จามาล คาช็อกกี

ซีเอ็นเอ็น เผยหลักฐานใหม่ ข้อความใน WhatsApp ระหว่าง คาช็อกกี กับเพื่อนกลุ่มนักเคลื่อนไหว

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น นำเสนอหลักฐานชิ้นใหม่ ในการสาวถึงผู้บงการตัวจริงในคดีสังหาร จามาล คาช็อกกี เป็นบันทึกการสนทนา ในแอพพลิเคชัน WhatsApp ระหว่าง ผู้สื่อข่าว วอชิตัน โพสต์ กับ โอมาร์ อับดุลอาซิซ แนวร่วมกลุ่มเคลื่อนไหว ที่มีข้อความพาดพิงถึง มกุฏราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

คดีสังหาร คาช็อกกี ณ สถานทูตซาอุดีอาระเบีย ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อต้นเดือน ต.ค. จัดเป็นหนึ่งคดีสะเทือนขวัญซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบีย

โดยที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากสื่อและทางการสหรัฐฯ พุ่งเป้าไปที่ มกุฏราชกุมารซาอุฯ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ทางการซาอุฯ ยืนยันว่าเจ้าชาย บินซัลมาน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้ลงโทษต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายรายแล้ว

ล่าสุด ก็ปรากฎหลักฐานเพิ่มเติมโดยสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น เป็นบทสนทนาใน WhatsApp กว่า 400 ข้อความ ระหว่าง คาช็อกกี กับเพื่อนนักเคลื่อนไหว โอมาร์ อับดุลอาซิซ ระหว่างเดือน ต.ค. 2017 – ส.ค. 2018 ถึงแผนต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีบางส่วนที่พาดพิงถึงเจ้าชาย บิน ซัลมาน ด้วยความเห็นในเชิงลบ ว่าเป็น “สัตว์ป่า” และ “pac-man” ที่พร้อมเขมือบทุกสิ่งที่ขวางหน้า แม้แต่ผู้สนับสนุนของตัวเอง

ในหลักฐานที่ทาง ซีเอ็นเอ็น ได้มานั้น นอกจากข้อความสนทนาแล้วยังมี เสียง, รูปภาพและวิดีโอ ที่มีการบันทีกไว้ รวมถึงภาพวาดที่ คาช็อกกี ต้องการสื่อถึงความเจ้าอารมณ์ของเจ้าชาย

แผนการของทั้งคู่ มีองค์ประกอบสำคัญสองเรื่อง ที่คาดว่าทางการซาอุฯ ตีความว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล หนึ่งคือการส่งซิมการ์ดต่างประเทศให้กลุ่มผู้ต่อต้าน เพื่อให้สามารถทวีตได้โดยไม่ถูกติดตาม และเรื่องที่สองคือเงินทุนสนับสนุน โดย คาช็อกกี จะเบื้องต้น 30,000 ดอลลาร์ และรับปากว่าจะมีการให้เงินสนับสนุนจากผู้บริจาค

เพื่อนเผยโทรศัพท์ถูกเจาะข้อมูล

ด้าน อับดุลอาซิซ ซึ่งลี้ภัยมาอาศัยในแคนาดาตั้งแต่เมื่อสี่ปีก่อน กล่าวกับ ซีเอ็นเอ็น ว่า คาช็อกกี เริ่มระแคะระคายเรื่องที่บทสนทนาดังกล่าว ถูกแฮ็กจากทางการซาอุฯ ในเดือน ส.ค. ก่อนกล่าวเตือนให้ตนระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ และอย่าแพร่งพรายเรื่องนี้ในที่อื่น ก่อนจะเสียชีวิตในอีก 2 เดือนต่อมา

อับดุลอาซิช กล่าวต่อว่าตนได้รับการยืนยันจากทีมนักวิจัย Citizen Lab ของ University of Toronto เรื่องที่โทรศัพท์ของตนถูกแฮ็กโดยสปายแวร์ของทางการซาอุฯ โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท NSO Group จากอิสราเอล และได้ขอให้ทนายความ ยื่นฟ้อง NSO ในข้อหาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการขายซอฟต์แวร์แก่ระบอบเผด็จการ ทั้งที่รู้ว่าอาจถูกใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา อับดุลอาซิซ มีการยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบริษัทในประเทศอิสราเอล ที่เขาเชื่อว่าเป็นผู้คิดค้นซอฟท์แวร์สำหรับการเจาะเข้าสู่โทรศัพท์ของเขา “การแฮ็กโทรศัพท์ของผมมีบทบาทสำคัญในสิ่งที่เกิดขึ้นกับ จามาล ผมเสียใจที่ต้องพูดแบบนี้ ความรู้สึกผิดในเรื่องนี้กำลังฆ่าผมอย่างช้าๆ”

อับดุลอาซิซ ยังเผยว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม ทางการซาอุฯ ส่งเจ้าหน้าที่สองคน ที่เปิดเผยเพียงแค่ว่าชื่อ อับดุลลาห์ และ มาเล็ค มาพบตนที่เมืองมอนทรีออล ซึ่งตนก็ได้แอบบันทึกการสนทนาระยะ 10 ชั่วโมงในช่วง 5 วันเอาไว้ด้วย ซึ่งประเด็นหลักๆในการพูดคุยคือข้อเสนอจากเจ้าชาย บิน ซัลมาน ในการร่วมงานกัน

นักเคลื่อนไหวรายนี้ อธิบายว่าตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอเรื่องราวอีกด้าน ที่ขัดแย้งกับแถลงการณ์ของทาง ซาอุฯ ที่ยืนกรานมาตลอดว่าเจ้าชาย บิน ซัลมาน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม คาช็อกกี

 

 

AHEAD TAKEAWAY

ก่อนเหตุสังหาร เมื่อเดือนตุลาคม พยานหลายรายที่ใกล้ชิดกับ คาช็อกกี กล่าวตรงกันว่าทางการซาอุฯ มีความพยายามที่จะดึงตัวอดีตที่ปรึกษารัฐบาลรายนี้กลับประเทศหลายต่อหลายครั้ง

โดยเฉพาะการเสนอตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลให้เจ้าตัวพิจารณา แต่ คาช็อกกี ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลซาอุฯ จะปฏิบัติตามที่พูด

วอชิงตัน โพสต์ ต้นสังกัดของ คาช็อกกี ยังเผยว่ามีข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ที่ยืนยันว่าเจ้าชาย บิน ซัลมาน มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามนำตัวอดีตที่ปรึกษารัฐบาลรายนี้กลับประเทศให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

ด้าน อับดุลอาซิซ ซึ่งได้สิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยในแคนาดา ตั้งแต่ปี 2014 หลังทางการซาอุฯสั่งยกเลิกทุนเรียนต่อ เพราะวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล ก่อนจะมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับ คาช็อกกี เพราะมีอุดมการณ์เดียวกัน ก็เคยได้รับข้อเสนอลักษณะนี้ แต่เจ้าตัวก็ได้รับคำแนะนำให้บอกปัดไป

อับดุลอาซิช ยังเผยต่ออีกด้วยว่าเขาเคยเตือน คาช็อกกี แล้ว เรื่องการไม่เข้าไปข้องแวะกับสถานที่ซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลซาอุฯ แม้จะเป็นสถานกงสุลในต่างแดนก็ตาม

คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้ว่าใครกันแน่คือผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งสังหารครั้งนี้

คืออะไรทำให้ คาช็อกกี มั่นใจว่าตัวเองจะปลอดภัย และเลือกเสี่ยงเข้าไปรับเอกสารในสถานกงสุลซาอุฯ และกลายเป็นการเดิมพันที่ผิดพลาดจนเขาไม่ได้กลับออกมาอีกเลย

 

เรียบเรียงจาก
Jamal Khashoggi’s private WhatsApp messages may offer new clues to killing

Secret recordings give insight into Saudi attempt to silence critics

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
ไอเดีย

5 วิธีปลดล็อคไอเดียในหัวให้กลายเป็นจริง

Next Article
AHEAD Daily Brief

รวมข่าวนวัตกรรม และธุรกิจ AHEAD Daily Brief เดือนธันวาคม 2018

Related Posts