อีลอน มัสก์ ใกล้หักปากกานักวิจารณ์ที่ฟันธงว่า Tesla ไม่น่าจะไปรอดสำเร็จ ภายหลังบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Morgan Stanley ปรับมุมมองต่อสถานะทางการเงินของบริษัทใหม่ ว่าน่าจะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และไม่จำเป็นต้องระดมทุนจากภายนอกอีก
ผู้ผลิต EV ไฮเอนด์ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเคยถูก บ๊อบ ลุตซ์ อดีตรองประธาน General Motors ฟันธงว่าอาจจะถึงขั้นล้มละลายภายในเวลาไม่กี่เดือน
ขณะที่การให้สัมภาษณ์ของ มัสก์ ในหลายๆครั้ง ก็ไม่อาจทำให้นักลงทุนเชื่อใจได้ว่าบริษัทจะอยู่รอดหรือไม่
อย่างไรก็ดี ภายหลังตัวแทนของทาง Morgan Stanley ได้พบ มาร์ติน วีคา หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ Tesla ระหว่างการประชุมของ Nasdaq ประจำกรุงลอนดอน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการตีพิมพ์รายงานว่าสถานะการเงินของ Tesla ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องเร่งระดมทุนภายนอก เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือชำระหนี้ระยะสั้นอีก
ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังเผยอีกด้วยว่า ทางบริษัทฯมีเป้าหมายที่จะผลิตรถรุ่น Model 3 ให้ได้ถึงหลัก 1,000 คันต่อวัน ภายในปี 2019 ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการเพิ่มกำลังผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงราคาที่จะลดลงในอนาคต
แต่ในกรณีของ Model Y รถครอสส์โอเวอร์ที่มีฟีเจอร์แบบเดียวกับ Model 3 นั้น วีคา กล่าวแต่เพียงว่าบริษัทยังไม่มีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2019 ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
“มาร์ติน ไม่ได้ปัดโอกาสความเป็นไปได้ของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในปี 2019 เขาแค่บอกว่ามันคงดีกว่าที่จะเปิดตัวก่อนเริ่มการผลิตไม่นานเดือน แปลว่าอาจมีการเปิดเผยในภายหลัง ไม่ใช่อย่างที่นักลงทุนบางรายคาดการณ์ไว้” รายงานจาก Morgan Stanley ระบุ
AHEAD TAKEAWAY
หลังจากสะบักสะบอมมาเกือบทั้งปี เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ดูเหมือนความพยายามของ มัสก์ ในการเข็น Tesla ให้รอดจากวิกฤตการเงิน ก็เริ่มประสบผล
เริ่มจากรายงานที่ว่าบริษัทผลิตรถได้มากถึง 8 หมื่นคันในไตรมาส 3 ที่เป็นสถิติใหม่ของบริษัท และมากกว่าตัวเลขของสองไตรมาสแรกรวมกันด้วย
เมื่อสามารถจัดส่งรถให้ลูกค้าได้มากขึ้น การเงินของบริษัทก็ค่อยๆกระเตื้องขึ้นตามลำดับ กระทั่งมีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 เมื่อปลายเดือนตุลาคม ว่าบริษัททำกำไรได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี พร้อมกับดึงราคาหุ้นของบริษัทให้ขยับขึ้นสูงไปด้วย
“ความสามารถในการทำกำไรของโมเดล 3 เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของเรามีความยั่งยืน นี่คือสิ่งที่หลายคนบอกว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้”
ในเดือนมีนาคม ปีหน้า Tesla มีกำหนดชำระหนี้จากหุ้นกู้ จำนวน 920 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,360 ล้านบาท) ซึ่งทางบริษัทมีแผนจะชำระในรูปของเงินสดและหุ้นสามัญจากการแปลงสภาพ ที่ราคาหน่วยละ 359.88 ดอลลาร์ (11,810 บาท)
ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันของบริษัทอยู่ที่หน่วยละ 363 ดอลลาร์ (ราว 11,979 บาท) สูงกว่าราคาแปลงสภาพประมาณ 0.8% ซึ่งกรณีนี้ขึ้นกับว่าเมื่อถึงกำหนดในเดือนมีนาคม 2019 นั้นราคาหุ้นของบริษัทจะเป็นอย่างไร หากต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ บริษัทก็จะต้องจ่ายเป็นเงินสดแทน
แต่การประกาศในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นว่า มัสก์ และผู้บริหาร เชื่อมั่นว่าหุ้นบริษัทจะยังรักษาระดับราคาไว้ได้ ตราบใดที่ยังทำกำไรได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับบทวิเคราะห์ของ Morgan Stanley
อย่างไรก็ดี หนี้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ยังไม่ใช่ก้อนใหญ่ที่สุดที่บริษัทแบกรับอยู่ เพราะในปี 2021 และ 2022 บริษัทจะยังต้องชำระหนี้อีก 1,300 ล้านดอลลาร์ (42,662 ล้านบาท) และ 977 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ (32,062 ล้านบาท)
รวมถึงหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในปี 2025 คือ 1,800 ล้านดอลลาร์ (59,070 ล้านบาท)
นั่นหมายถึงแม้จะเอาตัวรอดจากวิกฤตการเงินได้ในตอนนี้ มัสก์ ก็ยังมีความท้าทายอีกมากที่ต้องเผชิญ ในฐานะซีอีโอของบริษัท
เรียบเรียงจาก
Morgan Stanley says Tes la doesn’t foresee need for more capital
Tes la is reportedly planning to pay off its next chunk of convertible debt in an odd way
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า