ทุกวันนี้ รถไร้คนขับ (driverless car) อาจเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทชั้นนำทั่วโลก กำลังพัฒนาอย่างขะมักเขม้น
แต่ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว มันเริ่มต้นจากไอเดียของคนไม่กี่คนในแวดวงแคบๆ หนึ่งในนั้น คือ เซบาสเตียน ธรัน อดีตผู้อำนวยการแผนกวิจัย AI ของ ม.สแตนฟอร์ด และผู้ร่วมคิดค้น Google Street View
ในปี 2005 “สแตนลีย์” รถไร้คนขับซี่งพัฒนาโดย ธรัน และทีมวิศวกรของสแตนฟอร์ด เป็นผู้ชนะในการประกวด DARPA Grand Challenge ซึ่งจัดโดย สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมของสหรัฐ
ก่อนที่ ธรัน จะมีส่วนร่วมก่อตั้ง Google X และ Waymo ฝ่ายพัฒนารถยนต์ไร้คนขับของ Google ในเวลาต่อมา
นี่เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งที่ทำให้ ธรัน ได้รับเลือกจาก Fast Company ให้ติดท็อป 5 ของผู้มีไอเดียสร้างสรรค์ที่สุดของโลกธุรกิจในปัจจุบัน (most creative person in the business world)
แม้ทุกวันนี้ ทั้งสองหน่วยจะถูกสปินออฟเป็นบริษัทลูกในเครือของ Google และไม่อยู่ในความดูแลของ ธรัน แล้ว
แต่เจ้าตัวก็ยังไม่หยุดยั้งในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเช่นเดิม
ซึ่งหนึ่งในโปรเจกต์ที่เจ้าตัวดูแลอยู่ในปัจจุบัน ก็คือ Kitty Hawk ยานพาหนะรูปแบบใหม่ ซึ่งก็ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก แลร์รี่ เพจ ซีอีโอของ Alphabet เช่นเดิม
และนี่คือมุมมองใหม่ๆของเจ้าตัวถึงโลกในอนาคตอันใกล้ ทั้ง อากาศยานรูปแบบใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงความเป็นไปได้ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น
#1
Kitty Hawk ตัวเลือกใหม่ในการบิน

ธรัน เชื่อว่าทุกนวัตกรรมต้องมีคนกล้าที่จะริเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆก่อนคนอื่นๆ แม้ในช่วงแรกอาจจะทุลักทุเลอยู่บ้างก็ตาม
เหมือนร้อยปีก่อนที่ รถยนต์รุ่นแรกจะทั้งวิ่งช้า เสียงดัง และพังง่าย จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่ามันดีกว่ารถม้ายังไง แต่ท้ายที่สุด ทุกวันนี้ รถยนต์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว
ซึ่งเจ้าตัวก็เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆเกิดขึ้นอีกในการคมนาคมขนส่งของโลก นอกเหนือจากรถไร้คนขับที่ตนวางรากฐานไว้แล้ว
สำหรับ Kitty Hawk ที่ได้ทุนสนับสนุนจาก แลร์รี่ เพจ ถึง 100 ล้านดอลลาร์นั้น กำลังพัฒนาเครื่องบินสองรูปแบบขึ้นมา
หนึ่งคือ Cora “เครื่องบินไร้คนขับ” ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2010 โดยความร่วมมือกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่หวังจะนำมาใช้แก้ปัญหาคมนาคมในตัวเมือง
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่คล้ายเครื่องบินทั่วไป แต่สามารถขึ้นลงได้ในแนวตั้ง สำหรับใช้ในการเดินทางพร้อมกันหลายๆคน
และสองคือ The Flyer ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องบินน้ำผสมกับโดรน สำหรับใช้โดยสารเพียงคนเดียว โดยที่ ธรัน คุยว่าบังคับได้ง่าย ใช้เวลาในการเรียนรู้ทำความเข้าใจไม่ถึงห้านาที
#2
ปัญญาประดิษฐ์คือเครื่องมือ

ธรัน นั้นคลุกคลีกับปัญญาประดิษฐ์มายาวนาน เพราะ AI ก็คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของรถไร้คนขับนั่นเอง
ในมุมมองของ ธรัน นั้น ยังเห็นต่างจากหลายคน (หนึ่งในนั้นคือ อีลอน มัสก์) ที่กลัวว่า AI จะเติบโตจนเป็นภัยต่อมนุษย์
เขายังเชื่อว่าสุดท้าย AI และเทคโนโลยีอื่นๆ จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ในปัจจุบัน พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นมากกว่า
“การมี AI จะทำให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆได้ไม่ยาก ที่ผ่านมา เราอาจจะพูดถึงกฏหนึ่งหมื่นชั่วโมงในการเรียนรู้ แต่คุณลองคิดสิ ว่าวันนึง เราอาจจะมีหมอเก่งๆได้ภายในวันเดียว”
#3
มองอนาคตในเชิงบวก

ธรัน มองว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นนัก เพราะมัวแต่ไปกลัวว่า “เรื่องที่ตนไม่รู้จัก” จะกลับมาเป็นภัยในภายหลัง
“ผมว่าเพราะคนจำนวนไม่ค่อยตรึกตรองเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากพอ พวกเขาอาจจะมองความเป็นไปของเทคโนโลยีจากวงนอก เมื่อมีนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น
จนเมื่อพวกเขาเริ่มเห็นประโยชน์ของมัน ถึงจะเริ่มชอบมัน ต้องการมัน กระทั่งสุดท้ายอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมัน
พอถึงตอนนั้น พวกเขาก็จะเริ่มหยุดคิดเรื่องความก้าวหน้าแล้ว หรือไม่ก็คิดไปว่ามันจะส่งผลเสียต่อตัวเองยังไง”
ในทรรศนะของ ธรัน ทุกอย่างล้วนมีข้อดีข้อเสียในตัวมัน แม้แต่เรื่องธรรมดาๆอย่างมีดทำครัวก็สามารถสร้างสรรค์ในการแง่ของการทำอาหาร และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากใช้มันผิดประเภท
เทคโนโลยีก็เช่นกัน ซึ่ง ธรัน ก็เชื่อว่าเราควรจะมองหาแง่ดีของสิ่งต่างๆเพื่อดึงประโยชน์ของมันออกมามากกว่า เหมือนที่เขาและคนอื่นๆ ในวงการทำ
“คุณไม่มีทางการันตีได้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่หากมีโอกาสประสบความสำเร็จซัก 5% มันก็คุ้มค่าที่จะลองทำแล้ว”
AHEAD TAKEAWAY
นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆนั้น มักไม่เป็นที่ยอมรับในช่วงเริ่มแรก เหมือนที่หลายคนเคยปรามาสความคิดของ เฮนรี่ ฟอร์ด ในการผลิตรถยนต์จำนวนมาก เพราะยังเชื่อมั่นในรถม้านั่นเอง
แต่สุดท้าย ปัจจุบัน ม้าก็แทบไม่ได้ถูกใช้งานในฐานะยานพาหนะสำหรับสัญจรหรือขนส่งอีกต่อไป
เช่นกัน รถยนต์ไร้คนขับ AI หรือแม้แต่เครื่องบินขนาดเล็กที่ เซบาสเตียน ธรัน พยายามสร้างขึ้น ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากคนหมู่มากในเวลาอันใกล้
แต่ท้ายที่สุด หากเทคโนโลยีสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าใช้งานได้จริง มันก็จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรา เหมือนกับรถยนต์ในปัจจุบัน
ฉะนั้น การตั้งแง่กับสิ่งใหม่ๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยี) คงไม่ให้ประโยชน์อะไร การเปิดใจให้กว้างและพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่นกัน
เรียบเรียงจาก
SEBASTIAN THRUN ON AI, FLYING CARS, AND SAM ALTMAN
A new version of the ‘flying car’ backed by Google cofounder Larry Page is here
นวัตกรรมนั้นเกิดจากความพยายามที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เหมือนที่ทีมวิจัยของ Intel พยายามสร้าง “เสียง” และ “ข้อความ” ของสตีเฟ่น ฮอว์กิง เพื่อเปิดทางให้เจ้าตัวสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนทั่วไปได้
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน