AHEAD ASIA เคยนำเสนอแนวโน้มในอนาคต ว่าองค์กรต่างๆ อาจเป็นผู้กำหนดว่าเด็กๆจะต้องเรียนอะไร แทนที่จะเป็นสถาบันการศึกษา
เห็นได้จากเมื่อเร็วๆนี้ หลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐ อาทิ Google, Apple, IBM หรือแม้แต่ Bank of America ประกาศว่าผู้สมัครเข้าทำงานไม่จำเป็นต้องมีปริญญาบัตร
ขอเพียงมี “ทักษะการทำงาน” ที่ตรงกับลักษณะงานเป็นพอ
แนวโน้มนี้ได้รับการยืนยันจากปาก เจเนลล์ เกล รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Facebook ที่ย้ำว่า “ทักษะคือสิ่งสำคัญที่สุด” ในการพิจารณารับเข้าทำงาน
“เราให้ความสำคัญกับทักษะกว่าประสบการณ์ในหลายๆเรื่อง ให้คุณลองยื่นใบสมัครมาเลย ถ้ามีทักษะที่ตรงกับที่เราต้องการ ต่อให้คุณไม่มีประสบการณ์เลย เพราะที่นี่ เราให้ความสำคัญกับเนื้อในมากกว่า คือคุณทำอะไรให้เราได้บ้าง”
ก่อนจะถึงวันที่องค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาให้กับคนรุ่นต่อๆไป คนทำงานในยุคปัจจุบัน ก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน ด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆที่จำเป็น
LinkedIn โซเชียลเน็ตเวิร์คด้านการงานที่ใหญ่ที่สุด ได้ทำการวิเคราะห์ตำแหน่งงานต่างๆที่ถูกโพสต์ไว้ เพื่อกรองหาว่าทักษะที่องค์กรต่างๆต้องการมีอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็น soft skill (ทักษะด้านอารมณ์) 5 ประเภท และ hard skill (ทักษะด้านความรู้) อีก 5 ประเภท
มาลองเช็กกันว่าคุณมีข้อไหนบ้าง เพื่อมุ่งสู่การเป็นคนทำงานตัวจริงในยุค 4.0
เริ่มต้นด้วยทักษะเชิงอารมณ์ หรือ soft skills 5 ประเภท
#5
การบริหารเวลา
ในยุคที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเร่งรีบ Time Management คือทักษะที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะไม่ใช่แค่ช่วยให้เราส่งงานได้ตรงตามกำหนด แต่ยังช่วยในเรื่อง work-life balance ได้ด้วย
หนึ่งในวิธีที่จะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้ดี และถูกเลือกใช้โดยซีอีโอดังๆอย่าง อีลอน มัสก์ หรือ บิล เกตส์ ก็คือ Time Blocking Method (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
#4
การปรับตัว
ขณะที่หลายคน เคยชินกับการทำงานแบบเดิมๆ ตามที่ถูกสอนมา ในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากผลของเทคโนโลยี Adaptability หรือการปรับตัวให้ได้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
การปรับตัว หรือประยุกต์ใช้ทักษะที่มีกับรูปแบบงานที่ต่างออกไป จะเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณเข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ หรือผ่านการฝึกฝนทักษะการทำงานหลายๆแบบ
จนสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ ระหว่างทำงาน
#3
การทำงานร่วมกับผู้อื่น
หลายครั้ง ที่การมีทักษะหนึ่งหรือสองอย่างของคุณคนเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การร่วมมือกับคนอื่นๆ (Collaboration) ที่มีความรู้และทักษะต่างออกไป จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า
แต่การทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ราบรื่นและได้ผลดีนั้น ก็จำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาอีกฝ่าย ที่มีทั้งแนวคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างกันด้วย คนที่สามารถปรับให้เข้ากับคนอื่นๆตามสถานากรณ์ได้นั้น จึงต้องเปิดกว้างทางความคิด พร้อมรับฟังไอเดียใหม่ๆที่คุณเคยมองข้าม หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน
#2
การโน้มน้าวชักจูงผู้อื่น
ในชีวิตประจำวัน และการทำงาน ทักษะการสื่อสารคือสิ่งจำเป็น
เพราะคุณต้องใช้การเจรจาหรือโน้มน้าวใจอีกฝ่าย (Persuasion) เกือบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น ชี้แจงให้หัวหน้าเห็นชอบกับข้อเสนอ หรือกระตุ้นให้คนในทีมอยากทำภารกิจให้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องใช้ในการเจรจากับคู่ค้า ไปจนถึงการขาย และบริการหลังการขายด้วย
#1
ความคิดสร้างสรรค์
Creativity นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆอย่าง
หนึ่งในไอเดียเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนวัตกรที่เลือกใช้วิธีนี้ คือ สตีฟ จ๊อบส์
จ๊อบส์ สนใจหลายสิ่งที่อยู่รอบตัว เขาพยายามมองหาความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่มีอยู่เสมอ และใช้วิธีหาจุดร่วมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากคนอื่นๆที่มีทักษะเฉพาะทาง ไล่ตั้งแต่ สตีฟ วอซเนียค ในยุคตั้งต้น หรือนักดีไซน์มือหนึ่งของ Apple อย่าง โจนี ไอฟ์ ฯลฯ
นอกจาก ทักษะด้านอารมณ์แล้ว ทักษะด้านความรู้ (hard skills) ใหม่ๆ ก็กำลังเป็นที่ต้องการเช่นกัน
ผู้สนใจสามารถเรียนทักษะเบื้องต้นเหล่านี้ได้ ในคอร์สออนไลน์ต่างๆของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะมีช่วงให้ทดลองเรียนฟรี หากพอใจ ก็สามารถจ่ายค่าเรียนแบบรายเดือนหรือรายวิชาเพิ่มเติมได้
#5
UX Design
ในทุกธุรกิจ ประสบการณ์ของผู้ใช้นั้นมีความสำคัญมาก เพราะหากผู้ใช้ (หรือผู้บริโภค) รู้สึกพอใจกับสินค้า/บริการของเรา นั่นแปลว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้น “ตอบโจทย์ความต้องการ” ของเขาแล้ว
การออกแบบ ตามแนวทางของ User Experience จึงต้องยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจไม่ได้เน้นดีไซน์หวือหวาเลยก็ได้
ขึ้นกับว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่เราให้ความสำคัญนั้นเป็นใคร
#4
การบริหารจัดการคน
ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปขนาดไหน ทรัพยากรบุคคล ก็ยังคงเป็นพื้นฐานความสำเร็จขององค์กรอยู่ดี
ทักษะด้านบริหารจัดการคน (People Management) จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาตัวบุคคล การดึงศักยภาพในตัวพนักงาน ไปจนถึงการรักษาบุคลากรคุณภาพสูงไว้ในองค์กรต่อไป ฯลฯ
#3
ตรรกะเชิงวิเคราะห์
อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้บริหาร คือการตัดสินใจ และการตัดสินใจที่ดีนั้น ควรมีที่มาที่ไปและเหตุผลรองรับ
การเรียนรู้ที่จะคิด วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ ด้วยวิธี Analytical Reasoning จะช่วยให้การคิด หรือตัดสินใจเชิงกลยุทธ์มีโอกาสผิดพลาดน้อยลง
#2
ปัญญาประดิษฐ์
ในยุคที่คำว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย
อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสายนี้ ก็เริ่มมีความสำคัญต่อองค์กรมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะ Chief Analytics Officer และ Chief Data Officer ที่มีการคาดว่าจะเป็นสองอาชีพเนื้อหอมในปีนี้
#1
คลาวด์คอมพิวติ้ง
จะเห็นได้ว่าทักษะความรู้ยอดนิยมในยุคนี้ นอกจากทักษะการบริหารแล้ว ที่เหลือเป็นสกิลเกี่ยวกับดิจิทัลสายตรง
แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับใช้กับธุรกิจของบริษัท
คลาวด์คอมพิวติ้ง ก็เป็นธุรกิจที่มีการคาดหมาย ว่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีก หลังความสำเร็จของ AWS, Microsoft Azure และ Google Cloud รวมถึงการที่ IBM เทกโอเวอร์ Red Hat เป็นสถิติใหม่เมื่อไม่นานมานี้ด้วย
เรียบเรียงจาก
The 10 most in-demand skills of 2019, according to LinkedIn
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า