ ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่เห็นจะเกิดขึ้นแทบในทันที มากกว่าข้อความที่ต้องใช้กระบวนการทางสมองกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง
และ 80% ของสิ่งที่เราเห็นนั้น มักจะอยู่ในความทรงจำของเราได้ดี กว่าสิ่งที่เราอ่าน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเพียง 20% เท่านั้น
ยิ่งในยุคที่ทุกอย่างมาไวไปไวด้วยแล้ว
การจะเรียกความสนใจจากคนรุ่นใหม่ได้นั้น ภาพที่ปรากฎจึงต้องเข้าถึงได้ในทันที ซึ่ง Instagram ตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่า Facebook ที่พี่งพา text และ video เป็นหลัก
เกิดอะไรหลังบ้าน FB และ IG?

ว่ากันว่าความตึงเครียด ระหว่างฝ่าย Systrom และ Krieger กับบริษัทแม่นั้น อึมครึมมาหลายเดือนแล้ว
เนื่องจาก Instagram นั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนทำท่าจะกลายเป็นคู่แข่งตัวจริงของ Facebook แม้ทั้งคู่จะอยู่ในเครือเดียวกันก็ตาม
Bloomberg เคยประเมินว่ามูลค่าแท้จริงของ IG อาจอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่คนใกล้ชิดของ Zuckerberg หลายราย เชื่อว่า IG ไม่มีทางมาถึงจุดนี้ได้ หากปราศจากการผลักดันของ FB
จนนำไปสู่ความขัดแย้งภายใน ระหว่างสองแอพในเครือเดียวกัน อาทิ
- เคยมีการตัด label ที่มาของภาพ ในกรณีที่ยูสเซอร์แชร์ภาพจาก IG ไปยัง FB ทำให้เหมือนกับว่ายูสเซอร์คนนั้นโพสต์ภาพใน FB โดยตรง เท่ากับเป็นการตัดโอกาสผู้ใช้คนอื่นที่ชอบภาพนั้นจะย้อนกลับไปดูต้นฉบับใน IG
- กลับกัน ในแอพของ IG จะมีการแจ้งเตือนอยู่เป็นระยะ ว่าในหน้าฟีด FB ของผู้ใช้งานเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อกระตุ้นให้เกิด traffic ย้อนกลับไปที่ FB
- การที่ผู้บริหารของ FB บางส่วน แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปิดตัว IGTV (ซึ่งเป็นไอเดียของ Systrom) เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการเติบโตของ Watch หรือเซ็กชั่นวิดีโอของ FB เอง
- ยังไม่นับถึงเรื่องความพยายามลดหรือกดจำนวน headcount ของ IG ลง ซึ่งสวนทางกับอัตราการเติบโตผู้ใช้งานแอพ
- และสุดท้าย คือการที่ระยะหลัง ทั้ง Zuckerberg, Sheryl Sandberg รวมถึงคีย์แมนคนอื่นๆของบริษัทแม่ เข้ามาล้วงลูกการทำงานของสองผู้ก่อตั้งมากขึ้น เพื่อผลักดันให้โมเดลธุรกิจโฆษณาเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวนั่นเอง
จนเป็นที่มาของการประกาศลาออกของสองผู้ก่อตั้งนั่นเอง
ทำไมถึงตีความว่าแตกหัก?

ในแวดวงธุรกิจ การที่ผู้บริหารระดับสูงจะอำลาองค์กรเป็นเรื่องปกติ
ยิ่งในกรณีของ Facebook ที่เป็นองค์กรใหญ่ ยิ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะถูกจัดสรรอย่างดี เพื่อหลีกเลี่ยงความดรามาใดๆที่อาจเกิดขึ้น
การคัดสรรตัวแทนจะถูกระบุไว้ล่วงหน้า โดยที่คนในองค์กรทราบ ก่อนที่ข่าวประชาสัมพันธ์จะถูกส่งไปยังสื่อ หรือนำขึ้นบล็อกของบริษัท
ส่วนผู้บริหารที่จากไปจะได้รับคำอวยพรอย่างดีผ่านสเตตัสของ Zuckerberg, Sandberg ฯลฯ
แต่กรณีของ Systrom กับ Krieger ต่างออกไป
ทั้งสองคนประกาศการลาออกอย่างกะทันหัน โดยไม่เปิดโอกาสให้บริษัทแม่ได้ตั้งตัว จนโฆษกของ Facebook และ Instagram ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่มีสคริปต์ให้
ส่วน Zuckerberg ที่ไม่มีใครรู้อารมณ์ แทบไม่ได้แสดงความเห็นใดๆถึงเรื่องนี้
และที่อาจจะเรียกว่าแสบสุดๆ คือ Systrom ใช้บล็อกขององค์กร ประกาศว่าเขาจะตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับ Krieger ในอนาคต
อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

นักวิเคราะห์ต่างประเทศหลายราย ยังไม่ฟันธงว่าการลาออกของสองผู้ก่อตั้ง จะส่งผลกระทบต่อสถานะของ IG มากน้อยแค่ไหน
แต่ก็มีแนวโน้มที่หลายโปรเจกต์ ซึ่งเป็นไอเดียดั้งเดิมของทั้งคู่ โดยเฉพาะ IGTV (ฟีเจอร์วิดีโอ) และ Instagram Direct (แอพสแตนด์อโลน สำหรับซื้อขายสินค้า) จะถูกแปรสภาพไปในทางอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าบริษัทแม่จะเลือกใครมาทำหน้าที่แทนทั้งคู่
Marne Levine ซีโอโอของ IG ก็เพิ่งถูกโยกไปคุมภาพรวมด้านพาร์ทเนอร์ชิพทั้งหมดให้กับบริษัทแม่
แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุด จึงน่าจะเป็น Adam Mosseri รองประธานอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์คนปัจจุบัน ซึ่งมีความใกล้ชิด และเป็นสายตรงจาก Zuckeberg และ Chris Cox ซึ่งดูแลแอพทั้งหมดของบริษัทในการปรับโครงสร้างครั้งล่าสุดนั่นเอง
ส่วนอนาคตของ Systrom กับ Krieger นั้น มีเพียงการยืนยันว่าทั้งคู่จะร่วมงานกันต่อไป
แต่หากมองถึงลักษณะนิสัยของ Zuckeberg แล้ว เป็นไปได้ว่าก้าวต่อไปของทั้งคู่ จะถูกจับตาจากอดีตเจ้านายรายนี้เป็นพิเศษค่อนข้างแน่
AHEAD TAKEAWAY
การที่ผู้ก่อตั้งลาออก (ทั้งกรณีของ IG, Whatsapp หรือ Oculus) หลังการเทกโอเวอร์ ถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ขึ้นกับเงื่อนไขเรื่องเวลา และการยอมรับแนวทางของบริษัทแม่หรือไม่เท่านั้น
ที่ผ่านมา Zuckerberg และ Sandberg เลือกปล่อยให้บรรดาผู้ก่อตั้งทำงานของตัวเองต่อในช่วงแรก หลังการเทกโอเวอร์
ก็เพื่อให้การบริหารงานสามารถเดินหน้าต่อได้ตามแนวทางดั้งเดิม เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น
จนเมื่อฐานผู้ใช้งานเติบโตพอในระดับหนึ่ง ก็เป็นธรรมดาที่บริษัทแม่จะต้องหาทาง “สร้างรายได้” จากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วยโฆษณาหรือฟีเจอร์ใดฟีเจอร์หนึ่ง ตามแนวทางหลักของบริษัทที่มีรายได้ 98% จากโฆษณาออนไลน์
แม้แหล่งข่าวของสื่อต่างประเทศหลายราย จะมองว่าการเติบโตของ Instagram เป็นต้นเหตุให้มีการงัดกันภายในระหว่างสองโซเชียลมีเดีย
แต่เป็นไปได้ไหมที่ Zuckerberg จะเลือกทุบ IG ทิ้ง เพื่อให้ FB ครองความยิ่งใหญ่เพียงรายเดียวต่อไป
คำตอบคือไม่น่าจะเป็นไปได้
ในเมื่อ IG คือโปรดักต์ที่บริษัทลงทุนซื้อมา และมีศักยภาพสูง (นักวิเคราะห์ของ KeyBanc คาดว่าปีนี้ IG จะทำรายได้ให้บริษัทถึง 9 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 16% ขององค์กร) และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านดอลลาร์ ในอีกสี่ปีข้างหน้า
เหลือเพียงแค่เขาและ Sandberg จะทำอย่างไร ให้ผู้ใช้งาน IG ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกยัดเยียดโฆษณาจนเกินงาม
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ Facebook หรือแม้แต่คู่แข่งสำคัญอย่าง Snapchat ที่เน้นเรื่องนี้มากจนสูญเสียเอกลักษณ์ และฐานผู้ใช้งานไปแทน
เรียบเรียงจาก
22 Eye-Opening Reasons Your Brand Needs to Be on IG
The end of IG as we know it is here
Facebook’s recent ‘bear hug’ of IG frustrated its independent founders, leading to their exit
Should Facebook Investors Worry About the “End of IG”?
ว่ากันว่าความเด็ดขาดของ Mark Zuckerberg ถอดแบบมาจากหนึ่งในวีรบุรุษที่เจ้าตัวชื่นชอบ คือจักรพรรดิ Augustus แห่งโรมัน ซึ่งเจ้าตัวก็เคยแสดงให้เห็นแล้ว ตั้งแต่ FB ยังเป็นเพียงสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ด้วยการปฏิเสธข้อเสนอมหาศาลจากยักษ์ใหญ่ในอดีตอย่าง Yahoo!
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน