คาช็อกกี

Uber แทงกั๊ก รอคดี “คาช็อกกี” กระจ่าง ก่อนสรุปอนาคตกองทุนซาอุฯ

ดารา คอชโรชาฮี ซีอีโอ Uber เผยยังไม่ตัดสินใจเรื่องความร่วมมือระหว่างบริษัทของตน กับราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ที่มีข่าวพัวพันกับการเสียชีวิตของ จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าววอชิงตัน โพสต์ โดยจะขอพิจารณาอีกครั้ง เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนกว่านี้

คอชโรชาฮี เป็นหนึ่งในซีอีโอของบริษัทชั้นนำรายแรกๆ ที่ประกาศถอนตัวจากการประชุมทางธุรกิจของซาอุฯ ภายหลังสื่อหลายสำนักลงความเห็นว่ามกุฏราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง การสังหาร คาช็อกกี ที่สถานกงสุลซาอุฯ ในตุรกี เมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งที่กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ใน Uber และยังมี ยัสเซอร์ อัล รูมายยาน เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตาม ในงานประชุมวอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คอชโรชาฮี ก็พยายามสงวนท่าทีมากขึ้น เมื่อถูกตั้งคำถามถึงกรณีนี้

“เราไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินใจอะไรได้ จนกว่าจะได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องที่เกิดขึ้นมันเลวร้ายจริงๆ แต่เราก็อยากที่จะทราบข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้น จึงจะมีการพูดคุยกับคณะกรรมการ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด”

ส่วนเรื่องที่เขาตัดสินใจถอนตัวออกจากการประชุมที่ซาอุฯ เมื่อเดือนที่แล้ว คอชโรชาฮี อธิบายว่าเป็นเพราะไม่ทราบข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ และรู้สึกว่ายังไม่เหมาะสมที่จะเข้าร่วม

ส่วนการตัดสินใจเรื่องความสัมพันธ์นั้น คอชโรชาฮี ไม่ได้พูดถึงเรื่องการแยกตัวออกไปโดยไม่รับเงินสนับสนุนจากฝ่ายซาอุฯ และยังทิ้งท้ายว่า “จนถึงตอนนี้ ผมต้องยอมรับว่าทางซาอุฯเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่มีส่วนสำคัญกับเรามาก”

 

AHEAD TAKEAWAY

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการซาอุฯ เปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูง 5 คนถูกไล่ออก ในจำนวนนี้ มีทั้งหัวหน้าฝ่ายสื่อของมกุฎราชกุมาร และรองหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง แต่ยังยืนกรานปฏิเสธว่ามีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้เช่นเดิม

ซึ่งสวนทางกับการสันนิษฐานโดยเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ว่าภารกิจดังกล่าว ซึ่งมีมือสังหาร 15 คนจากริยาดห์ จะไม่สามารถลงมือได้ หากปราศจากการเปิดไฟเขียวของเจ้าชาย บิน ซัลมาน

ก่อนหน้านี้ ทาง AHEAD ASIA ก็เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่งว่าสตาร์ทอัพใน ซิลิคอน วัลลีย์ หลายแห่งนั้น ก็เลือกที่จะปิดปากเงียบไม่แสดงความเห็นใดๆเกี่ยวกับกรณีนี้ เนื่องจากรับเงินสนับสนุนจากทางซาอุฯ ไม่ทางใดทางหนึ่งอยู่เช่นกัน

ขณะที่ Uber แม้จะเป็นบริษัทชั้นนำแล้วก็ตาม แต่ท่อน้ำเลี้ยงใหญ่อีกทางก็ไม่ต่างกับบรรดาสตาร์ทอัพเหล่านั้น เพราะกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ ก็ซื้อหุ้นบริษัทไปถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 115,500 ล้านบาท) เมื่อปี 2016

ขณะที่ SoftBank Group ของ มาซาโยชิ ซัน ที่เป็นทางผ่านของกองทุนดังกล่าวเอง ก็มีเครือข่ายโยงใยกับทั้ง Uber และสตาร์ทอัพสายให้บริการเรียกรถอีกมากมายทั่วโลก

ในแง่หนึ่ง เราอาจมองได้ว่า คอสโรชาฮี รวมถึงซีอีโอของสตาร์ทอัพอื่นๆ เชื่อในกระบวนการทางกฏหมาย และไม่ด่วนสรุปว่า มกุฏราชกุมาร บิน ซาลมาน อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ จนกว่าทุกอย่างจะได้รับการเปิดเผย

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจต้องยอมรับว่าในโลกที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงินทุนนั้น การจะประกาศท่าทีชัดเจนอะไรคงเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่บริษัทนั้นๆ ยังไม่สามารถยืนหยัดได้โดยลำพัง

ต่อให้คนที่ช่วยพยุงให้องค์กรเหล่านั้นยืนอยู่ได้ อาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหนึ่งในการลอบสังหารที่อุกอาจที่สุดครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้

เรียบเรียงจาก
Uber’s CEO wants to ‘get the facts’ on Khashoggi killing before rethinking Saudi ties

 

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Facebook

โพลชี้ Facebook รั้งบ๊วยความน่าเชื่อถือ ด้านปกป้องข้อมูลผู้ใช้งาน

Next Article
สมาร์ทโฟน

นักวิเคราะห์ชี้สมาร์ทโฟนใกล้ถึงทางตัน-เปลี่ยนยุคสู่อุปกรณ์อัจฉริยะ

Related Posts