เคยเป็นกันรึเปล่าครับ เวลาที่ ไอเดีย ในหัวแล่นขึ้นมาเต็มไปหมด
อยากทำโน่น ทำนี่ ไปนั่น ไปนี่ สารพัด แต่สุดท้าย กลับทำไม่สำเร็จซักอย่าง
เพราะสิ่งที่อยากทำนั้นมีมากเกินไป
Choice of Paradox
มีงานวิจัยโดยศาสตราจารย์จาก Columbia Business School ที่ทำการสำรวจตัวอย่างมากถึง 8 แสนคน ในปี 2003 พบว่ายิ่งมีตัวเลือกในการลงทุนมากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะวางแผนการเงินหลังเกษียณ กลับยิ่งน้อยลงเท่านั้น
สถานการณ์แบบนี้ ในทางจิตวิทยาเรียกกันว่า Choice of Paradox ซึ่งเป็นกลไกการตัดสินใจของมนุษย์ ที่เกิดปัญหาในการตัดสินใจเมื่อพบตัวเลือกมากเกินไป จนสุดท้ายกลายเป็นเลือกไม่ได้เลย
ถ้าต้องการตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด ลองพาแฟนไปเข้าร้านอาหารที่มีเมนูให้เลือกเป็นสิบๆอย่างดูครับ หลายครั้งนี่นั่งพลิกดูเมนูกันจนเด็กเสิร์ฟค้อนเลยทีเดียว
ยิ่งถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกับสิ่งที่สำคัญกว่า เช่นเวลาที่คุณคิดจะเริ่มลงมือทำอะไรใหม่ๆด้วยแล้ว มันจะยิ่งบั่นทอนพลังในตัว รวมถึงความกระตือรือล้นของคุณไปด้วย
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะหาทางออกไม่ได้เลย มาลอง 5 วิธีข้างล่างนี้ดู เผื่อว่าคุณจะสามารถปลดล็อคตัวเองจากความสับสนนี้ได้ เพื่อจะได้เริ่มลงมือทำให้ ไอเดีย เป็นจริงขึ้นมา
#1
ขีดเส้นตายระยะสั้น
มีกฏข้อหนึ่งที่พูดถึงเรื่องเวลากับการทำงาน คือ ‘กฎของพาร์กินสัน’ (Parkinson’s Law) ที่ว่า “Work expands so as to fill the time available for its completion.”
ประมาณว่า “งานจะขยายออกไปจนเท่ากับระยะเวลาที่กำหนดให้ทำเสร็จ”
ตัวอย่างง่ายๆเลยคือ คุณจะอ่านหนังสือเตรียมสอบ ต่อเมื่อเหลือเวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะพอมีให้อ่าน หรือจะลดน้ำตาล ถ้าพรุ่งนี้หมอนัดตรวจเลือด และอีกสารพัด
เจ้าของทฤษฏีนี้ คือ ไซริล พาร์กินสัน ไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่เป็นนักประวัติศาสตร์
เขาตั้งข้อสังเกตนี้ขึ้น ระหว่างทำงานกับหน่วยงานข้าราชการ และพบว่างานอย่างเดียวกัน ถ้าเขากำหนดเวลาส่งงานให้เร็วขึ้น งานก็จะเสร็จเร็วขึ้น ตัวคนทำก็จะรู้สึกว่างานง่ายขึ้นไปด้วย
ทางที่ดีที่สุด ก็คือขีดเส้นตายของงานแต่ละชิ้น ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (แบบสมเหตุสมผลด้วย) เพื่อกระตุ้นตัวคุณ(หรือคนอื่นๆ) ให้กระตือรือล้นที่จะลงมือทำ “เดี๋ยวนี้”
5 วิธีทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย อีลอน มัสก์ และกูรูชั้นนำ
#2
กฎ 80/20
กฏ 80/20 หรือหลักของพาเรโต เป็นการระบุว่าสิ่งสำคัญ หรือจำเป็น มีอยู่น้อยกว่าสิ่งไม่สำคัญ ในอัตราส่วน 20/80
ตัวอย่างง่ายๆของเรื่องนี้ คือเสื้อผ้าทั้งหมดที่เรามี จะมีอยู่ไม่กี่ตัวที่เราหยิบมาใส่เป็นประจำ
หรือเวลาทำงานกลุ่ม สมมติว่ากลุ่มใหญ่ 10 คน คนที่ทำงานจริงๆ จะมีตัวหลักแค่ 2-3 คนเท่านั้น
การประยุกต์นำกฎนี้มาใช้ควบคุมตัวคุณเอง จึงอาจต้องทดลอง เพื่อหาว่าในสิ่งที่คุณกำลังจะทำนั้น อะไรคือ 20% ที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ที่สุด
เช่น ถ้าคิดจะออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก 20% ที่ว่าก็ต้องใช้ไปกับกิจกรรมที่ใช้แรงและเผาผลาญจริงๆ
ขณะที่อีก 80% อาจจะเป็นการยืดเส้นยืดสายเบาๆ หรือวอร์มดาวน์แทน
#3
ก้าวข้ามความกลัว
หลายครั้งที่เราไม่เริ่มลงมือทำอะไรซักอย่าง มักมีสาเหตุจากความกลัว ทั้งกลัวถูกปฏิเสธ และกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี และความกลัวที่ว่านี้ ก็มักมาจากการ “รู้มากไป” ของเราเอง
มัลคอล์ม แกลดเวลล์ นักเขียนและนักพูดคนดังชาวแคนาดา เสนอไอเดียในการก้าวข้ามความกลัว ว่าให้ลงมือทำในทันที ที่วาบความคิดนั้นเกิดขึ้น
เขาพบว่าการตัดสินใจในฉับพลันแบบนี้ มักนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีกว่า การวางแผนอย่างรัดกุม
ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่คุณไม่แน่ใจว่าจะทำอะไร หรือทำอย่างไร ให้เชื่อมั่นในตัวเอง และลองทำทันที ช่วงแรกอาจจะตะกุกตะกักบ้าง
แต่เมื่อคุณปรับตัวได้ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้
ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกลัว สไตล์ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon
#4
ฝึกตัวเองไม่ให้ทำอะไรครึ่งๆกลางๆ
การเริ่ม ลงมือทำ อะไรซักอย่าง ว่ายากแล้ว แต่การจะสานต่อจนเสร็จ บางทีอาจจะยากกว่าสำหรับบางคน ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญกว่า ในเมื่อผลลัพธ์คือตัวตัดสินว่าเราทำสำเร็จหรือไม่
หนึ่งในวิธีที่ได้ผลสำหรับการเริ่มต้นและจบงานแต่ละชิ้น คือการแบ่งงานที่ต้องทำออกเป็นส่วนเล็กๆ ใช้เวลาสั้นๆ
เมื่อเสร็จหนึ่งส่วนแล้วจึงค่อยเริ่มทำส่วนต่อไป กระทั่งจบภาพรวมที่ตั้งใจไว้
พอคุณทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้เรื่อยๆ วิธีคิดและพฤติกรรมของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปเอง
#5
หยุดบ้างก็ดี
ตรงกันข้ามกับทั้งสี่ข้อที่ผ่านมา บางครั้ง การรู้ว่าควรจะหยุด ลงมือทำ ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ประเด็นคือคุณต้องตอบให้ได้ว่าจะหยุดทำอะไร และเมื่อไหร่ที่ควรหยุด
การหยุดนั้นมีข้อดีคือจะช่วยสงวนพลังงานที่จำเป็นของคุณ ไว้สำหรับทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์กว่าแทน
ตัวอย่างง่ายๆของการเลือกที่จะหยุด คือหากคุณเดินหน้าโครงการไประยะหนึ่ง และรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่ากำไรที่ได้รับ เท่านั้นก็บอกในตัวแล้วว่าคุณควรทำยังไงต่อ
การหยุดนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวเสมอไป เพราะในอีกมุมหนึ่ง มันคือการหยุดเพื่อที่เราจะได้สงวนพลังไว้สำหรับทำในสิ่งที่จำเป็นและสำคัญกว่านั่นเอง
เรียบเรียงจาก
Five things to do when you have too many ideas and never finish anything
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า