Apple เจอหมัดเด็ด ในคดีฟ้องร้องกับ Qualcomm อดีตผู้ผลิตชิปเซ็ตคู่บุญ หลังถูกศาลประชาชนชั้นกลาง เมืองฝูโจว ระบุว่า 2 สิทธิบัตรสำคัญ ใน iOS 11 ส่งผลให้จะไม่สามารถวางขาย iPhone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการนี้ในจีนได้
Qualcomm นั้นเดิมคือผู้ผลิตชิปเซ็ตหลักให้กับ Apple มาโดยตลอด ก่อนจะมีปัญหาขัดแย้งกัน และต่างฝ่ายต่างผลัดกันยื่นฟ้องเป็นคดีความ ในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ จีน และสหราชอาณาจักร โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิบัตรเทคโนโลยี และส่วนแบ่ง royalty fee โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตชิปเซ็ตรายใหญ่ของสหรัฐ ก็ถูกศาลในอียู สั่งปรับเงินถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ หลังถูกตัดสินว่าผิดในข้อหาผูกขาดการผลิตชิปเซ็ตให้ Apple ระหว่างปี 2011-2016 ด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะ
ขณะที่กรณีล่าสุดนั้น ศาลประชาชนชั้นกลาง เมืองฝูโจว ได้ลงความเห็นให้ Qualcomm ชนะคดีที่ Apple ละเมิด 2 สิทธิบัตรสำคัญ ที่มีรายละเอียดเรื่องขนาดการแสดงผลหน้าจอ, การแตะหน้าจอเพื่อจัดการแอพพลิเคชัน และฟีเจอร์อื่นๆ ในระบบปฏิบัติการ iOS 11
ส่งผลให้สมาร์ทโฟนรุ่นเก่าที่ใช้ระบบปฏิบัติการนี้ คือ 6s, 6s Plus, 7, 7 Plus, 8, 8 Plus และ X จะไม่สามารถขายและทำตลาดในจีนได้
“เราต้องการที่จะปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของเรา Apple ยังคงได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของเรา แต่กลับปฏิเสธจะจ่ายเงินชดเชยให้กับเรา” Qualcomm แถลงการณ์หลังทราบผลพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามขายมีผลต่อโทรศัพท์รุ่นที่ใช้ iOS 11 จึงไม่มีผลกับ iOS 12 ทาง Apple จึงยืนกรานว่าหากมีการอัพเดทแล้ว บริษัทจะสามารถขาย iPhone ในจีนได้ทุกรุ่นตามปกติ
Qualcomm ยังพยายามที่จะฟ้องหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกา และ 2 เมืองในประเทศเยอรมนี อย่างมิวนิคและมานน์ไฮม์ด้วย แต่คำร้องได้ถูกปัดตกไป
ทั้งนี้ สองฝ่ายมีเรื่องฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2017 และแม้ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินออกมาดังกล่าว Apple ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ โดยที่ทั้งคู่มีคิวขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 15 เม.ย. ปีหน้า
AHEAD TAKEAWAY
เดิม Apple กับ Qualcomm นั้นเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นต่อกันมาตลอด โดยค่ายผลไม้นั้น เลือกใช้ชิปเซ็ตจากอีกฝ่ายเป็นหลักจนถึง iPhone 7 ก่อนจะหันไปจับมือกับ Intel แทนในเวลาต่อมา
เหตุผลหลักๆในการเปลี่ยนแปลงนั้น มาจากคดีความที่สองฝ่ายผลัดกันฟ้องร้อง โดย Apple โจมตีอีกฝ่ายเรื่องผูกขาดทางการค้าชิปโมเด็ม ด้วยการบังคับให้ซื้อเฉพาะชิปของ Qualcomm เท่านั้น อีกทั้งยังต้องจ่ายค่า royalties ในราคาที่สูงอีกด้วย
ขณะที่ Qualcomm ก็โต้กลับ โดยเน้นเรื่องสิทธิบัตร และการนำข้อมูลไปเปิดเผยให้แก่ Intel ที่ถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของบริษัทโดยตรง
ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในชั้นศาลมาโดยตลอด แต่หนนี้ นักวิเคราะห์มองว่าอาจส่งผลมากกว่าที่ผ่านมา เพราะจีน คือตลาดใหญ่สำหรับสมาร์ทโฟนค่ายผลไม้ จากการรายงานของ Bloomberg ที่ว่ารายได้ของ Apple ในปี 2018 เกือบ 1 ใน 5 มาจากจีน
แต่เชื่อแน่ว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ เพราะ Apple ก็น่าจะเตรียมแผนไว้รองรับแล้ว นั่นคือการอัพเดทระบบปฏิบัติของสมาร์ทโฟนทุกรุ่นที่จะวางขายในจีนให้เป็น iOS 12 เพื่อตัดปัญหาเรื่องสิทธิบัตรที่ถูก Qualcomm ฟ้องร้อง
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งประเด็นที่ทาง Bloomberg ตั้งข้อสังเกต ก็คือการถูกแบนในครั้งนี้ อาจมีผลเกี่ยวโยงทางการเมืองระหว่างสหรัฐกับจีนด้วยหรือไม่ เนื่องจากกระแสต่อต้านสินค้าสหรัฐในจีนเริ่มรุนแรงขึ้น ภายหลัง เมิ่ง หว่าน โจว ซีเอฟโอ และลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei ถูกจับกุมตัวที่แคนาดา ตามคำขอของทางการสหรัฐ
ถึงขนาดที่ว่าหลายองค์กรเตรียมจะยกเลิกให้ผู้บริหารใช้สมาร์ทโฟนค่ายผลไม้ และเปลี่ยนมาใช้ของ Huawei เลยทีเดียว
จนเมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 11 ธันวาคม ศาลก็ปฏิเสธการให้ประกันตัวของนางเมิ่งแล้ว ก็น่าจะยิ่งทำให้ทางการและภาคเอกชนจีนยิ่งเดือดมากขึ้นแน่นอน
และกลายเป็นว่าฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไปด้วย ก็คืออดีตบริษัทล้านล้านดอลลาร์นั่นเอง
เรียบเรียงจาก
China bans Apple to sale phone
Banned in China May Push Apple, Qualcomm Toward Settlement
AHEAD.ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า