17 ธันวาคมที่ผ่านมา
แคนาดา นับเป็นประเทศที่สองในโลก ที่ประกาศให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายในเชิงสันทนาการ ถัดจาก อุรุกวัย ที่ล่วงหน้าไปตั้งแต่ปี 2013
โดยกำหนดให้บุคคลทั่วไป สามารถถือครองได้ไม่เกินครั้งละ 30 กรัม
(ปัจจุบัน จำกัดเฉพาะใบที่อบแห้ง และน้ำมันสกัด)
จากเดิมที่ถูกตีตราเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นานเกือบศตวรรษ
กัญชา ค่อยๆเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมแคนาดา และได้รับการประกาศให้ใช้ในทางการแพทย์ เมื่อปี 2001
คำสัญญาของผู้นำ
กระทั่งเมื่อราวห้าปีก่อน
จัสติน ทรูโด หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาใช้ในการหาเสียง เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศ
ทรูโด ให้เหตุผลของแนวคิดนี้ว่า “เป็นหนึ่งในไม่กี่วิธี ที่จะป้องกันไม่ให้กัญชาไปตกอยู่ในมือเด็กๆ เพราะการประกาศสงครามยาเสพติดแบบที่ผ่านมา มันไม่ได้ผล”
นโยบายนี้เพียงเรื่องเดียวคงไม่ใช่จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ ทรูโด ได้รับเลือก
แต่สองปีหลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกฯหนุ่มหล่อ ก็เดินหน้าผลักดันให้นโยบายนี้เป็นจริงจนได้
อย่างที่เจ้าตัวทวีตผ่าน @JustinTrudeau ว่า
“ผลกำไร จะถูกชิงจากมือเหล่าอาชญากร เด็กๆของเราจะได้รับการคุ้มครอง วันนี้ กัญชา ได้รับการประกาศให้ถูกกฎหมายแล้วในแคนาดา”
Profits out of the hands of criminals. Protection for our kids. Today #cannabis is legalized and regulated across Canada. pic.twitter.com/0ZxtohOHG0
— Justin Trudeau (@JustinTrudeau) October 17, 2018
จากใต้ดินสู่บนดิน
การรักษาคำพูดของ ทรูโด ไม่เพียงแค่ย้ำคุณลักษณะของ “ผู้นำที่ควรจะเป็น”
แต่ยังเป็นใบเบิกทางให้คนอีกมาก ได้ลืมตาอ้าปากในสังคมด้วย
หนึ่งในนั้นคือ ทอม คล้าร์ก หนุ่มวัย 43 ปี ที่ใช้เวลากว่าสามทศวรรษ ค้าพืชชนิดนี้อย่างหลบๆซ่อนๆ และกำลังจะได้เปิดร้านค้า “ถูกกฎหมาย” เสียที ที่นิวฟันด์แลนด์
คล้าร์ก ไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับโอกาสใหม่ในชีวิต เมื่อมีรายงานจากสำนักข่าว AP
ว่าร้านกัญชาถูกกฎหมาย อย่างน้อย 111 แห่ง ทั่วประเทศ ได้รับอนุญาตให้เปิดขายเช่นกัน
เหลือเพียง โทรอนโต เมืองใหญ่สุดของประเทศ รวมถึงเมืองอื่นๆในมณฑลออนตาริโอเท่านั้น ที่ยังไม่มีการเปิดขาย จนกว่าจะถึงช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า
เส้นบางๆที่คั่นอยู่
และในเดือนตุลาคม 2019 รัฐบาลแคนาดา ก็มีแผนที่จะผลักดันต่อเนื่อง ให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกัญชา ที่กินได้ เช่น ลูกอม คุ้กกี้ ช็อคโกแลต
รวมถึงสารสกัดรูปแบบอื่น สำหรับใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า หรือโลชั่น ฯลฯ สามารถวางขายได้แบบถูกกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่ากระทรวงสาธารณสุขแคนาดา คงจะวางแนวทางที่รัดกุมเป็นพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้
และน่าจะห้ามสินค้าที่มีรูปลักษณ์ภายนอก ดึงดูดกลุ่มเยาวชน
เช่นเดียวกับการทำการตลาดใดๆ ที่จะโน้มน้าวให้ผู้คนรู้สึกว่าการใช้กัญชาเป็นไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสม
ซึ่งก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับกฎหมายควบคุมบุหรี่หรือสุรานั่นเอง
ธุรกิจกัญชาของคนดัง
ปัจจุบัน ในแถบอเมริกาเหนือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา ก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากเซเลบมากมาย
ไมค์ ไทสัน อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวท ก็มีกิจการของตัวเอง อย่าง Tyson Holistic Holdings ที่ขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา
หรือ Tyson Ranch ในทะเลทรายโมฮาวี สำหรับจัดอีเวนท์หรือคอนเสิร์ตที่เกี่ยวข้องกับกัญชาโดยเฉพาะ
แม้แต่ดาราสาวที่มีภาพลักษณ์คลีน อย่าง กวินเนธ พัลโธรว์ ที่มีแบรนด์ไลฟ์สไตล์อย่าง Goop ในมือ
ก็ขยับเข้าสู่ธุรกิจกัญชาเช่นกัน
ด้วยการจับมือกับ MedMen ผลิตโปรดักต์ต่างๆ ตั้งแต่ ชาสมุนไพร สบู่บาธบอม แผ่นแปะ CBD
หริอแม้แต่ บุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ Goop เอง
AHEAD TAKEAWAY
ส่วนในบ้านเรา การจะไปถึงระดับนั้น คงยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
แต่อย่างน้อย เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ยังพอมีความเคลื่อนไหวบ้าง
เมื่อมีรายงานว่า รัฐบาล และ สนช. กำลังพยายามผลักดัน ให้สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว หลังจากที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน
แล้วคุณล่ะ?
เห็นด้วยกับนโยบายนี้หรือไม่?
และมีโอกาสแค่ไหนที่ กัญชา จะเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย
เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆแห่งทั่วโลก
เรียบเรียงจาก
Canada becomes second country to legalise Cannabis
Marijuana legalization, explained: the key facts about Canada’s new laws
From cannabis candy to vape pens: Health Canada to release regulations on new wave of pot products
23 Celebrities in the Cannabiz
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า