Mark Zuckerberg

แกนนำขั้วตรงข้าม ยื่นเรื่องถอด Mark Zuckerberg จากตำแหน่งประธาน Facebook

Scott Stringer หนึ่งในแกนนำขั้วตรงข้ามกับ Mark Zuckerberg พร้อมด้วยกองทุนผู้ถือหุ้นรายใหญ่สี่ราย เดินหน้ายื่นเรื่องต่อบอร์ดบริหาร ขอให้ถอดถอนผู้ก่อตั้งรายนี้จากเก้าอี้ประธานบริษัท Facebook แล้ว หลังปล่อยให้เกิดข่าวฉาวกับองค์กรอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา

แม้ Facebook จะประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นทั้งผู้นำในธุรกิจโซเชียลมีเดีย และโฆษณาออนไลน์ แต่กระแสต่อต้าน Zuckerberg ที่รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะอย่างยิ่ง หลังเกิดข่าวฉาวหลายครั้งกับการให้บริการ ทั้งการแทรกแซงการเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อมูลรั่วในกรณี Cambridge Analytica โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

จนเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ มีรายงานล่าสุดจาก Reuters ระบุว่า กองทุนผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน 4 ราย จากอิลลินอยส์, โร้ด ไอส์แลนด์, เพนซิลเวเนีย และ Scott Stringer ตัวแทนกรมบัญชีกลางนิวยอร์ค ได้ร่วมกันส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ ขอให้บอร์ดบริหารปลด Zuckerberg จากการเป็นประธานบริษัทแล้ว พร้อมชี้แจงว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชื่อเสียงของบริษัทโดยตรง

นับเป็นครั้งล่าสุด ที่มีการเสนอให้มีการตั้งประธานคนนอก หลังจากในปี 2017 เคยถูก Zuckerberg กดดันให้บอร์ดปัดข้อเสนอดังกล่าวทิ้งมาแล้ว

การยื่นหนังสือครั้งนี้ เรียกร้องบอร์ดบริหารให้สร้างคณะกรรมการอิสระขึ้น เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลแนวทางการบริหาร ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของบริษัทอื่นๆ โดยต้องการให้มีการลงคะแนนโหวตว่า Zuckerberg ควรนั่งเก้าอี้ประธานต่อไปหรือไม่ ในการประชุมผู้ถือหุ้นช่วงเดือน พ.ค. 2019

Stringer ซึ่งดูแลหุ้น 4.5 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 895 ล้านดอลลาร์ ผ่านกองทุนบำนาญของนิวยอร์ค เคยกล่าวไว้ว่า โครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน ที่นำโดย Zuckerberg เอื้อให้เกิด ความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อ ชื่อเสียงขององค์กร การดำเนินงานที่ขัดต่อกฏหมาย ฯลฯ

และกรณีของ Cambridge Analytica ก็สร้างความกังวลให้ตนเป็นพิเศษ ทั้งในฐานะผู้ดูแลเงินจากกองทุน และอนาคตทางการเมืองของตน ในฐานะว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองในปี 2021 ในนามตัวแทนพรรคเดโมแครท

ขณะที่ Seth Magaziner เหรัญญิกแห่งรัฐโร้ด ไอส์แลนด์ ซึ่งถือหุ้น 168,230 หน่วย กล่าวว่าข้อเสนอล่าสุดนี้มุ่งประเด็นที่การชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่บริษัทกำลังมี และการค้นหาหนทางแก้ไข “สิ่งนี้จะช่วยให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงประชุมประจำปี”

Michael Frerichs เหรัญญิกรัฐอิลลินอยส์ ระบุว่าแม้การตั้งประธานคนนอกอาจจะไม่สามารถป้องกันปัญหาได้ทั้งหมด แต่ “อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้เบาบางลง และช่วยทุเลาการเสื่อมราคาของมูลค่าหุ้น”

Magaziner และ Frerichs ยังได้เผยว่าพวกเขาวางแผนที่จะพูดคุยกับนักลงทุนรายใหญ่เพิ่มเติมในช่วงเดือนถัดๆ ไป เพื่อหาแนวร่วมสนับสนุนแผนการนี้ ขณะที่โฆษกของ Facebook ยังไม่ให้ความเห็นใดๆเพิ่มเติม

 

AHEAD TAKEAWAY

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน ทีมงาน AHEAD ASIA เคยนำเสนอเรื่องความไม่พอใจของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อแนวทางการบริหารบริษัทของ Mark Zuckerberg มาแล้วหนหนึ่ง

เหตุผลหลักที่บรรดาผู้ถือหุ้นไม่พอใจ Zuckerberg เป็นเพราะเจ้าตัวไม่เคยรับฟังความเห็นของใครเลย โดยอาศัยโครงสร้างการแบ่งระดับชั้นผู้ถือหุ้นในองค์กร เพื่อให้ฝ่ายตนสามารถคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้

แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทจะประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งในธุรกิจโซเชียลมีเดีย และโฆษณาออนไลน์ แต่การละเลยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และการเน้นโฆษณามากเกินไป ก็ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตผู้ใช้งานของ Facebook และรายได้ที่ลดลงในช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันนั้น มูลค่าหุ้นของ Facebook ปิดตลาดวานนี้อยู่ที่ 159.42 ดอลลาร์ (ราว 5,260 บาท) ต่อหนึ่งหน่วย ลดลง 10% จากช่วงต้นปี และห่างจากช่วงราคาขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ขึ้นเป็น 217.50 ดอลลาร์ (ราว 7,177 บาท) ถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว

ส่วนกลุ่มที่ทำการยื่นหนังสือครั้งนี้ 3 ราย ก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยพยายามกดดัน Zuckerberg มาแล้วหนหนึ่ง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกตีตกไป เพราะตัวผู้ก่อตั้งรายนี้ ถือสิทธิการออกเสียงในบอร์ดบริหารอยู่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน

ความท้าทายของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ ในการยื่นเรื่องถอดถอน Zuckerberg ก็คือ

1) คือจะทำอย่างไร เพื่อโน้มน้าวกองทุนและนักลงทุนใหญ่รายอื่นๆ ให้คล้อยตาม และ

2) จะลดทอนอำนาจของ Zuckerberg ที่ถือสิทธิลงเสียงอยู่ 60% ได้อย่างไร

ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะ “พี่มาร์ค” ก็พร้อมจะทำทุกวิถีทาง เพื่อครองสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมากับมือไว้ต่อไปให้นานที่สุด

 

เรียบเรียงจาก
At Facebook, public funds join push to remove Zuckerberg as chairman
Facebook shareholders back proposal to remove Zuckerberg as chairman

ในยุคตั้งไข่ Zuckerberg ก็เคยแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวออกมาแล้ว ด้วยการปฏิเสธเงินพันล้านดอลลาร์ จาก Yahoo! ด้วยประโยคส้ันๆ “ผมว่าผมทำได้ดีกว่า”

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Jamal Khashoggi

อนาคต Vision Fund ระส่ำ หลังมกุฎราชกุมารซาอุฯพัวพันฆ่านักข่าว Washington Post

Next Article
โรคซึมเศร้า

AI รู้ใจคุณ : ปัญญาประดิษฐ์รู้ว่าคุณอาจเป็นโรคซึมเศร้าล่วงหน้า 6 เดือน

Related Posts