ฟู้ดเทค

6 นวัตกรรม “ฟู้ดเทค” อาหารแห่งอนาคต

นอกจากฟินเทคและเฮลธ์เทคแล้ว ฟู้ดเทค (food tech) หรือเทคโนโลยีด้านอาหาร ก็เป็นอีกเรื่องฮอตฮิตในปัจจุบันเช่นกัน

รายงานจาก PitchBook Platform พบว่า กองทุน VC ต่างๆนั้น ลงทุนในบริษัทและสตาร์ทอัพสาย ฟู้ดเทค ไปแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ยังไม่จบไตรมาสที่สอง

นับเป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดดมาก เมื่อเทียบกับตัวเลข 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2016 และ 2017

เหตุผลหนึ่งคือการปรับตัวของผู้คนในวงการนี้ ที่ครั้งหนึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีกว่าวงการอื่นๆ ในทรรศนะของ ซานจีฟ กริชแมน (Sanjeev Krishman) ซีไอโอและประธานบริหารของ S2G Ventures เพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค

“ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ในทุกๆเดือน หรือบางทีอาจจะในทุกสัปดาห์ด้วยซ้ำ”

และนี่คือ 6 เทคโนโลยีด้านอาหารที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการกินของเราทุกคนไปตลอดกาล

เครื่องพิมพ์อาหารตามสั่ง

ทุกวันนี้ เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นแทบจะไปปรากฏในทุกวงการแล้ว และปัจจุบัน ก็มีผู้นำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหาร ในชื่อ Foodini

Foodini นั้น ใช้หลักการแบบเดียวกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติอื่นๆ แต่เปลี่ยนจากการฉีดพลาสติกหรือโลหะ มาเป็นอาหารแทน เพียงแค่ใส่ส่วนผสมที่จำเป็นลงไปเท่านั้น

หมายความว่าขอเพียงคุณมีไอเดีย ก็อาจฉีดนักเก็ตไก่รูปตุ๊กตาไดโนเสาร์ หรือเค้กที่หน้าตาเหมือนเครื่องบินได้เลย

โดยปัจจุบัน มีตัวอย่างร้านอาหารหรือเบเกอรี่ที่นำเครื่องพิมพ์นี้ไปใช้สร้างสรรค์อาหารและขนมแล้ว แต่ยังมีราคาค่อนข้างสูง ที่ราว 4,000 ดอลลาร์

ซึ่งทางผู้ผลิต Natural Machines, Inc. ก็มีแผนที่จะวางตลาดเวอร์ชั่นย่อส่วนสำหรับใช้ในครัวเรือน ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชั่นต่างๆที่จะระบุคุณค่าทางอาหาร และปริมาณสารอาหารต่างๆตามความต้องการของผู้บริโภคด้วย

นอกจาก Foodini แล้ว ก็ยังมี Chef 3D จาก BeeHex ซึ่งสามารถสั่งพิมพ์พิซซ่าในรูปทรงต่างๆพร้อมกับอบเรียบร้อยสำหรับเสิร์ฟได้ทันที

โปรตีนสกัดจากตะไคร่น้ำ

ขณะที่ประชากรบนโลกทวีจำนวนเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

แหล่งอาหารทางเลือกอื่นๆจึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากการปลูกเนื้อสัตว์ในห้องแล็บอย่างที่ AHEAD ASIA เคยนำเสนอไปแล้ว

อีกหนึ่งตัวเลือกก็คือตะไคร่น้ำที่อุดมไปด้วย โอเมก้า 3 และโปรตีน

ตะไคร่น้ำเป็นพืชที่เติบโตง่าย แม้อยู๋ในน้ำกร่อย หรือในที่ๆแห้งแล้งที่สุดอย่างทะเลทราย ขอเพียงมีแสงแดดและความชื้นบ้างก็พอ และนั่นหมายความว่าดินแดนรกร้างที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ก็อาจถูกแปรรูปเป็นฟาร์มสำหรับเพาะแหล่งอาหารชนิดนี้ได้

นอกจากการใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือส่วนประกอบของสีผสมอาหารแล้ว ยังเริ่มมีผู้ผลิตบางราย เช่น Iwi Life หรือ AlgaVia นำมาประยุกต์ใช้เป็นอาหารมังสวิรัติ ในรูปแบบของโปรตีนแท่ง ซึ่งหากไม่ดูฉลาก ผู้บริโภคก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่ากำลังทานอาหารที่สกัดจากตะไคร่น้ำ

 

บาร์โค้ดกินได้

เมื่ออาหารที่วางขายเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วย หรือมีสารปนเปื้อน การจะตรวจย้อนไปหาแหล่งที่มา จึงเป็นเรื่องยาก

ทางออกของเรื่องนี้คือการติดบาร์โค้ดที่บริโภคได้ของ SaftTraces

ตัวบาร์โค้ดดังกล่าวจะอยู่ในหยด DNA ซึ่งผสมไว้ในแว็กซ์ที่เคลือบผลไม้ ซึ่งช่วยให้สามารถย้อนกลับไปเช็คต้นตอได้ว่าผลไม้นี้มาจากฟาร์มไหน ผ่านอุปกรณ์เฉพาะสำหรับอ่านข้อมูล

ข้อเสียของเทคโนโลยีนี้ คือหากอาหารนั้นถูกกินจนหมดแล้ว จะไม่สามารถตรวจย้อนหลังได้ แต่ทั้งหมดนี้ เป็นไปเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นมากกว่า เพราะหากเกษตรกรหรือผู้ผลิตตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์มีปัญหา ก็สามารถเจาะจงได้ว่าเป็นล็อตไหน เพื่อให้ง่ายแก่การเรียกสินค้าคืน หรือตรวจสอบต่อไป

 

สารเคลือบยืดอายุอาหาร

แม้มีแนวโน้มว่าปริมาณอาหารจะไม่เพียงพอต่อคนทั้งโลกในอนาคต แต่ปัจจุบัน ยังคงมีอาหารที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมากมาย

ไม่เพียงแค่เป็นการสูญเปล่า แต่ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรต่างๆเช่น น้ำและพลังงานในการผลิตโดยเปล่าประโยชน์ด้วย

หนึ่งในวิธีรับมือกับเรื่องนี้ คือสารเคลือบชนิดพิเศษ ไร้สี ไร้กลิ่น ที่จะช่วยลดการระเหยของน้ำและการเกิดอนุมูลอิสระ ให้ผลไม้สุกช้าลง จนสามารถเก็บได้นานกว่าเดิมถึงสามเท่า โดยที่สารเคลือบจาก Apeel Sciences ตัวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย

สารเคลือบดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้ว และถูกนำมาใช้ในเชนซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Kroger Co., Costco Wholesale Corp. และ Harps Food ฯลฯ

การยืดอายุของผักผลไม้เหล่านี้ไว้ได้นานขึ้น ทำให้สามารถขนส่งทางเรือซึ่งมีราคาถูกกว่าทางอากาศ เท่ากับจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของการขนส่งไปในตัว

 

Face Recognition ในฟาร์ม

ปัจจุบัน เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition) เริ่มถูกนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น ทั้งในสนามบินที่สหรัฐ หรือแม้แต่ใช้ตรวจจับผู้ทำผิดกฏจราจรในจีน

รวมถึงการจดจำใบหน้าของสัตว์ต่างๆ เพื่อเช็กพฤติกรรมการกินการดื่มของสัตว์แต่ละตัวในฟาร์มด้วย ให้เกษตรกรรับรู้ได้ว่าควรดูแลสัตว์แต่ละตัว ซึ่งมีลักษณะนิสัยต่างกันอย่างไร รวมถึงสามารถรู้ได้ทันทีว่าตัวไหนกำลังป่วย

ระบบดังกล่าวซึ่งพัฒนาโดย Cainthus จากไอร์แลนด์นั้น ได้รับความนิยมอย่างสูง และถูกนำไปติดตั้งในปศุสัตว์แล้วกว่า 14,000 แห่ง ทั้งในอเมริกาเหนือ และยุโรป

ขณะที่ในจีน ก็มีรายงานว่า Alibaba ได้พัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยดูแลหมูในฟาร์มหลายแห่งเช่นกัน

 

ฟาร์มสั่งได้

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ช่วยให้เราสามารถปลูกมะเขือเทศที่ให้รสชาติแบบเดียวกับมะเขือเทศจากทัสคานีในอิตาลีได้

ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อุณหภูมิ แสงแดด แร่ธาตุในดิน ฯลฯ

ปัจจุบันนี้เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้โดย Caleb Harper จากมีเดียแล็บของ MIT โดยจะเริ่มจากการหาบริเวณที่มีความใกล้เคียงกับพื้นที่ต้นแบบ จากนั้นจึงพยายามควบคุมปัจจัยด้านอื่นๆให้มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด

หนึ่งในบริษัทที่เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ก็คือ Ferrero SpA ผู้ผลิตเนยถั่ว Nutella ที่ต้องการปลูกเฮเซลนัทแห่งใหม่แทนแหล่งเดิมคือตุรกี ที่ปัจจุบันราคาผลผลิตสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตนั่นเอง

อีกหนึ่งบริษัทที่มีหลักการคล้ายๆกันคือ Migaki-Ichigo สตรอว์เบอร์รี่ราคาแพงจากญี่ปุ่น ที่ควบคุมปัจจัยทุกอย่างในเรือนกระจก เพื่อให้ผลผลิตมีรสชาติคงที่ ควบคุมปริมาณในการผลิตได้

และปัจจุบันยังมีการนำเทคโนโลยีการปลูกในเรือนกระจกนี้ไปทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่แบรนด์นี้ ในที่อื่นๆของโลกอย่าง อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และ อียิปต์ ด้วย

https://ahead.asia/2017/03/31/migaki-ichigo-%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7/

AHEAD TAKEAWAY

แม้ที่ผ่านมา อาหารจากแหล่งทางเลือก เช่นโปรตีนสกัด หรือเนื้อสัตว์ที่ปลูกในแล็บ จะถูกมองเป็นกิมมิคในการขายสินค้าสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม (เช่นมังสวิรัติ) มากกว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

แต่ในอนาคตที่จำนวนประชากรจะมีแต่เพิ่มขึ้น จนมีการประเมินว่า เมื่อคนบนโลกแตะหลัก 9 พันล้านคนในปี 2050 ปริมาณการบริโภคอาหาร จะสูงกว่า ณ ปัจจุบันเกือบเท่าตัว

ขณะที่พื้นที่ในการเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ มีเท่าเดิม หรืออาจจะลดน้อยลงด้วยซ้ำ (หากมีตัวแปรอื่นที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น)

ยูกิ ฮันยู โอตาคุผู้ปลูกเนื้อจากอนาคต แห่ง Shojinmeat Project

ขณะที่ในปัจจุบัน เราก็จะเห็นว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้เริ่มมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพียงพอสำหรับการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากขึ้น

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ในปี 2030 นั้น จะเพิ่มเป็น 376 ล้านตันต่อปี เทียบกับค่าเฉลี่ย 218 ล้านตัน ระหว่างปี 1997-1999

คิดเป็นค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 72% เลยทีเดียว

แต่การจะเร่งผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องแลกมาด้วยการเผาผลาญทรัพยากรมหาศาล ทั้งน้ำและแร่ธาตุต่างๆมากมาย ยังไม่นับปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ

ฟู้ดเทค ที่มาพร้อมกับแนวทางการเพิ่มปริมาณอาหารด้วยวิธีใหม่ๆ รวมถึงการเก็บรักษาให้ได้นานยิ่งขึ้น จึงน่าจะเป็นทางออกสำคัญสำหรับผู้คนในอนาคต มากกว่าการเป็นแค่ niche market สำหรับคนเฉพาะกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา

10 เทคโนโลยีพลิกโลก ในทรรศนะ บิล เกตส์

เรียบเรียงจาก

Six Technologies That Could Shake the Food World

นวัตกรรมต่างๆนั้นอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เมื่อช่วงต้นปี ทีมงาน AHEAD ASIA ก็มีโอกาสไปสำรวจความก้าวหน้าในแถบอาเซียนกัน ในงาน Innovfest Unbound 2018

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
127
Shares
Previous Article
SoftBank

SoftBank จับมือ Toyota ให้บริการรถไร้คนขับปี 2020

Next Article
Instagram

Instagram เริ่มทดลองส่ง Location ผู้ใช้ให้ Facebook

Related Posts