ในอดีต พ่ออาจจะไม่เข้าใจตุ้ม
แต่วันนี้ “อ้ายมาก” แห่ง Facebook รวมถึงผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียอื่นๆ
อาจรู้จักและรู้ใจคุณมากกว่าที่คิด ด้วยพลังของปัญญาประดิษฐ์
ในทุกครั้งที่คุณล็อกอินเพื่อเข้าใช้งานโซเชียลมีเดีย
ไม่ว่าจะคลิกอ่านคอนเทนต์ กดไลค์กดแชร์ หรือแม้แต่แสดงความเห็น
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมใน Big Data เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรม สำหรับใช้งานในด้านต่างๆ
โดยเฉพาะการยิงโฆษณาออนไลน์ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
AI รู้ใจคุณ
แต่ปัจจุบัน มีงานวิจัย โดยสถาบัน National Academy of Sciences ม.เพนซิลเวเนีย
ค้นพบว่าพฤติกรรมต่างๆของคุณในโลกออนไลน์ สามารถนำไปสู่การคาดเดาได้ว่า
อารมณ์ความรู้สึกของคุณในขณะนั้นเป็นอย่างไร
ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมาก ในการตรวจพบ และดูแลผู้มีแนวโน้มจะป่วยเป็น โรคซึมเศร้า
“เราเริ่มเข้าใจมากขึ้น ถึงสิ่งที่ผู้คนทำในโลกออนไลน์ ว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรม ซึ่งเราสามารถนำมาใช้วิเคราะห์โดย machine learning ได้ เหมือนข้อมูลประเภทอื่นๆในโลก”
คือคำอธิบายจาก Johannes Eichstaedt นักจิตวิทยาจากสถาบันดังกล่าว ซึ่งเริ่มงานวิจัยชิ้นนี้ ผ่านการรวบรวมข้อมูลกว่า 5 แสนโพสต์ ทั้งใน Facebook และ Twitter ของอาสาสมัครจำนวน 683 คน ในช่วงเวลา 7 ปี
สัญญาณอันตราย
ก่อนนำมาให้ AI ทำการวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ อาทิ บริบท, ความยาว, ความถี่, กลุ่มประชากร ฯลฯ และพบว่า “ลักษณะการใช้ภาษา” คือสัญญาณสำหรับใช้บ่งบอกว่าผู้ใช้งานคนนั้น มีแนวโน้มจะเป็น โรคซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมอื่นๆหรือไม่
ในรายงานดังกล่าว ยังได้ยกตัวอย่างคำ พร้อมแบ่งประเภทแนวโน้มพฤติกรรมไว้คร่าวๆด้วย
เช่นเมื่อคุณใช้คำว่า crying, pain, tears, sick, hurt ฯลฯ คุณมีแนวโน้มที่จะอยู่ในอารมณ์ซึมเศร้า (depressed)
ส่วนคำว่า miss, missing, much, baby บ่งชี้ว่าคุณกำลังเหงา (loneliness)
right now, wtf, hate, ugh, f—in บ่งบอกว่าคุณอยู่ในอารมณ์เกรี้ยวกราด (hostility)
sick, headache, feel, hurt คุณกำลังบ่นถึงสภาวะร่างกาย (somatic complaints)
และคำว่า blood, surgery, pain คุณกำลังมีปัญหาสุขภาพหรือจะเข้าพบแพทย์ (medical refs.)
ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดชาร์ทตัวนี้มาดูได้ ที่นี่
รู้ก่อน รักษาก่อน
จะเห็นได้ว่าคำเหล่านี้ เป็นคำธรรมดาๆพื้นๆ ที่เราเห็นได้ทั่วไป แต่อาจไม่เอะใจอะไร
แต่อัลกอริทึมที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์นั้น สามารถคาดเดาพฤติกรรมหรืออาการป่วย ได้ล่วงหน้าถึง 6 เดือนเลยทีเดียว
นั่นหมายถึงหากเราสามารถนำสิ่งนี้มาพัฒนาต่อได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะตรวจพบอาการป่วยได้แต่เนิ่นๆ
ผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะเข้ารับการรักษา ก่อนจะปล่อยให้อาการลุกลามจนเข้าขั้นรุนแรงได้
อ่านถึงตรงนี้
แล้วคุณล่ะ เคยสังเกตไหมว่าโพสต์ของคนใกล้ตัว
บ่งบอกว่าเขาจะมีพฤติกรรมอย่างไรในอนาคต?
AHEAD TAKEAWAY
ที่จริงแล้ว การนำ AI มาใช้ในทางการแพทย์นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด
ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีหลายๆแห่ง อาทิ Google หรือ IBM ก็ทำการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถวินิจฉัยโรคในร่างกายมนุษย์มาโดยตลอด
และมีรายงานยืนยันว่าสามารถตรวจพบโรคร้ายอย่าง มะเร็ง หรือ โรคหัวใจ ได้ล่วงหน้า และแม่นยำกว่าแพทย์ที่เป็นมนุษย์จริงๆด้วย
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาแย่งงานมนุษย์ ตรงกันข้าม มันกลับจะช่วยให้การทำงานของเราง่ายขึ้นอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆก็แสดงให้เห็นตลอดมาแล้วว่า เมื่ออาชีพหนึ่งถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะมีการสร้างอาชีพใหม่ๆขึ้นมาแทนที่อยู่ดี
สำคัญที่สุดคือเราจะใช้ความก้าวหน้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างไร และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังกันแน่
เรียบเรียงจาก
AI CAN TELL IF YOU’RE DEPRESSED BY READING YOUR FACEBOOK POSTS
Facebook language predicts depression in medical records
AI คืออะไร?? ต่างจาก Machine Learning และ Deep Learning อย่างไร ไปหาคำตอบได้ในคลิปนี้
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน