ความบันเทิงกับออฟฟิศ เหมือนไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่ปัจจุบัน การ ฟังเพลงตอนทำงาน เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น
เหตุผลหลักๆ คงไม่พ้นพลังของอินเตอร์เน็ต ที่ช่วยให้เราค้นหาเพลงที่ชอบได้ง่ายกว่าเดิม และเลือกฟังได้ทันที ผ่านสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์
ผลสำรวจโดย Cloud Cover Music ในกลุ่มคนทำงานชาวอเมริกัน 1,005 คนพบว่า มีถึง 41.8% ที่ฟังเพลงคลอไปตลอดทั้งวัน
ถัดมาคือ 39.5% ที่เปิดปิดสลับไปมา และมีเพียง 18.7% เท่านั้นที่ฟังแค่เป็นครั้งคราวในระหว่างสัปดาห์
ผู้ตอบแบบสอบถาม ถึง 78.4% ยังเชื่อว่ามันช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย
ไม่ใช่แค่แบบสอบถาม แต่นับจากอดีตมีงานวิจัยหลายชิ้น ยืนยันว่าการฟังเพลงระหว่างทำงาน ช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้นจริงๆ
#1
เพลงที่ชอบ + สมอง = กระตุ้นความคิด
รวมถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุดโดย เทเรซา เลเซียค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาดนตรีศึกษา และดนตรีบำบัด มหาวิทยาลัยไมอามี่
ที่ระบุว่า 90% ของคนที่ฟังเพลงที่ชอบระหว่างทำงาน จะรู้สึกปลอดโปร่ง และสามารถแก้ปัญหาตรงหน้า หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้ดีขึ้น
เหตุผลคือเมื่อคุณได้ฟังเพลงที่ชอบ จะเป็นการกระตุ้นสมองส่วน Orbitofrontal Cortex ซึ่งควบคุมการคิดและการกระทำ ทำให้สามารถคิดวิธีแก้ปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น
#2
รสนิยมเหมือนกัน = พวกเดียวกัน
นอกจากนี้ รสนิยมทางดนตรีที่ตรงกัน ยังส่งผลเชิงบวกต่อความสามัคคีของพนักงานด้วย
ผลสำรวจโดย Cloud Cover Music พบว่า 59% ของพนักงาน และ 65% ของนายจ้าง เห็นตรงกันในเรื่องนี้
แม้จะมีแนวโน้มว่าอาจทำให้เกิดความแตกแยกได้เหมือนกัน เพราะผู้ทำแบบสำรวจราวๆ 26% หรือ 1 ใน 4 ยังตัดสินคนอื่นจากรสนิยมในการฟังเพลงอยู่
#3
ตกลง แนวไหนดี?
ผลสำรวจโดย CloudCover Music พบว่า คลาสสิก ร็อค (เป็นศัพท์เรียกเหมารวมเพลงของวงร็อคจากยุค 60-80 ไม่ได้หมายถึง คลาสสิคัลร็อค ที่เป็นนำดนตรีคลาสสิคมาผสมกับร็อค) คือตัวเลือกเบอร์แรกๆของคนทำงานชาวอเมริกันในการเปิดคลอเวลาทำงาน
ด้วยคะแนนมากถึง 31% ถัดมาคือ อัลเทอร์เนทีฟ ร็อค 27.4% และ ป๊อป 26.1%
ส่วนแนวเพลงที่มักจะทำให้สมาธิไขว้เขวนั้น ปรากฎว่า ฮิป-ฮอป กับ เฮฟวี่ เมทัล เบียดกันมาแบบสูสีที่ 37.7% และ 37.1% ขณะที่ แนวยอดฮิตของวัยรุ่นยุคนี้ EDM อยู่ในอันดับสาม ที่ 27.7%
ในมุมของ เม็ก ปิเอด์มอนต์ โปรเจกต์แมเนเจอร์ของ CloudCover Music การเลือกเพลงฟังตอนทำงาน สุดท้ายน่าจะขึ้นกับรสนิยมของผู้ทำแบบสำรวจมากกว่า ซึ่งช่วงอายุก็น่าจะมีผลด้วย
เพราะดนตรีที่เรากำลังค้นหาตัวตน ในช่วง 20 ปีแรกของชีวิต จะมีผลต่อชีวิตเราในระยะยาว
เห็นได้จาก คลาสสิก ร็อค หรือ อัลเทอร์เนทีฟ เป็นกลุ่มเพลงที่กว้างมาก ครอบคลุมตั้งแต่คนยุคเบบี้บูมเมอร์ จนถึง Gen Y เลยทีเดียว ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่าโตมากับเพลงแนวนี้อยู่แล้ว
ขณะที่ ฮิป-ฮอป ถึงจะโดนโหวตว่ารบกวนสมาธิที่สุด คือ 37.7% แต่ก็อยู่สูงถึงอันดับ 5 ในแง่ช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น 21.1% พอๆกับคลาสสิค 21.3% เลยทีเดียว
นั่นแปลว่าแนวไหน อาจไม่สำคัญ เท่ากับปัจจัยข้อถัดไป
#4
ระดับเสียงและเทมโปต้องพอดี
เลเซียค แนะนำว่าในการฟังเพลงระหว่างทำงาน ควรเลือกเพลย์ลิสต์ตามปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น อารมณ์ในเวลานั้น บุคลิกส่วนตัว และความชอบส่วนตัว ไปจนถึงประเภทของงาน และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน
ที่แน่ๆไม่ว่าจะเลือกฟังแนวไหน ก็ควรเลือกเพลงที่มีจังหวะกระฉับกระเฉงเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นคุณให้รู้สึกตื่นตัว กลับกัน ถ้าเพลงนั้นเปิดดัง และมีจังหวะเร่งเร้าเกินไป ก็อาจจะทำให้เสียสมาธิแทน
ขณะเดียวกัน เพลงอย่างเดียวก็ไม่อาจเปลี่ยนทุกอย่างได้ เพราะคุณรู้สึกไม่ชอบสถานที่ทำงานนั้นๆอยู่แล้ว ต่อให้ชอบเพลงที่เปิดแค่ไหน ก็ไม่ช่วยอะไร
#5
ทักษะการทำงานก็สำคัญ
งานวิจัยโดย เลเซียค พบว่าทักษะของผู้ทำงานก็มีส่วน
นั่นคือถ้านั่นเป็นงานถนัดเฉพาะทางที่คุณทำได้ดีเหนือคนอื่นๆอยู่แล้ว ดนตรี จะช่วยได้เฉพาะเรื่องอารมณ์ แต่ไม่ได้ช่วยให้คุณทำงานดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
แต่ถ้าคุณมีทักษะของงานนั้นระดับกลางๆ ระดับการทำงานจะดีขึ้นแบบชัดเจน
ส่วนถ้างานนั้นยังใหม่สำหรับคุณ เลเซียค ไม่แนะนำให้เปิดเพลงใดๆ เพราะจะส่งผลรบกวนสมาธิมากกว่า ในเมื่อคุณยังต้องพยายามทำความเข้าใจกับงานนั้นๆอยู่
#6
สร้างพื้นที่ส่วนตัวในออฟฟิศ
การทำงานบางอย่างที่ต้องใช้สมาธิ หูฟัง นอกจากจะช่วยให้คุณโฟกัสกับงานข้างหน้าได้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถใช้สร้างพื้นที่ส่วนตัว เมื่อต้องอยู่ในออฟฟิศหรือโคเวิร์คกิ้งสเปซที่มีคนพลุกพล่านด้วย
ในผลสำรวจเดียวกัน พบว่า 30% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รับว่าต้องใช้เฮดโฟนกันเสียงรบกวนรอบตัว เพื่อรวบรวมสมาธิ
ที่น่าสนใจคือ มีมากถึง 46% ที่ตอบว่าเลือกใช้ เพื่อเลี่ยงการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน
อารมณ์ประมาณว่าเสียบหูฟังไว้เฉยๆ ไม่ได้เปิดเพลง ก็เป็นการเตือนคนอื่นๆว่า “อย่าชวนคุย จะทำงาน!!!”
#7
ความเงียบก็ช่วยได้
ใช่ว่าการฟังเพลงจะใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาเสมอไป จอช เดวิส นักวิจัย และผู้เขียนหนังสือ Two Awesome Hours เห็นต่างไป
เขามองว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความเงียบสนิทต่างหาก ที่ช่วยเรื่องสมาธิการทำงานของเรามากที่สุด และแนะนำว่าในหนึ่งวัน ควรจะมีอย่างน้อยสองชั่วโมง ที่คุณได้ใช้เวลาทำงานอย่างเงียบๆ
AHEAD TAKEAWAY
ฟังหรือไม่ฟังเพลงในตอนทำงาน เป็นเรื่องที่ถูกหยิบมาเถียงกันได้ไม่รู้จบ
ที่เราว่ามาข้างต้นอาจจะเป็นงานวิจัยที่สนับสนุนเรื่องนี้
แต่ก็มีงานวิจัยอีกหลายตัวที่เห็นตรงกันข้าม
หนึ่งในนั้น มาจากนิตยสาร Applied Cognitive Psychology เมื่อปี 2010 เป็นการศึกษาคนอายุระหว่าง 18-30 ปี พบว่าเพลงจะช่วยกระตุ้นคุณได้ ต่อเมื่อฟัง “ก่อนเริ่มทำงาน”เท่านั้น แต่ถ้ายังฟังต่อไปเรื่อยๆ อาจจะเบนความสนใจแทน
แต่งานวิจัยอีกชิ้นจาก Journal of the American Medical Association กลับนำเสนอตรงกันข้าม โดยเน้นที่ไปอาชีพซึ่งต้องใช้สมาธิสูงอย่าง ศัลยแพทย์ รายงานชิ้นนี้ยืนยันว่า ศัลยแพทย์ จำนวนหนึ่ง จะทำการผ่าตัดได้ดีและแม่นยำกว่า เมื่อมีการเปิดเพลงที่ชอบคลอไปด้วย
ไม่ว่าข้อสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ปัจจุบัน ก็มีการนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดกันแล้ว
หนึ่งในนั้นคือ Focus@Will สตาร์ทอัพที่ใช้เพลงดึงศักยภาพพนักงานในออฟฟิศ โดยใช้หลักการทางจิตวิทยาสองเรื่องคือ เพลงจะต้องไม่รบกวนจนผู้ฟังเสียสมาธิ แต่ก็จะไม่ฟังเพลินเกินไป ชนิดผู้ฟังสบายจนเคลิ้มหลับ
แล้วคุณล่ะ? ถนัดแบบไหนกว่ากันครับ ทำงานไปฟังเพลงไป หรือนั่งเงียบๆจนงานเสร็จค่อยผ่อนคลาย?
เรียบเรียงจาก
This is what kind of music you should listen to at work to be more productive
You Listen to Music At Work, and It Alters Your Mind. Yes, Seriously.
Music at work: Exploring America’s Workplace Listening Preference
Does Listening to Music While Working Make You Less Productive?
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า