เดเมียน คอลลินส์ สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลจากเอกสาร 250 หน้า ซึ่งรวบรวมอีเมลการพูดคุยภายในระหว่างผู้บริหาร Facebook ในช่วงปี 2012-2015 ถึงกลยุทธ์เล่นงานคู่แข่งทางธุรกิจ การลอบดึงข้อมูลผู้ใช้โดยไม่ขออนุญาต เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขึ้นเป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลางชีวิตออนไลน์ของคนทั้งโลก
เอกสารฉบับดังกล่าว เป็นหลักฐานในคดีความฟ้องร้องกัน ระหว่างแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่กับ Six4Three ผู้พัฒนาแอพรายหนึ่ง ที่ถูกตัดการเข้าถึงข้อมูลในปี 2014 จนได้รับผลกระทบทางธุรกิจ
เนื้อหาส่วนใหญ่ ถูกสรุปใจความโดย อัชกาน โซลตานี นักวิจัยอิสระและอดีตเจ้าหน้าที่เทคนิคของ Federal Trade Commission ว่าเป็นการทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ที่บริษัทพยายามสร้างว่าเป็นการเชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน หรือ bringing the world closer together ซึ่งมีการสรุปประเด็นหลักๆโดย New York Times ไว้ดังนี้
#1
ดึงข้อมูลผู้ใช้แอนดรอยด์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 หน่วยงานที่ดูแลด้านยุทธศาสตร์การเติบโต มีไอเดียที่จะดึงข้อมูลการใช้โทรศัพท์และ SMS ทั้งหมดของผู้ใช้งาน มาเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของ Facebook เพื่อใช้ประโยชน์ เช่นแนะนำเพื่อนใหม่ ในฟีเจอร์ที่เรียกว่า “People You May Know
แผนนี้มีข้อจำกัดตรง นโยบายด้านข้อมูลส่วนตัวของแอนดรอยด์ บังคับให้ผู้พัฒนาแอพต้องขออนุญาตผู้ใช้ก่อน แต่ฝ่ายพีอาร์ที่ดูแลภาพลักษณ์องค์กร ทักว่าถ้าใส่คำขอใช้งานข้อมูลส่วนตัวลงไป อาจมีเสียงวิจารณ์ตามมา หรือถูกแคปสกรีนชอตนำไปล้อเลียนในโลกออนไลน์เหมือนหลายๆครั้งในอดีต
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานดังกล่าวยังยืนกรานต้องการผลักดันให้แผนนี้เกิดขึ้น
และพบว่าสามารถทำได้ ด้วยการระบุว่าในการอัพเวอร์ชั่นครั้งนั้น FB ต้องการเข้าถึงเฉพาะบันทึกข้อมูลการโทร (call log) โดยจะไม่ขอข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ระบบแอนดรอยด์ ไม่แสดงข้อความเตือนผู้ใช้งานเรื่องการขอใช้งานข้อมูลส่วนตัว โดยที่หลังฉากนั้น FB สามารถเข้าไปดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์และ SMS ได้ตามแผน
อย่างไรก็ตาม ทาง FB ได้ชี้แจงว่าการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวจะทำได้ต่อเมื่อผู้ใช้แอนดรอยด์ “ยินยอม” เท่านั้น และข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกลบทิ้งทุกๆปี เพราะได้รับการประเมินแล้วว่าใช้งานได้เฉพาะช่วงเวลานั้นๆเท่านั้น
#2
ซัคเกอร์เบิร์ก ไฟเขียวทีมงานสกัดดาวรุ่ง Vine
ในเดือนมกราคม 2013 Twitter ซึ่งขณะนั้นถือเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของ FB เปิดตัวบริการใหม่ที่เป็นการแชร์วิดีโอสั้นความยาว 6 วินาที ในชื่อ Vine
เมื่อเริ่มใช้งาน ตัวแอพจะเสนอออปชั่นให้ยูสเซอร์สามารถติดตามวิดีโอของเพื่อนจาก Facebook ได้ผ่าน API ที่เชื่อมกัน
แต่ จัสติน โอซอฟสกี หนึ่งในผู้ช่วยของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เสนอให้ตัดช่องทางดังกล่าวทิ้ง เพื่อไม่ให้ Vine ขยายกลุ่มผู้ใช้งานออกไป และคำตอบของซีอีโอก็คือ “เดินหน้าลุย” (Yup, go for it.)
จากนั้นอีกไม่กี่เดือน Instagram แอพในเครือ FB ก็เปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอสั้นของตัวเองบ้าง ก่อนที่ Vine จะต้องปิดตัวเองลงในปี 2016 เพราะไม่สามารถขยายฐานผู้ใช้ได้อย่างที่ตั้งใจ
แม้จะผ่านมากว่าสามปีแล้ว แต่ รัส ยูซูปอฟ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Vine ยังจำเรื่องนี้ได้แม่น และเพิ่งทวีตภาพและบทความจาก The Verge ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
I remember that day like it was yesterday https://t.co/F0K2wv0RMQ
— Rus (@rus) December 5, 2018
ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา FB ก็รีบประกาศเปลี่ยนนโยบายใหม่ ด้วยการเลิกแบนแอพของบริษัทอื่นที่มีฟีเจอร์คล้ายกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท
#3
ใช้แอพ VPN ในเครือ เก็บข้อมูลคู่แข่ง
ในปี 2013 Facebook เทกโอเวอร์กิจการของ Onavo บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากอิสราเอล
หนึ่งในผลิตภัณฑ์จากการซื้อกิจการครั้งนี้ ก็คือ Onavo Protect แอพ VPN สำหรับปกป้องข้อมูลการท่องเว็บของผู้ใช้ แต่กลายเป็นว่า Protect นั้นทำการเก็บข้อมูลไปด้วยว่าผู้ใช้เข้าแอพไหนมากที่สุด และกลับไปให้ FB ด้วย เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
พร้อมมีการหยิบยกตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงว่าทางบริษัทได้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างไร มาประกอบด้วย
อาทิ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทาง Wall Street Journal รายงานว่าเหตุผลหนึ่งที่ FB ผลักดันฟีเจอร์ IG Storeies สู่ตลาด เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ข้อมูลว่าผู้ใช้งาน Snapchat คู่แข่งอีกรายที่มีฟีเจอร์คล้ายๆกัน มียอดผู้ใช้งานลดลงเรื่อย การผลักดันฟีเจอร์คล้ายๆกันในแอพของตน จึงไม่ต่างอะไรกับการเร่งปฏิกิริยาให้คนย้ายหนีจาก Snap มาใช้งาน Instagram มากขึ้น
หรือข้อมูลในเดือนเมษายน ปี 2013 ที่ว่า Whatsapp มีการรับส่งข้อความถึง 8.2 พันล้านครั้งต่อวัน ขณะที่ Facebook มีเพียง 3.5 พันล้านครั้ง จนสุดท้ายต้องดึง Whatsapp มาอยู่ในเครือ ด้วยดีลมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์
และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทก็เพิ่งถอนแอพ Onavo Protect จากแอพสโตร์ หลังได้รับแจ้งจาก Apple ว่าตัวแอพละเมิดกฏข้อมูลส่วนบุคคลตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม
#4
เป้าหมายสูงสุด ศูนย์กลางโลกโซเชียล
ย้อนกลับไปในปี 2012 เมื่อ Facebook เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก เป้าหมายของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก คือการนำแพลตฟอร์มที่ตนสร้าง เป็นศูนย์กลางของโลกออนไลน์
ซัคเกอร์เบิร์ก ส่งจดหมายภายในชื่อ ‘Platform Model Thoughts’ ถึงผู้บริหารหลายราย เพื่ออธิบายแนวคิดนี้ พร้อมยุติการถกเถียงกันว่า บริษัทควรคิดค่าใช้จ่ายจากผู้พัฒนาในการเชื่อมต่อแอพของตนหรือไม่
เขาไม่เห็นด้วยกับการเก็บเงินจากนักพัฒนาเหล่านั้น เพราะเชื่อว่ายิ่งมีผู้พัฒนามาเชื่อมต่อกับตนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีกับแพลตฟอร์ม
สำคัญที่สุด คือทีมพัฒนาเหล่านั้น ต้องส่งข้อมูลผู้ใช้กลับมาที่ Facebook และต้องทำให้การโพสต์กิจกรรมเหล่านั้นบนไทม์ไลน์ (เช่น A กำลังฟังเพลงจาก Spotify หรือ B กำลังดู Hulu อยู่)
จนเป็นที่มาของกฏที่เรียกกันว่า ‘กฎแห่งการแลกเปลี่ยน’ (reciprocity rule) ซึ่ง เชอรีล แซนด์เบิร์ก ซีโอโอของบริษัท สรุปในการหารือผ่านอีเมลครั้งนั้นว่า
ประเด็นสำคัญที่สุด ไม่ใช่การที่คนเหล่านั้นเผยแพร่เรื่องของตนสู่โลกออนไลน์ แต่อยู่ที่ทำยังไง ผู้คนถึงจะเลือกแชร์ผ่าน Facebook เท่านั้น
การเปิดกว้างจนเกินไป เพื่อหวังการเติบโต ก็ย้อนกลับมาส่งผลเสียกับตัวแพลตฟอร์มเองหลายครั้ง เหมือนที่เคยเกิดกับกรณี Cambridge Analytica นั่นเอง แม้ในปี 2014 ทางบริษัทจะหันมาเข้มงวดมากขึ้นกับการสกรีนแอพของผู้พัฒนาต่างๆแล้วก็ตาม
AHEAD TAKEAWAY
แม้ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก จะมีประโยคสวยๆว่าพันธกิจของ Facebook คือการเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นนักธุรกิจ และเป้าหมายในการทำธุรกิจก็คือต้องมีรายได้และกำไร
และสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดในการสร้างมูลค่าให้กับบริษัท ก็คือข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างเราๆ ตามที่ปรากฎในบทสนทนาและการโต้ตอบทางอีเมลระหว่างผู้บริหาร โดยเฉพาะ ซัคเกอร์เบิร์ก และ แซนด์เบิร์ก
New York Times เผยว่าในสหรัฐ ก็มีการนำเอกสารความหนา 250 หน้าฉบับนี้มาใช้เช่นกัน ในการพิจารณาคดีความระหว่าง Facebook กับ Six4Three ผู้พัฒนาแอพรายหนึ่ง แต่ไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้ เนื่องจากยังเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐาน
ก่อนที่ เดเมียน คอลลินส์ สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังสอบสวนกรณีต่างๆของโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่ง จะอ้างว่า อำนาจในการจัดหาและเผยแพร่เอกสารชุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบของตนในฐานะคณะกรรมการ
จะเห็นว่าทั้งการตัดช่องทางเชื่อมต่อ API ระหว่าง Vine กับ FB หรือการใช้ Onavo Protect เช็กข้อมูลบริษัทคู่แข่ง ดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่ “หน้าตาของบริษัท” อย่าง ซัคเกอร์เบิร์ก เน้นย้ำมาตลอด
จนเจ้าตัวต้องโพสต์สเตตัสยาวเหยียดในช่วงกลางดึกคืนวันพุธที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อ เช่นเดียวกับบล็อกของ FB ที่พยายามอธิบาย ว่าสิ่งที่ปรากฎในเอกสาร เป็นการเจตนาเลือกบางข้อความมานำเสนอ โดยไม่ให้ความสำคัญกับบริบท เพื่อหวังผลโจมตีภาพลักษณ์บริษัทมากกว่าจะเน้นข้อเท็จจริง
ปัญหาคือในวันที่คนจำนวนมาก เริ่มไม่แน่ใจว่า ซัคเกอร์เบิร์ก ในวันนี้ ยังเป็นคนเดิมกับที่นั่งสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์คตัวนี้ในหอพักนักศึกษาหรือไม่ ลำพังการโพสต์สเตตัสแก้ต่างเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอแล้วก็ได้
เรียบเรียงจาก
FB Emails Show Its Real Mission: Making Money and Crushing Competition
Response to Six4Three Documents
FB ends platform policy banning apps that copy its features
FB Used People’s Data to Favor Certain Partners and Punish Rivals, Documents Show
Apple Suggested FB Remove Onavo Protect from App Store
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า