ในยุคที่ทักษะการทำงานแบบเดิม ๆ มีความจำเป็นน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยพลังของเทคโนโลยี
แต่ ทักษะของผู้ประกอบการ ยังเป็นสกิลที่นำไปประยุกต์ใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด
และทักษะที่ว่า ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักธุรกิจหลาย ๆ คน ก็มีที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ดี
คุณเองก็วางรากฐานให้เจ้าตัวน้อยมีทักษะชีวิต (life skills) ที่ดีได้ เพราะมันจะพัฒนาไปสู่การเป็นทักษะทางธุรกิจ (business skills) ที่ดีในอนาคต
มาดูกันว่า 10 วิธีในการปลูกฝังให้ลูกของคุณพร้อมสำหรับอนาคต มีอะไรบ้าง
#1
ฝึกวินัยการนอนด้วย 4B
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มักมีตารางการนอนที่ตายตัว เช่น ทิม คุก แห่ง Apple หรือ เจฟฟ์ เบโซส แห่ง Amazon
คนที่อดหลับอดนอนทำงานหนัก ไม่ใช่แค่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่มักทำงานได้ช้า มีแนวโน้มจะตัดสินใจได้ไม่ดี และทำงานพลาด
การฝึกลูก ๆ ให้นอนตรงเวลา ในช่วงอายุ 1-6 ขวบ จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยวิธีพื้นฐาน ที่ประกอบไปด้วย 4B คือ
- อาบน้ำ (bathing)
- แปรงฟัน (brushing)
- อ่านหนังสือ/นิทาน (books)
- เข้านอน (bed)
การฝึกอย่างสม่ำเสมอในช่วงหกปีแรก จะเป็นการปรับนาฬิกาชีวิตของเจ้าตัวเล็กให้คงที่ และติดตัวเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต
#2
เล่นเกมด้วยการเปลี่ยนจากกติกาที่คุ้นเคย
Simon Says (ไซม่อน พูดว่า…) เป็นเกมสำหรับสอนเด็ก ๆ ที่นิยมเล่นกันในโรงเรียนอนุบาล หรือเนอสเซอรี่ เพื่อฝึกสมาธิของเด็กว่ายังอยู่หรือใจลอยไปไหนแล้ว
กติกาของเกม คือเด็กจะทำตามสิ่งที่ครูพูด ต่อเมื่อมีประโยค Simon says เท่านั้น
เช่น Simon says stand up! เด็กจะต้องลุกขึ้นยืน แต่ถ้าครูพูดแค่ว่า Stand up! ก็ไม่ต้องลุก
เมื่อเด็กเข้าใจกติกาของเกมนี้ในระดับหนึ่ง เอลเลน กาลินสกี ผู้เขียนหนังสือสำหรับการพัฒนาเด็ก Mind in the Making: The Seven Essential Life Skills Every Child Needs แนะนำว่าให้ลองเล่นเกมนี้แบบย้อนศร (Simon says the opposite) ดูบ้าง
คือก่อนเล่นให้ตกลงกับเด็กว่า ถ้าได้ยินประโยค Simon says ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแทน
การฝึกให้ลูกเล่นด้วยกติกาย้อนศรแบบนี้ จะช่วยเด็กให้รู้จักการควบคุมตัวเอง เมื่อเจอกับสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ไม่คุ้นเคย เกิดความยืดหยุ่นทางความคิด ฝึกความจำ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาระดับเชาวน์ปัญญา หรือ IQ
#3
นับชิ้นของเล่น = พื้นฐานทางบัญชี
แม้ในชีวิตการทำงาน คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ดูตัวเลขบัญชีโดยตรง ไม่ว่าจะในฐานะพนักงานบริษัท (มีแผนกบัญชีในบริษัท) หรือเป็นผู้ประกอบการ (เอาท์ซอร์สให้คนนอกทำ)
แต่ความรู้ด้านการทำบัญชี และการคำนวณ ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการมีกิจการของตัวเอง
การฝึกให้เด็ก ๆ หัดนับ เช่นต้องใช้เลโก้กี่ชิ้น ถึงจะต่อเป็นรูปอย่างที่ต้องการได้ คือหลักการง่าย ๆ แต่ได้ผล ในการฝึก
เพราะไม่ใช่แค่เรื่องพื้นฐานทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกความละเอียดในการตรวจนับ และความช่างสังเกตของเจ้าตัว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความรู้ด้านบัญชีต่อไป
#4
พื้นฐานคุณธรรมและศีลธรรม
พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าเด็กยังเล็กไม่รู้ความ แต่การวางรากฐานให้เด็กมีพื้นฐานด้านคุณธรรมและศีลธรรมนั้นสามารถทำได้แต่เนิ่นๆ
ในช่วงห้าปีแรกนั้น มีคำแนะนำว่าเด็กควรจะซึบซับสิ่งเหล่านี้ไว้ในตัว
- ความตรงไปตรงมา พ่อแม่ควรแสดงออกและปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าเวลาไหน เพื่อให้เด็กๆรู้ว่าการซุบซิบนินทา หรือจิกกัดคนอื่นลับหลัง ไม่ใช่เรื่องควรทำ
- ความยุติธรรม เมื่อเด็กทำผิด ควรให้เด็กได้อธิบายเหตุผลและความรู้สึก เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขได้
- ความมุ่งมั่น หลีกเลี่ยงการชมเด็กจนเกินจริง การให้ความเห็นที่ไม่มีอคติและคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากพัฒนาตัวเองต่อ (growth mindset)
- การไตร่ตรอง ถามความเห็นของเด็ก ๆ ในการตัดสินใจบางเรื่อง เช่น เวลาจะไปเที่ยวกัน ควรมีอะไรเพื่อให้ทริปนั้นสนุกขึ้น นอกจากจะช่วยขัดเกลาทักษะการแก้ปัญหา ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย
- ความรัก อย่าอายที่จะแสดงความรักต่อคนรอบข้าง เพราะนี่คือวิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะสอนให้เด็กรู้จักชื่นชมสิ่งที่ได้มา และรู้จักขอบคุณคนอื่นๆอย่างจริงใจ
หลายคนอาจสงสัยว่าเรื่องพวกนี้เกี่ยวอะไรกับการเป็นผู้ประกอบการ?
แต่วัฒนธรรมองค์กร การบริการลูกค้า หรือการดำเนินธุรกิจ ล้วนแต่ต้องมีวิธีคิดเชิงบวกเหล่านี้แฝงอยู่เสมอ
เพราะหากเด็กๆเติบโตขึ้นมาโดยโฟกัสอยู่แค่ความคิดของตัวเองแล้ว ธุรกิจที่พวกเขาคิดจะสร้างขึ้นคงไม่ตอบโจทย์ใครเช่นกัน
#5
จัดระเบียบและตำแหน่งสิ่งของในบ้าน
การมีความคิดสะเปะสะปะ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกหล่อหลอมแบบไม่มีแนวทางตั้งแต่เล็ก
แต่ถ้าคุณสอนเขาว่าตำแหน่งของสิ่งต่างๆในบ้านอยู่ตรงไหน ตู้เย็นอยู่ตรงนี้ กล่องใส่ของเล่นอยู่ตรงนี้ เขาจะค่อยๆเรียนรู้ว่าทุกสิ่งมีตำแหน่งของมันอยู่ และต้องนำกลับไปวางตรงนั้น เมื่อหยิบมาใช้งาน
เมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะรู้เช่นกันว่าต้องจัดการอะไร มอบหมายอะไรให้ใครทำ ขณะที่ผู้ใหญ่บางคนอาจเสียเวลาไปเป็นวันๆเพื่อหาของชิ้นเดียว เพราะเหตุผลง่ายๆ คือชีวิตของคนๆนั้นไม่มีระเบียบ
#6
เพาะทักษะการพูด ด้วยการเล่า
ทุกครั้งที่เล่าหรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง อย่าลืมชวนเจ้าตัวเล็กคุยด้วยว่าแก่นของเรื่องคืออะไร เพื่อให้เจ้าตัวเข้าใจสารที่นิทานเรื่องนั้นต้องการสื่อ
เมื่อเด็ก ๆ เริ่มโตขึ้น ลองกระตุ้นให้เขาเป็นฝ่ายเล่าเองบ้าง อาจจะเล่าให้ฟังว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างที่โรงเรียน หรือเล่าให้คุณปู่คุณย่าฟังว่าสุดสัปดาห์ที่แล้วไปเที่ยวไหนมา
การถกถึงประเด็นของนิทานทำให้เขาได้หัดวิเคราะห์ แยกแยะ ส่วนการฝึกพูดตั้งแต่เล็ก จะทำให้เด็กๆไม่กลัวการพูดต่อหน้าคนอื่น ซึ่งทักษะการสื่อสารนี้จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเจ้าตัวในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต หรือการพูดคุยทางธุรกิจ
#7
พาลูกเที่ยว
พยายามพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เวลาพาเขาไปเที่ยว
การทำลักษณะนี้เท่ากับว่าคุณได้ใช้เวลาร่วมกับเขามากขึ้น และเมื่อเขาเริ่มหัดใช้ดินสอหรือปากกาแล้ว ลองให้เขาวาดรูปสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยไป เพื่อทบทวนความจำ
การสอนลูกไปพร้อมกับการเที่ยวแบบนี้ จะทำให้เด็กเข้าใจว่าแต่ละสถานที่นั้นมีเหตุมีผลในการตั้งอยู่ของมัน
เช่นเดียวกับคนที่ทำอาชีพเหล่านั้น ก็มีทักษะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ
เมื่อเขารู้ถึงความแตกต่างของทักษะ ก็จะแยกแยะได้ว่างานนี้ต้องใช้ทักษะแบบไหน หรือมอบหมายให้ใครทำงาน
#8
ชื่นชมความมุ่งมั่น ไม่ใช่ความสามารถ
ทุกครั้งที่ลูกทำอะไรสำเร็จ สิ่งที่หลุดจากปากพ่อแม่มักเป็นคำชมว่า “เก่งมาก” “เก่งจังเลยลูก” ฯลฯ
แต่สิ่งที่ควรทำจริง ๆ ควรชื่นชมความพยายามและความอดทนของเด็ก หรือนั่งคุยกันเพื่อหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงทำสำเร็จได้จะดีกว่า
การชื่นชมเขาในเรื่องความมุ่งมั่น จะช่วยพัฒนา growth mindset ซึ่งเป็นกรอบทางความคิดที่จะทำให้เด็กสนุกกับการพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆตลอดชีวิต ไม่หยุดตัวเองไว้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
#9
วางตารางชีวิตด้วยปฏิทิน
ในการเป็นผู้ประกอบการ ปฏิทินคือสิ่งสำคัญ เพราะมันคือแพลตฟอร์มที่คุณจะใช้บันทึกเส้นตายต่างๆ รวมถึงกำหนดประชุม
และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
การสอนให้เด็กๆสนใจการใช้ปฏิทิน อาจจะเริ่มต้นด้วยการหัดทำปฏิทินเอง
- เริ่มต้นด้วยการหากระดาษแผ่นใหญ่ มาตีตารางสี่เหลี่ยม 31 ช่อง ขนาดพอประมาณให้ใส่สัญลักษณ์ต่างๆได้
- ทำการ์ดที่มีตัวเลข 1-31 พร้อมติดตีนตุ๊กแกด้านหลังสำหรับดึงเข้า-ออกได้
- เมื่อเรียงการ์ดตามวันที่ของเดือนนั้นๆแล้ว ให้แขวนปฏิทินไว้ตรงกับระดับสายตาของลูก
- ชวนเขาคุยถึงเรื่องนี้ ถามว่านี่คือวันอะไร วันที่เท่าไหร่ และตอนที่คุยกันเป็นสัปดาห์ที่เท่าไหร่ของเดือน
- เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น ให้เขามาร์ควันสำคัญหรือเดดไลน์สำหรับส่งรายงานหรือการบ้านไว้ เพื่อเตือนตัวเอง
- เมื่อเขาเริ่มหัดใช้สมาร์ทโฟนเป็น ลองใช้ปฏิทินครอบครัวที่สมาชิกทุกคนในบ้านแชร์ร่วมกัน เพื่อจะได้นัดหมายกำหนดต่าง ๆ ได้ถูก
#10
เรียนรู้จากปัญหา
ไม่ช้าก็เร็ว เมื่อเด็กโตขึ้น จะต้องมีเรื่องทะเลาะหรือขัดแย้งกับพี่อน้องหรือเด็กคนอื่นๆที่โรงเรียน
ของแบบนี้เป็นเรื่องปกติ สำคัญคือเด็กๆจะเรียนรู้จากเรื่องเหล่านี้ได้ยังไง สิ่งที่ควรทำคือนั่งคุยกับเขา เพื่อหาวิธีแก้ไขแบบ step by step
- ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
- คิดต่อว่าบทสรุปของปัญหานั้นควรจบยังไง
- ระดมความคิดกันว่ามีวิธีไหนที่จะช่วยให้ปัญหาจบได้ตามข้อ 2
- ค่อย ๆ พิจารณาทีละข้อ ว่าวิธีที่คิด เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
- เลือกวิธีที่คิดว่าดี และลองนำมาใช้
- หลังใช้ ลองคุยกันอีกทีว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ต้องปรับตรงไหนหรือเปลี่ยนวิธี
AHEAD TAKEAWAY
แม้ครอบครัวที่อบอุ่นจะไม่ได้การันตีว่าเด็กคนนั้นจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ แต่อย่างน้อย การมีรากฐานที่ดี ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้เขาได้ต่อยอดไปได้ง่ายกว่า
บิล เกตส์ อาจเป็นอัจฉริยะโดยกำเนิด แต่หากปราศจากการหนุนหลังจากครอบครัว เจ้าตัวอาจมาไม่ถึงจุดนี้ก็ได้
เพราะแม่ของเขาคือผู้ที่เห็นแววอัจฉริยะในความดื้อด้านสมัยเด็ก จนหาโรงเรียนที่เหมาะสมให้เขา หรือแม้แต่ตอนที่ประสบความสำเร็จกับ Microsoft แล้ว เธอก็ยังช่วยให้เขาได้พบจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายในการทำธุรกิจ นั่นคือการได้รู้จักกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์
ขณะที่ อีลอน มัสก์ แม้จะมีปัญหากับพ่อ แต่เขาก็ได้บทเรียนสำคัญในชีวิต ว่าจะต้องดูแลลูกชายทั้งห้าคนอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
การสอนทักษะชีวิตเหล่านี้ให้กับเจ้าตัวน้อยของคุณ ไม่ได้แปลว่าเขาจะโตขึ้นมาเป็น บิล เกตส์ หรือ อีลอน มัสก์ คนต่อไป
แต่อย่างน้อย เขาก็จะมีบางสิ่งติดตัวไป สำหรับรับมืออนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนยังอาจตามไม่ทัน
เรียบเรียงจาก
10 Ways to Begin Teaching Your Toddler Business Skills
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า