ไม่ใช่เพียงแต่การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่เครือข่ายสังคมเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Facebook เข้าไปมีบทบาทอย่างมาก จนเชื่อกันว่าสามารถชี้ผลแพ้ชนะได้เลยทีเดียว (อ่านเรื่อง Facebook มีเอี่ยวผลเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ที่นี่)
ล่าสุด เดอะ การ์เดียน สื่อเจ้าดังรายงานว่าสองผู้นำพรรคการเมืองสายประชานิยมของประเทศอิตาลีอย่าง ลุยจิ ดิ มาโย ผู้นำของ Five Star Movement และ มัตเตโอ ซัลวินี่ ผู้นำของพรรค LEGA พรรคการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวา สามารถใช้โซเชียลมีเดียยอดฮิต พิชิตคะแนนเสียงจากชาวอิตาเลียน จนสามารถร่วมกันตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และทำให้ทั้งคู่ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
โดยการศึกษาวิจัยจาก มีเดียแลบของมหาวิทยาลัยปิซ่า ระบุว่า ในช่วง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2018 นั้น ลุยจิ ดิ มาโย และ มัตเตโอ ซัลวินี่ คือสองผู้นำทางการเมืองที่มีค่าการมีส่วนร่วมบนเฟสบุ๊คสูงสุด ( Engagement ) ที่ประมาณ 7.8 ล้าน เท่ากัน
ขณะที่ผู้นำทางการเมืองอีก 4 คนจากอีก 4 พรรคหลักที่เหลือ ที่ถูกรวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้ มีค่าการมีส่วนร่วมรวมกันเพียงแค่ 5.3 ล้านเท่านั้น ยังไม่เท่า ลุยจิ ดิ มาโย หรือ มัตเตโอ ซัลวินี่ เพียงคนเดียวเลยด้วยซ้ำ
- ลุยจิ ดิ มาโย 7.8 ล้าน
- มัตเตโอ ซัลวินี่ 7.8 ล้าน
- จิออร์เจีย เมโลนี 2.6 ล้าน
- มัตเตโอ เรนซี 1.5 ล้าน
- ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ 0.9 ล้าน
- ปิเอโตร กราสโซ่ 0.3 ล้าน
โดย มัตเตโอ ซัลวินี่ นักการเมืองที่มีผู้ติดตามสูงสุดในทวีปยุโรปราว 3 ล้าน 4 แสนคนนั้น มักนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบวีดีโอคลิป หรือ Facebook Live ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการต่อต้าน หรือชี้ให้เห็นผลเสียของการอพยพ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงของหลายประเทศในทวีปยุโรปขณะนี้
นอกจากนี้หลายครั้งเขายังใช้การจั่วหัวเรียกแขก โดยคลิปหนึ่งของเขาที่มีการมีส่วนร่วมและแชร์ต่อมากที่สุดคือ คลิปที่เขาจั่วหัวว่า “คำเตือน นี่คือคลิปที่โดนแบนจากสื่อหลัก” ซึ่งทีมวิจัยของปิซ่า มีเดียแลบ บอกว่าไม่ตรงกับความจริงซะทีเดียว แต่การจั่วหัวแบบเรียกแขก
หรือการใช้การเปรียบเทียบแบบร้อนแรงเช่น “แย่กว่าการเข้าร่วมสงคราม คือการนำสงครามเข้าบ้านตัวเอง” ดูจะเป็นเทคนิคที่ได้ผลไม่น้อย
ขณะที่ ลุยจิ ดิ มาโย นั้นค่อนข้างที่จะพูดถึงประเด็นที่ต่างไป เพราะเน้นหนักในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ที่สื่อกระแสหลักละเลยที่จะนำเสนอ (ในอิตาลีนั้นนักการเมืองมักมีอิทธิพลเหนือสื่อ เช่น ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อสื่อ – AHEAD.ASIA) แต่ที่เหมือนกัน ก็คือรูปแบบของเนื้อหานั้นมักเป็นคลิปวีดีโอ หรือการไลฟ์เช่นกัน
นอกจากนี้ ปิซ่า มีเดียแลบ ยังระบุอีกว่า 25 โพสต์บน Facebook ที่ได้รับการแชร์สูงสุดในระยะเวลา 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งนั้น ทั้งหมดเป็นรูปแบบวีดีโอ ไลฟ์สด และ รูปภาพ ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นโพสต์ของสองผู้ชนะอย่าง ลุยจิ ดิ มาโย และ มัตเตโอ ซัลวินี่
โดยภาพเดียวที่สอดแทรกเข้ามาได้นั้น เป็นภาพถ่ายบ้านๆของ มัตเตโอ เรนซี ที่ถ่ายเค้กวันเกิดที่เหลือไม่เต็มก้อน ที่ครอบครัวอบให้เขาเป็นของขวัญ พร้อมกับแคปชั่นง่ายๆว่า “How nice : Life is bigger than politic” หรือ “ดีแค่ไหน : เพราะชีวิตนั้นยิ่งใหญ่กว่าการเมือง”
ในขณะที่โพสต์อื่นๆ ของ เรนซี ที่เน้นหนักไปทางการเขียน และมีตัวหนังสือเยอะๆ กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่
AHEAD TAKEAWAY
ศาสตราจารย์จานปิเอโตร มัซโซเลนี่ แห่งมหาวิทยาลัยมิลาน ให้ความเห็นว่านอกจากโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค จะเป็นช่องทางเข้าถึงประชาชน โดยไม่ต้องง้อสื่อหลักแล้ว การสื่อสารและพูดคุยกับผู้ลงคะแนนเสียงโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดียนั้น เข้าถึงหัวใจของพวกเขาได้ดีกว่า
ขณะที่ ดร. เปาโล เกอร์เบาโด จากคิงส์ คอเลจ ลอนดอน เชื่อว่าการไลฟ์แบบบ้านๆ และถือกล้องเองของ ซัลวินี่ เหมือนที่ใครๆก็ทำกันนั้น ช่วยสร้างความรู้สึกสมจริงไม่ปรุงแต่ง
ซึ่งในกรณีนี้หากเทียบกับพรรคการเมืองของไทยที่กำลังระดมหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในปีหน้านั้น พรรคอนาคตใหม่ดูจะเป็นพรรคที่ใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างคล่องมือสุด
ไม่ว่าจะเพจของพรรคที่ไลฟ์แข่งกับรายการทางโทรทัศน์ของนายกฯในทุกคืนวันศุกร์ และสมาชิกพรรคคนสำคัญของพรรค ก็มีเพจส่วนตัวเป็นของตัวเอง
ส่วนอีกคนที่น่าสนใจคือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่มีการนำเสนอทั้งรูปแบบไลฟ์ และ วีดีโอคลิป เช่นกัน แต่มีเนื้อหาที่โจมตีผู้นำ คสช และคณะรัฐบาล อย่างดุเดือดจนมีคนนำมาตัดเป็นคลิปสั้นๆ และไวรอลอยู่บ่อยครั้ง
หรือแม้แต่นักการเมืองอย่าง “วัน อยู่บำรุง” ที่มักไลฟ์สดอยู่เป็นประจำ จนมีผู้ติดตามในเฟสบุ๊คส่วนตัวถึงกว่า 520,000 คน และมีกลุ่มแฟนคลับอย่าง “ใจถึงพึ่งได้” รวมถึง “พี่มาร์ค พิทบลู” ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
อัพเดท : แต่ถ้าดูจากเทรนด์ล่าสุด ที่การมีส่วนร่วมที่ยิ่งมากน่าจะมีผลกับคะแนนเสียงที่ได้นั้นการที่พรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี นั้น ได้สร้างความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดยขึ้นเป็นเทรนด์ในเครือข่ายสังคมอย่าง Twitter แทบทุกอันดับ ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เป็นไปได้ว่า พรรคไทยรักษาชาติ สามารถสร้างข้อได้เปรียบตรงนี้กว่าพรรคอื่นไปแล้ว
อย่างไรก็ตามการใช้สื่อออนไลน์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทย เพราะอดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพอย่างนายสุหฤท สยามวาลา และอดีตนักการเมืองอย่าง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็เคยใช้ช่องทางนี้ จนได้ผลที่น่าพอใจระดับหนึ่ง
ขณะที่อีกประเด็นที่ทีมบรรณาธิการ AHEAD.ASIA คิดว่าน่าสังเกตคือ การที่จะใช้สื่อออนไลน์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ผู้ใช้จะต้องรู้จักเลือกประเด็นที่สังคมสนใจ หรือเป็นเรื่องที่สังคมไม่พอใจในช่วงเวลานั้น เพราะจะยิ่งกระตุ้นความมีส่วนร่วมได้ดียิ่งขึ้น
อย่างเช่น กรณีของอิตาลีจะเป็นเรื่องของการรับผู้อพยพ ความเป็นชาตินิยม ขณะที่ในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การทุจริตคอรัปชั่น และประชาธิปไตย เป็นต้น
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือคำถามที่ถูกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าว่าวันนี้ โซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งอย่าง Facebook นั้นก้าวมาถึงจุดที่มีอิทธิพล และอำนาจมากเกินไปหรือยัง
เพราะจากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเชื่อมต่อคนบนโลกเข้าด้วยกัน วันนี้พี่มาร์ค และบริษัทของเขา อาจก้าวมาถึงจุดที่กำหนดผู้นำ และทิศทางของประเทศไหนก็ได้ หากว่าเขาต้องการ
เรียบเรียงจาก
Revealed: how Italy’s populists used Facebook to win power
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า