Facebook

โพลชี้ Facebook รั้งบ๊วยความน่าเชื่อถือ ด้านปกป้องข้อมูลผู้ใช้งาน

ผลสำรวจจาก Fortune พบ Facebook เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ที่มีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุดเรื่องการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน ในสายตาชาวอเมริกันไปแล้ว โดยได้รับคะแนนความไว้วางใจไปเพียง 22 % หรือน้อยกว่า Amazon เกินกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

Fortune ร่วมกับ Harris Poll ทำการสำรวจความเห็นชาวอเมริกันจำนวน 2,000 คน จนถึงช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ถึงความเห็นที่มีต่อบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ในประเด็นความน่าเชื่อถือเรื่องความปลอดภัยของการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

ผลปรากฏว่า Amazon เป็นอันดับ 1 โดยได้รับคะแนนไปถึง 49% ตามด้วย Google 41%, Microsoft 40%, Apple 39% ขณะที่ Facebook กลับได้รับไปเพียง 22% ซึ่งถือว่าห่างจากกลุ่มบริษัทระดับเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

จอห์น เกอร์เซม่า ซีอีโอ Harris Poll กล่าวว่า “วิกฤตของพวกเขายังคงดำเนินต่อไป”

โพลล่าสุดนี้นับเป็นอีกหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงชื่อเสียงของตัวซัคเกอร์เบิร์กเอง ซึ่งนอกจากประเด็นความปลอดภัยแล้ว บรรดาผู้ลงเสียงโหวตยังร่วมกันจัดอันดับให้พวกเขารั้งท้ายทั้งในแง่ความเป็นผู้นำ, จรรยาบรรณ, ความไว้วางใจ และภาพลักษณ์ อีกด้วย

บริษัทปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโพลชิ้นนี้ และเลือกจะชี้ไปยังการที่ ซัคเกอร์เบิร์ก เคยเผยเมื่อไม่นานนี้ว่าได้มีการลงทุนในการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มระดับการปกป้องข้อมูลขึ้นแล้ว

ในแบบสำรวจเดียวกันยังมีการตั้งคำถามว่า ผู้ตอบได้มองบริษัทไอทีเหล่านี้ว่ามีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง 48% ระบุว่าโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่ง กำลังเดินไปในทิศทางที่แย่ลง ขณะที่มีเพียง 17% เท่านั้นที่มองว่าดีขึ้น

สถานการณ์ของ Facebook นั้น สวนทางกับ Microsoft โดยมีเพียง 7% เท่านั้น ที่มองว่ายักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ แย่ลงในช่วง 6 เดือนล่าสุด ขณะที่ Amazon ก็มีผลโหวตแง่ลบนี้ ที่ 10% ส่วน Apple 14% และ Google 16%

ส่วนในหัวข้อ “คุณมีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำองค์กรเหล่านี้ขนาดไหน ในเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนตัวตามหลักจริยธรรม” ซัคเกอร์เบิร์ก ก็ยังรั้งท้ายเช่นเคย โดยได้รับไป 59%

ส่วนอันดับ 1 เป็น เจฟฟ์ เบโซส แห่ง Amazon 77% ตามด้วย ทิม คุก ของ Apple 72%, สัตยา นาเดลล่า ของ Microsoft 71%, ซุนดาร์ พิชัย ของ Google 68%

“ในกรณีนี้ มันอาจหมายถึง ซัคเกอร์เบิร์ก ได้แค่เกรด C หรือ D เท่านั้นในชั้นเรียน” เกอร์เซม่า สรุป พร้อมย้ำว่า ซัคเกอร์เบิร์ก ยังมีงานหนักอีกมากในการกอบกู้ความมั่นใจของผู้ใช้กลับคืน หลังจากเกิดปัญหาซ้ำๆ ในตลอดช่วงที่ผ่านมา

 

AHEAD TAKEAWAY

นับวัน สัญญาณที่บ่งบอกว่า Facebook ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว จะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อล่วงเข้ามาถึงปี 2018

เพราะนอกจากการถูกโจมตีต่อเนื่องมาตลอด ทั้งเรื่องการพัวพันกับแคมเปญการเลือกตั้งประธานาธิบดี การเป็นต้นตอของ fake news และ hate speech ต่างๆแล้ว ทั้งหมดนี้ ถูกเสริมด้วยแรงส่งจาก Cambridge Analytica ที่ถูกเปิดเผยเมื่อต้นปี จนเกิดแคมเปญ #DeleteFacebook ที่ยังส่งผลกระทบต่อบริษัทมาจนทุกวันนี้

ไม่ใช่แค่ศึกนอกเท่านั้น แต่ศึกในบริษัทก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่พอใจ ซัคเกอร์เบิร์ก เป็นทุนเดิม ก็เริ่มเดินหน้ากดดันบอร์ดบริหารให้พิจารณาสถานะของซีอีโอรายนี้แล้ว หลังราคาหุ้นของบริษัทดำดิ่งหนักตั้งแต่ช่วงไตรมาสสองเป็นต้นมา

กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่แย่เท่ากับยอดผู้ใช้งานในแถบอเมริกาเหนือและยุโรปที่ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ ทั้งในหมู่วัยรุ่นที่มองว่าพวกเขาเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คของคนรุ่นก่อน ไปจนถึงความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยที่ลดลงเรื่อยๆ จากรายงานที่ถูกนำเสนอมา

รายงานยังสรุปว่า “ณ ตอนนี้ ผู้คนไม่ได้อยู่ในอารมณ์ของการให้อภัย เมื่อพูดถึง ซัคเกอร์เบิร์ก และบริษัทของเขา”

 

เรียบเรียงจาก
Facebook Is the Least Trusted Major Tech Company When it Comes to Safeguarding Personal Data, Poll Finds

คุณอาร์ท ซีอีโอของ AHEAD ASIA เคยวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งไว้บ้างแล้ว เมื่อครั้งที่ ซัคเกอร์เบิร์ก และทีมงานต้องเข้าพบสมาชิกสภาคองเกรส ไปดูกันในคลิปนี้ ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ที่นี่

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
AIS

AIS คว้ารางวัลองค์กรที่มีสถานที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพที่สุด

Next Article
คาช็อกกี

Uber แทงกั๊ก รอคดี "คาช็อกกี" กระจ่าง ก่อนสรุปอนาคตกองทุนซาอุฯ

Related Posts