Tik Tok

Facebook ฉกไอเดีย Tik Tok ปั้นแอพใหม่ หวังส่วนแบ่งตลาดวัยรุ่น

แหล่งข่าวใกล้ชิดยืนยันตรงกัน Facebook เตรียมเปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาดวัยรุ่นคืน ด้วยการปั้นแอพพลิเคชั่นตัวใหม่ ที่เน้นการตัดต่อวิดีโอสั้นพร้อมเสียงเพลงสไตล์เดียวกับ Tik Tok จากจีน ที่เป็นเจ้าตลาดด้านนี้ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน Facebook เริ่มสูญเสียความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นไป เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ที่ต่างจากเดิม และต้องการหลีกเลี่ยงการใช้งานแพลตฟอร์มเดียวกับที่พ่อแม่หรือคนรุ่นก่อนใช้อยู่

และแม้จะมี Instagram อยู่ในเครือแล้ว แต่ก็มีรายงานว่าบริษัทยังมีแผนที่จะปล่อยแอพพลิเคชั่นแบบสแตนด์อโลนตัวล่าสุด ซึ่งควบคุมการพัฒนาโดย Brady Voss ประธานฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัท เจ้าของผลงาน Watch วิดีโอแพลตฟอร์มบน FB มาก่อน

แอพตัวใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้ชื่อ “Lasso” มีเป้าหมายหลักคือการชิงส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้น จาก Tik Tok ในเครือบริษัท Bytedance ที่กำลังได้รับความนิยมจากวัยรุ่นทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

“พูดง่ายๆมันก็คือ TikTok นั่นเอง ตัวแอพจะแสดงผลแบบฟูลสกรีน ออกแบบมาสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ เน้นความสนุก และการสร้างสรรค์เป็นหลัก” แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยกับ Techcrunch

แหล่งข่าวเสริมว่า Facebook ให้ความสนใจที่จะเจาะกลุ่มวัยรุ่นด้วยแอพที่เน้นวิดีโอและเพลง มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว

และเคยตั้งทีมวิจัย เพื่อวิเคราะห์โอกาสของ Musical.ly แอพตัดต่อวิดีโอและเพลงขนาดสั้นจากจีน ที่เข้าไปทำตลาดในสหรัฐในช่วงเวลาดังกล่าว และประเมินว่าไม่น่าประสบความสำเร็จ ก่อนจะล้มเลิกความตั้งใจไป

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Musical.ly ถูกเทกโอเวอร์โดย Bytedance ในราคา 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาพัฒนาต่อในชื่อ Douyin (หรือที่รู้จักกันในบ้านเราว่า Tik Tok)

ตัวแอพกลับได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแอพที่มียอดดาวน์โหลดสูงเป็นอันดับ 1 ในไตรมาสแรกของปี 2018 และมียอดผู้ใช้งานต่อวัน (Daily Active Users) กว่า 150 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น

ด้าน Facebook ที่หันไปพัฒนามิวสิคสติ๊กเกอร์สำหรับฟีเจอร์ Stories บน Instagram และ Lip Sync Live บน Facebook ในช่วงที่ผ่านมา จึงเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจตลาดนี้อีกครั้ง

และหวังจะใช้สัญญาลิขสิทธิ์กับค่ายเพลงต่างๆที่ทำไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ด้วยการสร้างแอพตัวใหม่เพื่อดึงดูดกลุ่มวัยรุ่น แทนที่จะพึ่งพาแค่ Instagram และ Whatsapp เหมือนที่ผ่านมา

 

AHEAD TAKEAWAY

แม้จะยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ Techcrunch นำมาเปิดเผย หลายคนอ่านรายละเอียดคร่าวๆของโปรเจกต์ “Lasso” ก็อาจจะตะหงิดๆขึ้นมาบ้าง

เพราะแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นที่แทรกเสียงเพลง ให้ผู้ใช้ลิปซิงก์หรือเต้นตาม พร้อมใส่ลูกเล่นเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นเอฟเฟกต์บนใบหน้า การปรับความเร็วของวิดีโอ เติมสติ๊กเกอร์ ฯลฯ ลงไปนั้น

มันก็คือแนวคิดที่ทำให้ Tik Tok ดังระเบิดในหมู่วัยรุ่นบ้านเราและทั่วโลกนั่นเอง

และการนำไอเดียของบริษัทอื่นๆมาใช้แบบนี้ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Facebook ทำด้วย

ตัวอย่างที่ชัดที่สุด และถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา คือการลอกฟีเจอร์หลักของแอพคู่แข่งอย่าง Snapchat มาใช้ใน Facebook และ Instagram พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า Stories จนถูก อิวาน สปีเกิล ซีอีโอของอีกฝ่ายเหน็บว่าทำได้แค่เลียนแบบ

แต่ในการเลียนแบบนั้น ก็สร้างความเสียหายให้กับต้นตำรับได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ในการประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง เมื่อตอนกลางปี (อ่านเพิ่มเติม เมื่อ Mark Zuckerberg สอนมวย Evan Spiegel แห่ง Snapchat)

แม้จะมีเสียงวิจารณ์หรือเหน็บแนมบ้าง แต่ในเชิงธุรกิจนั้น กลยุทธ์แบบนี้ก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะใน ซิลิคอน วัลลีย์ ที่มองว่าการลงมือทำ (execute) สำคัญกว่าการคิดสร้างไอเดีย (generate)

และยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำ สำหรับบรรดายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ในมุมมองของ Scott Sandell อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Microsoft ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็น VC ในนาม New Enterprise Associates

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสังเกตเห็นบริษัทที่มีโอกาสเติบโตมาเป็นคู่แข่ง เราจะบดขยี้พวกเขาซะ”

แต่ความยิ่งใหญ่ “เกินไป” ในปัจจุบัน ของกลุ่มบริษัท FAANG (Facebook, Apple, Amazon, Netflix และ Google) ก็ส่งผลเสียหายต่อการสร้างนวัตกรรมโดยสตาร์ทอัพเล็กๆได้เช่นกัน ในมุมมองของ Roger McNamee นักลงทุนยุคแรกของ Google และ Facebook

“ผมเสียใจที่มีส่วนร่วมสร้างอสูรกายพวกนี้ขึ้นมา”

และเพื่อหลีกเลี่ยงการถูก “ลอก” ไอเดีย นักลงทุน VC ทั้งหลายถึงสนใจที่จะลงทุนกับสตาร์ทอัพที่อยู่ในเครือข่ายปิด ไม่มีช่องว่างให้ Facebook เข้ายุ่มย่ามได้

หรือไม่งั้น ก็อาจจะเปิดกว้างไปเลย ในรูปของบล็อกเชน ที่ยูสเซอร์เข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทยักษ์ใหญ่ในฐานะฮับของข้อมูล

เพราะเป็นที่รู้กันว่าเมื่อ Facebook พบแอพตัวไหนที่น่าสนใจ ทีมวิศวกรของบริษัทก็จะได้รับคำสั่งให้เดินหน้าพัฒนา “เวอร์ชั่นของตัวเอง” ตามกลยุทธ์ของบริษัทในปัจจุบัน

ซึ่งต่างจากเมื่อหลายปีก่อน ที่ดูจะเปิดกว้างสำหรับการเป็นพื้นที่ให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นเติบโตและแชร์ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม

หนึ่งในตัวอย่างของบริษัทเล็กๆที่ได้รับผลกระทบในกลยุทธ์นี้

ก็คือ Timehop แอพที่มาพร้อมกับฟีเจอร์แสดงข้อมูลย้อนหลังในกรอบสีส้ม ว่าคุณเคยทำอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นในวันเดียวกันนี้ของเมื่อปีก่อนๆ ซึ่งถูกใจยูสเซอร์จำนวนมาก จนเคยมียอดผู้ใช้งานต่อวันถึง 6 ล้านคน

ก่อนที่อีกไม่กี่เดือนถัดมา Facebook จะมาพร้อมกับไทม์แมชีนของตัวเองบ้างในชื่อ “On This Day” ที่เหมือนแม้กระทั่งสีของตัวกรอบ

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไม Facebook จะต้องใช้สีส้มแบบเดียวกันด้วย จนตอนนี้เราต้องปรับสีของเราเองให้ออกเหลืองมากขึ้น” Rick Webb ซีโอโอของ Timehop กล่าว

 

AR Glasses ไอเดียที่ล้มเหลวของคนอื่น 

แต่ใช่ว่า Facebook จะรอก๊อปปี้ไอเดียที่ประสบความสำเร็จแล้วเสมอไป เพราะก็มีตัวอย่างที่พวกเขาพร้อมเสี่ยงในการนำแนวคิดที่คนอื่นทำแล้วไม่เวิร์ค มาพัฒนาต่อเช่นกัน

หนึ่งในนั้น ก็คือแว่น Augmented Reality

ย้อนกลับไปในงาน F8 เมื่อปี 2017 Mark Zuckerberg เคยพูดไว้ว่า AR คือเทคโนโลยีสำหรับอนาคตอันใกล้ ซึ่งก็ตรงกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่นๆอีกหลายราย

ถึงขนาดมีการคาดคะเนจากสื่อมวลชนว่า แว่น AR คือแกดเจทตัวต่อไปที่จะมาแทนที่สมาร์ทโฟนในทศวรรษหน้า

และเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา Ficus Kirkpatrick ประธานฝ่าย AR ของ Facebook ก็กล่าวในงานคอนเฟอเรนซ์ของ Techcrunch ที่แอลเอ ว่าบริษัทกำลังพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้อยู่จริง

ถ้าใครคุ้นๆกับเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้อยู่บ้าง ตัวอย่างที่น่าจะเคยผ่านตากันมาบ้างแล้ว ก็คือ Google Glass ที่ไม่ปังอย่างที่ Sergey Brin หวังไว้นั่นเอง

ย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน Google Glass คือแว่นที่สำนักข่าวหลายแห่งให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก่อนที่การพูดถึงจะค่อยๆเฟดไปในที่สุด

นอกจากเรื่องหน้าตาของมันที่ดูล้ำยุคเกินกว่าคนทั่วไปจะอยากหยิบมาใส่เดินตามท้องถนน เช่นเดียวกับการควบคุมการทำงานด้วยเสียงแล้ว

Glass ยังถูกตั้งแง่ถึงเรื่องความเป็นไปได้ในการละเมิดสิทธิ ทั้งการสั่งให้กล้องบนตัวแว่นลอบถ่ายรูปผู้อื่น หรือลอบบันทึกเสียง ไม่ว่าจะในที่ส่วนบุคคลหรือที่สาธารณะ

นอกจากนี้ การพัฒนาแบบครึ่งๆกลางๆ ทั้งรูปร่างหน้าตาและการใช้งาน ทำให้เกิดความสับสนว่าตัวแว่นที่ปรากฎทางสื่อนั้นเป็นแค่รุ่นต้นแบบหรือพร้อมใช้งาน

ขณะที่ฟังก์ชั่นในการใช้งานก็ยังไม่ชัดเจน (ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับสมาร์ทวอทช์ในช่วงแรกๆ) ว่าทับซ้อนกับสมาร์ทโฟนหรือไม่ เช่นเดียวกับการขาดโปรแกรมหรือแอพจากนักพัฒนามารองรับ

“ผมเป็นหนึ่งใน Google Glass Explorer (คนกลุ่มแรกที่ออกทุนสนับสนุนโปรเจกต์นี้ แลกกับการได้ใช้งานก่อน) ประสบการณ์ที่ได้รับถือว่าแย่มากๆตั้งแต่แรกเริ่ม ตอนนี้มันไปกองรวมกับดีไวซ์อื่นๆที่ผมไม่ใช้งานแล้ว” Tim Bajarin ประธานของ Creative Strategies Inc. กล่าว “UI เข้าขั้นห่วย การเชื่อมต่อก็ไม่เสถียร ข้อมูลที่ได้ก็แทบใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันเป็นการลงทุน 1,500 ดอลลาร์ ที่แย่ที่สุดสำหรับผม”

แทนที่จะกลายเป็นดีไวซ์สุดเท่ สถานะของ Glass จึงถูกโยกไปใช้กับการทำงานในระดับองค์กรต่างๆ (เช่นสายวิศวกรรม) ไปแทน

แม้ Glass จะเป็นความล้มเหลว แต่หลายบริษัทก็ยังเชื่อในศักยภาพของ แว่น AR จนเป็นที่มาของการแข่งขันระหว่างบริษัทต่างๆ

ตั้งแต่สตาร์ทอัพ (Magic Leap, Thalmic Labs) ไปจนถึงบริษัทระดับโลก (Microsoft, Apple และ Facebook)

และในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ ก็มีแนวโน้มว่าปัญหาเดิมๆของ Glass น่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เช่นการแสดงแผนที่เดินทางในรูปความจริงเสริมผ่านเลนส์แว่น ทำให้ผู้ขับรถไม่ต้องก้มลงดูทางโทรศัพท์และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือการขอข้อมูลของสิ่งที่ปรากฏต่อหน้า (ซึ่งไม่น่าจะต่างจากฟังก์ชั่น camera search ในแอพมาร์เก็ตเพลสต่างๆมากนัก) หรือแม้แต่การทำหน้าที่โทรเข้าออกแทนโทรศัพท์ ที่น่าจะเป็นการทำงานพื้นฐาน

การที่ Facebook มีเทคโนโลยีจาก Oculus อยู่ในมือ ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

หากจะมีปัญหาอะไรสำหรับแว่น AR ของ Facebook ก็คงไม่พ้นเรื่องเดิมๆอย่างข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานที่เป็นประเด็นมาตลอดมากกว่า

เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ อาทิ Apple ซึ่งบริหารจัดการตรงนี้ได้ดีกว่า หรือแม้แต่บริษัทหน้าใหม่อย่าง Magic Leap และ Thalmic Labs ที่ยังไม่มีประวัติด่างพร้อยในด้านนี้นั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก

Facebook is building Lasso, a video music app to steal TikTok’s teens

Here’s Why The Tik Tok App Is Taking Over Other App Downloads

Facebook’s willingness to copy rivals’ apps seen as hurting innovation

Facebook confirms it’s building augmented reality glasses

5 Reasons Why Google Glass was a Miserable Failure

 

ถึงจะโดนเหน็บเรื่องลอกบ่อยๆ แต่พี่มาร์คก็หาได้แคร์ไม่ เพราะกว่าจะนำบริษัทมาอยู่ ณ จุดนี้ได้ เจ้าตัวก็ฝ่าฟันอะไรมามากมาย และหนึ่งในนั้นคือการทิ้งเงินก้อนโตที่อยู่ข้างหน้า เพราะความเชื่อมั่นส่วนตัวลึกๆว่าจะทำได้ดีกว่านั่นเอง

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Tesla ทำกำไรหมื่นล้านไตรมาสสาม-หนแรกรอบสองปี

Next Article
Autoblow AI

ถึงเส้นชัยแบบถูกใจด้วย Autoblow AI : เครื่องดูด***อัจฉริยะ

Related Posts