พนักงานรุ่นเก๋า

5 เทคนิคผู้บริหารรุ่นใหม่รับมือพนักงานรุ่นเก๋า

ในยุคสมัยที่ผู้ประกอบการ และผู้บริหารจำนวนมากประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย หนึ่งเรื่องที่คนเหล่านี้หนีไม่พ้น คือการต้องทำงานร่วมกับ พนักงานรุ่นเก๋า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์สที่มีอายุ และประสบการณ์มากกว่า

คำถามคือมีวิธีไหนบ้างที่ได้ผล ในการดึงศักยภาพของคนเหล่านี้ออกมา

และนี่คือ 5 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณมัดใจรุ่นใหญ่เหล่านี้ และดึงศักยภาพสูงสุดในตัวพวกเขาออกมา

#1
ทำความรู้จัก

Richav Gupta ซีอีโอจาก iCoachFirst แนะนำว่าการมีอำนาจเหนือกว่า ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นที่ยอมรับเสมอไป

กลับกัน ผู้นำที่ดีควรรู้จักผู้ใต้บังคับบัญชา ในระดับที่มากกว่า “แค่พนักงานคนนึง”

ยิ่งคุณรู้จักคนๆนั้นมากแค่ไหน ก็จะรู้ถึงจุดแข็ง และพฤติกรรมในการทำงานของอีกฝ่ายมากกว่าจะใช้วัยวุฒิหรืออำนาจที่เหนือกว่า

“อย่าคิดว่าทุกคนต้องเหมือนกัน คุณควรรู้จักตื้นลึกหนาบางของแต่ละคน จะได้เห็นข้อดีข้อเสียของพวกเขาชัดเจนขึ้น คนในเจเนอเรชั่นหนึ่งจะมีทักษะที่คนอีกรุ่นไม่มี ทักษะแต่ละอย่างก็มีข้อดีของมัน การจะพาองค์กรประสบความสำเร็จได้ คือการผสมผสานทักษะเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

#2
ให้เกียรติ

Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้ง OYO Rooms สตาร์ทอัพด้านเครือข่ายโรงแรม ยอมรับว่าธุรกิจที่ทำ จำเป็นต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ของพนักงานรุ่นเก่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนยังขาดอยู่

และการจะดึงสิ่งนั้นออกมาได้ การให้เกียรติ และยอมรับฟังความเห็นจากคนเหล่านี้ถือเป็นสิ่งเรื่องจำเป็น

“จากบทเรียนสองสามเรื่องที่ผมเคยผ่านมา เรื่องสำคัญสุดคือการนับถือในกันและกัน มันสิ่งที่ทุกคนคาดหวังและสมควรได้รับด้วย ไม่ว่าคนๆนั้นจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ผมเชื่อว่าเราควรให้เกียรติกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดหรือการแสดงออก และพยายามสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรด้วย”

Agarwal ซึ่งก่อตั้ง OYO Rooms ตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อน ตอนอายุ 21 ปี เล่าว่าตอนเริ่มธุรกิจนั้น พนักงาน 90-95% อายุมากกว่าเขาทั้งนั้น

“ในทางกลับกัน คือผมก็ต้องทำให้พนักงานที่อายุมากกว่าเชื่อว่าผมสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งหากผมพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นได้ ก็จะได้รับการยอมรับเช่นกัน”

และการจะทำให้พนักงานที่สูงวัยกว่ายอมรับได้ ก็คือการทำการบ้านให้หนัก เพื่อให้พร้อมทุกครั้งก่อนร่วมงาน

“ทุกวันจันทร์ ทุกคนในทีมจะมารวมตัวกันเพื่อประชุม และเพื่อให้การประชุมราบรื่นที่สุด ผมจะเริ่มเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่บ่ายหรือเย็นวันอาทิตย์ เพราะอยากให้พนักงานเชื่อว่าสิ่งที่ผมพูดนั้นมีความสำคัญจริงๆ ทั้งกับพวกเขาและบริษัท”

 

#3
ประสบการณ์คือสมบัติล้ำค่า

Avlesh Singh และ Ankit Utreja สองผู้ก่อตั้ง WebEngage แพลตฟอร์มมาร์เก็ตติ้งจากมุมไบ ที่ให้บริการบริษัทต่างๆ กว่า 4 หมื่นแห่งใน 35 ประเทศ ย้ำว่าประสบการณ์ของพนักงานเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากสำหรับองค์กร

“ผมว่ามันจำเป็นมากที่ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ให้ความสำคัญกับความเห็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม พนักงานอายุมากอาจจะมีประสบการณ์ที่มีคุณค่า นี่แหละคือสมบัติล้ำค่าขององค์กร ถ้าคุณเมินคำแนะนำจากพวกเขา เพราะแค่ต้องการทำตามความคิดตัวเอง นั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด”

เหตุผลจาก Singh คือ พนักงานที่มีประสบการณ์มาก จะเคยเห็นวัฏจักรของธุรกิจนั้นๆมาหลายรอบ จึงเห็นภาพกว้างและชัดเจนกว่า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการตัดสินใจในช่วงเวลาคับขัน

หน้าที่ของผู้บริหารที่อายุน้อยกว่าคือทำยังไงถึงจะกระตุ้นให้พนักงานกลุ่มนี้รักษาความมุ่งมั่นในการทำงานไว้ได้

“ในฐานะผู้นำ คุณต้องให้ความเคารพต่อคนและความคิด ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ากับองค์กร และพร้อมจะส่งมอบคุณค่าเหล่านั้นให้องค์กรต่อไป”

 

#4
เปลี่ยนเมื่อจำเป็น แต่ไม่หักดิบ

หลายครั้งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้รับการแต่งตั้ง มักเกิดจากการที่องค์กรต้องการเปลี่ยนแปลง

แต่ในความเห็นจาก Adam Povlitz ประธานของ Anago Cleaning Systems นั้น ผู้ที่จะลงมือเปลี่ยน ควรเข้าใจสิ่งนั้นก่อนจะลงมือเปลี่ยนด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนเพราะแค่อยากเปลี่ยน

“หลายๆอย่างที่พนักงานรุ่นเก่าเคยทำมา มันมีเหตุผลอื่นๆรองรับมากกว่าแค่ ที่ผ่านมาเคยทำกันแบบนี้มาตลอด พวกเขาคือคนที่ให้คำตอบได้ว่าทำไมถึงเลือกทำแบบนั้น”

ขณะเดียวกัน เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับคนรุ่นก่อนด้วย ว่าเปลี่ยนเพราะอะไร

“คนรุ่นใหม่ๆไม่ค่อยกลัวที่จะทำผิดพลาด เขาพร้อมจะลองผิดลองถูก และเปลี่ยนกลยุทธ์ทันทีถ้าเห็นว่าไม่เวิร์ค แต่คนรุ่นก่อน ก็จะมีความเชื่อฝังหัวว่า อะไรที่ไม่เสียก็อย่าไปซ่อม ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องบังคับให้เขาเปลี่ยนทัศนคติ แค่หาวิธีอธิบายให้พวกเขาเข้าใจก็พอ”

 

#5
ลดความแตกต่าง

ช่องว่างระหว่างวัยของผู้บริหารและพนักงาน สามารถลดลงได้หากฝ่ายแรกรู้จักปฏิบัติต่ออีกฝ่ายให้รู้สึกว่า “ไม่มีความแตกต่าง”

การที่ผู้บริหารรุ่นใหม่จะพยายามใช้อำนาจ “ข่ม” พนักงานรุ่นเก่า เพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับว่าตนเหนือกว่า เป็นวิธีที่มีแต่เสียกับเสีย เพราะมีแต่จะทำให้เกิดการต่อต้านมากกว่า

คำแนะนำจาก Brendan Reid รองประธานอาวุโสของ Ceridian คือการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเชื่อใจว่าเราคือทีมเดียวกัน จะดึงศักยภาพในตัวอีกฝ่ายออกมาได้ดีกว่า

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด คือการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ หรือขอความเห็น โดยเฉพาะในเรื่องที่คุณรู้ว่าคนเหล่านั้นมีทักษะเฉพาะตัวอยู่

อีกหนึ่งวิธีคือการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งก็มีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างคนรุ่นเก่ากับใหม่

ขณะที่คนยุคมิลเลนเนียลชอบที่จะรับฟังฟีดแบ็กจากผู้บริหาร คนจากยุคเบบี้บูมเมอร์สอาจจะอยากได้ยินคำขอบคุณมากกว่าที่ช่วยให้แผนงานผ่านไปได้ด้วยดี

 

AHEAD TAKEAWAY

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและความรู้สามารถหาได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ การเรียนการสอนช่วยลดช่องว่างทางทักษะให้คนรุ่นใหม่สามารถไล่ตามผู้มาก่อนได้ไม่ยาก

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่อาจสอนกันได้ ก็คือประสบการณ์ ซึ่งเกิดจากการทำงาน ที่ไม่ว่าจะเรียนลัดมาแค่ไหน โอกาสที่จะเก็บเกี่ยวสิ่งนี้ได้เทียบเท่ากับคนที่เคยผ่านงานมาจริงๆ ก็ยังเป็นไปได้ยากอยู่ดี

ขณะเดียวกัน ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็มีโอกาสทำให้คนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ส (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1946-1964)อาจตกอยู่ในสถานะลูกจ้าง พนักงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้บริหาร ผู้ประกอบการที่อายุน้อยกว่า (อาจเป็น Gen X ที่เกิดระหว่าง 1965-1979 หรือแม้แต่ มิลเลนเนียลส์ ที่เกิดระหว่าง 1980-2000 ) ได้

ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายคือการชดเชยสิ่งที่อีกฝ่ายขาดไป ด้วยการเติมเต็มให้กันและกัน ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ ต่างฝ่ายก็ต้องลดทิฐิลงด้วย

ทั้ง พนักงานรุ่นเก๋า ที่ต้องยอมรับว่ามีบางสิ่งที่ตนไม่รู้ และผู้บริหารรุ่นใหม่ที่แม้จะเหนือกว่าทั้งในอำนาจการทำงานและข้อมูลข่าวสาร แต่ก็ต้องเข้าใจว่าประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรทดแทนได้

ซึ่งหากเติมเต็มให้กันและกันได้ ก็จะช่วยดึงสิ่งที่ดีที่สุดออกมาเพื่อประโยชน์ขององค์กรได้อย่างแน่นอน

***** ใครที่ลองนำไปใช้แล้ว อย่าลืมคอมเมนต์บอกเราไว้ข้างล่างนี้ด้วยครับ ว่าได้ผลแค่ไหน หรือถ้ามีใครมีเทคนิคดีๆอื่นๆอีกที่น่าสนใจ มาแชร์กันครับ *****

How to Inspire Older Employees as a Young Leader

Managing Older Employees? Leadership Tips for Young Managers

เรามั่นใจว่าทุกวันนี้ อายุอาจไม่สำคัญเท่าไหร่แล้ว เหมือนที่เราได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ๆเข้าทำงานในบริษัทระดับโลกตั้งแต่อายุยังน้อย และนี่คือหนึ่งในอัจฉริยะวัยเยาว์ ที่แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ต้องดึงตัวไปช่วยงาน

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Instagram

Instagram เริ่มทดลองส่ง Location ผู้ใช้ให้ Facebook

Next Article
ชิปสอดแนม

หน่วยงานรัฐอเมริกัน-ยูเค ปัดข่าวจีนฝังชิปสอดแนมเซิร์ฟเวอร์ Apple, Amazon

Related Posts