ทุกวันนี้ คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักผู้ชายที่ชื่อ แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์
และหลายคนอาจเคยพอรู้มาบ้าง ว่าเขาเคยถูกปฏิเสธเข้าทำงานถึง 30 ครั้ง โดยเฉพาะการเป็นคนเดียวจากผู้สมัครทั้งหมด 24 คน ที่ไม่ถูกเลือกจากร้านไก่ทอด KFC ก่อนจะใช้มันเป็นแรงผลักดันจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
แต่ชีวิตของ แจ๊ค หม่า ไม่ได้มีเรื่องราวน่าทึ่งแค่นั้น และนี่คือ 10 เรื่องเกี่ยวกับผู้ก่อตั้ง Alibaba ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
#1
ชื่อเดิมของ แจ๊ค คือ “หม่า หยุน”
ชื่อเท่ๆอย่าง “แจ๊ค” นั้น ไม่ได้ติดตัวเขามาตั้งแต่แรก แต่เป็นผลพลอยได้จากความมุ่งมั่น และมิตรภาพจากต่างแดน
เหตุเกิดเพราะอยากฝึกภาษาอังกฤษให้เก่ง ดช.หม่า หยุน จึงหัดเป็นไกด์สมัครเล่นตั้งแต่อายุ 12
นอกจากจะได้ฝึกฝนภาษาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือมิตรภาพไร้พรมแดนกับนักท่องเที่ยวมากมาย รวมถึงสองพ่อลูกชาวออสเตรเลีย เคน และ เดวิด มอร์ลีย์
ไม่มีการยืนยันว่าสองพ่อลูกมอร์ลีย์เป็นคนตั้งชื่อ “แจ๊ค” ให้กับ หม่า หยุน หรือไม่ มีเพียงการระบุว่า “เพื่อนๆชาวออสเตรเลีย” เรียกเขาว่า “แจ๊ค”
เพราะชื่อ “หม่า หยุน” นั้น ออกเสียงยากเกินไปสำหรับชาวตะวันตกนั่นเอง
#2
เคยได้เงินเดือนแค่ 500 บาท
ถึงจะฝึกฝนอังกฤษจนเชี่ยวชาญแล้ว แต่ แจ๊ค ก็ยังสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยถึงสองครั้ง
แต่เจ้าตัวก็ไม่ละความพยายาม จนสุดท้าย หลังจากเรียนจบ เขาก็ได้บรรจุเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนได้
และเงินเดือนก้อนแรกในชีวิตของ “คุณครูแจ๊ค” ก็ออยู่ที่ 12-15 ดอลลาร์ หรือราว 4-500 บาท
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกอคติกับอาชีพนี้เลย เพราะเขายังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าวันหนึ่ง เมื่อถอนตัวจากงานบริหารที่ Alibaba แล้ว ยังอยากจะกลับไปเป็น “คุณครูแจ๊ค” อีกซักครั้ง
#3
คาถาวิเศษ…ที่มาของชื่อ Alibaba
ตอนคิดจะตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซขึ้น แจ๊ค ต้องการได้ชื่อที่คนจดจำได้ และรู้จักกันดีอยู่แล้ว
ตัวเลือกแรกๆที่เขาต้องการคือ “อาลีบาบา” แม้จะไม่ได้สื่ออะไรถึงธุรกิจที่กำลังจะทำเลยก็ตาม
“อาลีบาบา” คือชื่อของคนตัดไม้ ผู้รู้คาถาเปิดถ้ำที่ซ่อนขุมทรัพย์ จากนิทานพันหนึ่งราตรี
เพราะต้องการให้แน่ใจว่ามันเป็นชื่อที่ใครๆก็รู้จัก
แจ๊ค จึงทดลองนำชื่อ “อาลีบาบา” ไปถามทุกคนที่เคยเจอ ไล่ตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร ไปจนถึงคนที่ทำธุรกิจด้วยกัน
ไม่ใช่แค่นั้น เขายังยอมลงทุนซื้อโดเมนเนม alibaba.com จากเจ้าของเดิม ในราคา 1 หมื่นดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนบาท
และยังตั้งโดเมนเนมอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับชื่อ “อาลีบาบา” สำหรับใช้ในกิจการอื่นๆของบริษัทในเครือด้วย
#4
พิทช์แค่ห้านาที แลก 600 ล้านบาท
SoftBank Group ของ มาซาโยชิ ซัน คือผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Alibaba ในปัจจุบัน ที่จำนวน 29.11%
นับเป็นการลงทุนที่น่าจะเรียกว่าคุ้มค่าที่สุดของ มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้ง SoftBank ก็ว่าได้
ว่ากันว่า ซัน ซึ่งได้พบกับ แจ๊ค ผ่านการแนะนำของ เจอร์รี่ หยาง ผู้ก่อตั้ง Yahoo! ตัดสินใจลงทุน 600 ล้านบาท ซื้อหุ้น Alibaba หนึ่งในสาม
หลังจากนั่งฟังการพิทช์งานของ แจ๊ค เพียงแค่ห้านาที โดยที่เวลานั้น Alibaba ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็กๆที่ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันด้วยซ้ำ
ซัน เล่าภายหลังว่าเหตุผลที่เขาลงทุนนั้น ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ แจ๊ค พูด แต่เป็นความประทับใจ ที่มีต่อสายตาอันมุ่งมั่นของ แจ๊ค ซึ่งทำให้เขานึกถึง บิล เกตส์ และ สตีฟ จ๊อบส์ สองสุดยอดผู้ประกอบการในโลกเทคโนโลยี
#5
จอมยุทธ์ แจ๊ค
ไม่ใช่แค่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหาร และค้าขายเท่านั้น แจ๊ค ยังฝึกฝนศิลปะการป้องกันตัวมวยไท่เก๊กมานานกว่า 30 ปี
และมีเป้าหมายคือการเป็นที่จดจำในฐานะปรมาจารย์มวยไท่เก๊ก มากกว่าในฐานะผู้ก่อตั้ง Alibaba ด้วย
ถามว่า แจ๊ค จริงจังแค่ไหน พิสูจน์ได้จากลีลากังฟู ในการแสดงร่วมกับแอ็กชั่นสตาร์แถวหน้า อย่าง จา พนม, เจ็ท ลี และ ดอนนี่ เยน ในเรื่อง The Art of Attack and Defence
#6
ชีวิตติดปีก
เราจะเห็น แจ๊ค ปรากฏตัวตามงานต่างๆตลอด ไม่ใช่แค่ในจีน แต่เป็นทั่วโลก
เพราะบทบาทประธานบริหาร ที่เปรียบเสมือนหน้าตาของ Alibaba ทำให้เขาต้องเดินทางไปทั่วโลก เพื่อนำเสนอแนวคิดขององค์กรแก่ผู้คนมากมายในทุกระดับ
ว่ากันว่าในปี 2017 เขาใช้เวลาบนเครื่องบิน ราว 870 ชั่วโมง หรือเกือบๆ 37 วัน
เท่ากับว่าเขาใช้เวลาในหนึ่งปี เขาใช้เวลาในการเดินทางเฉพาะบนอากาศ มากถึง 1 เดือนกับ 1 สัปดาห์เลยทีเดียว
ซึ่งเจ้าตัวก็เคยเปรยว่าในปี 2018 นี้ ตัวเลขดังกล่าว น่าจะเพิ่มขึ้นอีกจนทะลุหลัก 1,000 ชั่วโมง ได้ไม่ยากด้วย
#7
กินง่าย อยู่ง่าย
Photos of #Alibaba‘s Jack Ma having instant noodles go viral on Chinese internet. Netizens say that it’s not easy being a billionaire. pic.twitter.com/Xj9rEhaiDp
— China News 中国新闻网 (@Echinanews) September 22, 2017
แม้จะร่ำรวยล้นฟ้าแล้ว แต่ แจ๊ค ยังใช้ชีวิตเรียบง่ายเช่นเดิม
ทวิตเตอร์ของสำนักข่าวไชน่า นิวส์ เคยลงรูปเขานั่งทานบะหมี่สำเร็จรูป พร้อมกับข้าวอีกสองอย่าง เป็นมื้อเที่ยง
และไม่ใช่การสร้างภาพเมื่อดังแล้ว แต่เขาทำแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เมื่อ 18 ปีก่อน
เช่นกัน เป็นการตอกย้ำสิ่งที่เขาเคยพูดไว้ว่าไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนรวย เพราะทุกวันนี้ เขายุ่งจนไม่มีเวลาเหลือแม้แต่จะใช้เงินที่หามา
#8
จระเข้แห่งแยงซี
ในยุคแรกของการก่อตั้งนั้น Alibaba ต้องแข่งขันกับ eBay ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐที่ครองตลาดอีคอมเมิร์ซ ในจีนไว้กว่า 70%
แจ๊ค เปรียบตัวเขาในเรื่องนี้ เป็นจระเข้ในแม่น้ำแยงซี ส่วน eBay แม้จะแข็งแรงดุดันกว่า แต่ก็เป็นฉลามที่ว่ายข้ามมหาสมุทรมาในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย
การแข่งขันในบ้านตัวเอง จึงทำให้เขาได้เปรียบ เพราะเข้าใจคนจีนด้วยกันดีกว่า eBay ที่เป็นต่างชาติ
กลยุทธ์ของ Alibaba ในการตีตลาด eBay คือไม่เก็บเงินจากผู้ขาย ที่ลงขายสินค้าใน Taobao
และเน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อเข้าถึงคนหมู่มาก
ขณะที่ eBay ยังดึงดันเลือกใช้วิธีเดิมที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในสหรัฐ โดยไม่คำนึงถึงว่าพื้นฐานคนอเมริกันกับจีนนั้นต่างกัน
เพียงสามปี สถานการณ์ก็พลิกกลับ และสุดท้าย eBay ต้องเป็นฝ่ายถอยทัพไปเองในที่สุด
เหตุการณ์นี้ ยังถูกบันทึกไว้ในรูปสารคดี Crocodile in the Yangtze ด้วย
The Alibaba Story – Crocodile in the Yangtze from Taluswood Films on Vimeo.
#9
เห็นโอกาสในวิกฤต
ก่อนนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นเรื่องไกลตัวผู้คน
จนเมื่อเกิดการระบาดของโรคซาร์สขึ้น ในปี 2003 ผู้คนจึงเริ่มลดการสัญจร และออกจากบ้านน้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อและล้มป่วย
ผลที่ตามมาคือค้าปลีกแบบดั้งเดิมในจีนถึงประสบปัญหาซบเซา
แจ๊ค หม่า ถึงใช้โอกาสนี้ เป็นใบเบิกทาง ให้ชาวจีนได้รู้จักการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ผ่านทาง Taobao เว็บไซต์ของบริษัทที่เปิดตัวครั้งแรกในช่วงนี้
เมื่อผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความสะดวก อีคอมเมิร์ซในจีนจึงเติบโตรวดเร็ว จนกลืนกินค้าปลีกดั้งเดิมไปในที่สุด
#10
เท้าไฟ ไมเคิล แจ๊คสัน
ไม่ใช่แค่เรื่องกังฟูเท่านั้น ที่ถนัด แม้แต่ลีลาแดนซ์ และเต้นมูนวอล์ค แบบราชาเพลงป๊อป ไมเคิ่ล แจ๊คสัน
แจ๊ค หม่า ก็ทำได้ จนเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อคลิปบันทึกการแสดงในงานเลี้ยงครบรอบ 18 ปีของบริษัท ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก
หลายคนอาจไม่ทันคิด แต่ แจ๊ค ย้ำว่างานเลี้ยงประจำปีของบริษัทนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้ช่วงเวลาในการทำงาน
เพราะเป็นโอกาสที่จะจูนความคิดทุกคน ให้เห็นเป้าหมายที่องค์กรจะเลือกเดินในปีต่อๆไป
AHEAD TAKEAWAY
ใน 10 เรื่องนี้ เราเรียนรู้อะไรจาก แจ๊ค หม่า ได้บ้าง?
- การเป็นไกด์สมัครเล่นในวัยเด็ก ทำให้ หม่า หยุน มีโอกาสได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษจริงๆกับชาวต่างชาติแบบเป็นเรื่องเป็นราว แน่นอนว่าในช่วงแรกจะต้องตะกุกตะกักเป็นธรรมดา แต่การลองผิดลองถูกไม่ใช่เรื่องเสียหาย ยังไม่นับเรื่องผลพลอยได้ในแง่ของมิตรภาพที่ได้รับจากคนแปลกหน้า ไปจนถึงการปลูกฝังแนวคิด service mind ซึ่งเป็นหัวใจของงานบริการ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจของ Alibaba ที่เน้น “customer first” นั่นเอง
- คนที่เคยเป็นครูมาก่อน ย่อมมีทักษะการพูดต่อหน้าคนหมู่มากติดตัว เราจะเห็นได้ว่าวิธีการพูดของ หม่า นั้น จะค่อยๆพูดอย่างช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ หลายครั้งที่ย้ำความคิดเดิม แต่เปลี่ยนตัวอย่าง หรือใช้วิธีอุปมาอุปไมย เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายที่สุด
- การตั้งชื่อบริษัทของ หม่า นั้น เป็นไปตามกฏหลักห้าข้อของการตั้งชื่อแบรนด์ โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องเปิดตำราด้วยซ้ำ คือ 1) ต้องอ่านและเขียนได้ง่าย 2) สั้นกระชับและจำง่าย 3) ไม่ว่าจะเขียนถึงหรือออกเสียงต้องฟังดูดี 4) ต้องโดดเด่น และ 5) สื่ออารมณ์ความรู้สึกหรือไอเดีย เหมือนที่เจ้าตัวเคยถามบริกรในร้านอาหารว่ารู้จักชื่อนี้ไหม และได้คำตอบเป็นเรื่องราวของคนตัดไม้กับโจรทั้งสี่สิบให้ฟัง เป็นการยืนยันว่า “อาลีบาบา” คือชื่อที่คนทุกระดับชั้นรู้จัก และใครๆก็ออกเสียงได้ถูกต้องด้วย
- มาซาโยชิ ซัน อาจจะบอกว่าเขาใช้เวลาแค่ห้านาทีในการตัดสินใจ แต่ก่อนจะพบกับ หม่า เขาพอมีข้อมูลของอีกฝ่ายจาก เจอร์รี่ หยาง ผู้ก่อตั้ง Yahoo! แล้ว ซึ่งในฐานะนักลงทุน เจ้าตัวก็น่าจะพอเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีน
- ไท่เก๊ก ไม่ได้เป็นแค่ศิลปะป้องกันตัว แต่ในแง่ของการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ นุ่มนวล ต่อเนื่องนั้น ไม่ทำให้เหนื่อยหอบเหมือนการออกกำลังกายรูปแบบอื่น การฝึกอย่างถูกต้องและเป็นประจำ ได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกาย และเมื่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายดี ก็สามารถมุ่งมั่นกับการทำงานได้อย่างเต็มที่
- การเดินทางไปปรากฎตัวตามที่ต่างๆของ หม่า นอกจากการเจรจาเรื่องธุรกิจ และให้ความรู้แก่คนทั่วไปเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็ถือเป็นการพีอาร์ภาพลักษณ์ของ Alibaba ที่ตัว หม่า เปรียบเสมือน “หน้าตา” ของบริษัทนั่นเอง
- ภาพการกินอาหารแบบง่ายๆของ หม่า เราอาจตีความได้อีกแบบว่า คนที่มีเงินทองมหาศาลจริงๆ อาจไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตแบบสุขสบายก็ได้ นอกจากจะต้องเดินทางไปทั่วโลกตลอดเวลาแล้ว ยังมีตารางเวลารัดตัวจนต้องรีบกินรีบเดินทางและทำงาน นั่นคือเหตุผลว่าทำไม เจ้าตัวถึงเคยเปรยว่า “อยากตายบนชายหาดมากกว่าในออฟฟิศ” และเตรียมรีไทร์จากงานบริหารในปีหน้า
- เหตุการณ์ “จระเข้แห่งแยงซี” บอกอยู่ในตัวมันเองแล้วว่า แผนที่ใช้สำเร็จกับประเทศหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้การันตีว่าจะได้ผลเสมอไป เมื่อย้ายไปใช้กับสถานที่อื่นๆ เราจึงมักเห็น Alibaba เลือกเดินกลยุทธ์ localization หรือจับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเจาะตลาด มากกว่าจะเลือกเดินหน้าลุยเต็มตัว เพราะมีแต่คนท้องถิ่นที่เข้าใจคนท้องถิ่นด้วยกัน
- การเปิดตัว Taobao ในปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคซาร์สระบาด เกิดขึ้นแบบถูกที่ถูกเวลา เพราะตอบโจทย์คนในยุคนั้นที่ไม่ต้องการออกจากบ้านเพื่อเสี่ยงต่อการติดโรค นอกจาก Alibaba แล้ว JD.com อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในจีน ก็เป็นอีกราย ที่เห็นโอกาสจากวิกฤตนี้
- สำหรับบริษัทต่างๆ การให้โอกาสพนักงานทุกคนได้เจอกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เจอรู้จักกัน เพื่อสร้าง “ความเป็นทีม” เป็นเรื่องที่จำเป็น และเป็นสิ่งที่ Alibaba ทำตั้งแต่ 100 คน จนถึงต้องเช่าสนามกีฬาที่จุคนได้เป็นหมื่น และคนที่เหมาะที่สุดที่จะเริ่มต้น “ละลายพฤติกรรม” ก็คงไม่ใช่ใคร นอกจาก “เถ้าแก่” อย่าง แจ๊ค หม่า ที่ยอมลงทุนแต่งตัว ซ้อมเต้นอย่างหนัก เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าการกล้าแสดงออก ไม่ใช่เรื่องน่าอายนั่นเอง
เรียบเรียงจาก
10 interesting facts about Alibaba’s founder Jack Ma
When Masayoshi Son met Jack Ma
กางคัมภีร์ “แจ็ค หม่า” เรียนรู้ 40 กระบวนท่าพิชิตธุรกิจ
หม่า ยังมักสอดแทรกแนวคิดดีๆให้เราเก็บไปทบทวนเสมอ เมื่อได้รับเชิญให้ขึ้นพูดในที่สาธารณะ หนึ่งในนั้นคือแง่คิดเกี่ยวกับการศึกษายุคปัจจุบัน เพื่อเตรียมรับมือกับปัญญาประดิษฐ์ ไปติดตามคลิปบทสรุปได้ ที่นี่ “ต้องปฏิรูปการศึกษา ถ้าไม่อยากแพ้ AI”
AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน