ในยุคที่เราเริ่มกลัวการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และ AI
หลายคนลืมคิดไปว่าท้ายที่สุด เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการต่างๆ เป็นเพียงองค์ประกอบที่เติมเต็มในความสำเร็จขององค์กร
ขณะที่ทรัพยากรบุคคลยังคงเป็น “สิ่งจำเป็น” เหมือนเดิม
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “ทุกคน” จะ “จำเป็น” สำหรับองค์กรเสมอไป
หากคุณทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือแค่อยู่ไปวันๆให้ผ่านเกณฑ์เท่านั้น
การจะอยู่รอดในยุคนี้และยุคหน้า ที่ต้องแข่งขันกับทั้งเครื่องจักรและมนุษย์ด้วยกัน
การมีคุณสมบัติต่อไปนี้ติดตัว
จะช่วยให้อย่างน้อย คุณจะเติบโตเป็น มนุษย์เงินเดือน ที่ “ใครก็แทนได้ยาก” จนบริษัทต้องเก็บคุณไว้
#1
ใส่ใจกับงานที่ได้รับมอบหมาย
คนที่ “ใครก็แทนได้” มักทำงานที่ได้รับมอบหมายแค่ให้พอผ่านไปเท่านั้น
เช่นถ้าได้รับคำสั่งจากผู้จัดการว่าให้สั่งเสื้อยืดที่จะใช้ในแคมเปญ
คนกลุ่มนี้จะกลับมาพร้อมกับลิงค์ติดต่อของซัพพลายเออร์เจ้าแรก
โดยไม่มีรายละเอียดใดๆเพิ่มเติม
ส่วนคนที่ “ใครก็แทนได้ยาก” จะพยายามหาตัวเลือกอื่นๆให้พิจารณา
พร้อมข้อมูลเปรียบเทียบเรื่องราคา เนื้อผ้า
รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ เช่นมีส่วนลดหรือไม่ สามารถส่งของให้ได้เมื่อไหร่ ฯลฯ
#2
คิดอะไรล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งสเต็ป
การลงมือทำในสิ่งที่รู้ว่าต้องทำ โดยไม่ต้องรอคำสั่งนั้น จะสร้างความประทับใจให้เบื้องบนได้ดีกว่า
เช่นเมื่อผู้จัดการถามว่า คุณทำงานที่ได้รับมอบหมายเรียบร้อยแล้วหรือยัง นอกจากจะตอบว่าเสร็จแล้ว คุณยังอาจเสริมถึงงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันไปด้วย
#3
มีทักษะในการสื่อสารกับคนรอบข้าง
คนที่สามารถทำงานกับคนอื่นๆได้ดี เป็นคนที่ไม่พูดวกไปวนมา หรือเสียเวลาอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานเกินไป
คุณสมบัตินี้ไม่ใช่แค่เรื่องการตีความและทำความเข้าใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อนพูดเท่านั้น
แต่ยังแสดงให้เห็นว่าคนๆนี้เห็นคุณค่าของเวลาสำหรับผู้อื่นด้วย
ในอีเมลของคนกลุ่มนี้ มักจะมีการจัดระเบียบและสรุปเรื่องราวต่างๆให้อ่านเข้าใจง่าย
ส่วนคนประเภทที่ “ใครก็แทนได้” จะเห็นการโต้ตอบไปมาซ้ำๆเรื่องเดิมแบบพายเรือในอ่าง
#4
เป็นคนที่เพื่อนร่วมงานและเจ้านายไว้ใจได้
คนที่ “แทนได้ยาก” คือคนที่เมื่อผู้จัดการเลือกฝากฝังงานไว้ เวลาไม่อยู่ที่ออฟฟิศ หรือมอบหมายงานสำคัญๆให้
ฉะนั้น นอกจากจะทำงานของตัวเองได้ดีแล้ว คุณควรต้องพร้อมเสมอสำหรับความท้าทายใหม่ๆ หรืองานที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญ
#5
ไม่อยู่เฉย รอแต่คำสั่ง
คนที่ “แทนได้ยาก” มักพยายามนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆให้กับบริษัท อาจเป็นคำแนะนำ ตั้งคำถาม รวมถึงพร้อมยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น
ส่วนคนที่ “ใครก็แทนได้” มักจะอยู่นิ่งๆรอคำสั่ง หรือทำในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานในเวลางาน
#6
ช่างสังเกตและเป็นผู้ฟังที่ดี
การตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ทำความเข้าใจ และจดบันทึก จะช่วยลดการเสียเวลาของอีกฝ่ายได้มาก เมื่อคุณจะไม่ต้องถามอะไรซ้ำๆเป็นครั้งที่สอง รวมถึงไม่ทำให้อีกฝ่ายหงุดหงิดที่ต้องพูดอะไรซ้ำเดิมๆด้วย
#7
ส่งต่อพลังบวก
บรรยากาศที่ดีในออฟฟิศเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อคนในออฟฟิศมีพลังบวกในตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เฟรนด์ลี่ ยิ้มแย้ม มองโลกในแง่ดี ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดหรืองานหนักก็ตาม
#8
พยายามแก้ปัญหา ไม่เอาแต่บ่น
ปัญหาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอทั้งในชีวิตและการทำงาน การมองหาวิธีแก้ และรีบลงมือทำน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า การบ่นซึ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย
#9
ปลุกเร้าทั้งตัวเองและคนรอบข้างได้
คนที่องค์กรต้องการจะไม่อยู่นิ่งๆ แต่จะคอยกระตุ้นตัวเองให้ตื่นตัวพร้อมทำงาน เพราะคนเหล่านี้รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และทำไปเพื่ออะไร ซึ่งในหลายครั้ง พลังบวกที่ว่านี้ยังสามารถส่งต่อให้คนรอบตัวคิดแบบเดียวกันด้วย
#10
ปรับตัวง่าย
คนเรื่องมาก ที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไร กลับเป็นคนประเภทที่ “ใครก็แทนได้” ส่วนคนที่ “แทนได้ยาก” มักพยายามทำความเข้าใจ และพร้อมปรับตัวเองเสมอ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กร
#11
ใส่ใจทั้งรายละเอียดและภาพกว้าง
คนที่องค์กรขาดไม่ได้ จะมองเห็นและเข้าใจภาพกว้างว่าองค์กรกำลังเดินไปทางไหน
การเข้าใจจะช่วยให้รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็รวมถึงการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของงานที่ต้องทำ โดยไม่ต้องรอให้เบื้องบนสั่ง
#12
พร้อมรับความท้าทาย
ในการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือคุ้นเคยเสมอไป คนที่พร้อมทำอะไรใหม่ๆ ก็เป็นการแสดงให้ผู้บริหารมองเห็นว่ามีความพร้อมในตัว หากจะต้องขยับขึ้นไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น และมีบทบาทมากกว่าเดิม
#13
รู้จักองค์กร
เมื่อคุณเป็นคนที่เข้าใจภาพกว้างขององค์กร เท่ากับว่าคุณมีความรู้พอสมควร เกี่ยวกับตัวบริษัท ผลิตภัณฑ์ กระบวนการต่างๆ ไปจนถึงลูกค้า และวัฒนธรรมองค์กร การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ประกอบการทำงานไปด้วย จะช่วยให้คุณรู้ว่าต้องทำอะไร และสามารถลงมือทำได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
#14
มีแพสชั่นในสิ่งที่ทำ
“ทำเพราะอยากทำ” คือคุณสมบัติที่จะช่วยให้คุณตั้งใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากเป็นพิเศษ ส่วนคนที่ “ใครก็แทนได้” มักจะคิดแค่ทำงานที่อยู่ตรงหน้าแบบผ่านๆให้เสร็จๆไป ต่อให้สามารถทำให้ดีกว่านั้นได้ก็ตาม
#15
เตรียมงานอย่างเป็นระเบียบ ลงมือทำเต็มประสิทธิภาพ
ในงานเดียวกัน คนที่ “ใครก็แทนได้” มักจะใช้เวลาทำมากกว่า คนที่ “แทนได้ยาก” เป็นเท่าตัว เพราะคนประเภทหลังนั้นรู้ดีว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ จึงจัดสรรเวลาได้ดีกว่า
AHEAD TAKEAWAY
ในยุคสมัยที่ทุกคนต้องการเป็น “นายตัวเอง” แบบนี้ การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้สำหรับบางคน
การเป็นพนักงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะหากคุณสามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเช่นกัน
ปัญหาใหญ่ทุกวันนี้คือหลายคนไม่ได้รับการสอนมา ว่าโลกของการทำงานกับโลกหลังรั้วสถาบันการศึกษานั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เราจึงได้เห็นมนุษย์เงินเดือนมากมาย ทำงานในลักษณะไม่ต่างอะไรไปกับ “การทำงานส่งอาจารย์” โดยหวังเพียงแค่ให้ผ่านไปวันๆเท่านั้น
ผลที่ตามมานั้น ไม่ได้ส่งผลเสียกับองค์กรเพียงอย่างใด แต่ตัวของมนุษย์เงินเดือนคนนั้นก็ค่อยๆสูญเสียแพสชั่น หรือความกระหายที่จะประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน
ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ คนในลักษณะดังกล่าวนับวันมีแต่จะยิ่งถดถอย และมีโอกาสถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรได้ง่ายขึ้น
การลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร ด้วยหลัก 15 ข้อนี้ นอกจากจะช่วยให้องค์กรเห็นค่าของตัวคุณมากขึ้น
ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ตัวคุณเติบโตขึ้นในสายงานด้วย ไม่ว่าจะเลือกอยู่กับองค์กรเดิม หรือย้ายไปอยู่กับที่ใหม่ๆ
เพราะไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน “คนเก่ง” ก็ยังเป็นที่ต้องการเสมอในตลาดแรงงาน
แม้แต่ในยุคที่เครื่องจักรและ AI กำลังเติบโตขึ้นมาแข่งขันกับมนุษย์เราก็ตาม
เรียบเรียงจาก
These 15 Behaviors Will Make You Almost Irreplaceable At Your Workplace
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่าลืมว่าทุกวันนี้ อย่าว่าแต่งานเบสิคเลย งานที่ซับซ้อนมากขึ้น เครื่องจักรก็พัฒนาจนจะเทียบเท่าเราได้แล้ว การอยู่เฉยๆโดยไม่เร่งพัฒนาตัวเอง จึงไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณแน่นอน เหมือนที่ Jack Ma เคยเตือนเราไว้เมื่อเร็วๆนี้
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า