Microsoft ยืนยันการเข้าลงทุนใน Grab ผู้ให้บริการ Ride-Hailing เบอร์หนึ่งย่านอาเซียน ในฐานะพาร์ทเนอร์ด้านกลยุทธ์ ภายใต้โครงการ “deep tech” เพื่อนำเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ AI, Machine learning, แพลตฟอร์มคลาวด์ และอื่นๆมาเสริมการให้บริการในอนาคต
การร่วมทุนครั้งนี้ เป็นความพยายามล่าสุดของ Grab ที่กำลังผลักดันให้บริการของตัวเองเป็น “แอพประจำวัน” ของผู้ใช้งานในภูมิภาคอาเซียน โดยนอกจากบริการหลักอย่างการเรียกรถ ก็ยังมีบริการอื่นๆ อาทิ ขนส่งสินค้า อาหาร ไปจนถึงอีคอมเมิร์ซ
สำหรับเทคโนโลยีที่ Microsoft จะนำมาใช้ในโครงการ deep tech นั้น ประกอบไปด้วย
• เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเคลื่อนที่ (Mobile facial recognition) ด้วย AI ที่ติดตั้งในตัว สำหรับการตรวจสอบตัวตนของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
• การประมวลผลภาษาธรรมชาติสำหรับการแปลแบบเรียลไทม์ และ chatbot ที่ผู้โดยสารสามารถมีส่วนร่วมได้
• Machine learning เพื่อปรับปรุงบริการให้ตรงกับการใช้งานของลูกค้าแต่ละคน
• เทคโนโลยี Image recognition และการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงระบบการรับผู้โดยสาร (เช่นผู้ขับขี่จะสามารถถ่ายภาพสถานที่ปัจจุบันของตัวเอง และแปลงเป็นข้อมูลที่อยู่สำหรับคนขับ)
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบบริการอื่นๆ อาทิ การตรวจจับการทุจริต, การใช้ Microsoft Outlook ในระบบจองรถ และระบบต่างๆ ภายในตัวรถ ไปจนถึงการทำโปรโมชั่นต่างๆด้วย
Peggy Johnson รองประธานบริหาร Microsoft กล่าวถึงการลงทุนซึ่งไม่เปิดเผยตัวเลขว่า “ความร่วมมือนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้”
ด้าน Ming Maa ประธานบริษัท Ride-Hailing จากสิงคโปร์ เสริมว่า “เรากำลังจดจ่อที่จะได้ร่วมงานกับ Microsoft เพื่อตอบสนองระบบการขนส่งที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และให้ผู้ใช้ได้เชื่อมโยงประสบการณ์แบบออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน”
“ปัญญาประดิษฐ์และแพลตฟอร์ม Machine learning ที่ Microsoft พัฒนาขึ้น จะช่วยให้บริการเหล่านี้พัฒนาขึ้นได้”
ปัจจุบัน Grab นับเป็นผู้ให้บริการ Ride-Hailing เบอร์หนึ่งของย่านนี้ หลังจาก Uber ตกลงขายกิจการให้เมื่อต้นปี โดยปัจจุบันเปิดทำการอยู่ใน 8 ประเทศทั่วอาเซียน
AHEAD TAKEAWAY
ทีมงาน AHEAD ASIA เคยวิเคราะห์และย้ำไว้หลายครั้งแล้วว่า การตัดสินใจถอยทัพจากอาเซียนของ Uber เพื่อเปิดทางให้ Grab ครองตลาดของอุตสาหกรรมนี้ในอาเซียน ไม่ใช่เรื่องแปลก
หากยึดตามทฤษฎีของ Peter Thiel ในหนังสือ Zero to One ที่ว่าธุรกิจที่ดีจะต้อง “ผูกขาด” และ “ไม่มีการแข่งขัน”
เพราะการแข่งขันจะทำลายผลกำไรที่เกิดขึ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างต้องตัดราคา หรือทำบางสิ่งเพื่อโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าของตนแทนบริษัทคู่แข่ง เหมือนที่ Uber เคยเปิดศึกแบบเดียวกันกับ Didi Chuxing ในจีน และพบว่ามีแต่ส่งผลเสียกับทั้งสองฝ่าย
แม้จะต้องเจออุปสรรค อย่างข้อกล่าวหาผูกขาดธุรกิจ จนถูกทาง CCCS สิงคโปร์ สั่งปรับเงินรวมกัน 9.5 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นก็ไม่ถือเป็นปัญหาสำหรับบริษัท เพราะยังมีกลยุทธ์อื่นๆ เพื่อปัดสถานะนี้ทิ้งได้
หนึ่งในนั้น คือการขยายรูปแบบให้บริการจากธุรกิจเดียว (ซึ่งถูกมองว่ากำลังผูกขาด) ไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการมากกว่าหนึ่งอย่าง อาทิ ส่งสินค้า อาหาร การชำระเงินออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ
จนเป็นที่มาของการจับมือกับผู้ให้บริการในท้องถิ่น อย่าง Happy Fresh ในสิงคโปร์ หรือที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆนี้กับ JD Central ในไทย
และยังมีแนวโน้มว่าบริษัทจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังมีรายงานว่าในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า SoftBank เตรียมเข้าถือหุ้นของบริษัทเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนครั้งล่าสุด
ขณะที่การจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ Microsoft ก็เป็นอีกสัญญาณที่ดีว่าบริษัทกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนใกล้คำว่า “เบ็ดเสร็จ” ไปทุกขณะ
ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้าง คงไม่พ้นเรื่องการลงหลักปักฐานสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนในบางประเทศก็ยังเป็นเรื่องยาก
เมื่อภาครัฐยังคงตีตราว่าบริการของพวกเขาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และยังไม่มีการสร้างมาตรการใดมารองรับ
บางทีอาจเพราะหากปล่อยให้พวกเขาเข้ามาได้จริง ธุรกิจที่ “ผูกขาด” โดยคนบางกลุ่ม (แต่อยู่นอกตำราของ Peter Thiel) จะสูญเสียผลประโยชน์ครั้งใหญ่นั่นเอง
เรียบเรียงจาก
Microsoft is investing in Grab
Microsoft is investing in ride-hailing firm Grab
พูดถึงธุรกิจเรียกรถแล้ว เราจะไม่พูดถึงชายคนนี้ได้อย่างไร กับ Masayoshi Son คนคุมคิวรถที่ใหญ่ที่สุดในโลก (!?!) แห่ง SoftBank
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน