ไมโครชิป

สหภาพแรงงานเตือนองค์กรในอังกฤษ ระวังปัญหาฝังไมโครชิปในพนักงาน

สมาพันธ์อุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร และกลุ่มสหภาพแรงงาน เตือนถึงองค์กรและบริษัทต่างๆ ที่ปลูกถ่าย ไมโครชิป เพื่อยกระดับปลอดภัยด้านข้อมูลในร่างกายพนักงาน ให้ระมัดระวังการใช้งานเป็นพิเศษ รวมถึงต้องคำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

การฝัง ไมโครชิป ในร่างกายมนุษย์นั้น ใช้เทคโนโลยี NFC แบบ passive เพื่อส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่ฝังในสัตว์เลี้ยง หรือติดตามตำแหน่งการส่งของ โดยชิปที่มีขนาดเล็กประมาณเมล็ดข้าว จะถูกฉีดลงที่ตำแหน่งระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เพื่อให้พนักงานสามารถปลดล็อคประตูบริษัทได้โดยไม่ต้องสแกนบัตรหรือกดรหัส ไปจนถึงการสตาร์ทรถยนต์ด้วยเพียงการโบกมือ นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ของพนักงานคนนั้นได้ด้วย

ที่ผ่านมา การนำเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มแพร่หลายขึ้นในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ก่อนจะขยายมาสู่สหราชอาณาจักรแล้ว โดย BioTeq รับเป็นซัพพลายเออร์ ส่งมอบและติดตั้งไมโครชิปให้กับบริษัทห้างร้านและการใช้งานส่วนบุคคล ในบริษัทต่างๆ รวมแล้วกว่า 150 แห่ง

ขณะที่ Biohax จากสวีเดน ก็เผยว่าอยู่ในขั้นตอนเจรจากับบริษัทด้านกฎหมายและการเงินของอังกฤษหลายราย ในการฝังชิปให้กับพนักงาน ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนด้วยกัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้สมาพันธ์อุตสาหกรรมของอังกฤษ (Confederation of British Industry – CBI) และสหภาพแรงงาน (Trades Union Congress – TUC) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทในอังกฤษจำนวน 190,000 แห่ง แสดงความวิตกถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการใช้เทคโนโลยีควบคุมพนักงาน ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิความเป็นส่วนตัว พร้อมเรียกร้องว่า นายจ้างจะต้องไม่บังคับหรือกดดันพนักงานให้ทำสิ่งนี้

รายงานจาก เดอะ การ์เดี้ยน ระบุว่า บริษัทด้านกฎหมายและการเงินของอังกฤษหลายราย ไม่เพียงแต่กำลังเจรจากับ Biohax เท่านั้น แต่บางบริษัทก็เริ่มดำเนินการฝังชิปแล้ว

แต่ KPMG, EY และ PwC สำนักงานบัญชีรายใหญ่ในอังกฤษ ปฏิเสธการฝังไมโครชิปเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ Deloitte ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็น

 

AHEAD TAKEAWAY

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสแกนดิเนเวีย การฝังไมโครชิปนั้นถูกมองว่าเป็นก้าวแรกสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคต

ในแง่ของการช่วยขับเคลื่อนทุกอย่าง ตั้งแต่การซื้อสินค้า ปลดล็อกประตู ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ล็อกอินเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงใช้เป็นนามบัตร หรือเก็บข้อมูลสุขภาพ

โจแวน ออสเตอร์ลุนด์ อดีตช่างเจาะร่างกาย ผู้ก่อตั้ง Biohax ระบุว่า การฝังไมโครชิปจะมีส่วนช่วยปรับปรุงความปลอดภัยข้อมูลได้ ในกลุ่มบริษัทด้านการเงินและกฎหมาย หรือแม้แต่ช่วยในการเดินทาง เหมือนที่ผู้ให้บริการรถไฟในสวีเดน Statens Jarnvagar เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และนำไปประยุกต์ใช้แทนการถือตั๋วรถไฟแบบเดิมๆ

ที่สำคัญการฝังไมโครชิปด้วยการฉีดเข้าที่มือนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายและมีค่าใช้จ่ายเพียง 70 – 260 ปอนด์ (ราว 3,045 – 11,310 บาท) ต่อคน ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของหัวใจ pacemaker ในร่างกาย

แต่ทุกความก้าวน้า ก็มีข้อกังขาเสมอ

ในยุคที่ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของบุคคล เป็นทรัพยากรล้ำค่าที่สามารถนำไปต่อยอดได้มากมาย จนเกิดข้อครหากับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่หาช่องว่างจากการใช้งานสมาร์ทโฟนของเราบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Google

ปัญหาในลักษณะเดียวกัน จะยิ่งถูกจับจ้องเป็นพิเศษ เมื่อเปลี่ยนจากสมาร์ทโฟนในมือ กลายเป็น “ไมโครชิปในร่างกายมนุษย์”

ยิ่งหากเป็นการติดตั้งชิปโดยคำสั่งขององค์กรแล้ว ยังมีเรื่องของสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องด้วย

เบน ลิบเบอร์ตัน นักจุลชีววิทยาจาก Karolinska Institute ให้ทรรศนะว่าข้อมูลที่อยู่ในชิปนั้น แตกต่างจากข้อมูลในสมาร์ทโฟนมาก เพราะในทางทฤษฏี บริษัทหรือองค์กรสามารถแกะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ สถานที่ที่เราไป ข้อมูลว่าทำงานบ่อยแค่ไหน นานแค่ไหน ลุกออกไปเข้าห้องน้ำกี่ครั้ง เมื่อไหร่ ฯลฯ

นอกจากนี้ แม้จะติดตั้งได้ง่าย แต่ชิปจะติดตัวไปตลอด จนกว่าจะผ่าตัดออก

และยังเป็นคำถามว่า เมื่อพนักงานคนนั้นๆ สิ้นสุดการทำงานกับบริษัทแล้ว ไม่ว่าจะลาออกเองหรือโดนเลิกจ้าง บริษัทจะทำอย่างไรกับไมโครชิปที่อยู่ในตัวของพนักงาน และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อถึงเวลาต้องผ่าตัดออก

 

เรียบเรียงจาก
Alarm over talks to implant UK employees with microchips

 

ความปลอดภัยด้านข้อมูลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าที่คิด เฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่การนำเทคโนโลยี NFC มาใช้กับบัตรเครดิต เพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยความสุ่มเสี่ยงจากฝีมืออาชญากรหัวใสเหล่านี้ ลองไปดูว่าภัยรูปแบบไซเบอร์ที่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดเป็นอย่างไร ที่นี่

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
สตรีมมิ่ง

เปิดตัว Disney+ ชน Netflix ในสังเวียนสตรีมมิ่ง ปลายปีหน้า

Next Article
Kit Kat

Kit Kat จากขนมธรรมดาสู่ #ของมันต้องมี

Related Posts